การใช้วรรณกรรมเป็นฐานสำหรับเด็กปฐมวัย


บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมา

           วรรณกรรมสำหรับเด็กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการของ เด็กด้านต่าง ๆ เนื่องจากวรรณกรรมมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น ภาพประกอบ การดำเนินเรื่องราว อีกทั้งมีสาระความรู้ให้เลือกตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ หรือแม้แต่เทคนิคการนำเสนอที่ช่วยให้เด็กสนใจและมีความสุขกับโลกของวรรณกรรม วรรณกรรมสำหรับเด็กจึงเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อให้เด็กอ่านหรือฟังอย่างเหมาะสมกับวัยของเด็ก มีรูปเล่มสวยงามสะดุดตาและสามารถเลือกอ่านได้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน  สอดคล้องกับ ฮีลแมน (Hillman, 1995 : 4) ที่กล่าวว่า วรรณกรรมสำหรับเด็ก หมายถึง บทอ่านหรือสื่อที่สร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเด็กโดยมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างชัดเจน ด้วยวัตถุประสงค์ในการแต่งโดยวรรณกรรมสำหรับเด็กจะมีจำนวนตัวละครน้อย ประโยคสั้น และความซับซ้อนทางโครงเรื่องน้อยกว่าวรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่รวมถึงมีเนื้อหา และแก่นเรื่องที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ บังอร ศรีกาล (2553 : 27) ที่ กล่าวว่า  วรรณกรรมเป็นงานเขียนในรูปแบบของภาษาตามจินตนาการของชีวิตและความคิดที่มีแบบแผน ที่มีคุณค่าทางปัญญา และได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ บทกวี บทความหรือเอกสารอื่น ๆ  

  นฤมล เนียมหอม (2559) การจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เป็นการจัดประสบการณ์โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการแสวงหาความรู้ ช่วยให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน เรียนรู้ว่าการอ่านเป็นเรื่องที่สนุกสนาน และสามารถนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่มีความหมายอีกมากมาย โดยมีแนวทางในการจัดประสบการณ์

นอกจากนี้มีนักการศึกษาด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก บรอมลี (Bromley, 1992 : 26) กล่าวว่า  วรรณกรรมสำหรับเด็ก หมายถึง สื่อสิ่งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นสำหรับเด็กและบางครั้งสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่ในรูปของวารสาร หนังสือการ์ตูน บันทึก แผ่นฟิล์ม ละคร ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ บังอร ศรีกาล (2553 : 27) กล่าวว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนในรูปแบบของภาษาตามจินตนาการของชีวิตและความคิดที่มีแบบแผนที่มีคุณค่าทางปัญญาและได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย หนังสือ บทกวี บทความหรือเอกสารอื่น ๆ และธันยา พิทธยาพิทักษ ์(2553 : 50) กล่าวว่า วรรณกรรมสำหรับเด็ก หมายถึง สื่อที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งหมายให้เด็กอ่าน โดยมีวัตถุประสงค์และองค์ประกอบของวรรณกรรมที่แตกต่างจากวรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่

                การเลือกวรรณกรรมเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน การนำวรรณกรรมมาใช้ในการทำกิจกรรมกับเด็กปฐมวัยจะต้องคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งวรรณกรรมสาํหรับเด็กแตกต่างจากวรรณกรรมของผู้ใหญ่ทั้งรูปเล่ม และเนื้อหาสาระของวรรณกรรม  ดังนั้นการเลือกวรรณกรรมให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยควรได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี  เพราะวรรณกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดความสนุกสนานและสาระต่าง ๆ ให้แก่เด็กควรเลือกให้เหมาะสม โดยคำนึงถึง อายุ เพศ ความสนใจ วรรณกรรมสำหรับเด็กควรมีรูปภาพที่สวยงามชัดเจน มีคุณค่า และมีประโยชน์ เด็กสามารถเข้าใจง่ายและควรคำนึงถึงพัฒนาการเด็กเป็นสำคัญในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยเลือกวรรณกรรมมาพัฒนาทักษะทางสังคมโดยมีลักษณะเป็นหนังสือนิทานที่มีภาพประกอบสวยงามทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง มีเนื้อหาสั้นกะทัดรัดเพื่อให้เด็กจดจำได้ง่าย ภาษาเหมาะสมกับวัย โครงเรื่องไม่ซับซ้อนและมีความหมายชัดเจน บังอร ศรีกาล (2553 : 30) การเลือกวรรณกรรมที่ใช้เป็นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ควรเลือกให้เหมาะสมกับผู้เรียน โดยคำนึงถึงระดับอายุ เพศ  ความสนใจ ดังนั้น วรรณกรรมที่เลือกจึงควรมีความหลากหลายเพื่อให้สามารถตอบสนองลักษณะความแตกต่างของผู้เรียนได้อย่าง ครอบคลุม อย่างไรก็ตามวรรณกรรม หากนักเรียนมีความสนใจ และความรักที่อ่านแล้ว ความยาก ง่ายของเรื่องก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างไร ฟิชเชอร์ และเทอรี่ (Fisher and Terry, 1990 : 153) กล่าวว่า การเลือกหนังสือที่ใช้อ่านในขั้นตอนแรกควรเลือกเรื่องบทกลอน วัสดุ ข่าวสารที่น่าสนใจ นักเรียนสามารถเข้าใจได้ง่ายพยายามเลือกเรื่องที่นักเรียนไม่เคยอ่านในช่วงกิจกรรมอ่านอิสระ เด็กเล็กต้องการฟังเรื่องที่มีข้อความซ้ำ ๆ การอ่านต้องอ่านหลาย ๆ ประเภท เพราะเด็กชอบเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน

สถานการณ์ปัจจุบัน/แนวโน้มในอนาคต

          เนื่องจากปัจจุบันเนื้อหาของวรรณกรรมสอดแทรกไปด้วยความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติตตนของคนใน สังคม รวมถึงคุณธรรม จริยธรรมต่าง ๆ ให้แก่เด็ก วรรณกรรมสำหรับเด็กจัดได้ว่าเป็นสื่อที่ไม่เคย ล้าสมัยซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และส่งเสริมให้เด็กมีความเจริญงอกงาม ทางด้านสติปัญญา เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ดังที่ จันทรา ภู่เงิน (2549 : 1) กล่าวว่า เมื่อเด็กได้อ่านหรือฟังวรรณกรรม เด็กได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติ กฎเกณฑ์ กติกา ที่สังคมยอมรับ ทำให้เด็กมีสติปัญญา มีความคิดกว้างไกล เพราะเรื่องราวในวรรณกรรม เป็น เสมือนภาพจำลองชีวิต เด็กเรียนรู้ เข้า ใจ และเกิดประสบการณ์ สามารถแก้ไขปัญหา โดยการ เตรียมพร้อมที่เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตได้วรรณกรรมจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่นำ มาใช้ในการเสริมสร้างทักษะทางสังคม และสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะการอ่านการเขียน การอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็ก

          การสอนเด็กปฐมวัยโดยการใช้วรรณกรรมเข้ามามีส่วนช่วยนั่น จะทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน เข้าใจในบทบาทของตัวละครและสามารถเรียนรู้ได้ว่า การกระทำของตัวละครนั้นดีหรือไม่ดี และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ซึ่งวรรณกรรมนั่นเด็กจะเข้าใจได้ง่าย ทั้งการใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจของเด็ก และเด็กสามารถที่จะอ่านออกเสียงให้ครูหรือเพื่อนฟังได้ บางครั้งวรรณกรรมนั่น เด็กสามารถนำมาแสดงเป็นบทบาทสมมุติได้ด้วย และเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการรักการอ่านและช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของเด็กได้ดียิ่งขึ้นด้วย นฤมล เนียมหอม (2559)

บทที่ 2

เอกสารที่เกี่ยวข้อง         

รายงานฉบับนี้ ผู้รายงานได้เรียบเรียงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับหัวข้อต่อไปนี้

2.1 ความสำคัญของวรรณกรรมสำหรับเด็ก

2.2 องค์ประกอบของวรรณกรรม

2.3 การสอนอ่านโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน

2.4 แนวคิดการสอนอ่านโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน

2.5 ประโยชน์ของวรรณกรรมเป็นฐาน

2.6 การนำวรรณกรรมเป็นฐานไปใช้

2.7 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ความหมายวรรณกรรมสำหรับเด็ก

          จินตนา  ใบกาซูยี  (2534 :  22)  กล่าวถึง  ความหมายของหนังสือสำหรับเด็กว่า  บางคนอาจเรียกว่า “วรรณกรรมสำหรับเด็ก” มีผู้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง รวมทั้งที่กรม วิชาการได้กำหนดความหมาย โดยจัดเข้าอยู่ในหนังสือเสริมประสบการณ์  ซึ่งแบ่งออกเป็น ประเภท ๆ ได้แก่  หนังสืออ่านเพิ่มเติม  หนังสืออุเทศ  และหนังสือส่งเสริมการอ่าน

          ดารารัตน์ ทัพโต (2554 : 31) และทอมลินสัน และ ลันช์ บราวน์ (Tomlinson and LynchBrown, 1996 :5) ให้ความหมายเป็นแนวทางเดียวกัน สรุปได้ว่า เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งให้เด็ก ได้อ่าน ฟังหรือดูเพื่อให้ได้รับความสนุกสนาน หรือได้รับความรู้ต่าง ๆ มีเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของเด็ก ขนาดตัวหนังสือและรูปเล่มจะต้องมีความเหมาะสมกับวัย มีการประพันธ์ทั้งแบบร้อยแก้ว และร้อยกรอง หรือเป็นทั้งประเภทบันเทิงคดีและสารคดีและมีเนื้อหาสอดคล้องกับคุณธรรม จริยธรรม

           สรุปได้ว่าวรรณกรรมสำหรับเด็ก หมายถึง หนังสือหรือสื่อที่สร้างขึ้นสำหรับเด็ก ที่มีเนื้อหา ตรงกับความสนใจของเด็กแต่ละวัย มีจำนวนตัวละครน้อย ประโยคสั้น โครงเรื่องไม่ซับซ้อน มีขนาดตัวหนังสือและรูปเล่มเหมาะสม และมุ่งให้เด็กได้รับความสนุกสนานหรือความรู้ เสริมสร้าง ทักษะโดยใช้ภาษาง่าย สื่อความหมายชัดเจน

ความสำคัญของวรรณกรรมสำหรับเด็ก

          หนังสือสำหรับเด็กเป็นหนังสือที่ผลิตขึ้นเพื่อให้เด็กอ่าน ส่วนประกอบต่าง ๆ ของหนังสือ ต้องเหมาะสมกับความรู้และวัยของเด็ก กล่าวคือหนังสือสำหรับเด็ก หมายถึง หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กได้อ่านและเรียนรู้จากเนื้อหาสาระที่มุ่งให้ความรู้หรือความเพลิดเพลิน เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการอ่านและเกิดนิสัยรักการอ่านจุดมุ่งหมาย ศุภชัย หาญชัย (2551)

1. ช่วยให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน

2. ช่วยสร้างจิตนาการ และความคิดสร้างสรรค์

3. ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านภาษาของเด็ก

4. ช่วยปลูกฝังคุณธรรมเจตคติและแบบอย่างที่ดี

5. ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เรียน

องค์ประกอบของวรรณกรรม

          อัจฉรา ประดิษฐ์ (2559)หนังสือสำหรับเด็กควร สวย สะอาด สนุก สร้างสรรค์ ทุกองค์ประกอบ ทั้งภาพ เนื้อหา ภาษา รูปเล่ม ทัศนคติของผู้แต่ง คติ/ค่านิยมที่แฝงในเรื่อง ข้อมูลความรู้ ฯลฯ โดยทั่วไปมี 4 ด้าน

1. เรื่องดี (Story)

2. ภาษาดี (Language)

3. ภาพประกอบดี (Illustration)

4. รูปเล่มดี (Format)

          คอร์เน็ท (Cornett, 2003 : 92)กล่าวว่า วรรณกรรมประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. แก่นเรื่อง (Theme) หมายถึง ความจริง (Unifying Truth) และข้อความที่เป็นสากลในวรรณกรรมมีคำถามหลักซึ่งช่วยให้เข้าใจแก่นเรื่อง คือเรื่องราวหรือบทกวีนี้เกี่ยวกับอะไรจริง ๆ โดยมองเหนือไปจากหัวข้อไปสู่เนื้อความที่เป็นสิ่งที่แท้จริง แก่นเรื่องมี 2 ประเภท คือ

1.1 แก่นเรื่องหลัก หมายถึง ข้อความที่บอกโดยตรง

1.2 แก่นเรื่องรอง หมายถึง ข้อความที่บอกเนื้อความที่แท้จริงทางอ้อม

2. โครงเรื่อง (Plot) หมายถึง ลำดับของเหตุการณ์ในเรื่องที่จัดให้ดำเนินโดยมีปัญหาหรือข้อขัดแย้ง คำถามหลักซึ่งช่วยให้เข้าใจโครงเรื่องคือเกิดอะไรขึ้นในเรื่อง

3. ตัวละครคน สัตว์ หรือสิ่งของที่รับบทบาท มีคำถามหลักซึ่งช่วยให้เข้าใจตัวละครในเรื่อง คือเรื่องนี้เกี่ยวกับ ใครมีปัญหา ใครเปลี่ยนมากที่สุด

4. ฉาก เวลาและสถานที่ มีคำถามหลักซึ่งช่วยให้เข้าใจฉากของเรื่องคือเมื่อไรและที่ใดที่เกิดเรื่องราวขึ้น

5. มุมมอง เมื่อเรื่องเขียนขึ้นมีคำถามหลักซึ่งช่วยให้เข้าใจมุมมองของเรื่องคือใครเป็นผู้เล่าเรื่อง เล่าอย่างไร

6. องค์ประกอบหรือฉันทลักษณ์ในบทกวี (Stylistic or Poetic Elements) หมายถึง การใช้คำอย่างสร้างสรรค์เพื่อผลทางศิลปะมีคำถามหลัก ซึ่งช่วยให้เข้าใจองค์ประกอบหรือฉันทลักษณ์ในบทกวีคือ คำที่ใช้ในเรื่องมีแนวทางที่พิเศษอย่างไร

          สรุปได้ว่าองค์ประกอบของวรรณกรรมสำหรับเด็ก คือ เนื้อหาสาระสำคัญในวรรณกรรม ประกอบด้วย โครงเรื่อง ที่มีลำดับ เหตุการณ์ที่ เป็นขั้นตอนไม่วกวนตัวละครควรอยู่ให้หน่วยใกล้เคียงกับเด็กและแสดงบทบาทใกล้เคียงกับชีวิตจริง ฉากสอดคล้องกับเหตุการณ์และเหมาะสมกับพฤติกรรม การดำเนินชีวิตของตัวละครนั้น ๆ นอกจากนั้นควรแฝงคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กเห็นพฤติกรรม ที่ถูกต้องอันเป็นที่ยอมรับของสังคม จึงจะทำให้วรรณกรรมนั้น มีคุณค่าการวิจัยครั้งนี้นำโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก สถานที่และรูปเล่ม มาเป็นส่วนสำคัญ ในการคัดเลือกองค์ประกอบของวรรณกรรม โดยวรรณกรรมที่นำมามีภาพประกอบสวยงาม ใช้ภาษาเหมาะสมกับวัยของเด็ก

แนวคิดการสอนอ่านโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน

เกริก ยุ้นพันธ์ (2539) กล่าวถึงหลักในการเลือกเรื่องนิทานสำหรับเด็กไว้ว่า เรื่องที่เล่าควรจะเลือกให้เหมาะสมกับวัยต่าง ๆ ของเด็ก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. จะต้องพิจารณาเรื่องเวลาให้เหมาะสมกับการเล่านิทาน สำหรับเด็กวัยต่าง ๆ ซึ่งมีช่วงระยะเวลาความสนใจและสมาธิการฟังแตกต่างกัน

2. จะต้องเป็นเรื่องสำหรับเด็กที่ผู้เล่าสนใจและชื่นชอบ

3. ผู้เล่าจะต้องเลือกเรื่องที่จะใช้เล่า ให้เหมาะสมกับวิธีและกระบวนการเล่าแบบต่าง ๆ

4. เรื่องที่เลือกมาเล่า จะต้องมีเนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม และมีความยาวของเรื่องพอเหมาะพอดี

5. เนื้อหาของเรื่องจะต้องมีสาระ ค่านิยม ความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเหมะสมกับการปลูกฝังความดีและความงาม”

ธันยา พิทธยาพิทักษ์ (2553 : 86) ได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยบูรณาการทฤษฎี สหบทและแนวการสอนอ่านโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านเชิง สร้างสรรค์ของเด็กอนุบาล มีแนวการสอนอ่านโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน ดังนี้

1) การให้โอกาส เลือกอ่านในสิ่งที่สนใจ

2) การให้อ่านเรียนรู้จากภาษาในวรรณกรรมที่เป็นต้นแบบ

3) การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมร่วมกัน

4) การจัดกิจกรรมอิสระ และกิจกรรมกลุ่มในการอ่าน วรรณกรรม

5)การจัดสภาพแวดล้อมที่มีวรรณกรรมเพียงพอต่อความต้องการของผู้เรียน

6)การอ่าน ออกเสียงให้เด็กฟัง

ประโยชน์

นฤมล เนียมหอม (2559) ได้กล่าวไว้ว่า

  1. 1. เด็กมีนิสัยรักการอ่านซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญต่อแนวโน้มการเรียนรู้ที่จะอ่านในอนาคต
  2. 2. เด็กมีพื้นฐานความรู้ที่สำคัญด้านภาษาทั้งในด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน

3. เด็กได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอย่างเป็นองค์รวม

การนำวรรณกรรมเป็นฐานไปใช้

               นฤมล เนียมหอม (2559) กล่าวว่า ห้องเรียนที่จะจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานควรมีการจัดวางวรรณกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 8-10 เท่าของจำนวนเด็ก มีการปรับเปลี่ยนหนังสือที่จัดแสดงตามหน่วยการเรียนรู้ ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ครูต้องมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการอ่านที่สัมพันธ์กับหน่วยการเรียนรู้ จัดเวลาให้เด็กมีโอกาสเลือกอ่านอย่างอิสระตามโอกาสสิ่งที่สำคัญ คือ ครูต้องอ่านออกเสียงให้เด็กฟังทุกวันทั้งในลักษณะกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย หากครูสังเกตว่าเด็กสนใจวรรณกรรมเรื่องใดเป็นพิเศษ ให้นำวรรณกรรมเรื่องนั้นมาใช้ในการออกแบบหน่วยการจัดประสบการณ์ หากเด็กสนใจวรรณกรรมมากกว่า 1 เรื่อง ครูอาจใช้การอภิปรายร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปว่าจะนำวรรณกรรมเรื่องใดมาใช้ในการจัดประสบการณ์ต่อไป โดยในช่วยหน่วยการจัดประสบการณ์โดยการใช้วรรณกรรมเป็นฐานสามารถดำเนินการ

ดังนี้

1. อ่านวรรณกรรมให้เด็กฟัง โดยแนะนำชื่อเรื่อง แนะนำชื่อผู้แต่ง และผู้วาดภาพ แล้วจึงอ่านให้เด็กฟัง โดยใช้น้ำเสียง และท่วงทำนองที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เพื่อให้เด็กได้รับอรรถรสของเรื่อง และสนทนากับเด็กเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวกับชีวิตประจำวันของเด็ก

2. กระตุ้นให้เด็กสนทนาเกี่ยวกับตัวละคร วัตถุสิ่งของ ฉาก หรือสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับวรรณกรรม โดยใช้คำถามหลายๆ ระดับ ทั้งความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การประเมินค่า และการสร้างสรรค์ การถามคำถามจะกระตุ้นให้เด็กคิดถึงเรื่องราวที่ได้รับฟังมา ได้ไตร่ตรองและทบทวนเกี่ยวกับนิทาน รวมทั้งได้สำรวจความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับนิทานด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กในการคิด หรือทำกิจกรรมในช่วงต่อไป

3. วางแผนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือกระทำร่วมกับเด็ก และผู้ปกครอง โดยถามความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้จากเด็กและผู้ปกครอง เพื่อออกแบบกิจกรรมที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมและสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา กิจกรรมที่จัดควรมีความหลากหลาย ท้าทายเหมาะสมกับวัย ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม โดยมีศิลปะและละครเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดประสบการณ์

ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดประกอบด้วยการวิเคราะห์ตัวละคร การวิเคราะห์สถานการณ์จากเรื่อง การจัดทำวัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ประกอบฉากหรือเครื่องแต่งกายที่สัมพันธ์กับเรื่อง การเล่นละครสร้างสรรค์ การจัดโต๊ะนิทาน การทำหนังสือนิทาน การทำศิลปะแบบร่วมมือ การประดิษฐ์และการสร้าง การเคลื่อนไหวและจังหวะ เพลง คำคล้องจอง การประกอบอาหาร การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ เกมการศึกษา ฯลฯ โดยระหว่างการจัดกิจกรรมในขั้นนี้ครูอาจอ่านวรรณกรรมให้เด็กฟังเพื่อการทบทวน หรือเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ สิ่งที่ครูไม่ควรละเลยคือการจัดสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนให้สัมพันธ์กับเรื่องโดยให้เด็กมีส่วนร่วม

 4. จัดนิทรรศการแสดงสิ่งที่เด็ก ๆ เรียนรู้ โดยทบทวนกิจกรรมที่จัดแล้วร่วมกับเด็ก ให้เด็กช่วยกันคัดเลือกสิ่งที่ต้องการนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้เกี่ยวกับวิธีการที่เด็กเรียนรู้ และสิ่งที่เด็กเรียนรู้ และร่วมกันจัดนิทรรศการ การจัดนิทรรศการจะช่วยให้เด็กได้จัดระบบความคิด เพื่อหาทางนำเสนอสิ่งที่ตนได้

            จากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวมาแล้ว สรุปได้ว่า วรรณกรรมเป็นฐาน คือ หนังสือหรือสื่อที่สร้างขึ้นสำหรับเด็ก ที่มีเนื้อหา ตรงกับความสนใจของเด็กแต่ละวัย มีจำนวนตัวละครน้อย ประโยคสั้น โครงเรื่องไม่ซับซ้อน มีขนาดตัวหนังสือและรูปเล่มเหมาะสม และมุ่งให้เด็กได้รับความสนุกสนานหรือความรู้ เสริมสร้าง ทักษะโดยใช้ภาษาง่าย สื่อความหมายชัดเจน และสามารถจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยได้โดยการเล่านิทาน หรือ เรื่องสั้นให้เด็กฟัง จะทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน เข้าใจในบทบาทของตัวละครและสามารถเรียนรู้ได้ว่า การกระทำของตัวละครนั้นดีหรือไม่ดี และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ซึ่งวรรณกรรมนั่นเด็กจะเข้าใจได้ง่าย ทั้งการใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจของเด็ก และเด็กสามารถที่จะอ่านออกเสียงให้ครูหรือเพื่อนฟังได้ บางครั้งวรรณกรรมนั่น เด็กสามารถนำมาแสดงเป็นบทบาทสมมุติได้ด้วย และเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการรักการอ่านและช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของเด็กได้ดียิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 658262เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท