ชีวิตที่พอเพียง 3647. ทักษะเพื่อความสำเร็จในชีวิต



บทความเรื่อง A Simple Test Predicts What Kindergarteners Will Earn As Adult ลงพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American Mind  ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๓   บอกว่า เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน  เราเรียนรู้เรื่อง Marshmallow Test ที่ทดสอบความใจเย็นรู้จักรอเพื่อสิ่งที่ดีกว่า (delayed gratification)    ที่เด็กคนไหนมี โตขึ้นจะประสบความสำเร็จในชีวิต    และพัฒนาขึ้นเป็นเรื่องการพัฒนา EF – Executive Functions ที่โด่งดังอยู่ในเวลานี้  

บทความนี้บอกการค้นพบใหม่ของตนเองว่า เด็กอนุบาลที่ครูบอกว่ามีลักษณะ ไม่ระมัดระวัง (inattentive) โตขึ้น (อายุ ๓๓ - ๓๕) มีรายได้ต่ำกว่า เด็กที่จิตใจเอื้อเฟื้อ (prosocial)    มีรายละเอียดในรายงาน Association Between Childhood Behaviors and Adult Employment Earnings in Canadaซึ่งตีพิมพ์ในวารสารยักษ์ใหญ่ JAMA  ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ฟังดูคุ้นๆ นะครับ

แต่เขาบอกว่า นี่เป็นผลงานวิจัยที่เข้มงวด    มีการควบคุมตัวแปรที่อาจแฝงอยู่ ได้แก่เศรษฐฐานะของพ่อแม่  ไอคิวของเด็ก    ซึ่งเป็นประเด็นที่ Marshmallow Study ไม่ได้คำนึงถึง    และเมื่อมีคนทำการวิจัยซ้ำ โดยมีจำนวนตัวอย่างเพิ่มขึ้น และแตกต่างหลากหลายมากขึ้น    พบว่าผลต่อรายได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลดลงเหลือครึ่งเดียวของ Marshmallow Study เดิม    และเมื่อเอาผลจาก ไอคิวเด็ก และเศรษฐฐานะของพ่อแม่เข้าไปปรับ    พบว่าผลต่อรายได้เกือบจะไม่มีเลย    สะท้อนว่า แม้ delayed gratification จะมีผลดีต่อความสำเร็จในชีวิต    แต่ไอคิวและเศรษฐฐานะของพ่อแม่มีมากกว่า   

ข้อสรุปนี้น่าจะนำไปสู่การโต้แย้งได้อีกมากมาย  

แต่ข้อเสนอว่า เด็กนิสัยเอื้อเฟื้อ จะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า น่าเชื่อนะครับ    และน่าเอามาใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของเรา   

เขาอ้างถึงผลงานวิจัย A gradient of childhood self-control predicts health, wealth, and public safety ซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร PNASในปี 2011 เชียวนะครับ    ที่รายงานว่า เด็กอายุ ๓ – ๑๑ ขวบที่ “การควบคุมตนเอง” (self-control) ดี    จะมีรายได้ดีกว่า สุขภาพดีกว่า และก่ออาชญากรรมน้อยกว่า ในช่วงอายุผู้ใหญ่ระยะต้น     แต่ผู้เขียนบทความใน Scientific American Mind คือ Francis Vergunst  ที่ทำงานวิจัยชิ้นที่เขาเล่าตอนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด บอกว่าเป็นงานที่มีข้อบกพร่อง     เพราะจับเอาคุณลักษณะหลายอย่างเข้ามาอยู่ใน “การควบคุมตนเอง”    ได้แก่ความใส่ใจ (attention)   การรอคอย (delayed gratification)  ความมีน้ำใจ (conscientiousness)     

Francis Vergunst บอกว่า เลือกคุณลักษณะเดียว ที่สังเกตได้ที่บ้าน และหรือที่สถานดูแลเด็กเล็ก มีประโยชน์มากกว่า     เพราะง่ายต่อการดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนา    

นั่นคือที่มาของผลงานวิจัย Association Between Childhood Behaviors and Adult Employment Earnings in Canada   ที่ทำในแคนาดา ในเด็ก ๓,๐๐๐ คน    ให้ครูเป็นผู้ให้คะแนนพฤติกรรมตอนเรียนอนุบาล ด้าน ความไม่ใส่ใจ (inattention)   ซนผิดปกติ (hyperactivity)  ก้าวร้าว (aggression)   ต่อต้าน (opposition)  วิตกกังวล (anxiety)  และเอื้อเฟื้อ (prosocial)    แล้วติดตามเด็กเหล่านี้ ๓๐ ปี    เปรียบเทียบคุณลักษณะกับข้อมูลการเสียภาษีรายได้   

ข้อค้นพบนี้ลงรายละเอียดมาก    และพบความแตกต่างระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชาย    สรุปได้ว่า ในทั้งสองเพศการเป็นเด็กไม่ใส่ใจ สัมพันธ์กับรายได้ต่ำกว่าตอนเป็นผู้ใหญ่     ในเด็กผู้ชาย ความก้าวร้าว และต่อต้าน สัมพันธ์กับรายได้ต่ำ    และความเอื้อเฟื้อ สัมพันธ์กับรายได้สูง   

เด็กซน และวิตกกังวล ไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่   

Francis Vergunst พยายามคิดหา root cause ของการที่พฤติกรรมวัยเด็ก มีผลต่อรายได้ตอนเป็นผู้ใหญ่ และเสนอว่า ผลการเรียนที่ต่ำ และพฤติกรรมต่อต้านสังคม น่าจะเป็นต้นเหตุแท้จริงของรายได้ต่ำตอนเป็นผู้ใหญ่   

สรุปสุดท้ายว่า ต้องฝึกเด็กให้เป็นคนใส่ใจ    และฝึกเด็กผู้ชายให้มีน้ำใจ หรือมีเมตตา

ผมมีความเห็นว่า ความรู้นี้ไม่ได้มีไว้เชื่อแบบรอคอย    เพราะนั่นคืออาการของ fixed mindset ที่ปิดกั้นความเจริญก้าวหน้า    เราต้องสวมวิญญาณ growth mindset หาทางพัฒนาเด็กไทย  

ข้อมูลจากอีกมุมมองหนึ่ง คือจาก World Economic Forum ที่ Davos    ดูได้จาก What you need to know about the future of work    ซึ่งผมตีความว่า มนุษย์ที่จะมีชีวิตที่ดีในอนาคตจะต้องมีทักษะของการเรียนรู้ที่สูง    upskill / reskill ตนเองอยู่ตลอดเวลา  

อ่านความเห็นของ Yuval Harari เกี่ยวกับความท้าทายต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๖ ม.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 675990เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2020 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2020 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สรุปสุดท้ายว่า ต้องฝึกเด็กให้เป็นคนใส่ใจ และฝึกเด็กผู้ชายให้มีน้ำใจหรือมีเมตตา แก้วกำลังเลี้ยงหลานค่ะ ต้องฝึกตามนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท