ปั่น ปัน ปั้น : ปั่นจักรยาน ปันสิ่งแวดล้อม ปั้นเศรษฐกิจเมือง


ปัญหาการจราจรเป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองที่กำลังพัฒนามาหลายสิบปี นับวันคนยิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองกันมากขึ้นและต่างหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมืองที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ใน ค.ศ. 2015 ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐมักมุ่งแต่สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่างจากเมืองที่พัฒนาแล้วที่หันกลับมาเน้นนโยบายการพัฒนาทางเท้าทางจักรยาน อันเป็นแนวทางที่นำเมืองไปสู่สุขภาวะที่ดีและสร้างเศรษฐกิจได้อย่างรอบด้าน

จากรายงาน “The EU Cycling Economy : Arguments for an integrated EU cycling policy” ของสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานแห่งสหภาพยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ระบุว่า ในทุก ๆ ปี การเดินทางด้วยจักรยานเป็นกิจกรรมที่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับสหภาพยุโรปมากถึง 5.13 แสนล้านยูโรต่อปี หรือมากกว่า 1 พันยูโรต่อคนต่อปี โฮลเกอร์ ฮาวโบลด์ (Holger Haubold) หนึ่งในผู้เขียนรายงานได้กล่าวว่า การพัฒนาความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจตามมา ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “Bike2Work” ที่รณรงค์ให้คนเมืองปั่นจักรยานไปทำงาน ซึ่งมีการจูงใจทั้งทางการคลังและการเงิน รวมถึงการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยจักรยาน และระบบ E-Cycling ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กลุ่มผู้ที่ไม่เคยปั่นจักรยานมาก่อน ทำให้ตลาดจักรยานเติบโต โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม

ประเด็นต่อมา โฮลเกอร์ได้กล่าวถึงแนวทางการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนาคต ในขั้นแรก เราควรเริ่มจากการนำยุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งสหภาพยุโรป (EU Cycling Strategy) ไปใช้ เพื่อประสานนโยบายด้านการใช้จักรยานของแต่ละพื้นที่ในยุโรปให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนภาครัฐมีหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนการปั่นจักรยานและสร้างแรงจูงใจทางการคลังให้คนหันมาปั่นจักรยานไปทำงาน อีกทั้ง ควรผนวกระบบ E-Cycling เข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electro-mobility) และให้เงินทุนสนับสนุนการใช้จักรยานไฟฟ้า (E-Bike) นอกจากนี้ ควรสนับสนุนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยจักรยาน ควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย

„ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากรายงานยังชี้ให้เห็นว่า การปั่นจักรยานไม่ได้สร้างผลประโยชน์เพียงแค่ทำให้การคมนาคมหรือสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม การจ้างงาน สุขภาพ และสังคมอีกด้วย ยกตัวอย่างประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ เช่น ผู้ลี้ภัยมีความกลมกลืนกับสังคมมากขึ้น คนเมืองเข้าถึงการขนส่งได้ง่ายขึ้น แรงงานมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น เป็นต้น ส่วนด้านที่ได้รับประโยชน์จากการเดินทางด้วยจักรยานมากที่สุด คือ ด้านสุขภาพ เพราะการปั่นจักรยานส่งผลโดยตรงให้ผู้ขับขี่มีสุขภาพที่ดีและมีอายุที่ยืนยาวขึ้น เมื่อคนเมืองมีสุขภาพดี มีคนป่วยลดลงแล้ว ก็ส่งผลสืบเนื่องให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในด้านสาธารณสุขได้มากขึ้นอีกด้วย

“การปั่นจักรยาน” นับเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ปัญหาการจราจรภายในเมืองได้อย่างยั่งยืน เพราะการปั่นจักรยานสามารถพัฒนาเศรษฐกิจเมืองไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างให้คนเมืองมีสุขภาวะที่ดี แตกต่างจากการเดินทางด้วยวิธีอื่นที่มักก่อให้เกิดความแออัดตามมา จักรยานจึงเป็นวิธีการเดินทางหนึ่งที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้คนเมืองหันมาใช้เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ยังให้ความสนใจกับโครงการสนับสนุนการปั่นจักรยานไม่มากนัก ซึ่งแท้จริงแล้ว ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับการปั่นจักรยานเป็นอันดับ ต้น ๆ ด้วยการออกนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งระบบ โดยเริ่มจากการพิจารณาจากประโยชน์ที่ได้รับจากการปั่นจักรยานให้รอบด้าน ดังคำกล่าวของโฮลเกอร์ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า “การมองประโยชน์จากการปั่นจักรยานแบบองค์รวม จะทำให้ภาครัฐเข้าใจและออกนโยบายร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

แหล่งอ้างอิง

  • Michell, N. (2016). Cycling creates €513 billion annually in Europe, says new report. Cities Today. Retrieved from https://cities-today.com/cycling-creates-e513-billion-annually-europe-says-new-report

  • Neun, M. and Haubold, H. (2016). The EU Cycling Economy – Arguments for an integrated EU cycling policy. European Cyclists’ Federation, Brussels.

  • TomTom. (2016). Traffic Index. Retrieved from TomTom Traffic Index, http://www.tomtom.com/en_gb/trafficindex/list

หมายเลขบันทึก: 658508เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท