เขียนถึงพ่อ: งานบุญบั้งไฟ ตอนที่ 1


เขียนถึงพ่อ: งานบุญบั้งไฟ ตอนที่ 1

อาจารย์อนุสรณ์ ติปยานนท์ ได้เขียนถึงประเพณีบุญบั้งไฟไว้ที่ [1]

เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจ เวลาที่มีคนมองหรือพูดถึงผืนดินและเรื่องราววิถีของอีสานแล้วเป็นความปิติและยินดีปรีดายิ่งนัก 

ทุกครั้งของวันงานวนมา ความรื่นเริงก็เกิดขึ้นในใจของคนพื้นที่

ฉันเองก็เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ผูกพันกับงานบุญนี้ แม้ว่าครอบครัวเราจะเป็นครอบครัวข้าราชการแต่พื้นฐานเป็นคนยโสธรโดยกำเนิด เราทุกคนจึงซึมซาบในเรื่องราวนับตั้งแต่จำความได้

พ่อเป็นครูและเลื่อนขั้นมาเป็น "ศึกษานิเทศน์" และเป็นหัวหน้ากองการศึกษาในลำดับต่อมา แต่ไม่ว่าพ่อจะเป็นอะไรตั้งแต่จำความได้วัยเด็กฉันก็เห็นพ่ออยู่เบื้องหลังการจัดงานประจำปีของจังหวัด ในช่วงเวลาตั้งแต่เตรียมงานจนงานเสร็จ เราแทบจะเห็นพ่อไม่ได้อยู่ว่าง เสื้อม่อห้อม พร้อมหมวกใบโปรดเป็นภาพที่คุ้นตา ยิ้มน้อยๆ อย่างมีความสุขในการจัดงานของพ่อมันแฝงฝังเข้าไปในจิตวิญญาณของลูกเมืองยศ เสียงเรียกขานถึง "ครูวีระ" หรือ "อาจารย์วีระ" เป็นที่คุ้นใจ 

วันงานจริงจะมีเริ่มตั้งแต่วันเซิ้ง มักตรงกับวันศุกร์ สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีขบวนเล็กๆ ของกลุ่มคนเป็นการแห่ไปตามบ้านช่องห้องหับต่างๆ บ้างก็ทาตัวดำ แต่งตัวแฟนซี เสียงฆ้องและกลองพร้อมเสียงเซิ้งกาพย์บั้งไฟก็จะดังอยู่ทั่วเมือง นำมาซึ่งความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ที่ยังมีอยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ 

โอ้  เฮา  โอ่  พวกเซิ้ง  เฮาโอ่       โอมพุทโธ   นโมเป็นเค้า

            ลูกสิเว้า   เรื่องเก่า โบราณ                                  สืบตำนาน   อีสาน บ้านเกิด

                ฮีตคองเลิศ   แม่นเมืองยโสธร                           เป็นตาออนซอน  ประเพณียิ่งใหญ่

                บุญบักใหญ่  บั้งไฟหมื่น  ไฟแสน                   ซ่าทั่วแดน  เมืองไทย  เมืองเทศ

                ย่อนต้นเหตุ   นำฟ้านำฝน                                 หมู่เมืองคน   เฮ็ดนาเฮ็ดไฮ่

                ดินแห้งไง่   ฝนบ่โฮยฮำ                                     ข้าวปักดำ   ตายพายวายวอด

                ตายไปฮอด  กล้วยอ้อย  ส่อยปลี                        ปฐพี   พากัน  เดือดฮ้อน

                จั่ง  ได้ฟ้อน   ขอฟ้าขอฝน                                  พร้อม สู่คน  ทั่วหน้าดาษดื่น

                เฮ็ดบั้งไฟหมื่น  ถวยเทพถวยแถน                    บั้งไฟแสน   จุดถวยเทพไท้

                เพิ่น จั่งให้  ฝนหลั่งลงมา                                   ชาวประชา  บ่อึดบ่อยาก    

                บ่ทุกข์บ่ยาก  หาอยู่หากิน                                   มีทรัพย์สิน   ในดินในน้ำ

                หัตถกรรม  ผ้าขิดผลิตส่ง                                    เต็มนาเต็มท่ง  ข้าวมะลิหอมหวล     

พืชไฮ่  พืชสวน  เห็ดหาวฮาวป่า                       ทั้งส้มปลา   ทั้งข้าวลอดช่อง

                พี่ และน้อง  คองฮีตคองธรรม                           พ่อเมืองนำ   พัฒนาตุ้มไพร่

                สานต่อไว้   เป็นประเพณี                                   ของได๋ดี   ลูกหลานสืบต่อ

                คณะ มมร.   ยโสธรมาฮ่วม                                เพื่อ  มาร่วม    มาสืบมาสาน

                สร้าง  ตำนาน    บุญบั้งไฟม่วน                         พอสมควร   ขอจบไว้ก่อน

                เจ้าผู้แก้มอ่อนๆ  ขอลาไปก่อนเดอ...... [2]

บทกาพย์เซิ้งบั้งไฟคุ้นหู จนบางครั้งเราลืมมองเห็นคุณค่า จนเมื่อเติบโตขึ้นมาจึงได้ย้อนกลับไปมองและเรียนรู้ตามรอยมากขึ้น ช่วงเวลาของงานพ่อจะออกจากบ้านแต่เช้าพร้อมกับแม่ เราจะถูกนำไปฝากไว้ที่บ้านปู่-ย่า ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง "คุ้มสองพี่น้อง" ที่มีตำนานเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟพอสมควร คนในคุ้มจะทำบั้งไฟเพื่อเข้าแข่งขันการจุดบั้งไฟขึ้นสูง อาเขียว (เสียชีวิตไปแล้ว) เป็นตำนานที่ถูกเรียกขานว่า "ปู่เขียว" เป็นเครือญาติที่นับว่า คือ กำลังหลักสำคัญในการทำบั้งไฟ และอาสุน  (คุณสุนทร ลครวงศ์ อยู่กองช่างเทศบาล เป็นเบื้องหลังการจัดงานตลอดมาไม่ต่างจากพ่อ) เป็นทีมงานสำคัญตั้งแต่วัยหนุ่ม

นอกจากนี้ที่หน้าบ้านย่า จะมีศาล "ย่าแม่สองนาง" จะมีร่างทรงนำฟ้อนขบวน ในสมัยนั้นคือ คุณครูย่าสุจิตต์ เป็นครูประจำชั้นของฉันในวัยเด็กสมัยอยู่ ป.2 และคุณยายพัด ท่านจะแต่งชุดผ้านุ่งโสร่งสีแดง เสื้อสีแดง ฟ้อนรำนำอย่างกับไม่รู้สึกตัวเหมือนไม่ใช่ตัวของท่านเอง เป็นที่รับรู้ของพวกเราว่า "ย่าแม่สองนาง" เข้าทรงร่างของท่าน และจะออกจากร่างเมื่อจบภารกิจแห่บั้งไฟสวยงาม ซึ่งมีขึ้นในวันที่สอง

ประมาณเกือบหนึ่งเดือน

ที่เรารอคอยและตระเวณไปตามคุ้มต่างๆ แม้แต่ฉันเองก็ติดตามอาไปด้วย เพราะพ่อกับแม่จะยุ่งมากในการเตรียมงาน ซึ่งฉันก็ไม่รู้ได้ว่าท่านทำอะไรบ้าง แต่จะมารับฉันและพี่สาวที่บ้านย่าตอนดึก ระหว่างนั้นหลังทานข้าวมื้อเย็นเสร็จอาจะปั่นจักรยานบ้าง หรือเดินบ้างไปดูเขาซ้อมรำบั้งไฟ เป็นความทรงจำที่เพลิดเพลินในวัยเด็ก ที่เคยบอกตัวเองว่า "เมื่อฉันโตขึ้นฉันจะมาฟ้อนเช่นนี้บ้าง" จนล่วงเลยมา 46 ปีแล้วก็ยังไม่มีโอกาสนั้นเลย

อ้างอิง

[1] อนุสรณ์ ติปยานนท์

https://www.facebook.com/100005358900522/posts/1036101809911773?s=100001139221669&sfns=mo

"ประเพณีบุญบั้งไฟนั้นทำกันในเดือนหกเพื่อบูชาเหล่าเทวดาอารักษ์ประจำชุมชนหรือพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การทำบุญบั้งไฟนั้นเชื่อว่าจะทำให้ฟ้าฝนบริบูรณ์ข้าวปลาอาหารไม่ขาดพร่อง และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการทำนาปีที่จะมาถึง โดยในงานจะมีการแห่บั้งไฟและจุดบั้งไฟ ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะทำการฟ้อนรำอย่างสนุกสนานถือเป็นการชุมนุมของคนในท้องถิ่น ในงานจะมีการนำสัญลักษณ์ทางเพศมาล้อเลียนโดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องหยาบโลนเพราะเชื่อกันว่าสัญลักษณ์ทางเพศนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ หลังการประลองบั้งไฟกันว่าของผู้ใดจะขึ้นสูงกว่ากัน บั้งไฟของผู้ที่จุดแล้วไม่พุงขึ้นฟ้าจะถูกทำโทษด้วยการจับเจ้าของบั้งไฟโยนลงไปในโคลนตมหรือหนองน้ำ งานบุญบั้งไฟจึงเป็นงานที่เชื่อม คน ฟ้า ดิน เข้าด้วยกัน บั้งไฟที่พุ่งขึ้นบนฟ้าอย่างสวยงาม จะมาพร้อมเสียงปรบมือ เป่ามาก ส่วนบั้งไฟที่ไม่พุ่งขึ้นนั้น ตัวผู้ทำจะลอยลงสู่พื้นเลนพร้อมเสียงปรบมือเป่าปากอีกเช่นกัน

ในยุคสมัยที่เราทุกคนรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าการยิงพลุขึ้นฟ้านั้นหาได้ข้องเกี่ยวกับการตกมาของฝนแต่อย่างใด ฝนนั้นเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ นี่เป็นความรู้พื้นฐานที่สอนกันในชั้นประถมด้วยซ้ำ ดังนั้นการดำรงอยู่ของประเพณีทั้งหลายในทุกวันนี้จึงไม่ได้มาจากความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปหากเป็นไปเพื่อศูนย์รวมบางอย่างของความเชื่อและความสามัคคี ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม ประเพณีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความน่าเชื่อถือหรือวิธีการอันเป็นวิทยาศาสตร์อันทรงเหตุผลหากแต่อยู่มันสามารถธำรงความเป็นปึกแผ่นของชุมชนนั้นๆเอง

พอล ฟายเออราเบนด์(Paul Feyerabend 1924-1994) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ-การลาจากของเหตุผลหรือ A farewell to reason ว่า 

-ทุกที่ที่วิทยาศาสตร์งอกงามนั้นล้วนมาจากการพึ่งพาสิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ การแยกสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ออกจากกันนั้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องเหลวไหล หากแต่ยังเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อความก้าวหน้าทางความรู้ด้วยซ้ำ หากเราต้องการเข้าใจธรรมชาติ หากเราต้องการเรียนรู้สรรพสิ่งรอบตัว เราต้องพึ่งพาทุกความคิดที่มีในสังคม ทุกวิธีการที่มีในสังคม ไม่ใช่เพียงเศษเสี้ยวของมัน-

บั้งไฟลูกสุดท้ายถูกจุดแล้ว ผู้ชนะได้รับการประกาศชื่อ ผู้แพ้ได้รับการโยนลงหนองน้ำอีกครั้ง เบื้องบนท้องฟ้านั้นยังที่ควันยาวขาว ฝนจะตกหรือไม่ในวันพรุ่งนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ปานใดนัก แค่ได้เห็นรอยยิ้มของทุกคนในที่นี้ แม้นว่าพญาแถนจะมีจริง ท่านคงพึงพอใจอยู่อย่างเงียบๆบนผืนฟ้านั่น"

[2] คัดมาจาก อ.สุวิมล สมไชย  

http://kroobannok.com/blog/172...

บันทึกไว้ "คิดถึงพ่อ"

16 พฤษภาคม พ.ศ.2562

อ่านต่อ ตอนที่ [2]

หมายเลขบันทึก: 661686เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2019 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2019 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท