ประวัติการศึกษาไทย : แบบเรียนภาษาไทยที่เกิดขึ้นใหม่(6)


     กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
         --------------------------------------

   แต่เดิมมาการศึกษาวิชาภาษาไทยใช้หนังสือจินดามณีเป็นแบบเรียนมาตลอด  เมื่อเวลาล่วงเลยมากว่าศตวรรษก็มีผู้แต่งหนังสือแบบเรียนขึ้นใหม่อีก  2  เล่ม  แบบเรียนที่แต่งขึ้นใหม่ก็อาศัยหนังสือจินดามณีเดิมเป็นหลัก  แต่เอามาดัดแปลงเสียใหม่ให้ใช้ศึกษาเล่าเรียนได้ง่ายขึ้น  หนังสือเรียนดังกล่าวนี้ได้แก่หนังสือประถม  ก  กา  และหนังสือประถมมาลา  สำหรับหนังสือประถม  ก  กา  นั้น  ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่งและไม่ทราบว่าแต่งในรัชกาลใดด้วย  มีผู้กล่าวว่าแต่งในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มี  แต่ไม่สามารถจะหาหลักฐานมายืนยันได้  อย่างไรก็ดีระยะเวลาที่แต่งจะต้องไม่เกินรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯเป็นแน่  หนังสือประถม  ก  กา  ก็เช่นเดียวกับหนังสือจินดามณี  มีอยู่หลายต้นฉบับด้วยกัน  เช่นประถม  ก  ข  ก  กา   ประถม  ก  กา หัดอ่านฉบับของหอพระสมุดแห่งชาตินั้น  มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นหนังสือที่แต่งรุ่นราวคราวเดียวกับหนังสือปฐมมาลา  คือในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  และได้ใช้ในการหัดอ่านหัดเขียนมาจนถึงรัชกาลที่  5  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ยกเลิก  นับว่าเป็นแบบเรียนเล่มที่  2  ถัดมาจากหนังสือจินดามณีของพระยาโหราธิบดี  เป็นแบบหัดอ่านตั้งแต่ต้น  สอนแจกลูก  และคำกาพย์ว่าด้วยแม่ต่าง ๆ  แยกออกเป็นแม่ ๆ  เริ่มต้นด้วยการแจกลูกแม่  ก  กา  แม่  กก  แม่  กง  แม่  กด  เรื่อยไปจนถึงแม่เกยเมื่อแจกลูกจบแม่หนึ่ง ๆ  แล้วก็เอาคำในแม่นั้น ๆ  มาแต่งเป็นกาพย์เป็นกลอน  ผู้แต่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มากจึงสามารถเลือกเอาคำในแม่เดียวกันมาร้อยกรองให้อ่านง่าย  จำง่าย  ต่อจากนั้นมีอธิบายถึงคำกล้ำ  คำควบ  การแบ่งเป็นอักษรสูง  กลาง  ต่ำ  และเครื่องหมายต่าง ๆ  ขอยกตัวอย่างมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้

“...แม่ไก่อยู่ในตะกร้า  ไข่ ๆ  มาสี่ห้าใบ  อีแม่กาก็มาไล่  อีแม่ไก่ไล่ตีกา  หมาใหญ่ก็ไล่เห่า  หมูในเล้าแลดูหมา  ปูแสมแลปูนา  กะปูม้าปูทะเล  เต่านาแลเต่าดำ  อยู่ในน้ำกะจระเข้  ปลาทูอยู่ทะเล  ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี...
...ทีนี้จะว่ากก  มีชื่อนกกระจอกเล็ก  ว่าให้ถูกลูกเด็ก ๆ  อย่าโอยกเอยกอุส่าห์นึก  นกแสกนกกระสา  แกรก ๆ มาเวลาดึก  น้ำมากและน้ำฦก  แลน้ำหมึกแลน้ำหมาก  ปลาอุกปลาดุกดัก  แลปักหลักแลครกสาก...

         ...เรื่องกงดูจงแจ้ง  ลูกมะแว้งแตงฟักทอง  ลูกตำลึงแลหนึ่งสอง  ไม้กระบองแลกระบุง  กระถางโอ่งอ่างไห  ทองแท่งใหญ่ใส่ไถ้ถุง  ยุงหนักต้องกางมุ้ง  ไปเมืองกรุงรุ่งพรุ่งนี้...”

        ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้  เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะเป็นนักการศึกษา  เข้าใจหลักจิตวิทยาของเด็กดี  จึงได้ตัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นออกเสีย  ทำให้เรียนได้เร็วเข้า เหมาะสำหรับเรียนในชั้นต้น  โดยเฉพาะเหมาะสำหรับเด็กวัด  เพราะได้กล่าวถึงวิธีเรียนหนังสือ  และทั้งยังได้กล่าวถึงกิจวัตรประจำวันของศิษย์วัด  ว่าจะต้องทำอะไรตั้งแต่ตื่นนอนเช้าจนถึงเวลานอน  สอนสิ่งที่พึงปฏิบัติและสิ่งที่พึงละเว้นไม่ควรกระทำ  เท่ากับเป็นการสอนจรรยามารยาทไปด้วยในตัว  ขอยกตัวอย่างมาประกอบดังนี้

“...เสร็จสรรพยกสำรับถวายชี  ท่านฉันด้วยดี  ทั้งน้ำอันใสเกราะกรอง  ตัวน้ำว่ายคล่ำลอยล่องผงไผ่ใบตอง  จงกรองให้หมดสดใส  ประเคนสำรับทันใด  นั่งอยู่แต่ใกล้  อยากได้เมินหมิ่นผินหลัง  อย่าคบเพื่อนพูดเสียงดัง  จงนั่งระวัง  อย่าเล่นอึงมี่นี่นั่น  เหลียวแลแปรดูที่ฉัน  สิ่งใดครบครัน  จะฉันให้อิ่มพอแรง น้ำพริกอีกผักต้มแกง  ผักชำปลาแห้ง  ตกแต่งถวายโดยจง...”
          
       ส่วนอีกเล่มหนึ่งคือหนังสือประถมมาลานั้นก็ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและเวลาแต่งเหมือนกัน  เพียงแต่สันนิษฐานกันว่าพระเทพโมฬี (พึ่ง) วัดราชบูรณะเป็นผู้แต่ง   และแต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ วิธีการแต่ง ความไพเราะ ตลอดจนจิตวิทยาสำหรับเด็ก  และความดีในแง่เป็นตำราเรียน  จัดว่าอยู่ในชั้นดีเยี่ยม  แต่งเป็นกาพย์เริ่มแต่แม่  ก  กา  กน  กง  กก  กด  กบ  กม  และเกย  มีคำอธิบายวิธีอ่านและเขียนหนังสือขอม  ตลอดจนสอนการแต่งโคลงสี่สุภาพและโคลงกระทู้รวมอยู่ด้วย  ขอยกตัวอย่างในหนังสือประถมมาลาไว้เพื่อเปรียบเทียบกับหนังสือประถม  ก  กา  เป็นบางตอนดังนี้

       “(แม่  ก  กา) ...ข้าซพะระณา  แต่  ก  กามาแก้ไข  ไม้  แ  และไม้  ไ  ไม้  ใ  โ  อย่าโลเล  ะ  า  แล  ิ  ี  ึ  ื  มีทีขะเน แลไม้  เ  เล่าดูเล่ห์จำใส่ใจ  อย่าแลแต่ตาเปล่า  ว่าแต่เดาเปล่าเปล่าไปตาดูให้รู้ใน  เล่าจำให้แน่แก่ตา...”
     “(วิธีใช้ไม้ม้วน) ...ใฝ่ใจให้ทานนี้  นอกในมีแลใหม่ใส  ใครใคร่แลยองใย  อันใดใช้อย่าใหลหลง  ใส่กลสะใภ้ใบ้  ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง  ใกล้ใบและใช่จง  ใช้ให้คงคำบังคับ  หมู่นี้ไม้ม้วนหมด  มีปรากฏบทฉบับ  ใช้คำขะเนนับ  ยี่สิบศัพท์ดูสอบสวน...”

 (ลักษณะแต่งโคลง)       “พจนสุภาพสิบเก้าวาที
เอกเจ็ดโทสี่มี                     แม่นไม้
สามสิบวากยวาจี               ศิริเสร็จ สารแฮ
ผิวขาดความควรให้          ใส่สร้อยเสริมลง”

        หนังสือประถม ก กา และประถมมาลาทั้ง  2  เล่มนี้ ใช้เป็นแบบเรียนมาจนกระทั่งรัชกาลที่ 4

    ในด้านการศึกษาไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากแผ่นดินก่อน วัดคงเป็นสถานที่ศึกษาที่สำคัญที่สุดอยู่ตามเดิม  ตั้งแต่เจ้านายข้าราชการตลอดจนสามัญชน  นิยมส่งบุตรหลานไปรับการศึกษาที่วัด สิ่งสำคัญที่สุดในด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  อันเป็นการเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาของไทยไปสู่ยุคใหม่  ได้แก่การติดต่อกับพวกฝรั่งชาติตะวันตก

หมายเลขบันทึก: 676813เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2020 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใครเคยท่อง “แม่ไก่อยู่ในตะกร้า ไช่ๆมาสี่ห้าใบ…” บ้าง ยกมือขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท