เขียนถึงพ่อ: งานบุญบั้งไฟ ตอนที่ 2


เขียนถึงพ่อ: งานบุญบั้งไฟ ตอนที่ 2

"วันแห่บั้งไฟสวยงาม" เป็นวันที่รอคอยสำหรับเด็กๆ อย่างฉัน เพราะเต็มไปด้วยเสียงแห่งความรื่นเริง และความสุขพื้นฐานทางวัฒนธรรม สมัยก่อนคนไม่เยอะ เมืองไม่ใหญ่ สำหรับเด็กอย่างฉันวิ่งเข้าวิ่งออกบ้านย่าและถนนแจ้งสนิท กลางเมืองที่ใช้แห่ขบวนบั้งไฟสวยงาม หิวก็กลับเข้าบ้าน 

ความสนใจในวัยเด็กของฉัน คือ การได้ดูขบวนนำแห่ "ย่าแม่สองนาง" เพราะการได้ดูลีลาการร่ายรำอันไม่เป็นกระบวนท่าใดใดเลยของร่างทรงอย่าง "คุณครูย่าสุจิตต์" และ "คุณยายพัด" นำมาซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในใจฉัน และจนถึงทุกวันนี้ฉันก็ไม่อาจหาคำตอบให้กับเองได้ว่า สิ่งที่เกิดต่อทั้งสองท่านนั้น เป็นจริงหรือเพียงการแสดง

สำหรับฉันเอง ฉันจำได้ว่าภายใต้ความสงสัยดังกล่าว ฉันไม่กล้าแม้แต่จะสบตาท่านทั้งสอง เป็นความรู้สึกอยากชมและความกังวลกลัวระคนสงสัย พอขบวนดังกล่าวผ่านไปความสนใจของฉันก็หมดลง กลับไปเล่นขายของตามประสาเด็กหญิงอยู่ใต้ถุนบ้านย่าเช่นเดิม ผู้คนที่คุ้นเคยจะแวะเวียนมาพักหลบแดดร้อน แต่สำหรับพ่อกับแม่ฉันจะได้เจอท่านอีกครั้งก็ต่อเมื่องานเลิกมืดค่ำประมาณทุ่มสองทุ่ม และเราแทบจะคุยกันน้อยมาก บางปีท่านก็ฝากให้ฉันและพี่สาวนอนกับย่า เพราะในวันรุ่งขึ้นที่เป็นวันจุดบั้งไฟท่านต้องออกจากบ้านแต่เช้า

ส่วนเครือญาติ ก็ต่างๆ ล้วนมีภารกิจ และทุกคนมองว่านี่คือ หน้าที่ของลูกหลานชาวยโสธร ต้องไปร่วมแห่และฟ้อนในขบวน ซึ่งไม่ใช่ขบวนฟ้อนประกวดสวยงาม หากแต่เป็นไปเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน 

สำหรับขบวนประกวด จะเป็นคุ้มต่างๆ คนรำจะเป็นคนหนุ่มสาวในคุ้มนั้นๆ ผ่านการฝึกซ้อมและถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น เป็นไปอย่างเรียบง่ายหากแต่งดงาม ทำให้มองเห็นว่าปัจจุบันทุกวันนี้ที่มาร่วมประกวดมักจะเป็นคนที่ไม่คุ้นหน้าตา หรืออาจเป็นเพราะเมืองใหญ่ขึ้นเรารู้จักกันน้อยลง เราจึงจำกันและกันไม่ได้ บางคณะก็อาจเป็นผู้รำที่ถูกว่าจ้างมาจากที่อื่น เด็กวัยรุ่นยุคนี้น้อยคนที่จะกระโดดเข้าวงรำอย่างในครั้งก่อน

ในความทรงจำของฉัน "คุ้ม" ที่รำสวยงามและมักได้รางวัลก็จะเป็น "คุ้มวัดบ้านใต้" ก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า เพราะอะไรคุ้มนี้จึงมักได้รางวัล ถ้าฉันมีความรู้เรื่องการถอดบทเรียนและจับภาพ (capture) อย่างทุกวันนี้ฉันคงได้รับความรู้ดีๆ ที่เป็นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นแน่แท้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันครุ่นคิดและตั้งข้อสังเกต คือ ช่วงเช้าๆ อากาศจะร้อนมาก แต่พอมาในช่วงบ่ายๆ ฝนก็จะตกลงมา เปียกปอนทั้งนางรำและคนดู แต่ก็ส่งผลต่อความสุข สนุกสนานยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะตามความเชื่อว่านี่คือ การรำขอฝนอย่างแท้จริง กี่ปีผ่านมาแล้ว ส่วนตัวก็ยังหาคำตอบมาอธิบายไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำไมจึงเกิดขึ้นทุกปี "ในวันแห่ขบวนรำ" และก็เคยสงสัยต่อไปอีกว่า เคยมีนักวิจัยหรือใครเคยสนใจเก็บข้อมูลย้อนหลังและศึกษาปรากฏการณ์เช่นนี้ไว้หรือไม่

ย้อนมองและใคร่ครวญมาถึงตอนนี้

ก็หวนรำลึกคิดถึงพ่อ ถ้าหากพ่อยังมีชีวิตอยู่ ฉันก็คงจะตั้งคำถามต่อพ่อ และเชื่อว่าพ่อจะสามารถให้คำอธิบายต่อฉันได้อย่างพอใจ และหายสงสัย 

ปีนี้ก็เช่นเคย

ด้วยบุคลิกที่ไม่ชอบร้องรำทำเพลง งานประเพณีประจำปี ฉันจึงเป็นเพียงผู้เฝ้ามองและติดตาม ในขณะที่คนในครอบครัวและเครือญาติ แม้แต่พี่สาวคนเดียวที่ฉันมีช่างเป็นตัวแทนที่ดีของพ่อเหลือเกิน ต่างมุ่งหน้าไปรวมตัวกันที่งาน แม้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือออดๆแอดๆ เมื่อถึงเทศกาลดังกล่าว ก็จะพากันมีพลังอันเบิกบาน และร่วมร้องรำทำเพลงอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย

ขบวนเซิ้งตามบ้านเพื่อ "การแผ่เงิน" - ภาษาอีสาน ที่หมายถึงการเรี่ยไรเงิน ไม่มีอีกแล้ว มีการจัดโซนเป็นการประกวดคณะกองเชียร์แทน โดยการตั้งนั่งร้านเวทีขนาดใหญ่ ประชันเครื่องเสียงกัน ดังสนั่นทั่วเมือง และจบลงเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน หลายปีที่ผ่านมากิจกรรมนี้กลายเป็นที่นัดหมายของกลุ่มคณะเพื่อนต่างๆ ที่เป็นลูกหลานชาวยโสธรมารวมตัวกันปีละครั้งเพื่อการรื่นเริง ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ภาพความทรงจำเก่าที่เคยมี

การเอ้บั้งไฟสวยงาม หรือเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันคือ "การประกวดบั้งไฟสวยงาม" มีความอลังการมากยิ่งขึ้น งดงามตระการตา กลายเป็นงานบุญบั้งไฟระดับชาติ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศญี่ปุ่น คณะจัดงานเป็นระดับจังหวัดไม่ใช่ทีมเล็กๆ ดั่งสมัยที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ แต่อย่างไรก็ตามผู้อยู่เบื้องหลังการเตรียมงานและสถานที่ก็มีอาของฉันเป็นส่วนหนึ่งของกำลังหลักภายใต้หน้าที่ของกองช่างเทศบาลเมืองยโสธร ทุกครั้งที่เอ่ยถึงอาสุน คนทำบั้งไฟในอดีตก็จะมีภาพของพ่อซ้อนเกิดขึ้นมาทันที

บันทึกเรื่องราวจากความ ตอนที่ [1]

บันทึกไว้ "คิดถึงพ่อ"

16 พฤษภาคม พ.ศ.2562

หมายเลขบันทึก: 661688เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2019 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2019 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท