[review] รีวิว Knock Knock (2015)



[review] รีวิว Knock Knock (2015) หากคุณเคยประทับใจกับหนัง แนวระทึกขวัญแสดงถึงภัยจากบุคคลแปลกหน้าเข้าบ้านอย่าง Funny Game US ผมขอแนะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีลีลาการเล่าและแนวคิดของเรื่องค่อนข้างคล้ายกัน

#มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง

knock knock ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวอันอบอุ่นประกอบด้วยพ่อ อีแวน เว็บเบอร์ (คีอานู รีฟส์) สถาปนิกวัยกลางคน แม่ วิเวียน ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ และลูกอีก 2 คน ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์พวกเขาได้วางแผนจะไปเที่ยว แต่ผู้เป็นพ่อกับต้องทำงานเร่งด่วน ในค่ำคืนฝนตกหนักอีแวนจะต้องอยู่ทำงานจนดึกดื่น เสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น เขาเปิดประตูออกไปพบกับสองสาวหน้าตาสะสวยยืนเปียกฝนอยู่หน้าบ้าน ขอเข้ามาใช้โทรศัพท์ ด้วยความที่เป็น 2 สาวดูไม่มีพิษไม่มีภัยเขาจึงเปิดประตูต้อนรับเชิญให้เข้ามาบ้าน เขาให้ใช้โทรศัพท์ ให้ใช้อินเทอร์เน็ตแถมยังใจดีเอาเสื้อผ้าที่เปียกฝนไปอบแห้ง เรียกแท็กซี่อูเบอร์ให้ด้วย แต่แล้ว 2 สาวผู้ดูใสซื่อไม่มีพิษมีภัยกับกรายเป็นบุคคลอันตราย ที่จะทำร้ายทำลายชีวิตของอีแวนและครอบครัวไปอย่างคาดไม่ถึง

จัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่ใช้นักแสดงน้อยและถ่ายทำในบ้านเพียงหลังเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาบทและวิธีการเล่าเรื่องที่ดีทำให้หนังไม่น่าเบื่อ ซึ่งหากใครยังไม่ได้ชม Funny Game US มาก่อน knock knock ก็น่าจะพอไปวัดไปวาได้ แต่จะหาใครชม Funny Game US ก็ขอบอกว่า knock knock ไม่ได้มีความแปลกอะไรนัก

ข้อดีอย่างหนึ่งของ knock knock เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ Funny Game US ซึ่งเป็นหนังที่มีลีลาการเล่าเรื่องและเส้นเรื่องคล้ายกันคือ ส่วนตัวผมแล้วขอบอกว่า knock knock ดูง่ายกว่า ปรัชญาหรือหัวใจของเรื่องนั้นคนดูสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า Funny Game US

ใน knock knock มีประเด็นให้ตีความหลายประเด็นเช่น

ประเด็นผู้ชายคิดว่าสามารถเอาชนะผู้หญิงได้

เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ชาย มักจะคิดเสมอว่าตนเองสามารถจัดการกับหญิงสาวสองคนได้ แต่ในโลกความจริงนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างนี้เสมอไป

ประเด็นสัญชาตญาณสัตว์ (มนุษย์)

ในหนังตัวละครของ 2 สาวได้เปรียบเทียบ สัญชาตญาณความต้องการของสัตว์เอาไว้ เป็นการแสดงว่าต่อให้เพศชายนั้นดูภายนอกแม้จะเป็นบุคคลดี รักครอบครัวมากแค่ไหน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วผู้ชายก็จะมีจุดอ่อนที่เหมือนกันทั้งหมดคือ เรื่องความต้องการทางเพศ และจุดนี้เองที่หนังได้ขยี้แล้วทิ้งท้ายในตอนจบ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า กิเลสในเบื้องลึกที่สุดของจิตใจเป็นตัวทำให้มนุษย์สูญเสียอะไรได้มากเพียงใด

ประเด็นเรื่องงานศิลปะ

หนังพยายามทำให้เราเห็นว่าโลกของงานศิลปะนั้น เป็นโลคแห่งนามธรรม ซึ่งความงามนั้นแต่ละคนไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีบทที่ทำให้ตัวละคร 2 สาว ทำลายงานศิลปะ รวมถึงการทิ้งข้อความเอาไว้ว่า "ศิลปะไม่มีจริง" เป็นการเปรียบเทียบว่าในโลกของความเป็นจริงนั้นไม่จำเป็นที่จะต้อง "ธรรมะชนะอธรรม" "คนดีผีคุ้ม" "เรื่องร้ายจะกลายเป็นดี" ฯลฯ (แล้วแต่จะตีความ) หรือสามารถแก้ไขสถานการณ์ยามคับขันให้กับกลายเป็นดีได้เสมอไป

ประเด็นพิษภัยที่เกิดจากภายนอก และภายใน

หนังแสดงให้เห็นว่าต่อให้เราเป็นคนดีแค่ไหน ต่อให้เราเป็นคนระมัดระวังในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตของเราแค่ไหน ก็อาจจะมีบ้างที่ต้องประสบกับเรื่องไม่คาดฝัน ก็อาจจะมีบ้างที่ต้องเจอสถานการณ์บีบบังคับรวมถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ที่สำคัญที่สุดเราเองต่างหากที่จะต้องควบคุมอารมณ์สติสัมปชัญญะ เพื่อระงับพิษภัยอันเลวร้ายไม่ให้เกิดขึ้น หรือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ให้มันเกินเลยเกินกว่าจะควบคุม

ประเด็นเรื่องบ้านพัง

2 สาว ทำลายข้าวของบ้านหลังนี้เสียหายยับเยิน แต่สาเหตุที่แท้จริงของบ้านพังนั้นมีไม่ได้สาเหตุหลักมาจาก 2 สาว แต่เป็นตัวของเจ้าของบ้านเอง สองสาวเป็นเพียงองค์ประกอบเสริม "สิ่งเร้า" เท่านั้น นอกจากนี้ยังแสดง ให้เห็นในพระเอกของเรื่องเป็นสถาปนิกออกแบบบ้านที่ต้องใช้เวลาในการสร้างยาวนาน แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ้านก็สามารถพังทลายไปในพริบตา รวมไปถึงงานศิลปะที่ภรรยาสร้างด้วย

จากตัวอย่างประเด็นที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ผู้กำกับและคนเขียนบทต้องการจะสื่อทิ้งไว้ในภาพยนตร์ ให้ผู้ชมได้รับสารที่มีมากกว่าความระทึกขวัญ

หากมองในแง่การให้ความบันเทิงหนังค่อนข้างมีความอึดอัดอยู่พอสมควรคนดูพยายามจะลุ้นเอาใจช่วย แต่ยิ่งลุ้นก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่สามารถเอาใจช่วยอะไรได้เลยเป็นเพียงแค่รับรู้ข่าวสารจากผู้กำกับเพียงเท่านั้นก็เหมือนกับว่าเรื่องบางอย่างที่เป็นสันดานดิบของมนุษย์ ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่ามันเริ่มต้นอย่างไรและมีผลท้ายอย่างไรแต่เราก็ไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนอะไรมันได้

นักแสดงหนังที่เราคุ้นชินมากที่สุดก็คือคีอานู รีฟส์ ซึ่งก่อนที่หนังเรื่อง knock knock จะเข้าฉาย 1 ปี ก่อนหน้านี้เขาได้ฝากผลงานไว้ในหนังเรื่อง John Wick เรียกได้ว่าเป็นการฆ่าคนแบบล้างผลาญ แต่ในเรื่อง knock knock ตัวละครหลักหลักไม่สามารถทำอะไรได้เลย เชื่อว่าจุดนี้อาจทำให้คนดูหลายคนเกิดความรู้สึกขัดใจและอึดอัดใจ ดูไปก็ด่าพระเอกไป แต่ถ้าหากคนดูมีความรู้สึกเช่นนี้ก็ถือได้ว่าผู้กำกับกับคนเขียนบทก็ประสบความสำเร็จในการทำอย่างนั้นออกมา

สองสาวในเรื่องเล่นได้ค่อนข้างดี น่ารัก สวยทั้งคู่ ฉากร่วมรักแบบ 3 some ทำได้ดีไม่น่าเกลียดเกินไป

จากที่กล่าวมา การตีความในภาพยนตร์เรื่อง Knock Knock ในบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในหนังเพียงเท่านั้น แล้วเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของนางเพียงเท่านั้น ถึงแม้ว่าหนังจะเป็นหนังแนวระทึกขวัญแสดงถึงพิษภัยที่เกิดจากบุคคลภายนอก แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว กลับกลายเป็นหนังที่แสดงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์ ความรัก ครอบครัวเอาไว้มาก หาดูแบบไม่ตีความก็จะสนุกไปอีกแบบหนึ่ง แม้จะไม่ค่อยได้ระทึกขวัญมากนักก็ตาม แต่หากดูแบบดีกว่าก็จะทวีความสุขมากยิ่งขึ้น แต่หนังก็ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายจุด โดยเฉพาะจุดที่เป็นพฤติกรรมของตัวละครที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดไปบ้าง

7/10

วาทิน ศานติ์ สันติ

#MovieStation

#สถานีหนัง #หนังระทึกขวัญ

#หนังพิษภัยจากบุคคล #หนังปรัชญา

คำสำคัญ (Tags): #รีวิว Knock Knock (2015)
หมายเลขบันทึก: 662219เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2019 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2019 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท