พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร คติความเชื่อในภาพยนตร์ Svaha : The Sixth Finger (2019 Netflix Original)


[บทความภาพยนตร์] พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร คติความเชื่อในภาพยนตร์ Svaha : The Sixth Finger (2019 Netflix Original)

สวาหะ ศรัทธามืด นี่คือหนังอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วงการภาพยนตร์เกาหลีไปไกลกว่าประเทศไทยหลายขุมแล้ว แสดงถึง ความเชื่อความศรัทธาสัญลักษณ์วิทยาในศาสนาที่ดีงามที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังมีบทที่ยอดเยี่ยม วิธีการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม ความสลับซับซ้อนดีงาม และวิธีการสรุปที่หาที่ติไม่ได้

Svaha ว่าด้วยสถาบันศึกษาด้านศาสนาแห่งหนึ่ง นำโดยศาสนาจารย์ปาร์ก ต้องการจะเปิดโปงลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ว่าหลอกลวงประชาชนหรือไม่ เขาเคยพบกับลัทธิหนึ่งที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปหัวกวาง และนับถือท้าวจาตุโลกบาลเป็นดั่งพระเจ้า เป็นลัทธิที่มีผู้คนศรัทธากว้างขวาง ที่น่าแปลกก็คือลัทธินี้มีการบริจาคและช่วยเหลือสังคมมากมาย หนังมีการนำเสนอถึงการสืบหาเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมเด็กสาวและเด็กชายหลายเหตุการณ์ และมีการนำคติความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ในพุทธมหายานเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการถอดรหัสจากคัมภีร์ทางศาสนา โดยนักบวชจากหลายศาสนา มีการอธิบายประติมานวิทยาท้าวจาตุโลกบาลตามแบบวชิรญาณ มีการอธิบาย การตั้งคำถามต่อความเชื่อความศรัทธาของผู้คนต่อศาสนาและลัทธิอันหลากหลายในเกาหลี มีการอธิบายความหมายของการหลุดพ้น อัตตา อนัตตา การนิพพานในความหมายของลัทธิมหายาน หนังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ยอดเยี่ยม

ถ้าหากใครมีความรู้ด้านคติชนวิทยาคติ ความเชื่อทางศาสนา เทววิทยา ปรัชญาศาสนาอยู่เป็นทุนแล้ว และชอบหนังแนวสืบสวนสอบสวนที่อยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ รับรองว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณดูแล้วสนุกมาก ๆ เรื่องนี้ ผมขอแนะนำให้ดูอย่างสุดหัวใจเลยครับ

ดังนั้นในบทความภาพยนตร์ตอนนี้ผมจึงขออนุญาต นำเสนอถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ Svaha : The Sixth Finger สวาหะ ศรัทธามืด เพื่อเป็นการเสริมความรู้เพิ่มอรรถรสในการชมภาพยนตร์ให้สนุกมากยิ่งขึ้นครับ

พระโพธิสัตว์คือใคร

ในหนังสวาหะ ศรัทธามืด มีการกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง พระโพธิสัตว์ในที่นี้หมายถึงพระโพธิสัตว์ในคติความเชื่อของศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน

ซึ่งคติความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานนั้นหมายถึง บุคคลผู้ซึ่งบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เป็นบุคคลผู้บำเพ็ญหรือดำเนินชีวิต อยู่ในแนวทางของคติศูนยตา เป็นผู้ตัดความเกี่ยวข้อง ตัดความผูกพัน ตัดความปรารถนาสิ่งต่าง ๆ ออกไป เป็นผู้คอยตักเตือน ชี้แนะ นำทาง บอกกล่าวเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกิเลส ทิฐิที่เป็นภัยกับชีวิต โดยชี้ให้เห็นว่าทางใดนั้น นำไปสู่การหลุดพ้นที่เป็นอมตะ พระโพธิสัตว์จึงเป็นที่พึ่งของบุคคลและเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย และจะเข้าสู่การดับขันปรินิพพานก็ต่อเมื่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ทั้งหมดแล้ว ดังนั้นพระโพธิสัตว์จึงเป็นสิ่งที่พึ่งเคารพบูชาของผู้ศรัทธาอย่างยิ่ง

พระโพธิสัตว์องค์สำคัญตามคติมหายานที่เรารู้จักกันมีอยู่ 5 องค์คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระมหาสถาปประตาปโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระวัชรปาณีโพธิสัตว์

ในหนังให้ความสำคัญกับคติความเชื่อเรื่อง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นอนาคตพระพุทธเจ้าองค์สำคัญตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธฝ่ายมหายานลัทธิวัชรยาน

ตัวละครหลักที่ว่ากันว่าเป็นภาคมนุษย์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมีนิ้วมือข้างละ 6 นิ้ว ที่เป็นส่วนสำคัญที่นำมาตั้งชื่อหนัง The Sixth Finger 6 ซึ่งนิ้วทั้ง 6 นั้น น่าจะหมายถึงภพภูมิทั้ง 6 ซึ่งคัมภีร์ในนิกายวัชรยานนั้นอธิบายว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรคือผู้ที่จะช่วยให้เหล่าสรรพสัตว์ที่อยู่ทั้ง 6 ภพภูมินั้นพ้นจากทุกข์ นำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ และยิ่งไปกว่านั้นคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรตามความเชื่อของนิกายวัชรยานไม่ได้มีเพียงองค์เดียว มีหลายองค์และมีหลายปางมาก แต่ที่เกี่ยวข้องกับภพภูมิทั้ง 6 นั้นมีอยู่ 6 องค์ จะมีอยู่ประจำในแต่ละภพ มีหน้าที่ช่วยนำทางให้สรรพสัตว์ทั้งหลายในแต่ละชนิดนั้นพ้นจากความทุกข์ แต่ละองค์ก็จะมีลักษณะและปางที่แตกต่างกันไป นิ้วทั้ง 6 ในภาพยนตร์จึงเปรียบเสมือนภพภูมิทั้ง 6 นั่นเอง ประกอบด้วย

1. นรกภูมิ มีอารยาวโลกิเตศวร ผู้ประเสริฐที่เป็นพื้นฐานของปางอื่น อยู่ประจำภพ เป็นปางพระโพธิสัตว์กวนอิม

2. เปตติวิสยภูมิ มีสหัสสภุชสหัสสเนตรอวโลกิเตศวร อยู่ประจำภพ เป็นปางมหาบุรุษทรงเครื่องอลังการ เป็นประธานของทั้ง 32 นิรมาณกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

3. ติรัจฉานภูมิ มีหยครีวะอวโลกิเตศวร อยู่ประจำภพ เป็นพระธรรมบาล เศียรเป็นม้า

4. อสุรกายภูมิ มีเอกาทสมุขอวโลกิเตศวร อยู่ประจำภพ อยู่ในลักษณะของพระวชิระโพธิสัตว์ มีความพิโรธดุดันเป็นที่น่าเกรงขาม มีเขี้ยวงอกออกมาจากพระโอษฐ์

5. มนุษยภูมิ มีจุนทีอวโลกิเตศวร อยู่ประจำภพ ปางนี้ถือว่ากำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จำนวน 7 โกฏิพระองค์ บ้างก็เรียกว่าปรัชญาปารมิตา

6. เทวภูมิ มีจินดามณีจักรอวโลกิเตศวร อยู่ประจำภพ ปางนี้จะอยู่ในลักษณะของท้าวมหาพรหม (พระมหาสมยศ อาภายุตฺโต, 2546 หน้า 116-118)

หนังยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องท้าวจาตุโลกบาล โดยให้ลัทธิสำคัญในเรื่องนับถือท้าวจาตุโลกบาลเสมือนหนึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของลัทธิ ในความเชื่อฝ่ายมหายานอธิบายว่าจาตุโลกบาล คือเทวดาผู้เป็นใหญ่อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นแรกที่มีเขตติดต่อจากโลกมนุษย์ถึงสวรรค์ ซึ่งในสวรรค์ชั้นนี้จะมีเทวดาผู้เป็นใหญ่อยู่ประจำทิศทั้ง 4 นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการคุ้มครองพระศาสนา คอยดูแลให้สรรพสัตว์ที่อยู่ตามแต่ละทิศนั้น ยึดมั่นอยู่ในศีลในธรรม หากคนใดประพฤติปฏิบัติดี จาตุโลกบาลก็จะคอยจดชื่อและคุณงามความดีเอาไว้ ส่งผลให้บุคคลนั้นเมื่อสิ้นชีวิตก็จะไปอยู่บนสวรรค์ ผู้ใดขอพรต่อท้าวจาตุโลกบาลก็จะได้สมดังหวัง ซึ่งแนวคิดนี้ก็สอดคล้องกับคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงด้วย

คติความเชื่อเรื่องประติมานวิทยาของเทพประจำทิศ ของฝ่ายมหายาน มีความสอดคล้องกันกับการอธิบายในหนัง กล่าวคือ

โตเหวินเทียนอ๋อง เป็นใหญ่แห่งยักษ์ ประจำอยู่ทิศเหนือ เปรียบได้กับท้าวเวสสุวรรณฝ่ายเถรวาท มีสีกายสีดำ มือถือเจดีย์ บางแห่งว่าถือร่ม มีองครักษ์เป็นเฉ่าเง่อกุ้ยผีอดอยาก

เจินฉางเทียนอ๋อง เป็นใหญ่แห่งกุมภัณฑ์ ประจำทิศใต้เปรียบได้กับท้าววิรุฬหกฝ่ายเถรวาท มีร่างกายสีขาว มือถือเกาทัณฑ์ บางแห่งว่าถือดาบ เทพองค์รักษ์คือ อุ๊งหิ่ง เท้งฉู่ ผีเหม็น

ฉือกว่อเทียนอ๋อง เป็นใหญ่แห่งฝูงคนธรรพ์ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เปรียบได้กับท้าวธตรัฐฝ่ายเถรวาท

มีร่างกายสีเขียว มือซ้ายถือพิณ มือขวากำลังดีดพิณ มีเทพองครักษ์เป็นค้วงกุ้ยหรือผีบ้ากับยมทูตตัวเขียว

กว่างมูเทียนอ๋อง เป็นใหญ่แห่งนาค ประจำทิศตะวันตก เปรียบได้กับท้าววิรูปักษ์ฝ่ายเถรวาท มีงูพันรอบแขนซ้าย บางแห่งว่ามังกร มือขวาถือลูกแก้ว มีเทพองครักษ์เป็นเอี่ยวเฮ้งกุ้ย ผีเมตตาอ่อนโยน และ หง่อกุ้ย ผีอดอยาก

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การสำแดงการของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในเรื่องนั้นมีหลายแบบ ซึ่งในหนังได้แสดงให้เห็นว่า หนึ่งในนั้นคือการแสดงเป็นท้าวจาตุโลกบาลตามคติของวชิรญาณด้วย

ในคัมภีร์ของฝ่ายมหายานแสดงให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสามารถแสดงกายได้หลายรูปแบบ เริ่มจากสัตว์ประหลาด อสูรกาย สัตว์ เทวดา บุคคลที่มีความสง่างาม ซึ่งสอดคล้องกับ คัมภีร์มหายาน มหาสนฺนิปาต กษิติครรถ ทศจกรฺสูตร ได้อธิบายกาแสดงกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเอาไว้ว่า

"... บ้างทำกายเป็นศักรเทวราช บ้างทำกายเป็นจตุเทวราช... บ้างทำกายเป็นยักษ์ บ้างทำกายเป็นรากษส บ้านทำกายเป็นกุมภัณฑ์ บ้างทำกายเป็นปีศาจ บ้างทำกายเป็นเปรต... บ้างทำกายเป็นปีศาจ... ได้ปรากฏเป็นรูปกายจำพวกนี้ประมาณไม่ได้นับไม่ได้ แล้วแสดงธรรมที่สมควรแก่หมู่สัตว์ทั้งหลายตามแต่สมควรของประเภทนั้น ๆ" (แคทรียา อังทองกำเนิด, 2562 หน้า 251)

ในกรณีท้าวจาตุโลกบาลในภาพยนตร์นั้นอธิบายว่า ท้าวจาตุโลกบาลแต่เดิมคืออสูร แต่เมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้าก็เกิดการเปลี่ยนใจมารับใช้ศาสนา รับใช้พระพุทธเจ้าคอยเป็นผู้ปกป้องศาสนา รวมถึงปกป้องทิศทั้ง 4 อีกด้วย ในที่นี้เป็นการอธิบายเชิงสัญลักษณ์ว่าแม้แต่อสูรที่มีความน่าเกลียดน่ากลัว เป็นผู้ทำบาปมาก่อน แต่เมื่อกลับใจสำนึกผิด เข้าหาหลักธรรมอันดีงาม และประพฤติตนอันดีงาม ความน่าเกลียดน่ากลัวนั้นก็จะมลายหายสิ้นไป กลายเป็นภาพลักษณ์ของบุคคลที่สวยงามน่านับถือขึ้นมาได้

ภาพยนตร์บางเรื่องได้แฝงคติความเชื่อความคิด รวมถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาเอาไว้อย่างแยบยล หากเราดูเพียงแค่ความสนุกสนานก็จะได้แต่ความสนุกสนาน แต่ถ้าหากว่าเราดูได้ลึกและศึกษาเพิ่มเติม เราจะได้ความรู้มาก อย่างน้อยที่สุดเวลาเอาไปคุยกับใครจะได้ไม่เก้อเขินในภายหลัง

.

วาทิน ศานติ์ สันติ

#บทความไทยศึกษาคติชนวิทยา

#MovieStationReview

#สถานีหนัง

#บทความภาพยนตร์

#SvahaTheSixthFinger

#สวาหะศรัทธามืด

ภาพประกอบโปสเตอร์ภาพยนตร์ Svaha : The Sixth Finger จาก IMDB.com

ภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถ่ายจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

ภาพจาตุโลบาล ถ่ายจากวัดกระทุ่มเสือปลา กรุงเทพฯ

เอกสารประกอบการเขียน

แคทรียา อังทองกำเนิด. (2562). อาร์คีไทพ์อวตาร ปรากฏการณ์ทางเทพปกรณัมในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ผุดพรรณ ศุภพันธุ์.(2529). การศึกษาเปรียบเทียบความคิดเกี่ยวกับ พระพุทธเจ้าในพุทธปรัชญาเถรวาทกับพุทธปรัชญามหายาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาปรัชญา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระมหาสมยศ อาภายุตฺโต. (2546). การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวความคิด เรื่องพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) ในพระพุทธศาสนามหายาน, วิทยานิพนธ์ ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

อ่านรีวิวภาพยนตร์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/34427...

หมายเลขบันทึก: 674074เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2019 06:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2020 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท