ภาษาบาลีและสันสกฤตในภาษาไทย



ภาษาบาลี สันสกฤต

    ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต  เป็นภาษาหนึ่งซึ่งปะปนอยู่ในภาษาไทยตั้งแต่สมัยโบราณ  ปรากฎอยู่ในบันทึกคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าพระไตรปิฎก   หรือง่าย ๆ ทุกคนคงเคยสังเกตจากบทสวดต่าง ๆในศาสนาพุทธที่จะใช้บทสวด เป็นภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต  ฟังแล้วมีความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเป็นเวทมนตร์ คาถา บวกกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อะไรทำนองนั้น  เหตุผลหนึ่งเพราะภาษาบาลี สันสกฤตเข้ามาปะปนกับศาสนาพุทธ และวิถีการดำรงชีวิตของคนไทย  ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเอง    และวันนี้ครูสรจะมาเล่าเรื่องราวของภาษาบาลี และสันสกฤต  รวมทั้งหลักการสังเกต และข้อแตกต่างของคำที่มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต  ให้ทุกคนเข้าใจ และจดจำไปใช้กันค่ะ

คำที่ใช้เรียกในภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต

        1. ตัวสะกด   คือ พยัญชนะที่อยู่ข้างท้ายสระและพยัญชนะต้น

            2. ตัวตาม  คือ พยัญชนะที่อยู่หลังตัวสะกด

หลักเกณฑ์ตัวสะกดในภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต    ประกอบด้วย 5 วรรค  ดังนี้

            1. วรรคกะ  เรียกว่า  กัณฐชะ  เป็นพยัญชนะที่มีฐานเสียงเกิดที่ลำคอ  ประกอบด้วย  ก  ข   ค  ฆ  ง

            2. วรรคจะ  เรียกว่า  ตาลุชะ  เป็นพยัญชนะที่มีฐานเสียงเกิดที่เพดาน  ประกอบด้วย จ  ฉ  ช  ฌ  ญ

            3. วรรคฏะ  เรียกว่า  มุทธชะ  เป็นพยัญชนะที่มีฐานเสียงเกิดที่ปุ่มเหงือก ประกอบด้วย ฏ ฐ ฑ ฌ ณ

            4. วรรคตะ เรียกว่า ทันตชะ  เป็นพยัญชนะที่มีฐานเสียงเกิดที่ฟัน  ประกอบด้วย ต  ถ  ท  ธ  น

            5. วรรคปะ เรียกว่า โอษฐชะ  เป็นพยัญชนะที่มีฐานเสียงเกิดที่ริมฝีปาก  ประกอบด้วย ป ผ พ ภ ม

             - เศษวรรคในภาษาบาลี  มีจำนวน  8 ตัว  คือ  ย  ร  ล  ว  ส  ห  ฬ   และ   ˚    รวมภาษาบาลีมีพยัญชนะทั้งสิ้น  33 ตัว

            - เศษวรรคในภาษาสันสกฤต  มีจำนวน 10 ตัว  คือ  ย  ร  ล  ว  ส  ห  ฬ    ˚  ศ  ษ  (สังเกตว่าเหมือนเศษวรรคของภาษาบาลี แต่เพิ่ม ศ และ ษ)   รวมภาษาสันสกฤตมีพยัญชนะทั้งสิ้น 35 ตัว

ข้อสังเกต

  ˚  อ่านออกเสียงในภาษาบาลีว่า “อัง”  ส่วนในภาษาสันสกฤตออกเสียง “อัม”  ค่ะ   

ข้อแตกต่างของภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

            คำในภาษาบาลี และสันสกฤต บางครั้งถ้ามองกันแบบไม่พิจารณาแล้ว  ยากที่จะแยกได้ว่าเป็นภาษาชนิดใด  ดังนั้นเพื่อให้ง่ายให้ทุกคนสังเกตดังนี้

ภาษาบาลี

1. มีสระจำนวน 8 ตัว  คือ อะ อา อิ อี อุ อู  เอ โอ

2. มีพยัญชนะทั้งหมด 33 ตัว   แยกเป็นพยัญชนะวรรคทั้ง 5 วรรค  จำนวน 25 ตัว  (ดูหลักเกณฑ์ตัวสะกดประกอบ)  และเศษวรรค จำนวน 8 ตัว  คือ  ย  ร  ล  ว  ส  ห  ฬ   และ   ˚   

3. ต้องมีตัวสะกดและตัวตามเสมอ  มีหลักใช้ตัวสะกดและตัวตามดังนี้

    3.1 ตัวสะกด และตัวตามอยู่ในวรรคเดียวกันเท่านั้น ห้ามข้ามวรรค   เช่น ตัวสะกดในวรรคกะ   ก็ต้องมีตัวตามอยู่ในวรรคกะเช่นกัน   ตัวอย่างเช่น  คำว่า สักการะ  ทุกข

    3.2 ตัวสะกดในวรรค 1 วรรค 3  และวรรค 5  เป็นตัวสะกด   จะมีวรรค 2 -3 -4  เป็นตัวตาม

4. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 5  (ง  ญ ณ น ม)  ของแต่ละวรรค เป็นตัวสะกด  ให้ทุกตัวในวรรคเดียวกัน เป็นตัวตามได้  ยกเว้น ง  ตามตัวเองไม่ได้เช่น สังข์  สงฆ์  กัณฑ์

5. เขียนพินทุ (จุด)  ไว้ใต้พยัญชนะ  โดยมีหน้าที่เหมือนไม้หันอากาศ  เช่น  สพฺพี   อ่านว่า   สับ-พี

6. ภาษาบาลีไม่นิยมคำควบกล้ำ

7. เป็นคำที่ใช้พยัญชนะ “ฬ” เช่น จุฬา อาสาฬห์

8. เศษวรรคใช้ ส  ตัวเดียว

ภาษาสันสกฤต

1. มีสระจำนวน 14 ตัว  คือ อะ อา อิ อี  อุ  อู  เอ โอ  และ ฤ  ฤา  ฦ ฦา  ไอ เอา

2. มีพยัญชนะทั้งหมด 35 ตัว  แยกเป็นพยัญชนะวรรค  ทั้ง 5 วรรค  เหมือนภาษาบาลี  จำนวน 25 ตัว  และ

เศษวรรค จำนวน 10 ตัว  (เหมือนเศษวรรคในภาษาบาลี 8 ตัว   แต่เพิ่ม  “ศ”  และ “ษ”  อีกจำนวน 2 ตัว  รวมเป็น 10 ตัว)

3. มีหลักใช้ตัวสะกดและตัวตามดังนี้

   3.1 เมื่อมีตัวสะกด  จะไม่มีตัวตาม ก็ได้

   3.2 มีตัวสะกด  และสามารถใช้ตัวตามต่างวรรคกันได้

4. ใช้ตัว “รร”

5.ภาษาสันสกฤต นิยมคำควบกล้ำข้างท้าย  เช่น  จักร  อัคร บุตร สตรี จันทร์

6. เป็นคำที่ใช้พยัญชนะ ฑ   ฒ     

7. เศษวรรคใช้  ส  ศ  ษ

ข้อสังเกต

              ในภาษาบาลี  ถ้าคำใดมีพยัญชนะ ง ญ ณ น ม  เป็นตัวสะกด  พยัญชนะทุกตัวในวรรคเดียวกันของพยัญชนะนั้นจะตามได้ทั้งหมด  ยกเว้น “ง”  ตามตัวเองไม่ได้   เช่น วิญญาณ  ทัณฑฆาต

เคล็ดไม่ลับ  ของภาษาบาลี-สันสกฤต

            ก่อนจากกันวันนี้  ครูสร ขอสรุปความแตกต่างของคำภาษาบาลี-สันสกฤต  ที่ต่างกับภาษาไทย ดังนี้

            1. ไม่ใช้ไม้ไต่คู้    เช่น  เพชร  สรรเพชญ์   เบญจรงค์

            2. มักใช้เครื่องหมายการัณย์   เช่น วิทย์  นิตย์   จันทร์ ยนต์

            3. ไม่นิยมใส่วรรณยุกต์   ยกเว้นคำบางคำ  เช่น  โล่  เสน่ห์  อุตส่าห์

            4. เป็นคำที่มักใช้พยัญชนะ ฆ  ฌ  ฏ  ฎ  ฐ  ฑ ฒ  ณ  ภ  ศ  ษ  ฬ     เช่น  ฆาตรกรรม  เศรษฐี  ฎีกา  ปฏิเสธ  ฐาน   เพศ กรีฑา  โดยเฉพาะ ศ  และ ษ  จะเป็นภาษาสันสกฤต  เท่านั้น

            5. มีความหลากหลายในการใช้รูปตัวสะกดในมาตราตัวสะกด  เช่น

                   แม่กก    สะกดด้วย ข  ค  ฆ   เช่น  เลข  เมฆ  วรรค

                 แม่กด    สะกดด้วย  จ  ช  ฎ  ฏ  ฐ  ฑ  ฒ  ธ  ท  ต  ถ  ศ  ษ  ส    เช่น  กิจ  ปรากฏ  รัฐ  ครุฑ วุฒิ  อาวาส   ยศ

                แม่กบ   สะกดด้วย ป  พ  ภ   เช่น  บาป  ลาภ  ภาพ

                แม่กน    สะกดด้วย  ญ  ณ ร  ล  ฬ   เช่น  สูญ  ญาณ  กาฬ

            6. เป็นคำพ้องรูป หรือมีความหมายเดียวกัน   เช่น วัชรา  วัชระ แปลว่า  สายฟ้า

            7. เป็นคำที่เขียนด้วยพยัญชนะเหมือนกันอยู่ติดกัน  เช่น  ปัจจุบัน  นิพพาน  อัคคี

            8. ในภาษาบาลีจะไม่ใช้ “ร”  เป็นคำควบกล้ำ  แต่ภาษาสันสกฤตจะใช้ “ร” เป็นควบกล้ำเสมอ

            9. ตัว “รร”  (ร หัน)  มักจะเป็นภาษาสันสกฤต  แต่ไม่ได้หมายความว่า คำที่ใช้ “รร” เป็นภาษาสันสกฤตทุกคำ เพราะอาจมาจากคำภาษาอื่น เช่น ภาษาเขมร  ก็เป็นได้

            10. คำที่มี “ฑ”  จะเป็นคำสันสกฤต  เช่น  จุฑา  กรีฑา  ครุฑ

            11. คำบาลีและสันสกฤตที่มีเสียงต่างกันเล็กน้อย  เมื่อออกเสียงก็ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา  มักใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี  เช่น  คำว่า ครุฬ  ในภาษาบาลี   คำว่า ครุฑ  ในภาษาสันสกฤต   จะเลือกใช้คำว่า “ครุฑ”

            12. รูปคำภาษาสันสกฤตที่ออกเสียงยากกว่าภาษาบาลี   จะเลือกใช้ภาษาบาลี  เช่น คำว่า ขนฺติ  ในภาษาบาลี  คำว่า กฺษานฺติ  ในภาษาสันสกฤต   จะเลือกใช้คำว่า “ขันติ”  เพราะออกเสียงง่ายกว่า

คำสำคัญ (Tags): #บาลี#สันสกฤต#ไทย
หมายเลขบันทึก: 655868เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2018 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2018 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท