non-technical skill ภาค ๓ ปัจฉิม


วันนี้ผมจบการถูกฝึกอบรมเพื่อการเป็นครูในอีกมิติหนึ่งเรียบร้อย แต่ก็ยังไม่เรียบร้อย

เอ๊ะ ยังไง

ก็ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ที่มันขึ้นกับการรักษาทางการแพทย์ ขึ้นกับความรู้ความสามารถทางวิชาขีพนั้นมันไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้จริงๆ หากยังไม่เสริมทักษะของหมอในอีกด้านหนึ่งคู่กันไป นั่นคือ ความตระหนักในความเสี่ยง และจัดการความเสี่ยง

นั่นคือที่มาของการที่ผมต้องไปเรียนเรื่อง non-technical skill กับทีมครูนักบินเมื่อปลายปีทึ่แล้ว และใน ๓ วันที่ผ่านมานี้ก็มาเข้าชั้นฝึกการเป็นครูสอน non-tech skill นี่ไง

ที่โปรยไว้ด้านบน ว่าเรียบร้อยแต่ยังไม่เรียบร้อย นั่นมีความหมายนะ 

เรียบร้อย คือจบคอร์ส

ไม่เรียบร้อยก็คือ มันทีงานที่จะต้องทำต่อไป

วันนี้เป็นวันสุดท้าย กับครู “ยอด บีหนึ่งหนวย”

๒๕ มค ๖๒ 

เราเริ่มต้นในชั้นเรียนด้วยการสรุปบทเรียนของเมื่อ ๒ วันที่ผ่านมา

ผมสังเกตว่า ครูให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้ค่อนข้างมาก เพราะมันคือการรีวิวที่สั้น กระชับ แต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาที่ได้ผ่านหัวพวกเรามาแล้ว วันนี้กระบวนการ mind map ได้ถูกนำมาใช้ 

เนื้อหาการเรียนรู้หลักๆในวันนี้ของเราก็คือ  “ผู้เรียนที่จัดการยาก”

ลองนึกดูสิ คนเรามารวมกลุ่มเรียนด้วยกันมันมีความหลากหลาย และในความหลากหลายนั้นย่อมมีหลากความคิด หากกระบวนการคิด การฟัง การพูดนั้น ทำให้กลุ่มเดินไปด้วยกันได้ในเวลาที่กำหนดมันก็ไม่ใช่ปัญหาใช่ไหม

แต่ผมเชื่อว่า ในชีวิตนี้ เราน่าจะเคยเจอกับคนที่ “กาก” บ้างล่ะ

เอ..คำว่ากาก อาจจะไม่เหมาะสม เพราะทั้งๆที่ความจริง เค้าอาจจะเป็นอย่างนั้นโดยเนื้อในของเค้าเอง ลองดูซิ คน ๗ แบบนั้นมีอะไรบ้าง

เงียบมาก เงียบจนเราไม่รู้ว่า เขาเงียบเพราะรู้ทุกเรื่อง หรือเงียบเพราะกลวง แม่ง ไม่รู้อะไรเลย

พูดมาก พวกนี้ชอบแสดงความคิดเห็น ซึ่งว่าไปมันก็ดีจริงๆนะ แต่ว่าการดำเนินกลุ่มน่ะ เราอยากให้สมาชิกคนอื่นๆได้มีโอกาสแสดงความคิดของเขาด้วยไง

มีความเชื่อที่ผิดแล้วคิดว่าถูก คนกลุ่มนี้จะว่าไปก็น่าสงสาร เพราะความรู้ที่มีน่ะมันผิด แต่มันเองกลับเชื่อสุดติ่งว่า ที่มันรู้น่ะ ถูกต้องแล้ว เช่น พวกที่ยังเข้าใจว่าโลกแบน

มีความรู้เยอะจนแทบจะไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นคิด พวกนี้เป็นเด็กเก่ง แสดงความเก่งได้อย่างล้นเหลือ เพื่อนพูดมาอาจจะไม่ยอมฟังหรือรีบแย่งตัดสินถูกผิดไปเสียก่อน

ไม่สนใจไม่ใส่ใจ ใครทำอะไรกูไม่รู้ แต่กูจะเล่นโทรศัพท์ หรือไม่ก็นั่งทำงานอื่นแทนการสนทนาในกลุ่ม

ชอบพูดนอกเรื่อง พวกนี่หรรษามาก มันชวนคนอื่นคุยได้ทุกเรื่อง ทุกเรื่องจริงๆเว้นเรื่องเรียน นึกออกไหมว่าเค้าคุยกันเรื่องอะไร นินทาเพื่อน หาของกิน ไปเที่ยว และอีกมากมาย (เอ๊ะ เขียนไปเขียนมาก็นึกถึงตัวเองยังไงไมีรู้)

และท้ายสุดคือคนที่ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง จะเรียกว่าโง่ก็แรงไป เพราะบางคนต้องใข้ตัวช่วยในการทำให้เข้าใจอีกมาก

จะเห็นว่า ผมใช้คำว่า “กาก” นั้นไม่ถูก เราควรเรียกว่า “ยากต่อการจัดการ” น่าจะดีกว่า

และแน่นอน ว่าวันนี้ผมต้องแสดงการเข้าไปนำกลุ่มโดยมีนักเรียนแบบนี้รวมอยู่ด้วย ครูจะให้สมาชิกบางคนแสดงบทบาทเป็นคนที่จัดการยากอย่างใดอย่างหนึ่ง

หลักการเขียน lesson plan ยังเหมือนเดิมนะครับ

ผมจะชวนสมาชิกในกลุ่มทุกคนลดการใช้ขวดน้ำพลาสติก และหันมาใช้กระบอกใส่น้ำแทน

งานนี้ผมตื่นเต้น เพราะผมวางแผนนำการสนทนาโดยใช้เทคนิกชวนเล่าเรื่องการเดินทางของขวดพลาสติกที่ได้ถูกทิ้งไป แล้วพยายามถามสมาชิกว่า มันจะกลับมาหาเราหรือส่งผลกระทบต่อเราได้อย่างไร

เอาเหอะ วันนี้ไม่ได้ตั้งใจเล่าเรื่องขยะ แต่จะเล่าว่า เวลาเราเจอสมาชิกที่จัดการยากใน ๗ แบบนั้น เรามีวิธีจัดการอย่างไร ทำได้ดีแค่ไหนก็ต้องฟังการ feedback จากเพื่อนและครู

แบบว่า มัน “ปัง” มาก

ในช่วงกิจกรรมนี้ ผมสังเกตเห็นและได้ยินเสียงฮาจากกลุ่มอื่นๆ และแน่นอนว่ากลุ่มของตัวเองด้วยนั้น มันยืนยันความสนุกของกิจกรรมจริงๆ

ครูทีมการบินไทยเจ๋งมากครับ

ครูมาสอนพวกผมถึงวิธีการว่า “ทำอย่างไร” โดยผ่านกระบวนการต่างๆ และแน่นอนว่า การแสดงออกของพวกเขานั้น มันคือสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็นนั่นเอง มันช่างแนบเนียนเสียเหลือเกิน

ครูทำเอาซะผมอยากทำ class เองเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ความกลวงของผมยังมีมากอยู่ 

ผมน่ะ ก็เข้าขั้นนักเรียนกากเหมือนกัน

หึหึ คิดสิคิด

พูดมาก ชอบพูดนอกเรื่อง และหลายๆครั้งก็โง่ อธิบายยังไงก็ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้

พอกัน

(ทำไปทำมา ผมนี่จัดเข้ากลุ่มพวกกากได้อย่างน้อย ๓ กลุ่มเชียวหนา)

................

เจ้าแป้งจบม.๖ แล้ว

เฮ้ย...

คนที่รู้จักแป้งอาจจะอุทานออกมาอย่างนี้จริงๆ เพราะเมื่อไม่กี่ปีก่อน หลายคนยังเห็นผมอุ้มแป้งขึ้นไปรับรางวัลในฐานะประธานสีของคณะแพทย์อยู่เลย ตอนนั้นน่าจะอายุราวขวบสองขวบ

แป้งเรียนที่โรงเรียนนกฮูก ตั้งแต่ก่อนอนุบาล อนุบาล และประถมจนจบป.๖ จากนั้นก็เข้าเรียนชั้นมัธยมที่มอ.วิทยานุสรณ์

และเมื่อวานคือวันปัจฉิมนิเทศน์ของเธอ

แป้งถือกุหลาบสามสี่ดอกและช่อดอกไม้สีม่วงกลับมาบ้าน

“แป้งร้องไห้มั้ยลูก” ผมถามลูก

“ตอนแรกก็ว่าจะไม่ร้องนะ จนกระทั่งเอิงมาเขียนเสื้อให้” 

เธอหมายถึงเพื่อนที่สนิทที่สุดตั้งแต่เรียนม.๑ จนถึง ม.๖

ผมนึกไปไกลถึงเมื่อคราวที่ผมเองจบม.๖ บ้าง 

ผมไม่มีความทรงจำเรื่องการหลั่งน้ำตาในคราวนั้นเลย กระทั่งเสื้อที่ถูกเขียนจนเยินผมก็ไม่รู้ว่ามันหายไปอยู่ที่ไหน แต่ผมจำได้ว่า ในวันนั้นพวกเราจ้างวงดนตรี “กองฟาง” ให้มาเล่นในงานปัจฉิม เพลงของอัสนี-วสันต์ ถูกเล่นให้พวกเราเต้นอย่างเสียสติ บิลลี่ โอเกน กับพี่หนุ่ย อำพล ก็เป็นศิลปินหลัก เค้าไม่ได้มาหรอก วงกองฟางเล่นเองร้องเองทั้งนั้น ถูกใจวัยรุ่นเป็นที่สุด

ผมไม่ได้คุยกับลูกเรื่องงานปัจฉิมของเธออีก เพราะดูสีหน้าที่มีน้ำตาคลอแล้วนั้น ลูกคงมีความสุขหรือทุกข์เพราะการจากลาโดยไม่อยากมีพ่อเข้ามาร่วมเป็นแน่ 

วัยรุ่นเอ๊ย

...............

นั่นคือปัจฉิมลูก

ปัจฉิมของการอบรมของพ่อมันในวันนี้ ครูพี่ยอด บีหนึ่งหนวย จบการทำกิจกรรมด้วยการมานั่งเก้าอี้หน้าห้องเพื่อรับการ feedback จากพวกเรา พี่ๆบอกว่า นี่คือ “เก้าอี้ไฟฟ้า” 

ประเภทที่ว่า บอกมาเหอะ ว่าจะให้พัฒนาอะไรบ้างจากการทำหน้าที่ตลอด ๓ วันมานี้

ดูเถิด ขนาดเป็นครู ยังทำหน้าที่ปิดได้อย่างแนบเนียน เพราะเขากำลังแสดงให้เห็นว่า การรับการถูกวิจารณ์ได้นั้น คือหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องต่อไป

สุดยอดครับ

ท้ายที่สุด ผมก็มีเพียงความหวังที่ว่า ความสามารถที่เราถูกแนะนำมานี้ จะได้นำไปจัดการเรื่องการเรียนของลูกศิษย์ของเรา ให้ตระหนักเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แหม่..ผมล่ะลืมเรื่องสำคัญ

คนเก่งๆแบบครูการบินนี่ น่าชวนให้มาทำงานในคณะแพทย์ของเรานัก

สอนนักเรียนแพทย์อย่างที่พี่ๆสอนผมมานั้น มันคือกุศลอย่างแรง เพราะนั่นคือการสอนหมออีกหลายคนให้ออกไปทำงานตามหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลัก 

อันที่จริง พี่มากัน ๔ แล้วส่งผมไปทำงานให้บินไทยก็ได้ แลกกัน

เอิ่ม..ทำไรดีวะ

ไปขับเครื่องบินให้ก็ได้ ผมยอม

ธนพันธ์ ชูบุญพรีแพร์ฟอร์แลนดิ้ง

๒๕ มค ๖๒

คำสำคัญ (Tags): #non-technical skill
หมายเลขบันทึก: 660529เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2019 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2019 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท