ชีวิตที่พอเพียง 3663. คือรัก คือชีวิต



หนังสือแปล คือความรัก คือชีวิต เรื่องสั้นคัดสรร แปลจากเรื่องสั้นอมตะ ๑๐ เรื่อง  เขียนโดยยอดนักเขียน ๖ คน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ คนบ้าหนังสือ    ให้ความบันเทิงยิ่งในการอ่านแก่ “คนบ้าหนังสือ” อย่างผม

แถมยังช่วยยืนยันความยืนหยัดในอุดมการณ์ “ให้มากกว่าเอา” (give more than take) ของผม    โดยยืนยันว่า คนที่รักคนอื่น เสียสละเพื่อผู้อื่น เป็นคนที่มีพระเจ้าอยู่ในตน

คนไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีสางเทวดา ไม่ว่าจริงหรือสมมติ อย่างผม    กล่าวว่า ผู้นั้นคือพระเจ้า   

สี่เรื่องแรกเขียนโดย ลีโอ ตอลสตอย    เป็นเรื่องของศรัทธาในพระเจ้าในรูปแบบต่างๆ ในชีวิตของคนเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว    ที่อ่านแล้วประเทืองและสะเทือนอารมณ์   

ในสี่เรื่องนี้ ผมชอบทุกเรื่อง    แต่ชอบเรื่องสุดท้ายมากที่สุด คือเรื่อง คำถามสามข้อ

แต่เรื่องที่ให้ความคิดต่อแก่ผมมากที่สุดคือเรื่อง ชีวิตของศิลปินคนหนึ่ง  เขียนโดย Anton Chekov   ที่สะท้อนชีวิตที่ยากลำบากของคนจนในรัสเซียเมื่อกว่าร้อยปีก่อน    และอุดมการณ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ว่า “ข้อเรียกร้องสูงสุดของมนุษย์คือกิจกรรมทางจิตวิญญาณ – แสวงหาตลอดกาลถึงความจริงและความหมายในชีวิต ...” (น. ๑๖๖)   “อุทิศเวลาว่างให้แก่วิทยาศาสตร์กับศิลปะ” (น. ๑๖๗)   

วลีเด็ด สำหรับนักการศึกษาอยู่ที่หน้า ๑๖๘ “สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่การรู้หนังสือ    แต่คืออิสรภาพที่จะพัฒนาสมรรถนะทางจิตวิญญาณให้กว้าง ...”    ซึ่งเมื่อผมใคร่ครวญ ผมก็เถียงว่า     นั่นมันยุคศตวรรษที่ ๑๙ (เขียนเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๖)     ยุคนี้เป็นศตวรรษที่ ๒๑   ต้องไม่คิดแบบ either … or …  แต่ต้องคิดแบบ both … and …    คือจริงๆ แล้วมนุษย์ต้องการรู้หนังสือ    เพื่อเป็นสะพานสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ    แต่น่าเสียดายที่คนเรามักหยุดอยู่ที่การรู้หนังสือและความรู้อื่นๆ    ละเลยการพัฒนาจิตวิญญาณของตน

กล่าวใหม่ น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาละเลยการพัฒนาจิตวิญญาณ   ที่ท่านพุทธทาสเรียกว่าการศึกษาแบบหมาหางด้วน    และน่ายินดีที่เวลานี้มีโรงเรียนไทยจำนวนหลายร้อยโรงเรียนที่เอาใจใส่พัฒนาจิตวิญญาณของนักเรียนควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    หรือกล่าวใหม่ว่า การพัฒนาทางจิตวิญญาณได้รับการบูรณาการเข้าไปในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่โรงเรียนหนุนให้นักเรียนพัฒนาใส่ตน  

มองจากมุมของเรื่องสั้น ผมว่าเรื่อง ของขวัญของมาไจ เขียนโดย O Henry ดีที่สุด    เพราะมันจบแบบหักมุมอย่างร้ายกาจ    แต่คิดให้ลึก   ทั้งหมดนั้นเพราะความรักที่ภรรยาและสามีหนุ่มสาวผู้ยากจนมีให้แก่กันและกัน     

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้

วิจารณ์ พานิช  

๔ มี.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 676477เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2020 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2020 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท