ชีวิตที่พอเพียง 3671. ความเหลื่อมล้ำ


ตัวการสำคัญที่สุดของความไม่เท่าเทียมของรายได้ขึ้นกับว่าเกิดที่ไหน หรือเกิดในประเทศไหน

ชีวิตที่พอเพียง 3671. ความเหลื่อมล้ำ

หนังสือ The Haves and the Have-Nots : A Brief and Idiosyncratic Historyof Global Inequality (2012) เขียนโดย BrankoMilanovic  บอกว่าความเหลื่อมล้ำมี๓ แบบ คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างปัจเจกในประเทศเดียวกัน   ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ   และความเหลื่อมล้ำระดับโลก  

ผู้ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำคนแรกคือนักเศรษฐศาสตร์อิตาเลียนWilfredoPareto    ผู้คนพบ Paretos Principle หรือหลักการ 80 : 20    ว่า ร้อยละ ๘๐ ของผลผลิตเป็นผลงานของคนร้อยละ ๒๐    หรือในทางกลับกันคนร้อยละ ๘๐  ผลิตผลงานเพียงร้อยละ ๒๐    เป็นผลงานวิจัยเมื่อร้อยปีก่อน   ที่บอกว่าความเหลื่อมล้ำไม่มีวันหมดไป    เป็นกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง (fixed mindset) ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการกระจายความมั่งคั่ง

อีกครึ่งศตวรรษต่อมานักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายรัสเซียSimonKuznet    ออกมาคัดค้าน Pareto โดยบอกว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลเปลี่ยนเมื่อสังคมเปลี่ยน   โดยมีผลการวิจัยสนับสนุนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงแรกส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น  แต่ต่อมาจะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง    โดยมีปัจจัยสำคัญคือมาตรการทางสังคมเพื่อกระจายความมั่งคั่ง  

ในภาพใหญ่ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีความเป็นพลวัต   ตอนที่สังคม(ตะวันตก)เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม   คนในภาคอุตสาหกรรมมีรายได้สูงกว่าคนในภาคเกษตรมาก    ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นมาก    ต่อมาคนมีการศึกษามากขึ้นและมีมาตรการกระจายความมั่งคั่ง ที่เรียกว่า “ความเป็นธรรมทางเศรษญกิจ” (economic justice”   โดยหลากหลายมาตรการของภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ลดลง      

ที่จริงความเหลื่อมล้ำมีทั้งข้อเสียและข้อดี   หากความเหลื่อมล้ำเป็นแรงกระตุ้นให้คนขยันมุมานะ ก็เกิดผลดี    แต่หากความเหลื่อมล้ำทำให้คนงอมืองอเท้าเพราะคิดว่าทำไปก็เท่านั้น   ก็เป็นผลเสีย   

ความเหลื่อมล้ำมันไม่ได้จำกัดที่โอกาสในการได้งานดีๆ    แต่ยังโยงไปยังโอกาสได้รับการศึกษาคุณภาพสูง   หากความเหลื่อมล้ำทำให้ลูกคนจนได้รับการศึกษาที่คุณภาพต่ำ    ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น (inter-generationinequity) ทางสังคมและเศรษฐกิจ   อย่างที่กำลังเกิดในประเทศไทยเวลานี้   เป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา      

เครื่องมือวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปตัวหนึ่งคือ Gini coefficient    ทำให้เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศได้    ตัวเลขต่ำแสดงว่าความเหลื่อมล้ำน้อย    ตัวเลขสูงสะท้อนความเหลื่อมล้ำมาก    ประเทศไทยมี Gini index 0.365    ความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่ ๘๗ของโลก (๑)  

แต่มีวิธีวัดความเหลื่อมล้ำโดยดูว่าคนรวยครอบครองความมั่งคั่งร้อยละเท่าไรของความมั่งคั่งทั้งประเทศ    อาจดูที่คนรวยที่สุดร้อยละ ๑๐ของประชากร   หรือร้อยละ ๑ ของประชากร    ตัวเลขในปี ๒๕๖๑ ของไทย คนรวยที่สุดร้อยละ ๑ครอบครองความมั่งคั่งคิดเป็นร้อยละ ๖๖.๙ สูงที่สุดในโลก (๒)     หากถือตามตัวเลขนี้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ ๑ ของโลก        

World Inequality Report2018บอกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเพิ่มขึ้น    รายงานนี้มีรายละเอียดมาก

กลับมาที่หนังสือ The Haves and the Have-Nots : A Brief and Idiosyncratic Historyof Global Inequality   เขาบอกว่าปัจจุบัน ตัวการสำคัญที่สุดของความไม่เท่าเทียมของรายได้ขึ้นกับว่าเกิดที่ไหน  หรือเกิดในประเทศไหน   เพราะความแตกต่างของรายได้ระหว่างประเทศเด่นชัดที่สุด    นี่คือภาพใหญ่ระดับโลกที่เรามักคิดไม่ถึง       

ผมเขียนบันทึกเรื่องความเหลื่อมล้ำไว้มากมายที่(๓)  

วิจารณ์ พานิช  

๑๙ มี.ค. ๖๓

 

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 676918เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2020 05:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2020 05:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท