ชีวิตที่พอเพียง 3568. ใช้มาตรฐาน KM ISO 30401 เป็นลมส่ง : ๘. องค์ประกอบจำเป็นของระบบจัดการความรู้ตัวที่เก้า การประเมินสมรรถนะ



The International Organization for Standardization (ISO) เผยแพร่ ISO 30401 : 2018 – Knowledge management systems – Requirement (๑)  เมื่อปี ๒๕๖๑   เสนอมุมมอง และวิธีการเชิงระบบ ต่อการจัดการความรู้    และ เว็บไซต์ของ สวทช. เสนอภาพรวม หรือข้อสรุป เป็นภาษาไทย ที่ดีมาก ไว้ที่ https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/knowledge-management/12481-iso-30401

ในบันทึกชุด ใช้มาตรฐาน KM ISO 30401 เป็นลมส่ง นี้ ผมตีความ (และบางครั้งเพิ่มเติมความเห็นของผมเอง หรือเถียง ISO) นำมาเสนอเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย    ในการประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ เพื่อการเรียนรู้ที่ทรงพลังจากการทำงาน    เกิดมาตรฐานการทำงานที่ได้ประโยชน์สามต่อ คือ (๑) ผลงานคุณภาพสูง มีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา    (๒) การทำงานเป็นเครื่องมือพัฒนาคนที่ทรงพลังที่สุด  และ (๓) ประสบการณ์และความรู้ที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นตัวสร้างองค์กร ให้เป็นองค์กรเรียนรู้   

สาระหลักของ ISO 30401 เรียกว่า องค์ประกอบที่จำเป็น (requirement) ของการจัดการความรู้  มี ๑๐ องค์ประกอบ    ในบันทึกที่ ๘ นี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบที่ ๙  Performance evaluation

การติดตามผล  การวัด  การวิเคราะห์  และการประเมิน

องค์กรพึงกำหนด

  • สิ่งที่จำเป็นต้องติดตามและวัด    ซึ่งต้องรวมทั้งการปฏิบัติตามองค์ประกอบจำเป็นที่ระบุในเอกสารนี้    และหลักฐานที่แสดงว่ามีการเพิ่มคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสีย
  • วิธีการติดตาม  วัด  วิเคราะห์  และประเมิน เพื่อให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือ
  • เวลาที่ควรดำเนินการติดตามและวัด
  • เวลาที่ควรนำผลการติดตามและวัดมาวิเคราะห์และประเมิน

องค์กรพึงเก็บสารสนเทศที่เป็นเอกสารไว้เป็นหลักฐานของผลการจัดการความรู้

องค์กรพึงประเมินสมรรถนะของความรู้ และประสิทธิผลของระบบจัดการความรู้

การตรวจสอบภายใน

  • (๑)  องค์กรพึงจัดดำเนินการตรวจสอบภายในเป็นช่วงๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าระบบจัดการความรู้

(ก) ดำเนินการตรงตาม

  • - ข้อกำหนดองค์ประกอบจำเป็น ที่องค์กรกำหนดไว้
  • - องค์ประกอบจำเป็นตามที่ระบุในเอกสารนี้

(ข)  มีการดำเนินการอย่างก่อประสิทธิผล  และมีการบำรุงรักษา 

  • (๒)  องค์กรจะ
  • - วางแผน  จัดทำ  ดำเนินการ  และบำรุงรักษา การตรวจสอบภายใน    รวมทั้งกำหนดความถี่  วิธีการ  ความรับผิดชอบ  การวางแผนข้อกำหนดและรายงาน ที่คำนึงถึงวิธีการและผลของการตรวจสอบครั้งก่อนๆ  
  • - ระบุเกณฑ์และขอบเขตของการตรวจสอบภายในแต่ละครั้ง
  • - เลือกผู้ประเมิน เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่แม่นยำ ไม่เข้าใครออกใคร
  • - ดำเนินการให้ส่งรายงานผลการประเมินไปยังฝ่ายบริหารที่เหมาะสม
  • - เก็บสารสนเทศที่เป็นเอกสารไว้เป็นหลักฐานการดำเนินการตรวจสอบภายใน และเป็นหลักฐานของผลการประเมิน   
  • การทบทวนประเมินการจัดการ (management review)

ผู้บริหารระดับสูงพึงจัดให้มีการประเมินระบบจัดการความรู้ขององค์กร ตามช่วงเวลาที่กำหนด   เพื่อให้มั่นใจว่าระบบจัดการความรู้มีความเหมาะสม พอเพียง และมีประสิทธิผล อย่างต่อเนื่อง

การทบทวนประเมินการจัดการพึงคำนึงถึง

  • (๑) การดำเนินการสืบเนื่องจากการทบทวนประเมินคราวที่แล้ว
  • (๒)  การเปลี่ยนแปลงภายนอกและภายในองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับระบบจัดการความรู้
  • (๓) สารสนเทศเกี่ยวกับสมรรถนะของการจัดการความรู้   รวมทั้งแนวโน้มเกี่ยวกับ
  • - การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด  และการดำเนินการแก้ไข
  • - ผลของการติดตามและวัดผล
  • - ผลของการตรวจสอบภายใน
  • (๔)  โอกาสของการดำเนินการปรับปรุงต่อเนื่อง  

รายงานการทบทวนการจัดการ พึงเสนอให้มีการตัดสินใจเรื่องโอกาสดำเนินการปรับปรุงต่อเนื่อง    และการเปลี่ยนแปลงในระบบจัดการความรู้ 

องค์กรพึงเก็บเอกสารรายงานการทบทวนประเมินการจัดการไว้เป็นสารสนเทศในรูปของเอกสาร สำหรับเป็นหลักฐานของผลการทบทวนประเมินการจัดการ 

วิจารณ์ พานิช

 ๑๐ กันยายน ๒๕๖๒

 

หมายเลขบันทึก: 673222เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2019 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2019 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท