จุดกำเนิด/สาเหตุของแนวคิดการจัดการรายกรณี


เมื่อพิจารณาจากความหมายของการจัดการรายกรณีในงานสังคมสงเคราะห์ที่รวบรวมไว้นี้ และการศึกษาย้อนหลังเรื่องสถานการณ์การให้บริการสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ จะพบว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในครอบครัวหรือความรุนแรงทางเพศนั้น ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของรุนแรงจะหันหน้าไปพึ่งพาหรือใช้บริการสวัสดิการของรัฐ เช่นการไปแจ้งความกับพนักงานตำรวจ การไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล หรือการหนีไปพึ่งพิงบ้านพักฉุกแนหรือ safe house ต่างๆเหล่านั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยาก ผู้ใช้บริการไม่อยากไปดำเนินการด้วยความหวาดกลัวหรืออาจเป็นความอับอายเป็นต้น จุดกำเนิดที่ก่อให้เกิดการจัดการรายกรณีมีดังนี้

  1. หากไม่มีการจัดการรายกรณีเกิดขึ้น ผู้ใช้บริการที่มีปัญหาซับซ้อนหลากหลาย และมีความต้องการใช้บริการที่หลากหลายจะต้องไปใช้บริการจากผู้ให้บริการแต่ละแหล่งอย่างไม่เป็นระบบ หรือไม่ต่อเนื่อง และเป็นการยากที่จะเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งผู้ให้บริการบางองค์กรยังไม่เคยทำงานร่วมกันหรือติดต่อสัมพันธ์กัน จึงอาจทำให้การส่งต่อหรือติดตามการให้บริการมีอุปสรรค
  2. การลดบทบาทความสำคัญและพึ่งพิงสถาบันการให้บริการ โดยมีแนวคิดการให้บริการที่ยึดชุมชนเป็นฐานในการให้บริการมากกว่าการใช้สถาบันเป็นแหล่งให้บริการ ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้บริการที่มีความต้องการจำเป็นที่ซับซ้อนหลากหลาย จะสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและพึ่งพาตนเองได้ในชุมชนที่มีบริการตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม
  3. แนวโน้มของการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใกล้ชิดและเหมาะสม โดยการประสานเชื่อมโยงทรัพยากรในชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน
  4. ความไม่ยืดหยุ่นของกฎ ระเบียบข้อบังคับของการให้บริการ รวมทั้งขอบเขตการให้บริการ การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเพศ อายุ สภาพหรือโรคที่เจ็บป่วย รายได้ และอื่นๆ ทำให้เกิดช่องว่างของการให้บริการอย่างไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม ช่องว่างที่ซับซ้อนจึงต้องการการประสานงานและตัดสินว่าบริการใดที่เหมาะสมและสามารถให้บริการแก่ผู้ใช้บริการได้
  5. ความต้องการในการประหยัดงบประมาณ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดการรายกรณีเป็นกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่างบประมาณที่ใช้เพื่อจัดบริการให้ผู้ใช้บริการนั้นได้ถูกใช้อย่างฉลาด เหมาะสม มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด งบประมาณหรือเงินที่นำมาใช้ในการให้บริการแก่ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นนั้นอาจเป็นเงินจากรัฐบาล เงินจากการประกันสังคม เงินจากองค์กรสาธารณประโยชน์ เงินจากการบริจาค หรือเงินของผู้ใช้บริการเอง ผู้จัดการรายกรณีจะต้องมั่นใจว่าใช้เงินได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นผู้ร่วมตัดสินใจว่าอะไรคือความต้องการจำเป็น และทำอย่างไรที่จะไม่ใช้เงินอย่างคลาดเคลื่อน ผู้จัดการรายกรณีต้องประสานงานกับผู้ให้บริการว่าบริการอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และเป็นผู้ติดตามว่าผู้ใช้บริการได้รับบริการการรักษาดูแลช่วยเหลือ ตามที่วางแผนไว้
หมายเลขบันทึก: 676451เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2020 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2020 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท