[review] รีวิว Salo 120 Days of Sodom (1975) สุขนาฏกรรมอเวจี : และประวัติความเป็นมาของลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี


[review] รีวิว Salo 120 Days of Sodom (1975) สุขนาฏกรรมอเวจี : และประวัติความเป็นมาของลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี

ชมคลิปรีวิว ที่นี่

จัดว่าเป็นหนังที่วิปริตที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งของโลก คนจะดูหนังเรื่องนี้จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ทนต่อความหดหู่ ทนต่อความวิปริตของมนุษย์ ทนต่อความแหวะขยะแขยงได้ เป็นหนังที่ดูครั้งเดียวแล้วไม่มีใครอยากดูอีก ความจริงจังของหนังสร้างความโกรธแค้นชิงชังให้กับคนดูทันทีที่เข้าฉาย จนเป็นเหตุที่ทำให้ผู้กำกับถูกวัยรุ่น 3 คนรุมทำร้ายจนเสียชีวิตเลยทีเดียว

Salo 120 Days of Sodom เป็นหนังสัญชาติอิตาเลียน กำกับโดย Pier Paolo Pasolini ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง The 120 Days of Sodom โดย Marquis de Sade หนังนำเสนอภาพอันโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากข้อมูลของหนังอยู่ในช่วงปี 1943 ถึง 1945 หนังทำให้เห็นว่ากลุ่มปกครอง ผู้นำ นายทหารชั้นสูงได้ทำสิ่งใดกับประชาชนบ้าง แต่หนังได้นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ทุกสัญลักษณ์ของหนังแสดงให้เห็นถึงความกดขี่ ข่มเหง การทดลอง การลงโทษอันวิปริตผิดมนุษย์มนา แสดงให้เห็นถึงความวิปริตของรูปแบบการปกครองเผด็จการทหาร (fascist Republic) ที่ทำอะไรกับประชาชนก็ได้โดยไม่สนใจมนุษยธรรม ไม่สนใจความถูกต้อง ซึ่งหนังเป็นการสะท้อนกลับไปยังประเทศอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้ระบอบเผด็จการทหารนี้นั่นเอง หนังถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงใหญ่คือ

Circle of Manias หนังทำให้เห็นตั้งแต่กลุ่มผู้นำทหารไล่จับประชาชน พรากลูกจะพ่อแม่ ภาพภรรยาจากสามี พรากสามีจะภรรยา เลือกคนที่เป็นคนหน้าตาดี จับมาอยู่ในคฤหาสน์หลังหนึ่ง แล้วก็สอนให้เรียนรู้ในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่นกันปนเปลอทางเพศ ทั้งแบบปกติ ทั้งแบบรักร่วมเพศ แล้วก็แบบวิปริตผิดมนุษย์ วันดีคืนดีก็ให้ผู้คนกลุ่มนั้นถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดใช้ห่วงใส่ปลอกคอเอาเชือกลากเป็นสุนัข ให้กินอาหารแบบสุนัก หรือบางเหตุการณ์ให้คนหนุ่มสาวแต่งงานกัน บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ต่อหน้านายทหารชั้นผู้ใหญ่และทหารทั่วไป แต่เมื่อทั้งสองกำลังจะมีเพศสัมพันธ์กันก็ถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่บังคับเพศสัมพันธ์ด้วย ทั้งแบบชาย-หญิง ชาย-ชาย ชาย-ชาย-ชาย ในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหารนั้นจะทำอะไรกับใครก็ได้ โดยที่ไม่สนใจว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นมนุษย์ ไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนใด ๆ ทั้งสิ้น

Circle of Shit เรื่องราวในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ใครหลายคนดูแล้วจะต้องรู้สึกสะอิดสะเอียน เพราะเกี่ยวข้องกับการกินอุจจาระของทั้งเหล่านายทหารชั้นผู้ใหญ่และบังคับให้ทุกคนกินอุจจาระ เริ่มเรื่องจากหญิงสาวคนหนึ่งร้องไห้คิดถึงแม่ พ่อแม่ของเธอถูกฆ่าในข้อหาค้าประเวณี ในขณะที่เธอร้องไห้นั้น นายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งก็ถอดกางเกงแล้วนั่งลงถ่ายอุจจาระ แล้วบังคับให้เธอกิน จากนั้นนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกคนที่เห็นภาพนั้นแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศก็แอบเข้าไปช่วยตัวเองในห้อง หลายคืนต่อมาให้ผู้คนที่จับมาถ่ายอุจจาระในโถ แล้วนำอุจจาระมารวมกัน เอามาปรุงเป็นอาหารให้ทุกคนได้กิน ส่วนนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รูปแบบ วิธีการ รวมถึงแนวคิดรูปแบบการปกครองในระบอบเผด็จการทหารฟาสซิสต์นั้นเป็นสิ่งโสมม แม้กระทั่งผู้นำรู้ตัวว่าเป็นสิ่งโสมมก็ยังใช้ระบบนี้อย่างไม่สนใจใยดีความถูกต้อง

Circle of Blood ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่โหดร้ายมากที่สุด ส่งผลต่ออารมณ์คนดูมากที่สุด เป็นการลงโทษของผู้นำต่อผู้คนที่เขาจับมา คืนหนึ่งเขาเห็นว่าทุกคนนั้นเริ่มแอบทำในสิ่งต่าง ๆ ที่สั่งห้าม เช่นห้ามทุกคนแอบมีเพศสัมพันธ์กัน ห้ามทุกคนซ่อนสิ่งของส่วนตัว ห้ามหญิงสาวแสดงพฤติกรรมรักร่วมเพศ (แต่แปลก กลับมาได้ห้ามผู้ชายมีเพศสัมพันธ์แบบชาย-ชาย) มีเมื่อเห็นจึงลงโทษด้วยการยิงให้ตาย ๆ ทันที วันรุ่งขึ้นก็จับผู้คนทุกคนไปลงโทษที่ลานด้านนอกอาคาร วิธีการลงโทษก็สุดแสนจะโหดร้ายทารุณเช่น การใช้เหล็กเผาไฟจี้ไปที่หัวนม การรุมข่มขืนแล้วฆ่าด้วยการแขวนคอ การใช้มีดกรีดหนังศีรษะและถลกทั้งเป็น การใช้มีดควักลูกตาเป็นต้น ระหว่างที่ผู้นำทหารดูการลงโทษนั้นไปก็เกิดอารมณ์ทางเพศไปด้วย ในจุดนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับวิธีการปกครอง ประชาชนเริ่มไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ประชาชนเริ่มปฏิบัตินอกคอก และเมื่อมีการจับได้ก็จะมีการลงโทษอย่างรุนแรงนั่นเอง

ในหนังมีการตัดสลับมาอยู่ในฉากห้องโถงใหญ่ ทุกคนจะมารวมกันอยู่ในห้องโถงใหญ่นั้นมีนักเล่นเปียโนเล่นคลอไปอยู่ตลอดเวลา เป็นการแสดงให้เห็นว่าในความวิปริตนั้น ในความโหดเหี้ยมทารุณนั้น ในส่วนของผู้นำทางการทหารรู้สึกว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือความสุนทรีย์ก็ได้

ภาพความวิปริตผิดมนุษย์มนาของหนังที่เล่าไปในข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในหนังเท่านั้น ซึ่งหากใครมีจิตใจแข็งแกร่งเพียงพอก็สามารถหาชมดูได้ แต่จะได้วิธีใดก็แล้วแต่ความสามารถ แต่ภาพความไม่ปกติที่หนังนำเสนอนั้นหากมองในมุมลึกแล้ว เป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือการสะท้อนความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อระบอบเผด็จการทหารแบบฟาสซิสต์

หากมองในแง่ศิลปะก็ต้องขอชื่นชมผู้กำกับศิลป์ กำกับภาพว่ามีการจัดวางองค์ประกอบของภาพแต่ละภาพออกมาได้อย่างสวยงาม ทุกฉากที่มีคนหลายคนล้วนแต่จัดองค์ประกอบได้ดี มีการใช้สัญลักษณ์เก่งกาจ ชัด ตรงประเด็น ทุกภาพทุกเหตุการณ์ที่นำเสนอนั้นล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนดูอย่างรุนแรง

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า หลังจากที่หนังออกฉายแล้วสร้างความไม่พอใจให้กับคนดูเป็นอย่างมาก โดยเชื่อกันว่าผู้กำกับถูกผู้ชาย 3 คนรุมทำร้ายจนเสียชีวิตอันเกิดจากความไม่พอใจของหนังเรื่องนี้เลยทีเดียว

จัดได้ว่าเป็นหนังที่ทำมาให้คนจิตแข็งดูโดยเฉพาะ และไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะมีการนำเสนอเรื่องเพศอย่างชัดเจน นำเสนอถึงกระทำที่โหดร้ายทารุณต่อร่างกายอย่างชัดเจน และภาพแต่ละภาพนั้นล้วนแต่ทำร้ายจิตใจของคนดูโดยตรง หนังมีความยาวถึง 2 ชั่วโมงและทำร้ายจิตใจเราตลอดเวลา

เรื่องนี้ไม่มีพากย์ไทย ไม่มีบรรยายไทยนะ ดูแค่ภาพกับอ่าน subtitle ภาษาอังกฤษก็พอได้ หลายฉากกดข้ามไปก็ได้ถ้าทนไม่ไหว แต่ยังมีสิ่งปลอบใจคือผู้หญิงหลายคนในเรื่องนี้ แต่ละคนสวยเอาการเลยทีเดียว

กล่าวโดยสรุป Salo 120 Days of Sodom สุขนาฏกรรมอเวจี เป็นหนังที่ต้องการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณของการปกครองในระบอบเผด็จการทหารฟาสซิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนังที่ต้องใช้ความสามารถในการตีความ จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความวิปริตและโหดเหี้ยมทารุณที่สุดตลอดกาล เป็นหนังที่ดูแล้วไม่มีใครคิดอยากจะกลับดูซ้ำอีก

8/10

วาทิน ศานติ์ สันติ

#บทความประกอบภาพยนตร์

เรื่องลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี

เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวคิด การสร้างมาจากการต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร อิตาลีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นผมจึงขออธิบาย เรื่องราวของลัทธิ ฟาสซิสต์ โดยสังเขปดังนี้

ชื่อลัทธิฟาสซิสต์มาจากคำว่า Fasces เป็นภาษาละตินหมายถึงกลุ่มแขนงไม้ (Rods) ใช้มัดรวมเข้ากับด้ามขวานเป็นจะเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจในสมัยจักรวรรดิโรมัน ส่วนคำว่า Fascists ในภาษาอิตาเลียนหมายถึงการรวมกำลังเข้าด้วยกัน

ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) คือแนวทางการปกครองของ เบนิโต มุสโสลินี (1883 -1945) เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง มีลักษณะเป็นขบวนการชาตินิยม อยู่ในรูปแบบการปกครองระบอบเผด็จการฝ่ายขวาจัดนิยมทหาร เพื่อต่อต้านอิทธิพลของการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยในวันที่ 23 มีนาคม 1919 มุโสลินีได้ก่อตั้งกลุ่ม Fasci di combat Timento เป็นกลุ่มการเมืองในอิตาบีมีแนวคิดเรื่องชาตินิยม อีกทั้งใช้ในการต่อต้านรัฐบาลอิตาลีที่ไร้สมรรถภาพต่อการเรียกร้องสิ่งที่อิตาลีควรได้รับจาก ฝ่ายสัมพันธมิตร นับตั้งแต่ก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ อิตาลีได้ร้องขอดินแดนที่ตนทำสัญญา ลอนดอนซึ่งทำกับอังกฤษฝรั่งเศสและรัสเซียเอาไว้ในปี 1915 ซึ่งฝ่ายพันธมิตรนี้ตกลงจะมอบดินแดน เทรนติโน ทริเอสเต ไทรอล อิสเทรีย และ ดัลมาเทียให้ โดยที่อิตาลีต้องเข้าร่วมสงครามโลกกับฝ่ายพันธมิตร แต่อย่างไรก็ตามภายหลังข้อเรียกร้องของอิตาลีก็ได้รับการคัดค้านจากประธานนาธิบดีวิลสันของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีจึงอยู่ฝ่ายอักษะ ลักษณะของลัทธิฟาสซิสต์ สามารถจำแนกได้เป็น

1. มีความเป็นชาตินิยมสูง

2. ไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนจะต้องยกย่องและเชื่อฟังผู้นำ ผู้นำสัญญาว่าจะมอบความก้าวหน้าให้แก่ประชาชนผู้จงรักภักดี

3. รัฐถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และมีอำนาจสูงสุดเหนือประชาชน

4. ไม่เชื่อในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่าเป็นการปกครองที่ขาดประสิทธิภาพ ขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะในด้านการยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความล่าช้า ในการบริหารประเทศนำมาซึ่งความล้มเหลวในการปกครอง

5. ผู้ปกครองมีความเข้มงวด ผู้ปกครองไม่จำเป็นจะต้องฟังเสียงจากประชาชน

6. มีแนวคิดที่เหมือนกับลัทธินาซีของเยอรมัน ปลูกฝังให้ประชาชน เชื่อว่าชาติของตนเองเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และมีความเจริญกว่าชาติอื่น ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ในการทำลายชาติที่ด้อยกว่า ปกครองและสร้างความเจริญให้ชาติเหล่านั้น

สมาชิกพรรคฟาสซิสต์ เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อและยกย่องตนเองว่าเป็นผู้นำความความเจริญรุ่งเรือง มาให้กับอิตาลีและมีความยิ่งใหญ่เหมือนกับจักรวรรดิโรมัน ภายในพรรคมีกองกำลังพิเศษสวมเสื้อชุดสีดำ ได้รับอิทธิพลเครื่องแบบมาจาก การิบอลดี กองกำลังจะมีอาวุธติดตัวอยู่เสมอ จะปฏิบัติต่อประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่มสังคมนิยม กลุ่มชุดดำจะทำการปกป้องนายทุนและนักอุตสาหกรรม โดยใช้วิธีการรุณแรงอย่างเช่นการทำร้ายร่างกาย ประชาชนที่นัดหยุดงานประท้วงเหล่านายทุนจะได้รับการลงโทษ เพราะถือว่าเป็นศัตรูทางการเมือง

ในปี 1921 พรรคฟาสซิสต์ได้รับการเลือกตั้งให้เข้าไปนั่งในสภาของอิตาลีเพียง 35 คน ผิดกับ พรรคคอมมิวนิสต์ในอิตาลีที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวอิตาเลียนเป็นอย่างสูงในขณะนั้น แต่พวกฟาสซิสต์ก็มีวิธีที่ชาญฉลาดแกมโกงโดยการโฆษณาชวนเชื่อว่าพวกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กำลังเตรียมการปฏิวัติขึ้นในอิตาลี จากการปล่อยข่าว ความสามารถพิเศษในด้านการพูดของมุสโสลินี และโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้น สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ และในขณะเดียวกันรูปแบบของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นขัดแย้งกับระบบนายทุนและกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้นนายทุนและกลุ่มอุตสาหกรรมจึงสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์อย่างเต็มที่

จนเมื่อมุสโสลินีเห็นว่าพรรคฟาสซิสต์ของตนมีกำลังอำนาจสูงสุดและมีผู้สนับสนุนเพียงพอแล้ว ดังนั้นในวันที่ 27 ตุลาคม 1922 พรรคฟาสซิสต์ก็เดินทัพเข้าสู่กรุงโรม ในวันที่ 30 ตุลาคม 1922 พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ส่งมอบอำนาจให้มุโสลินีเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพวกเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคประชาชนคาทอลิก โดยมีจุดมุ่งหมายให้รัฐบาลผสมทำหน้าที่ป้องกันประเทศป้องกันการปฏิวัติของพวกคอมมิวนิสต์ จากนั้นในปี 1928 พรรคฟาสซิสต์กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศแต่เพียงพรรคเดียว

อิตาลีอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ควบคุมเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กำหนดอัตราค่าจ้างกำหนดราคาสินค้ากำหนดชั่วโมงการทำงาน สร้างความวุ่นวายไปทั่วประเทศกับกลายเป็นว่าการควบคุมของพรรคฟาสซิสต์ทำให้ระบบนายทุนเสรีนิยมหมดไปจากอิตาลี

ในขณะเดียวกันพรรคฟาสซิสต์ก็ได้ปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถลดเองได้เช่นการนำเอาเครื่องจักรชนิดใหม่มาใช้ในกิจการอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ถ่านหินที่ขาดแคลน การทำอุตสาหกรรมภายในประเทศได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง รัฐบาลให้การคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศด้วยการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรเพื่อป้องกันการแข่งขันสินค้าจากต่างชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมเกษตรกรรมสมัยใหม่ เมื่อประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้นแล้วก็เริ่มมีการพัฒนาด้านกำลังทหาร จนสามารถรุกรานเอธิโอเปียได้ในปี 1935

ในปี 1936 เบนิโต มุสโสลินีได้ร่วมมือกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และยังให้การช่วยเหลือนายพลฟรังโกทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลสาธารณรัฐที่ 2 ของสเปนได้สำเร็จในปี 1939 และในปีเดียวกันก็สามารถนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในฝ่ายอักษะได้

พรรคฟาสซิสต์มีบทบาทในการบริหารประเทศอิตาลีอยู่นานหลายปีและมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แล้วในปี 1943 กองกำลังผสมของฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยกพลขึ้นบก เข้าสู่อิตาลีได้ ในปี 1944 ก็สามารถยึดกรุงโรมเอาไว้ได้ มุสโสลินีและพรรคฟาสซิสต์ของเขาตกที่นั่งลำบาก จนในที่สุดวันที่ 28 เมษายน 1945 มุสโสลินี ได้ถูกจับกุม และถูกสังหารโดยประชาชนชาวอิตาเลียนผู้รักชาติในขณะที่เขาเตรียมตัวหนีไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ศพของมุนีถูกนำไปยังมิลานและได้ถูกแขวนประจานพร้อมกับ คลารา เพทตักซิ ผู้เป็นภรรยาต่อหน้าสาธารณชน กองทัพอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนพฤษภาคม 1945 ถือว่าเป็นการหมดอำนาจของพรรคฟาสซิสต์ไปพร้อมกัน

หนังสือประกอบการเขียน

ศฤงคาร พันธ์พงษ์, รศ. (2547). ประวัติศาสตร์ยุโรป 2. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

วาทิน ศานติ์ สันติ

หมายเลขบันทึก: 670432เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2019 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2021 06:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท