โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ช้างปล่อยช้างป่าที่ท่ามะนาว


ช้างปล่อยช้างป่าที่ท่ามะนาว

โสภณ เปียสนิท

........................................................

            หมู่บ้านท่ามะนาว ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากชุมชนเล็กๆ ของคนตัดไม้ล่องแพไม้จริงไม้รวกไม้ไผ่ไปขายในเมือง ผ่านท่าน้ำเห็นหาดทรายกว้างใหญ่สะอาดจึงพากันจอกเรือแพพักทั้งขาขึ้นและขาล่อง บ่อยครั้งเข้าจึงมีการสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวบ้าง ถาวรบ้างทีละนิดทีละหน่อย นานเข้ากลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ริมท่าน้ำ ท่าน้ำแห่งนี้มีต้นมะนาวอยู่จึงพากันเรียกว่า “หมู่บ้านท่ามะนาว” มาแต่นั้น

            สมัยนั้นยังไม่มีช้างให้เห็นหรือได้ข่าวคราวเลย แต่แรกเริ่มตั้งหมู่บ้าน มีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า มีผู้เผชิญหน้ากับเสือลายพาดกลอนตัวใหญ่ที่ท่าน้ำ ต่างคนต่างตกใจทั้งเสือและคน สามีพยายามปั่นจักรยานเพื่อใช้แสงไฟจากหน้ารถจักรยานส่องไปที่เสือใหญ่ตัวนั้น ภรรยาพยายามท่องสวดมนต์ แต่ก็ท่องไม่ได้ ท่องได้เพียงแค่ว่า “นะโมว้ายย นะโมว้าย” จนเป็นเรื่องเล่าขำๆกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

            ล่วงเลยมาหลายปีก่อน ยามเช้าตรู่ ก่อนดวงตะวันจะโผล่พ้นขอบฟ้าขณะชาวบ้านยังอยู่ในช่วงนิทรารมณ์โดยส่วนมาก บางคนตื่นขึ้นเพื่อหุงหาอาหารแว่วได้ยินเสียงรถบรรทุกหนัก บรรทุกของหนักหลายคันหลายตู้คอนเทนเนอร์วิ่งตามกันเป็นขบวนขึ้นไปทางน้ำตกเอราวัณ รุ่งเช้ายามชาวบ้านพบปะกัน เรื่องนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อในทุกๆ วงสนทนาว่า เอ รถบรรทุกอะไรหลายคัน หลายตู้ เสียงหนักแน่น วิ่งจนแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น ราวเกิดแผ่นดินไหว หัวข้อการสนทนาเหล่านี้ ดำรงอยู่ไม่นาน เกิดหัวข้อสำคัญกว่า แทรกเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว คนหาเห็ดพบช้างป่าที่นั่น คนตัดไม้พบช้างตรงป่านี้ คนหาผักหวานป่าพบช้างที่หุบโน้น

            ไม่นานต่อมา ข่าวเช้าที่ได้ยินต่อเนื่องกันยาวนานข้ามเดือนข้ามปี ข้ามหลายๆ ปี ว่า ช้างป่าเข้าไร่ทำลายพืชผลที่นี่ ช้างป่าเข้าสวนกล้วยฝั่งแม่น้ำแควใหญ่แถวนั้น ช้างป่าเข้าไร่อ้อยกัดกินเหยียบย่ำทำลายที่โน่น ช้างป่าเข้าไร่มันฝั่งตรงข้ามถนแถวนั้น หัวข้อเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ติดตามด้วยหัวข้อสนทนาใหม่ๆ ว่าจะป้องกันช้างป่ากันอย่างไร จะขอการเยียวยาจากที่ไหนได้บ้าง จะหลบเลี่ยงการเผชิญการทำลายล้างของช้างป่าด้วยวิธีการอย่างไร

            เกิดมีการจัดกลุ่มประชุมย่อยระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง ประชุมระหว่างตำบล ประชุมระหว่างอำเภอ มีทั้งประชุมร่วมผู้เกี่ยวข้องกับภัยช้างป่า ทั้งชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งส่วนราชการผู้มีหน้าที่โดยตรงต้องรับผิดชอบ และหน่วยงานเอกชนที่ติดตามสถานการณ์ ทั้งที่เป็นมูลนิธิ และที่เป็นส่วนเอกชนเป็นรายบุคคล ก่อให้เกิดการเขียนโครงการของบประมาณจากภาครัฐเพื่อป้องกันและดูแลช้างป่าเป็นรายปีไป ขอแล้วได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ได้มากบ้างได้น้อยบ้างแล้วแต่การจัดสรรในแต่ละปี

ส่วนราชการมานัดประชุมบ้าง นัดตรวจพื้นที่บ้าง แล้วก็ไปเปลี่ยนงานบ้าง ย้ายตำแหน่งบ้าง มีงบก็มาอีก ไม่มีงบก็หายไปเงียบไป ส่วนเอกชนมูลนิธิคนรักช้าง มูลนิธิคนกับช้าง มูลนิธิผู้อนุรักษ์ช้างไทย (ชื่อสมมติ) มาพูดคุยสนทนา ขายเสื้อตราช้างรูปช้าง เล่าเรื่องราวของช้าง ประวัติศาสตร์ช้างกับประเทศไทย คุณานุปการเกี่ยวกับช้างแล้วก็หายไปเรี่ยไรเงินเข้ามูลนิธีที่อื่นๆ ต่อไป

ทุกวันนี้ ที่กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวบ้านท่ามะนาวยามค่ำคืน ชาวบ้านที่มีเรือกสวนไร่นา ทั้งปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชไร่อื่นๆ ไม่เป็นอันหลับนอน หรือ หลับนอนก็อยู่ท่ามกลางความหวาดระแวงวิตกกังวลว่า พืชสวนไร่นาของตนจะได้รับผลกระทบอะไรจากการที่ช้างมาเดินเล่น มากัดกิน มาเหยียบย่ำ บางคราวก็มาเป็นโขลง บางคราวก็มาเดี่ยว บางคราวก็มาเป็นครอบครัว เหมือนแบ่งแยกกันไปแต่ละที่ แต่ละไร่

หลายรายสร้างหอระวังภัยจากช้าง เพื่อเอาไว้นอนเฝ้าช้างหัวไร่ชายนาของตน บางรายไม่มีเงินและเวลาในการสร้างหอก็สร้างห้าง ผูกห้างไว้บนต้นไม้สูงแทนห้างนอนเฝ้าอย่างชาวบ้านป่า บางรายนอนเฝ้าบนพื้นดิน ซึ่งก็เสียงอันตรายไม่น้อย บ่อยครั้งที่เผลอหลับไปตื่นขึ้นมาอีกทีตอนเพื่อนมาปลุกและแจ้งว่า ขณะนี้ช้างป่าอยู่ในกลางไร่อ้อยของคุณแล้ว แล้วจึงพากันจุดประทัด จุดระเบิดเสียงขับไล่ กว่าช้างจะออกไปจากไร่ของตน พืชผลเสียหายคืนละไม่น้อย

ยามย่ำค่ำคืนดื่นดึก หากชาวบ้านไม่หลับนอน จะได้ยินเสียงหวีดหวิวกังวานของเสียงระเบิดเสียง ประทัด จุดไล่ช้างดังกังวานผ่านความเงียบยามรัตติกาลตั้งแต่ตอนหัวค่ำไปจนใกล้แสงตะวันจะโผล่พ้นขอบฟ้า ใกล้บ้างไกลบ้างอยู่เป็นระยะ บางรายมาพักค้างคืนในหมู่บ้านใหม่ๆ จะสะดุ้งตกใจเสียงเหล่านี้จนนอนไม่หลับ แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว วันไหนไม่มีเสียงโหยหวนกังวานให้ได้ยินถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

คิดถึงมุมของชาวบ้านแล้วน่าเศร้าใจ เพราะจะต้องเสียงเวลา เสียเงิน เสียแรงไปกับมาตรการระแวงภัยอย่างไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดลง ณ จุดไหนเมื่อไร อย่างไร สอบถามเจ้าหน้าที่กันหลายประเด็น หลายคำถามทุกๆ ครั้งที่ได้มีการประชุมร่วมกันกัน ชาวบ้านวางแผนไว้ว่าจะถามคำถามนี้นั่นโน่นเยอะแยะ แต่เวลามักไม่เอื้ออำนวยสำหรับคำถามทุกครั้ง เพราะเวลาในการประชุมทุกครั้งจะหมดไปกับการการเล่าแจ้งแถลงไขของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพูดวกวนซ้ำๆ เหมือนกันหมดทุกหน่วยงาน ว่า ป่าเมืองกาญจน์ของเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอยู่จำนวนกี่ล้านไร่ ป่าสงวนอีกกี่ล้านไร่ ป่าสลักพระอีกกี่ล้านไร่ ยาวเรื่อยจากสุดชายแดนพม่ามาถึงตัวเมืองกาญจน์เท่านี้ล้านไร่ ซ้ำไปซ้ำมาจนเหลือเวลาให้สอบถามได้ไม่กี่นาที จนชาวบ้านจำกันขึ้นใจว่า ป่ามีอยู่จำนวนเท่าไร แต่ข้อมูลของราชการกินที่ชาวบ้านตั้งรกรากปักฐานกันตั้งแต่อดีตกาล กลายเป็นว่า ที่ป่าของรัฐกินที่ชาวบ้านที่ตั้งรกรากเก่าแก่เนินนาน แม้มีเอกสารสิทธิ์ก็ยังขีดเส้นระบุว่าเป็นป่าสงวนโดยระบบจีพีเอส ที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ บางคราขีดเข้าไปกลางหมู่บ้านที่อยู่กันมาเก่าแก่ว่าเป็นป่าสงวนไปเสียอีก ทั้งที่ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิอยู่ก่อนก็มี

เปิดบันทึกเรื่องช้างของผู้ใหญ่บ้านท่ามะนาวหมู่ที่2 ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2556-ปัจจุบัน พบว่าลูกบ้านร้องเรียนผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากช้างป่าปล่อยนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน เท่าที่บันทึกภาพ และเรื่องราวไว้ มีอยู่จำนวนหนึ่ง ขอยกมาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอแก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาหาหนทางลดผลกระทบดังกล่าวให้น้อยลง หรือหมดไปได้ก็ยิ่งดี  

เมื่อปี 2556 ชาวบ้านร่วมกันสร้างห้างเฝ้าระวังช้างป่าตรงรอยต่อระหว่างป่าปากทางเข้าสู่หมู่บ้านไว้หนึ่งแห่ง ในปีเดียวกันนั้นมีหน่วยงานอนุรักษ์ช้างป่ามาประสานงานติดกล้องเพื่อดูช้างออกมากินพืชไร่ชาวบ้าน ผลการรายงานขาดช่วงไปไม่ได้ส่งกลับคืนมาที่หมู่บ้าน ต่อมายังเกิดความเสียหายที่ช้างลงมากินพืชไร่ชาวบ้านอีกครา เมื่อชาวบ้านและทางราชการร่วมมือกันทำรั้วลวดหนามป้องกันช้างป่า แต่ไม่นานช้างป่าบุกทำลายรั้วลวดหนามที่ป้องกันช้างป่าพังเสียหาย ชาวบ้านรวมตัวกันซ่อมแซมหลายครั้ง ภาพแห่งความหลังเหล่านี้ เก็บบันทึกไว้ในแฟ้มการทำงานของผู้ใหญ่บ้าน และยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านหมู่ที่2 ว่า คนอื่นมาแล้วก็จากไป แต่ชาวบ้านต้องช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันภัยช้างป่าเพื่อความอยู่รอด

            ครั้งหนึ่งจากการรายงานของผู้ใหญ่บ้านหมู่2 ต่อนายอำเภอเมือง นายศรัทธา คชพลายุกต์  มาร่วมสังเกตการณ์ และช่วยขับไล่ช้างป่าที่ลงมากินพืชไร่ ที่บ้านด้วยความเอาใจใส่ หวังดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านให้ได้ เพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้านไม่น้อย อย่างน้อยก็มีท่านนายอำเภอเดินทางมาดูสารทุกข์ชาวบ้านจนถึงแหล่งที่เกิดปัญหาจริง  

            บันทึกอีกหน้าหนึ่ง บันทึกไว้ว่า หมู่บ้านท่ามะนาวได้ความอนุเคราะห์จากการไฟฟ้าเขื่อนท่าทุ่งนา และ อบต. วังด้ง-ป่าไม้-ชาวไร่ นำรถไถ่มาดันแนวกันช้างป่า และหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้ ปี2556 เสียดายว่า โครงการนี้ยังไม่ทันบรรลุเป้าหมาย งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาหมดลงเสียก่อน โครงการเลยยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน

            จากการประชุมภัยช้างป่าในหมู่บ้านหลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้ข้อสรุปว่า ควรจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครป้องกันช้างป่า (กลุ่มช้างยิ้ม ) ในชุมชน เพื่อให้มีหน้าที่ลาดตระเวนสอดส่องระแวดระวังภัยจากช้างป่ายามค่ำคืนที่มักบุกเข้าไร่ของชาวบ้านเสมอ เมื่อพบช้างจักได้ดำเนินการจุดประทัดเสียงขับไล่ผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่า กลุ่มอาสาสมัครนี้ทำงานร่วมกับเจ้าของไร่ และคนงานของเจ้าของไร่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะบางครั้ง ช้างตัวเดียว สองตัวก็ไล่ผลักดันได้ง่าย แต่บางคราช้างมาเป็นกลุ่มจำเป็นต้องมีหน่วยเสริมค่อยช่วยกันยามคับขันจำเป็น

            ปี 2561 ชาวบ้านหมู่ที่2 รวมกันสร้างห้างเฝ้าระวังช้างป่าเพิ่มขึ้นอีกแห่ง เพื่อให้มีการเฝ้าระวังแจ้งข่าวช้างบุกกัดกินพืชไร่ได้ดียิ่งขึ้น กลางคืนมีหน่วยอาสาสมัครออกตรวจตราเสมอ กลางวันช้างหลบเข้าป่าท้ายหมู่บ้านพักผ่อนไม่ไกลนัก เมื่อค่ำลงจะได้ไม่ต้องเดินหาอาหารไกล

            จากแฟ้มบันทึกของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่2 พบบันทึกความเสียหายที่ประชาชนได้รับภัยจากช้างป่าอีกหลายอย่าง เช่น รถยนต์สัญจรทางถนนสายเมืองกาญจนบุรี-เอราวัณถูกช้างชนและเหยียบ รถยนต์บางคันชนช้างที่กำลังเดินข้ามถนนเพื่อเข้าหากินในหมู่บ้านยามค่ำคืนมีภาพรอยเลือดช้างป่าที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุในบันทึกหลายภาพ

            ยังมีภาพชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ถูกช้างไล่ทำร้ายหลายราย (มีภาพประกอบจำนวนมาก) นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา แม้กระทั่งพบว่า ช้างป่าตายเพราะสายไฟฟ้าแรงสูงจากรั้วล้อมไร่อ้อยของชาวบ้าน ช้างตัวหนึ่งตายเพราะใช้งวงดึงเถาวัลย์พันสายไฟฟ้าแรงสูงส่งเข้าปากถูกไฟฟ้าช็อตตาย ครั้งหนึ่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สนใจเรื่องปัญหาช้างป่าของชาวบ้านเดินทางมาเยี่ยมชมหอเฝ้าระวังช้างเมื่อปี 2556

บันทึกสุดท้ายของผู้ใหญ่บ้าน บันทึกไว้ด้วยภาพ และตัวอักษรว่า ช้างบุกเข้าทำลายโรงงานทำอาหารไก่ และบ้านชาวบ้านอีกหลายหลัง มีภาพประกอบหลายภาพ พร้อมภาพจากกล้องวิดิโอจับภาพช้างบุกเข้าโรงทำอาหารไก่รื้อค้นหาอาหารอย่างชัดเจน

ยามค่ำคืน ณ หมู่บ้านท่ามะนาวเปลี่ยนแปลงไปจากชีวิตปกติของคนในหมู่บ้านอื่น หมู่บ้านที่ค่อยๆ เกิดมาจากชุมชนเล็กๆ ทำอาชีพเข้าป่าล่าสัตว์ตัดไม้ขายและทำเกษตรกรรม ล่วงเลยถึงปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านแห่งความหวาดระแวง กลางวันทำงานรับจ้างทั่วไป เย็นลงกลับบ้านอาบน้ำกินข้าว กลางคืนรับจ้างเฝ้าไร่บ้าง เป็นอาสาสมัครเฝ้าไร่บ้าง ไม่ได้หลับนอนตามปกติ สายน้ำแควใหญ่ไหล่เอื่อยรินเปลี่ยนแปลงล่องคลองหาดทรายหมู่ไม้ไปจากเดิม ชีวิตคนก็เช่นกัน  

หมายเลขบันทึก: 655402เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2018 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2018 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ-ตามมาอ่านบันทึกช้างป่า-ท่ามะนาว แห่งนี้มีที่มา-ขอบคุณครับ

ถึงวันนี้ช้างป่าปล่อยที่ท่ามะนาวก็ยังกระทบกระทั่งกับชาวบ้านตลอดมาและดูเหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท