๗๕๗. ผมว่า..เยอะไป...


ขอบคุณที่วันนี้ผู้ใหญ่บางคนเริ่มคิดได้..ในเรื่องการสะสมผลงาน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “LOG BOOK ฟังเสียงครูที่บอกว่ามันเยอะมาก ยุ่งยากและซับซ้อน ที่สำคัญโปรแกรมก็ไม่ได้มาตรฐาน และครูบางคนอาจไม่ได้ทำงานเพราะมัวแต่ป้อนข้อมูล..

        ลองอ่านดูจะรู้ว่าผมไม่ได้แดกดันหรือเยาะเย้ยใคร ในทางตรงกันข้ามก็อยากให้ฟังหูไว้หู และถ้ามั่นใจว่ามีความรู้..จงเดินหน้าทำงานทำหน้าที่ อย่าเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง..,

    นโยบายการศึกษาในช่วงเปลี่ยนผ่าน..๕ ปีมานี้..มันผกผันจนต้องหันไปมองให้เป็นเรื่องตลก..ความที่ผมไม่เก่งแต่มีประสบการณ์และอายุมากแล้ว จึงไม่ค่อยใส่ใจนโยบายทางการศึกษามากนัก..ทุกครั้งที่เขาคิดกันขึ้นมา ผมจะยิ้มแล้วพูดว่า “เอาอีกแล้วหรือ?”

        ผมเดาว่า..คนที่คิดไม่เคยเป็น “ครู” และไม่เคยสอน “หนังสือ” ตลอดจนยังไม่เข้าใจรูปแบบงาน กฎ ระเบียบ ธรรมเนียมและวัฒนธรรมในวิชาชีพครู..

        คิดแล้วทำเลย โดยใช้ “อำนาจ” ขาดข้อมูลและการกลั่นกรอง ไม่มีงานวิจัยรองรับ..จึงไปไม่รอดต้องปรับเปลี่ยนและเลิกกลางคันอยู่เสมอ..

        ผมแทงหวยไม่เคยถูก แต่เรื่องการศึกษาผมแม่นยำมาหลายครั้งหลายหน จนผมรู้สึกเหมือนแก้วที่มีน้ำล้น..แต่เปล่าเลย..ผมทำงานแต่เช้าและกลับค่ำทุกวัน ผมบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสอนหนังสือไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว..

        ผมเหนื่อยแต่ก็มีความสุขในโรงเรียนเล็กๆ แต่คนคิดนโยบายทางการศึกษาเขาคิดในห้องแอร์บนพื้นฐานหลักการทฤษฎีที่ร่ำเรียนมา แต่ไม่เคยลงไปในพื้นที่จริงๆเลย..

        ผมเคยถามคนข้างบนเบาๆ ซึ่งแน่นอนเขาคงไม่ได้ยิน ผมถามว่า..เอาแต่เรื่องวิชาการ..งานอ่านคล่องเขียนคล่อง..และ “คุณภาพ” ผลสัมฤทธิ์ก็พอแล้วกระมัง เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน “การอ่าน”และ”การประเมินผล”ก็ยังไม่น่าวางใจ

        บางเรื่องราว..คิดเยอะจนโรงเรียนและเขตพื้นที่ทำไม่ทัน เมื่อทำงานนโยบายมากๆ การเรียนการสอนก็น้อยลง..แล้วที่สุดผลกรรมก็ตกอยู่กับตัวเด็ก..

        ขอบคุณที่วันนี้ผู้ใหญ่บางคนเริ่มคิดได้..ในเรื่องการสะสมผลงาน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “LOGBOOK ฟังเสียงครูที่บอกว่ามันเยอะมาก ยุ่งยากและซับซ้อน ที่สำคัญโปรแกรมก็ไม่ได้มาตรฐาน และครูบางคนอาจไม่ได้ทำงานเพราะมัวแต่ป้อนข้อมูล..

        เรื่องนี้..ข่าวว่ามีการปรับปรุง..แต่ผมมองว่า..แท้งตั้งแต่ยังไม่คลอดด้วยซ้ำ..ผมสงสัยเหลือเกิน..ทำไม?..การศึกษาไทย..เราให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการสร้างเสริมวิทยะฐานะ..จนลืมชีวิตจริงของครูและงานครูก็มากมายและทำกันอยู่เพียงไม่กี่คน..

        ผมไม่ได้บ่น..แต่คนเก่งในบ้านเมืองนี้ก็มีไม่ใช่น้อย..น่าจะคิดวิธีการที่ง่ายแต่ใช้ได้จริง..เป็นข้อเท็จจริงของครูในห้องเรียน ที่เขียนเป็นกระดาษก็ได้ไม่ต้องเยอะ...

        ส่วน PLC ที่มาไกลสุดกู่ แต่วันนี้เริ่มกลับลำ..คงต้องทำต่อไปแต่จะมากน้อยแค่ไหนผมไม่รู้..แต่ที่ผมรู้..มันไม่เหมาะกับครูไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

        นักเรียน..ไม่ใช่คนไข้ที่ป่วยหนัก..เด็กต้องการความรักและการเอาใจใส่ใกล้ชิดจากครูและผู้บริหาร..และเด็กดูกันง่าย..ไม่ต้องมากพิธีรีตอง..

        ผมมองว่า..PLC น่าจะเกิดจากความไม่ไว้วางใจครู และไม่ศรัทธาในความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนมากกว่า..

        เพราะถ้าไม่มีPLC..ก็อยากจะบอกว่าในโรงเรียนก็มีการประชุมทางวิชาการกันอยู่แล้ว..และทุกวันนี้..หลายโรงเรียนเร่งรัดพัฒนาคุณภาพโดยไม่เคยคิดถึง PLC ด้วยซ้ำ...

        ครับ..เชื่อผมเถอะ..เรื่องในโรงเรียนหรือเรื่องครูเพื่อศิษย์ที่แท้จริงนั้น จริงๆแล้วมีไม่กี่อย่างหรอก..แต่ทุกอย่างล้วนสำคัญทั้งสิ้น จงปล่อยให้เขตพื้นที่และโรงเรียนเขาคิดแก้ปัญหาเองบ้าง อย่าไปคิดแทนทุกเรื่อง เปลืองเงินเปลืองเวลา..

        เอาเวลาไปคิดว่า..จะให้เขตพื้นที่นิเทศกำกับติดตามงานการศึกษาและให้ขวัญกำลังใจโรงเรียนในสังกัดน่าจะดีกว่า..มันคุ้มค่ากว่ากันเยอะ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  ธันวาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658875เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2018 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2018 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เพี้ยนอย่างอัศจรรย์ใจอย่างมาก กระทรวง ศธ. ของบ้านเรา !!!

รู้สึกอบอุ่นใจเมื่ออาจารย์เข้ามาพูดคุยครับ

“นักเรียนไม่ใช่คนไข้ที่ป่วยหนัก”“เด็กต้องการความความรักและการเอาใจใส่ใกล้ชิด”..ตรงนี้ ท่าน ผอ. มองมุมนี้ได้อย่างลึกซึ้งเชียวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท