มะเร็งของป้าสาย และซุปสายบัว


“แม่ พ่อหิว” 

นั่นก็เวลาล่วงเข้าไปเกือบจะห้าโมงเย็น ผมควรจะขับรถออกไปคลินิกได้แล้ว

แต่ผมหิวไง 

“รอแผล็บเดียวนะพ่อ”

แล้วเธอก็หมุนหัวเตาแก็ส ติดไฟ ตั้งหม้อใส่น้ำค่อนมาเกินครึ่ง เกลือปลายหยิบมือถูกโรยลงไป กะปิเพียงครึ่งช้อนโต๊ะถูกแกว่งให้มันแตกในน้ำ หอมแดงถูกบิให้พอแตกก็ถูกใส่น้ำรอเดือด จากนั้นก็หันมาใส่น้ำลงบนกองมะขามเปียกนั่น แช่มันไว้ก่อน

สายบัวที่ถูกล้างเตรียมไว้แล้วถูกหั่นเป็นบ้องพอดีคำ 

ได้ยินเสียงปุดๆดังมาจากทางหม้อต้มน้ำนั้น เธอจึงบรรจงหยิบสายบัวกองนั้นใส่ลงไป 

ความเดือดดาลในหม้อบังเกิด กลุ่มไอน้ำเริ่มฟุ้ง เธอจึงหรี่ไฟลงแล้วนำกระชอนมาตั้ง บีบน้ำมะขามแล้วใช้ช้อนยีไปในกระชอนนั้น ทั้งน้ำ ทั้งเนื้อมะขามเปียกอ่อนนุมไหลลงไปในน้ำแกง 

ยางของสายบัวเมื่อถูกรสกรดจากมะขาม น้ำแกงใสจึงเปลี่ยนเป็นสีม่วงๆ

“ได้แล้ว” เสียงเธอพูดเบาๆ

กุ้งเพียงไม่กี่ตัวถูกใส่ลงไป และเพียงไม่ทันให้เนื้อมันเหนียว ไฟก็มอดดับลง

.........................

“อาจารย์จำป้าสายได้ไหมคะ” คุณหมอใช้ทุนได้ถามผมตอนที่เราเดินออกจากหอผู้ป่วยหลังจากราวนด์เสร็จ

“จำได้สิ ก็คนที่เราคุยกับป้าและลูก พร้อมกับสามีแกในวันก่อนไง เป็นไรรึ” ผมนึกถึงป้าสาย คนไข้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกที่กลับมาเป็นซ้ำ คนที่มีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด แล้วเราได้คุยกันเรื่องแนวทางการรักษาแบบประคับประคองไง

“ถ้าเราจะสู้กับมะเร็ง ป้าก็จะสะบักสะบอมหน่อย บางครั้งก็อาจจะแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น (ผมหมายถึงตาย) หรือการชนะต่อมะเร็ง ซึ่งอาจจะหมายความว่าได้อยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง (แล้วก็ตายอยู่ดี)” ผมยืนพูดแบบนี้ที่ข้างเตียงในวันที่แกมีอาการเหนื่อยแต่ยังรู้สึกตัว

“หรือหากเราเลือกที่จะไม่สู้กับมะเร็ง แต่มาสู้กับอีกสิ่ง นั่นคือการจัดการให้อยู่กับมะเร็งได้อย่างสันติ เรามาสู้กับคุณภาพชีวิตที่ดีแบบประคับประคองแทน แบบนี้ก็จะไม่มีใครแพ้ใครชนะ” ในตอนที่ได้พูดออกไปนั้น ลูกสาวและสามีมีสีหน้าที่กังวลใจอย่างมาก มีเพียงป้าสายเท่านั้นที่พยักหน้าให้ผมได้เห็นและรับทราบว่าป้าฟังและเข้าใจอยู่ตลอดเวลา

ในเช้าวันต่อมา ผมก็ได้รับรายงานว่า ค่ำวันเดียวกันกับที่ได้คุยกันนั้น ป้าสายอาการแย่ลง ไม่ค่อยตอบสนองต่อการเรียกหรือต่อความเจ็บปวด

ต่อความเจ็บปวด!

ใช่ครับ การประเมินการรู้สึกตัวของคนไข้นั้น บางครั้งต้องทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้วเราจะดูระดับของการตื่น

“เมื่อคืนดูป้าแย่ลงมากนะครับ” ผมแจ้งให้ลูกสาวทราบ ในรุ่งขึ้นของวันนั้น รอบๆเตียงของป้ามีคนมาเยี่ยมมากมาย แต่ละคนล้วนมีสีหน้าไม่สู้ดี

“เราจะพาป้าสายกลับบ้านครับ” ชายคนนั้นบอกผมมา

“ได้สิครับ หากเป็นความประสงค์ที่ทุกคนได้คุยกันแล้ว รวมถึงป้าสายด้วยนะ” ผมบอก

“แม่หลับๆตื่นๆค่ะหมอ แกไม่ยอมให้ใส่สายต่ออ็อกซิเจนนั่น ไม่ยอมเอาน้ำเกลือ ไม่พูด ไม่เอาอะไรเลย” คราวนี้ลูกสาวเป็นผู้พูดบ้าง

“ในเวร เราสงสัยว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องติดเชื้อในเลือดค่ะอาจารย์ เพราะตรวจอย่างอื่นแล้วปกติดี” คุณหมอหัวหน้าทีมรายงานมา

ผมมองไปที่ลูกสาว แล้วพยักหน้าให้เธอทราบว่า ผมต้องการคุยกับเธอเพียงลำพัง

“เธอว่ายังไงบ้าง” ผมถามเธอ ในเวลาแบบนี้ คนอื่นน่าจะเป็นคนนอกทั้งหมด เพราะเขาไม่เคยได้มาดูแลป้าสายอย่างที่เธอดูแล ออ..มีสิ ก็คงมีสามีแกอีกคน ที่ตอนนี้จำเป็นต้องรับหน้าญาติๆอยู่ที่ข้างเตียง

“เราเลือกที่จะไม่สู้กับมะเร็งค่ะหมอ คุยกับแม่ตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว ว่าเราจะอยู่กันอย่างสงบ” นั่นแสดงว่า ที่ผมคุยกับเธอในวันก่อนนั้น เธอและป้าสายเข้าใจดี

“แล้วแม่เธอว่าไง” ผมถาม

“ค่ะ แม่ก็คิดแบบนี้ค่ะ อันที่จริงแล้ว แม่ก็เป็นคนบอกหนูกับพ่อเอง ว่าจะไม่ให้ทำอะไรเพิ่มเติมกับมะเร็ง ไม่รับยาเคมี ไม่เอาท่อช่วยหายใจ ไม่ให้ปั๊มหัวใจ”

“ดีครับ แต่ยังไงก็ตาม ตอนนี้เราคิดว่าแม่เธออาจจะกำลังติดเชื้อในเลือด เราจึงเริ่มให้ยาฆ่าเชื้อไป” ยาฆ่าเชื้อถูกสั่งให้ตั้งแต่ในเวรเมื่อคืน

“ถ้ามีอะไรจะให้พวกเราช่วยจัดการได้อีกก็บอกนะครับ หมอรวมถึงการหารถพยาบาลให้ด้วยหากอยากกลับไปนอนที่บ้าน” ผมเสนอ

ผมก็คิดว่าป้าสายจะได้กลับบ้าน แต่ในเช้าวันถัดมา ผมก็ได้ทราบว่า แกถูกย้ายไปอยู่ในห้องพิเศษ

“สวัสดีครับป้า เอ๊ะ ดูสบายขึ้นมากเลยนะครับ” ผมรู้สึกแปลกใจ แต่ในความแปลกใจนั้น ผมนึกไปถึงเทียนวูบสุดท้ายก่อนดับ

นึกออกไหม ว่าก่อนที่เทียนจะดับไปนั้น เปลวไฟมันจะวูบสว่างขึ้นมานิดหนึ่ง

เคยเห็นไหม คนไข้ที่มีอาการแย่มากๆ ในวันใดที่เราเห็นว่าคนไข้รายนั้นสบายขึ้น บางคนตื่นมาขอกินข้าว บางคนตื่นขึ้นมานั่งหวีผม แล้วเพียงไม่นานจากนั้น เขาก็จากเราไป

ป้าสายดูสบายขึ้นมาก เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน นอนหัวเตียงสูงเหมือนกึ่งๆจะนั่งนิดๆ แกยิ้มให้ผมด้วย

“ดีจัง ลงมาอยู่ในห้องแบบนี้มันสบายและสงบกว่าข้างบนมากนะครับ”

ป้าสายยิ้มตอบ

“หมอรู้ไหม เมื่อวานที่แม่ไม่ยอมพูดกับพวกเรา แกโกรธที่หมอมากดที่หน้าอกแกจนช้ำ แกบอกว่าเจ็บ” แล้วลูกสาวเธอก็เปิดหน้าอกของแม่ให้เราดู รอยเขียวเป็นปื้นใหญ่ที่กระดูกหน้าอกนั้น

ผมนึกภาพความชุลมุนในค่ำคืนนั้นได้ ช่วงเวลาที่ป้าสายซึมลงและหมอเวรต้องมาประเมินว่าคนไข้อยู่ในภาวะโคม่าขนาดไหน จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจประคับประคองไหม

“อ้อ..ผมเข้าใจแล้ว นั่นเป็นฝีมือพวกเราเองครับ เราต้องทำให้ป้าเจ็บเพื่อดูการตอบสนอง บังเอิญว่าป้าถูกฉีดยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ไง มันจึงช้ำง่ายและช้ำมากแบบนี้ เธอรู้ไหม ว่าถ้าเป็นผู้ชาย บางทีหมอจะบีบหัวนมนะครับ” เออ นะ ทำไมผู้ชายต้องถูกบีบที่หัวนมวะ ผมนึกไปถึงรายการเกมโชว์อันหนึ่งที่เอาไม้หนีบผ้ามาหนีบตามตัว แล้วไอ้อันที่อยู่ที่หัวนมนี่แหละ ที่จะถูกกระชากออกเป็นอันแรกๆ 

“ค่ะหมอ” เธอเข้าใจ  

“แม่ดูสบายขึ้นมากเลยนะ เธอล่ะ สบายใจขึ้นบ้างไหม” 

“ค่ะหมอ แม่เลือกแบบนี้เอง หนูกับพ่อก็สบายใจ” เธอพูดปกติ แต่น้ำตาไหล 

ผมไม่ได้เห็นร่องรอยของความเสียใจในดวงตาคู่นั้น แต่การร้องไห้ ก็ไม่ได้แสดงถึงความเสียใจอย่างเดียวไม่ใช่เหรอ

............................

สายบัวในต้มซุปถ้วยนั้นมันกรุบกรอบ นั่นเพราะมันเพิ่งถูกยกลงจากเตา เนื้อสายบัวยังไม่ทันได้สลด

รสเปรี้ยวติดเค็มเล็กน้อยชวนให้ผมต้องซดแล้วซดอีก

“ยายทำต้มสายบัวแบบนี้ให้แม่กินมาตั้งแต่เด็กๆ แม่จำรสชาติมันได้” เธอหมายถึงยายของเธอที่มีอายุอยู่ได้นานถึง ๑๐๓ ปี

“อร่อยจังนะแม่ แบบว่าโคตรอร่อยอ่ะ” ผมตักกุ้งขึ้นมาเคี้ยว หอมแดงหัวนั้นก็เคี้ยวได้โดยไม่มีรสเผ็ดแบบหอมติดอยู่

.......................

“อาจารย์ขา เมื่อคืนป้าสายเสียชีวิตแล้วนะคะ” ลูกศิษย์รายงานให้ผมได้รับทราบ

“ครับ แล้วครอบครัวป้าโอเคดีไหม” ผมถาม

“ค่ะ ป้านอนหลับแล้วก็เสียชีวิตไปเองเลย” 

ครับ แบบนี้ ผมเรียกว่า “ตายดี”

ตายดี ไม่จำเป็นต้องตายที่บ้าน 

ตายดี คือการได้จัดการกับความต้องการของตัวเองอย่างมีสติ เลือกได้ และยอมรับได้

.......................

เมื่อน้ำแกงถูกถูกซดจนหมดถ้วย ดอกไม้และลวดลายใต้ก้นถ้วยก็ปรากฎ

เครื่องถ้วยที่ผมใช้ชุดนี้ได้มาจากลำปางนานกว่า ๘ ปีแล้วกระมัง 

“ธนบดี” เค้าทำชามตราไก่มานานตั้งแต่รุ่นพ่อ

เค้าบอกว่า ธนบดีของแท้ต้องไก่วิ่ง

เออ จริง ไก่ของเขาวิ่ง มันวิ่งอยู่ข้างถ้วยกระเบื้องดินเผาเนื้อหนาที่ผมใช้คู่บ้านมานาน

จริงสิ อย่างหนึ่งที่ยังคงคาใจ

ดอกไม้ใต้ก้นถ้วยมันคือดอกอะไร ทำไมผมจึงคิดว่ามันคือ ถั่วอัลมอนด์ วะ

ธนพันธ์ ชูบุญกินต้มสายบัว

๑๙ มค ๖๒

คำสำคัญ (Tags): #มะเร็ง#palliative
หมายเลขบันทึก: 660524เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2019 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2019 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท