สุดทางสถานีปฏิบัติประชาสัมพันธ์


เราเดินทางมาถึงสถานีปฏิบัติประชาสัมพันธ์สุดท้ายแล้วนะคะ 

สถานีบันทึกนี้ โพสต์ในช่วงเวลาที่ฉันออกจากตำแหน่งหัวหน้างานแล้ว 

งานสองปีสุดท้ายที่เหลือภายใต้การถือธงนำหน้าในงาน มีงานใหม่ๆ ผ่านเข้ามาให้เก็บเป็นประสบการณ์ และงานค้างเดิมที่ (คิดว่า)ทำแล้วเสร็จค่ะ
 

สรุปงานในปีงบประมาณ 2560-2561

เป็นโชคอำนวยจากที่เคยให้สัญญากับตัวเองไว้ว่าจะทำเรื่องดีๆ ให้กับหน่วยงานเล็กๆ เป็นเป้าหมายสุดท้ายก่อนพ้นวาระหัวหน้าทีมคือ การเสนอโครงสร้างใหม่เพื่อทำให้บุคลากรในงานมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน มากกว่าที่ทำในปัจจุบัน สิ่งดีดีที่หนุนนำให้งานเดินหน้าเร็วขึ้น คือนโยบายขององค์กร รอยเชื่อมต่อระหว่างแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เมื่อผู้นำองค์กรให้ความสำคัญกับระบบงานสื่อสารองค์กร จับวางเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ผลักดัน การปฏิรูประบบงานประชาสัมพันธ์และการสร้าง Branding

การจัดกิจกรรมสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion)นอกจากการทำภารกิจเพื่อการประเมินผลความพึงพอใจโดยวิธีการปกติคือใช้แบบสอบถาม ปี 2560  เราให้เริ่มขยับการใช้เครื่องมืออื่น เพื่อสำรวจลึกดึงความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายผู้รับข่าวสารที่มีทั้ง 8 กลุ่มเป้าหมาย กรณีการรับข่าวสารผ่านสื่อและช่องทางการการเผยแพร่ต่างๆ ที่มี ความคิดเห็นที่ได้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) ทีมงานได้นำมาศึกษา วิเคราะห์หาแนวทางปรับปรุงพัฒนางาน ให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น ซึ่งเราค้นพบจุดอ่อนรอการแก้ไขเร่งด่วนมีดังนี้

  1. การสื่อสารภายในองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาและผู้ปกครองนักศึกษา ให้เพิ่มมากขึ้น ช่องทางการสื่อสารที่นักศึกษาให้ความสำคัญมากที่สุด คือ สังคมออนไลน์ และสื่อบุคคลได้แก่ ผู้นำองค์กรนักศึกษา
  2. การผลิตสื่อข่าวเคลื่อนไหวในรูปคลิปข่าวสัมภาษณ์ขนาดสั้น สำหรับกลุ่มสื่อมวลชน ปัจจุบันเป็นที่ต้องการ โดยปรับเปลี่ยนบทบาทผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่างภาพ/นักประชาสัมพันธ์ให้เป็นสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยมากขึ้น
  3. การพัฒนาเนื้อหาสำหรับสื่อ เช่น รายการวิทยุ ให้สามารถเป็นสื่อกลางเชื่อมนักวิจัย นักวิชาการที่มีองค์ความรู้ สามารถสนองต่อความต้องการของประชาชนในขณะปัจจุบัน ทันเหตุการณ์
การจัดกิจกรรมสนทนากลุ่มย่อย

นับเป็นโจทย์การบ้านที่ทีมงานได้รับมาพัฒนาและปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบปีต่อจากวันที่เราร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าว และทีมงานยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมโดยใช้เครื่องมือเชิงลึกต่อไปในอนาคต (อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง)

การประสานงานการผลิตรายการสารคดีกึ่งละครชุด   “ธ สถิตมิ่งมั่นขวัญมช.” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร โดยนำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในด้านที่มีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่มีต่อชาวล้านนาและชาวลูกช้างมช. 3 เรื่องราว ในด้านการถ่ายภาพ ด้านดนตรี และ ด้านการเกษตร ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ตลอดระยะเวลาทรงงาน ทรงเป็นแบบอย่างและเป็นต้นแบบของการศึกษาและการพัฒนาจิตใจอย่างมีคุณภาพที่คู่ไปกับคุณธรรม โดยที่เนื้อหาในละครจะแทรกข้อมูลลําดับเรื่องราวในช่วงต่างๆ ที่พระองค์ท่านเสด็จมาทรงงาน, พระราชทานปริญญาบัตร, ทรงดนตรี ตลอดจนพระราชกรณียกิจ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 จนกระทั่งทุกวันนี้ที่ลูกช้าง มช.ทุกคนก็ยังคงสานต่อตามรอยพระบาทในทุกๆ ด้าน

สารคดีกึ่งละครชุด   “ธ สถิตมิ่งมั่นขวัญมช.”

กลุ่มเป้าหมายการนำเสนอสารคดีกึ่งละคร ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายหลัก ประชาชนทั่วไป กลุ่มเป้าหมายรอง นักศึกษาเก่า และปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั่วประเทศ โดยผลคาดว่าจะได้รับ คือ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเกิดความภูมิใจในศักดิ์ศรีของลูกช้างมช. ที่มิเคยห่างไกลจากพระบาทไทยราชา มาตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ผู้ชมทั่วไปได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อชาวล้านนาและประชาชนภาคเหนือมากขึ้น และรู้สึกในความโชคดีที่ได้เกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 และพร้อมใจกันที่จะสืบสานต่อยอด เดินตามคํา “พ่อ” สอนตลอดไป

ละครสั้นนำออกอากาศทาง PPTV HD 36 ในวันเสาร์ อาทิตย์ที่ 15,21,22 ตุลาคม 2560 และในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ Line TV โดยมี English Subtitle ด้วย ( รับชมละครเฉลิมพระเกียรติผ่านช่องทาง CMU Channel ได้ที่นี่>>click)

นำเสนอโครงสร้างงานใหม่และการสร้าง Successors งานประชาสัมพันธ์ ฉันอาจจะทำงานแค่เสร็จ (ยังไม่สำเร็จ มีอีกหลายกระบวนการ) แต่ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในเดือนตุลาคม  2561 หลังจากใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี เสาะแสวงหาข้อมูล พูดคุยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพในสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งที่เติบโตออกนกระบบในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น จุฬา มหิดล สงขลานครินทร์ ศรีนครินทรวิโรฒ  นำมาศึกษาวิเคราะห์ อะไรที่เหมาะสมกับหน่วยงานของเรา จนในที่สุดมหาวิทยาลัยได้รับโครงการเสนอปรับปรุงไว้พิจารณาเพื่อการทบทวนโครงสร้างงาน จากงานประชาสัมพันธ์สู่การเป็นศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ (Corporate Communication & Alumni Relations Center- CCARC) โดยรวมภาระงานของศูนย์นักศึกษาเก่าสัมพันธ์มาไว้ด้วยกัน และในระหว่างที่รอผลการพิจารณา มหาวิทยาลัยเดินหน้าประกาศเป็นโครงการจัดตั้งศูนย์สื่อสารองค์กรฯ ดังกล่าว พร้อมกับการโยกย้ายคนมารวมกัน ซึ่งเมื่อไฟเขียวส่องสว่างตลอดเส้นทาง ภารกิจใหม่ที่เริ่มขึ้นก็คือการเตรียมทีมงานสื่อสารองค์กร เป็นกลุ่ม Talent PR ให้มีความพร้อมเข้าสู่ภารกิจใหม่ของศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ในอนาคต เพื่อการขับเคลื่อนงานสื่อสารองค์กรอย่างเป็นระบบ

หลังภารกิจการศึกษาเรื่องโครงสร้างงาน และเปลี่ยนระบบการปกครองของสายการบังคับบัญชา ผู้ใหญ่ใจดีก็ได้อนุญาตให้ฉันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หัวหน้างานอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2561 โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ยื่นเรื่องเสนอ บัดนี้ฉันหาทางออกให้กับจุดอ่อนที่ไม่มีวันแก้ไขได้เรื่องการครองคน แต่ด้วยความสุขที่รู้สึกถึงพร้อมกับการ “ทำสำเร็จ” ในเรื่องงาน เพื่อเข้าสู่วาระผู้ปฏิบัติงานใหม่ ในงานผู้ช่วยเหลือประสานให้แก่ Talent PR  4-5 คนให้ทำภารกิจด้านการสื่อสารองค์กร สื่อสารภาพลักษณ์ หน้าที่งานแปลกใหม่ฟังดูเหมือนแขวนเอาไว้เป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นโดยทั่ว แต่คิดในมุมใหม่ก็คงจะน่าสนุก เพราะทีมงานใหม่ที่ว่านี้จะได้โอกาสเปิดโลกแห่งความคิด เปิดจินตนาการอันสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ส่วนตัวฉัน...ก็จะ “เป็นผู้ตาม” ที่ยังมีโอกาสการเรียนรู้ใหม่ไปพร้อมกับทีมงาน Talent PR  นี้ แม้จะเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะจากที่นี่ไปแล้ว

(เหตุการณ์ในตอนใหม่)

หากมองย้อนกลับไป 7 ปี สถานีปฏิบัติประชาสัมพันธ์ จากบทแรกถึงบทนี้ คือยุคการสื่อสารแบบเชิงรับมากกว่าจะเป็นเชิงรุก แต่กำลังจะเปลี่ยนแปลงและปรับใหม่ ตามแนวคิดการสื่อสาร  Transformation สู่โลกของการทำงานท้าทายในรูปแบบใหม่ เพื่อการสื่อสารภาพลักษณ์ คงจะเป็นโลกของทีมงาน Talent PR กลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่เราเรียกว่า  Sandbox หรือกระบะทราย ที่นับวันนโยบายการบริหารจัดการใหม่ๆ นี้ กำลังจะแทรกซึมเข้ามาในพื้นที่สำนักงานมหาวิทยาลัยของฉัน  Talent PR  ได้รับการเอ่ยถึงเป็นกลุ่มคนรุ่นแรกๆ ในองค์กรแห่งรั้วสีม่วง จะเหมือนหนูถูกทดลองยาหรือไม่ เด็กๆ ในทีม บวกกับเวลา จะพิสูจน์ให้เห็นค่ะ
 

(อ่านความรู้... รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวถึงเรื่อง>> sandbox <<click …ให้นัยยะของการสร้างนวัตกรรม การสร้างสรรค์ทางความคิด การสร้างเสริมประสิทธิภาพ การกล้าทดลองสิ่งใหม่ ฯลฯ ดังนั้นคำนี้จึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีบางครั้ง sandbox มีความหมายเพียงการกันออกมาเป็นพิเศษเพื่อศึกษาและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น …)

 

 

หมายเลขบันทึก: 660741เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2019 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2021 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท