๔๑. สำนึกรัก..เขื่อนห้วยเทียน..โครงการพระราชดำริ


"ตลอด ๒๐ ปี..ครูก็ไม่เคยรู้เลยว่านี่คือ.โครงการพระราชดำริ..ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เรากำลังเดินตามรอยท่าน สานต่องานที่พ่อทำ..แต่ก็ยังไม่สายที่ครูจะเก็บข้อมูลไว้ เพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียน ให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และช่วยกัน“อนุรักษ์น้ำ”และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามากกว่านี้"

         เมื่อวันหยุดยาว..ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีแนวคิดที่จะไปเที่ยวชมโครงการพระราชดำริ ในวันหยุดยาวๆหรือช่วงปิดภาคเรียน ของปี ๒๕๖๓..

    ในระหว่างที่คิดว่าจะเดินทางไปที่แห่งใด ก็บังเอิญได้ทำความสะอาดอาคารเรียน เพื่อต้อนรับคณะที่จะเดินทางมาบริจาคทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน ซึ่งต้องพักค้างคืนด้วย..

    ผมเหลือบไปเห็นคำขวัญที่หน้าอาคารเรียนความว่า“โบสถ์เก่ามิ่งขวัญ อีสานภาคกลาง ชุมทางเกษตรกรรม ผ้าทองามล้ำ แหล่งน้ำห้วยเทียน หลวงพ่อเยี่ยมรวมใจ”

        ความรู้สึกตอนนั้น..บอกได้เลยว่า..เข้าใจดีทุกอย่าง ทั้งเรื่องโบสถ์เก่าและความเป็นอีสานภาคกลาง แบบว่าแห้งแล้งมากมาย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมีอาชีพเกษตรกรรม..

        ส่วนผ้าทองามล้ำ อันนี้ก็เรื่องจริงเพราะผมซื้อไว้หลายผืน ในส่วนของพระเกจิชื่อดัง เป็นศูนย์รวมใจชาวเลาขวัญ ก็คือหลวงพ่อเยี่ยม ก็เพิ่งจัดงานปิดทองไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง

        เรื่องที่ผมไม่เคยรู้เลยก็คือ..แหล่งน้ำห้วยเทียน..ได้ยินแต่ชื่อมานานเกือบ ๒๐ ปี เมื่อคืนผมลองเข้าไปสืบค้นดูในกูเกิล ก็แทบไม่เชื่อสายตา ว่านี่คือหนึ่งใน โครงการพระราชดำริ

        จากข้อมูลของคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.) ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นหนึ่งใน ๔,๗๔๑ โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

        ในสิ่งที่ผมเคยคิดมาสัมฤทธิ์ติดตรึงใน “วันมาฆบูชา”นี่เอง ผมเคยคิดว่า พระองค์ท่านดูแลทุกข์สุขราษฎรในทุกภูมิภาค สี่พันกว่าโครงการฯ ถ้ามีอยู่ในท้องถิ่นอำเภอเลาขวัญบ้าง..ก็น่าจะดี..เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลแก่พสกนิกรในท้องที่ที่ผมอาศัยอยู่...

        ผมจึงรีบให้อาหารไก่และรดน้ำแปลงผัก จากนั้นก็เข้าไปดูในกูเกิลอีกครั้ง เพื่อสำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทาง และศึกษาข้อมูลให้เกิดความแน่ใจอีกครั้ง..

        โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ ต.ทุ่งกระบ่ำ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ผมเคยได้ยินคนที่ทำงานบนอำเภอเรียกว่า “เขื่อนห้วยเทียน” ผมคิดไว้ก่อนว่า..น่าจะเป็นสถานที่เดียวกัน..

       วันที่ 9 มิถุนายน 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริ แก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฏร ในเขต ต.ทุ่งกระบ่ำ ต.หนองฝ้าย ต.หนองโสน อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

       เพื่อให้มีน้ำทำการเพาะปลูกและอุปโภค-บริโภค ได้ตลอดทั้งปี กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริเริ่มดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนในปี พ.ศ. 2527 และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2530 สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 7,000 ไร่

        พอทราบข้อมูลแล้ว ผมออกเดินทางทันที จากอำเภอเลาขวัญถึงปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำประมาณ ๒๐ กม. เลี้ยวรถลงทางดินลูกรังอัดแน่นราว ๒ กม. สองข้างทางเป็นป่า ถ้ามาตอนกลางคืน..ดูจะเปลี่ยวๆและน่ากลัวพอสมควร..วันนี้..ขับรถไปคนเดียว..แต่เป็นตอนกลางวัน จึงมีรถวิ่งสวนกันพอสมควร

        ผมขับรถขึ้นไปบนสันเขื่อน ทำให้นึกถึงเขื่อนกระเสียว ความยาวตัวเขื่อนน่าจะกว่า ๒ กม.คงจะเป็นแกนดิน เสริมด้านข้างด้วยคอนกรีตและถมด้วยหินก้อนใหญ่ป้องกันการพังทลาย เดินไปอ่านข้อมูลที่ป้ายที่เต็มไปด้วยสนิม ข้อความก็ลบเลือนไปหมดแล้ว..

        สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำแห้งมากมาย จนน่าใจหาย จริงๆแล้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสบาย แต่สองข้างทางที่ยืนชมวิว ต้นไม้ขึ้นระเกะระกะ ผมถ่ายภาพแล้วเดินลงไปที่ชายหาด สัมผัสน้ำที่ใสเย็น ถ้าเป็นฤดูฝน เชื่อว่าน่าจะมองไม่เห็นผืนทรายอย่างแน่นอน

        ผมมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านที่หาปลา เขายืนอยู่ในน้ำห่างจากผม ๕๐ เมตร จับปลาได้หลายตัว..เขาบอกผมว่า น้ำน้อยกว่าทุกปี ทางราชการห้ามนำน้ำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์มานานแล้ว แต่จะใช้เพื่อการประปาส่วนภูมิภาคได้อย่างเดียว

        น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนหรือเขื่อนห้วยเทียน เก็บกักน้ำไว้ให้มีกินมีใช้ทั้งอำเภอ อีก ๓ เดือน ถ้าฝนไม่ตก..จะเดือดร้อนอย่างแน่นอน แต่ถ้าฝนตกลงมาบ้าง ทุกอย่างจะอุดมสมบูรณ์กว่านี้

        ผมรู้สึกสะท้านในหัวใจ เราสอนเด็กให้รู้มากมายทั้งเรื่องในประเทศและต่างประเทศ แต่เรื่องใกล้ตัวว่าน้ำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันนั้นมาจากไหน?..กำลังจะเป็นอย่างไร? นักเรียน..ไม่เคยรู้จากครูเลย..แม้แต่น้อย..

        ที่สำคัญ..ตลอด ๒๐ ปี..ครูก็ไม่เคยรู้เลยว่านี่คือ.โครงการพระราชดำริ..ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เรากำลังเดินตามรอยท่าน สานต่องานที่พ่อทำ..แต่ก็ยังไม่สายที่ครูจะเก็บข้อมูลไว้ เพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียน ให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และช่วยกัน“อนุรักษ์น้ำ”และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามากกว่านี้

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓


       

       

       

       

       

       

หมายเลขบันทึก: 675479เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2020 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2020 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท