นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๖: โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๑


วันที่ ๑๙ มิ.ย. ๖๒ ปีการศึกษา ๑/๒๕๖๒ มาทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์ เวียนมาถึงนิสิตรุ่นที่ ๒ ของบทบาทการเป็นอาจารย์และกรรมการบริหารหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ...  ถ้านิสิตรุ่นปัจจุบัน กลับไปดูข้อคอมเมนท์ที่รุ่นพี่ได้รับในปีที่แล้ว (เช่น คลิกที่นี่ หรือคลิกที่นี่) จะได้ข้อความเห็นคอมเห็นคล้าย ๆ กัน เป็นส่วนใหญ่ ... นี่สิที่เขาเปรียบครูเหมือนเรือจ้าง หลายอย่างจะคล้าย ๆ กัน ต่างกันตรงที่ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับศิษย์

นิสิตคนแรก กำลังจะสอนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ วัตถุประสงค์การเรียนรู้คือรู้จักความเร็ว และสามารถคำนวณหาความเร็วของวัตถุที่ตกอย่างอิสระได้ โดยใช้เครื่องเคาะสัญญาณและกระดาษคาร์บอน  นิสิตออกแบบการสอนแบบสาธิต ๑ รอบ แล้วให้ตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มออกมาทดลอง  แล้วให้นำใบกระดาษคาร์บอน ไปใช้ในการทำใบงาน

หลังจากเลิกคลาส อาจารย์นิเทศก์กับลูกศิษย์นั่งคุยแลกเปลี่ยนกันนานเกือบชั่วโมง สรุปตอนท้ายได้ทั้งข้อคอมเมนท์ ความเห็น และข้อตกลงระหว่างเรา สำหรับก้าวเดินต่อไปในการพัฒนา "ความเป็นครูวิทยาศาสตร์"

ความเห็น (อันเป็นจุดเด่นของนิสิตคนที่ ๑)

เราเริ่มคุยด้วยการตั้งคำถามว่า หากให้คะแนนตัวเองเต็ม ๕ การจัดการเรียนรู้วันนี้ เรามีกี่คะแนน นิสิตคิดว่าตนเองน่าจะได้ ๓ คะแนน ๒ คะแนนที่หายไปคือ การสื่อสารที่ยั่งไม่พอใจในความแม่นยำ การควบคุมชั้นเรียน (ผมไม่ชอบคำนี้ ควบคุมชั้นเรียน ขอเปลี่ยนเป็นการสร้างองค์ประกอบในการเรียนจะดีกว่า) และ การดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่กำหนด

สำหรับผม นิสิต "เหมือนครู" มากแล้ว ทั้งบุคลิก ท่าทาง การพูดจา จังหวะในการพูด การปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ปัญหามีเพียงว่า นิสิตไปเหมือนครูรุ่นใหญ่ ที่มักใช้การควบคุมด้วยอำนาจ ไม่เหมาะกับครูรุ่นเยาว์แบบครูฝึกสอน  จึงแนะนำให้เรียนรู้เกี่ยวกับ ความดี ๖ ระดับ ของลอเรนซ์ โคนเบิร์ค ดังภาพ

ครูเพื่อศิษย์ จะคิดทำเพื่อนำเด็กไปให้ถึงความดีระดับ ๖

ข้อคอมเมนต์ (เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นครูวิทยาศาสตร์)

ต่อไปนี้คือข้อความเห็น ๖ ประการ ที่เราสรุปร่วมกันหลังจากคุยแลกเปลี่ยนกันหลังคลาส  แต่ละข้อนิสิตจะรู้ความหมายนั้น ๆ ดี โดยไม่ต้องอธิบายอันใดอีก

  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้ปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ และฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับศิษย์  (ให้อ่านที่บันทึกนี้)
    • ข้อนี้บอกว่า ต่อไป หากจะสอนอะไร บทเรียนใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฝึกให้นักเรียนคิดและทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  มีการตั้งปัญหา ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์หรือทดลอง และอภิปรายสรุปผล 
    • และบอกว่า ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทุกครั้ง สิ่งที่ต้องพิจาณาคือ นักเรียนจะได้ฝึกทักษะบวนการทางวิทยาศาสตร์อันไหน 
    • ส่วนเรื่องวัดและประเมินอย่างไร ต้องใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน  (Action Research) ประกอบ 
  • ใส่ใจในรายละเอียดการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เอื้อต่อกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบ  การออกแบบกิจกรรมต้องพิจารณารอบด้านรวมถึงกายภาพด้วย เช่น หากจะจัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่ม ต้องจัดให้นักเรียนนั่งเป็นกลุ่มจริง ๆ หันหน้าเข้าหากัน 
  • สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อันสามารถนำไปสู่กติกา หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ของครูและของชั้นเรียน 
  • ใช้กระบวนการกลุ่ม ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม 
  • การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ต้องไปให้ถึง Expected Learning Outcome  คือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง 
  • ใช้จิตวิทยาเชิงบวก "ไม่ใช่ห้องเรียนแห่งการควบคุม"  ไปให้ถึงความดีระดับ ๖ 


ข้อตกลงร่วมกัน

ข้อตกลง (แกมบังคับ) ให้นิสิตที่อยู่ในสายนิเทศในปีการศึกษานี้ มี ๒ ประการ ได้แก่

  • เราจะทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือ Action Research กันทุกคน ... ไม่ใช่ทำเชิง R&D หรือ Research and Development 
  • เราจะทำวิจัยเกี่ยวกับ การปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน....... 
  • ให้นิสิตเขียนบันทึกสะท้อนการเรียนรู้ในการฝึกประสบการณ์สอนของตนเอง สัปดาห์ละ ๑ บันทึก ในเว็บไซต์ Gotoknow.org 
เขียนกำหนดไว้ชัดเจนยิ่งครับ ... เหลือแต่เพียงลงมือทำ ... ลุย 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ "เรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน"  ภาพนี้บอกว่า ชั้นเรียนนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร 

หมายเลขบันทึก: 662179เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2019 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2019 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท