สัปปุริสธรรม ๗


สัปปุริสธรรม ๗

นำเสนอโดย
พระธีรสุต ฐิตสุโข

เสนอ ดร.โสภณ จาเลิศ
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
วิชา นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง
ภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๒

 

สัปปุริสธรรม ๗ คือ ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้สัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี ได้แก่

๑. ธัมมัญญุตา คือ ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือรู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้น ๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ ๆ จึงจะเกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้น ๆ เป็นต้น

๒. อัตถัญญุตา คือ ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้น ๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้น ๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น

๓. อัตตัญญุตา คือ ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้นว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรม เป็นต้น เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

๔. มัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

๕. กาลัญญุตา คือ ความรู้จักกาล คือ รู้จักกาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงานหรือปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

๖. ปริสัญญุตา คือ ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

๗. ปุคคลัญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา คือ ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใคร ๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

เอกสารอ้างอิง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๒๔.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระพุทธศาสนาของธรรมสภา, ๒๕๕๖. หน้า ๒๑๐-๒๑๑.

เมื่อท่านอ่านเรื่องนี้แล้วขอความกรุณาประเมินความพึงพอใจจากการอ่านโดยคลิกที่นี่https://forms.gle/uMCDFv84gE3B...    

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สัปปุริสธรรม ๗
หมายเลขบันทึก: 673771เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2019 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2020 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท