วายังอมฤต : บทเริ่มต้น


บทเริ่มต้น

นานมากทีเดียวที่จะหยิบหนังสือพอกเกตบุ๊คขึ้นมาอ่าน นับว่าหลายปีทีเดียว หลังจากที่บริจาคหนังสือที่มีอยู่ออกไปจนหมด ทุกประเภทที่อ่าน ช่วงหลังก็แทบจะอ่านประเภทหนังสือตีพิมพ์น้อยมาก หากแต่กลับไปใช้เวลากับการอ่านออนไลน์มากกว่า 

การอ่านหนังสือตีพิมพ์เมื่อหยิบขึ้นมาอีกครั้ง ในใจก็ผลุดขึ้นมาว่า “คลาสสิคเสมอ”

แม้ว่าเราจะต้องลงทุนมหาศาลต่อการได้มากระดาษหนึ่งแผ่น แต่มันก็มีคุณค่ามากมายอยู่เช่นเดียวกัน ยังจำบทธรรมของหลวงปู่ติช นัท ฮัทห์ได้ที่ท่านถามลูกศิษย์ว่า “เมื่อเห็นกระดาษหนึ่งแผ่นนึกถึงอะไร”

มันคือ ก้อนเมฆ

เมฆที่สลายตัวมาเป็นเม็ดฝนที่พรมลงมายังพื้นดินทำให้เมล็ดพันธุ์งอกเงยขึ้นมาเป็นต้นกล้าและต้นไม้ใหญ่ ที่บางส่วนถูกนำมาทำกระดาษ

เฉกเช่นเดียวกันขณะที่เราถือหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ ในใจเรากำลังโอบอุ้มธรรมชาติที่ปรากฏร่องรอยในอดีตและมาสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนามธรรมทางความคิด ความรู้สึก อันเป็นการผนวกจินตนาการและความรู้ที่ฝังลึกของนักเขียนบรรจงลงบันทึกไว้ในกระดาษในแต่ละแผ่น

ค่ำคืนที่ผ่านมา

ขณะที่อ่าน “วายังอมฤต” หนังสือที่คิดว่า เดินไปที่ร้านเมื่อไหร่ก็หาซื้อได้ 

หากแต่ในความจริงที่ประสบหาเป็นอย่างที่คิดไม่ พนักงานของร้านซีเอ็ด 3-5 คนช่วยกันสืบค้นให้ว่าหนังสือเล่มนี้มีอยู่ที่ไหนบ้าง จนท้ายที่สุดจึงต้องเช็คไปที่สต๊อคและทำการสั่งของให้จนเป็นที่มาของความรู้สึกและความคิดที่ว่า “หนังสือเล่มนี้กว่าจะได้มาต้องฝ่ากระแสลมร้อน แสงแดดจ้า ท่ามกลางการสาดน้ำของวันแห่งสงกรานต์”

จากคำกล่าวที่ว่าหนังสือเล่มนี้อ่านแล้ววางไม่ลงมันทำให้ได้สะท้อนคิดในตนเองว่า

"มันช่างมีพลังอะไรบางอย่างที่เหนี่ยวนำผู้อ่านให้ตราตรึงตามตัวอักษรที่อยู่เบื้องหน้าภายใต้ความคิดความรู้สึกของผู้เขียน"

สิ่งที่ทำได้เพื่อให้หลุดออกจากพลังแห่งการเหนี่ยวนำนั้นก็คืออ่านผ่านไปสักพักแล้วก็วางลงพร้อมใคร่ครวญในตนเองในสิ่งที่เกิดการเรียนรู้ ช่างเป็นค่ำคืนที่ถือได้ว่าถูกมนตราของอักษรศาสตร์ผ่านเรื่องราวและการบันทึกไว้ของความคิด ความสร้างสรรค์ และจินตนาการของผู้เขียน

วายังอมฤตเป็นนวนิยายที่บ่งบอกได้ว่าผู้เขียนใช้สภาวะแห่งการภาวนา(จิตจดจ่อต่อการผ่องถ่าย) กว่าจะออกมาได้เป็นหนังสือเล่มนี้ การผูกเรื่องราวทำให้มองเห็นพลังของการอ่านหนังสือที่มีมากมาย และเกิดเป็นจินตมยปัญญา การบอกเล่าที่น่าสนใจ เคยพูดเล่นเล่นกับเพื่อนว่าการอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม คือการมองทะลุผ่านรูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏแล้วเราจะมองเห็นเนื้อในอันเป็นนามธรรมที่ท้ายสุดก็สามารถจับต้องได้และจับจิตใจเรา

18 เมษายน 2562

อ่านต่อ [1] [2]

หมายเลขบันทึก: 661153เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2019 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2019 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท