mini-UKM#20 เตรียมการงานคุณอำนวย (คุณฟา)


วันนี้ได้ทำหน้าที่(ในสิ่งที่ตนมีฉันทะมาก)มาเป็นตัวแทน ๑ ใน ๒ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) (อีกท่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยสิทธิ์ สิทธิเวช) เข้าร่วมประชุม KM เพื่อเตรียมการสำหรับงาน minin-UKM ครั้งที่ ๒๐ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ มกราคม ๒๕๖๒ นี้ โดยมีมหาวิทยาลัยนครพนมเป็นเจ้าภาพ

เวลาจะจัดงานแบบนี้เมื่อไหร่ ใจผมจะนึกถึงคำของคุณเปา ปิยาภรณ์ มัณฑจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่บอกว่า "ปัจจัยแห่งความสำเร็จของงาน Show&Shar และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ การจัดการความรู้ก่อนถึงวันงาน" ดังนั้น การมาประชุมกันคราวนี้จึงเป็นเวทีที่ควรทำอย่างยิ่ง ...ซึ่งผม AAR ว่าได้บรรลุผลดี

กำหนดการของงานประชุมนี้ดาวโหลดได้ที่นี่ ตุ๊กตาของงานประชุม mini-UKM ที่จะจัดขึ้นที่ ม.นครพนม ดาวน์โหลดได้ที่นี่ รายชื่อตัวแทนมหาวิทยาลัยที่มาร่วมประชุม KM ทั้ง ๒๙ ท่านในวันนี้ ดาวน์โหลดได้ที่นี่

BAR

ผมตีความและเข้าใจว่า

  • การจัดงาน mini-UKM ครั้งที่ ๒๐ ที่กำลังจะจัดที่ ม.นครพนม นี้ ท่านที่ปรึกษา ซึ่งได้แก่ คุณหมอจิตเจริญ ไชยาคำ (คุณหมอเจเจ) และคุณหมอวุฒิชัย อยากจะให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าให้ถึง KM 4.0 (อะไรคือ KM 4.0 ในความหมายของคุณหมอทั้งสองได้ที่นี่) โดยตั้งเป้าว่า 
    • จะได้แนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice, GP) จากแต่ละมหาวิทยาลัย ใน ๕ ประเด็นที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง (อ่านจากบันทึกเมื่อครั้ง mini-UKM#17 ที่นี่) เพื่อจะได้ BP (Best Practice) ในงาน mini-UKM#20
  • วิธีการทำให้งานบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวนี้ คือ ให้ทุกสถาบันไปสร้างกระบวนการค้นหา GP อย่างเป็นระบบ และให้ "คุณอำนวย" (Facilitator) หรือ "คุณฟา" ทำหน้าที่สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน รวมถึงคัดกรองผลงานด้านต่างๆ ใน ๕ ประเด็นที่กำหนด ให้ได้ BP ของสถาบัน (เรียกว่า GP) ก่อนส่งมา Show & Share ในงาน mini-UKM#20 ที่ ม.นครพนม 
  • ความตั้งใจเบื้องต้นของการประชุม KM นี้ กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๒ ประการ ได้แก่ 
    • ให้เข้าใจแนวคิด หลักการ และสามารถปฏิบัติหน้าที่คุณอำนวยในสถาบันของตนเองได้ ... วัตถุประสงค์ข้อนี้ ท่านคงหวังเฉพาะให้เห็นแนวกระบวนการ เห็นตัวอย่างของการจัดรูปแบบกิจกรรมแลกเปลี่ยน  จึงถือว่าน่าจะบรรลุผล  (ขอเล่าด้วยภาพในหัวข้อต่อไป)
    • เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัด mini-UKM#20 ... ข้อนี้ต้องถือว่าบรรลุผลอย่างยิ่ง คุณหมอเจเจ ท่านบันทึกคลิปวีดีโอไว้ได้เกือบทุกกลุ่ม  และบอกว่า "... บันทึกไว้หมดแล้วนะครับ.."...ฮา 
กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

แนวปฏิบัติ ที่อาจนำใช้ได้

  • เล่าเรื่องที่ผ่านมา ความเป็นมาเป็นไป  ทำไมต้องมาประชุมกันในวันนี้  ผมฟังแล้วตีความว่า 
    • ปัญหาในการจัด mini-UKM ที่ผ่านมา คือ มีสมาชิกท่านใหม่เวียนมาเรื่อยๆ  ท่านเก่ามาแล้วก็ไม่สามารถมาได้อีก  แม้จะจัดอย่างต่อเนื่อง แต่ในรายละเอียดไม่ต่อเนื่อง  ไปยังไม่ถึง "KM"
  • เน้นย้ำหลักคิด หลักการ และเป้าหมายของการทำ KM 
    • KM ไม่ใช่เป้าหมาย KM เป็นเครื่องมือ 
    • KM ไม่ใช่สุกี้ ที่ทำตอนนี้กินตอนนี้ หรือทำวันนี้มีผลใน ๓ เดือน ๑ ปี แต่ KM ต้องทำต่อเนื่องยาวนาน 
    • KM ไม่มีรูปแบบชัดเจน ไม่ตายตัว แตกต่างได้หลากหลายแล้วแต่บริบทและธรรมชาติของคนหรืองาน
    • ฯลฯ
  • มีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนกลุ่มใหญ่ (นั่งเก้าอี้ล้อมวง) และกลุ่มย่อย ๕-๘ คน มีโต๊ะหน้าขาวรองเขียนงาน และมีกระดานกระดาษให้เขียนสำหรับ Note Taker 
  • มีการสรุปและนำเสนอ ความคิดความเห็นของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่ 
  • ฯลฯ



 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มใหญ่ ในประเด็น 

ประเด็นที่กำหนดในการแลกเปลี่ยนคือ แต่ละสถาบันขับเคลื่อน KM กันมาอย่างไร โดยยกเอาประเด็นตามเกณฑ์คุณภาพแห่งชาติ Baldrige Criteria 2017-2018 ....  ผมจับความได้ดังนี้

  • มีการวิธีสร้างหรือจัดการความรู้อย่างไร คือ ค้นหาหน่วยงานที่มีแนวปฏิบัติที่ดีอย่างไร และค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีอย่างไร 
  • มีวิธีการอย่างไรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ
  • มีวิธีการใช้ความรู้อย่างไรในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ 
ต่อไปนี้คือสไลด์ที่คุณหมอ JJ ส่งแชร์ไว้ในกลุ่มไลน์ mini-UKM ครับ 






อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลาจำกัดมาก จึงเป็นการแลกเปลี่ยนสั้นๆ เพียงสถาบันละ ๕ นาที เป็นการเล่าเรื่องการทำ KM ที่ผ่านมา


ระดมสมองกลุ่มย่อย

แบ่งกลุ่มย่อยเป็น ๔ กลุ่ม ๆ ละ ๕-๘ ท่าน แล้วระดมสมองกัน เพื่อกำหนดแนวทางในการค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อส่งต่อให้ผู้จัดงานต่อไป ... ทุกกลุ่มได้ผลคล้ายๆ กัน ผมสังเคราะห์รวมกัน ได้ผลดังชาร์ทนี้ครับ


ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ

  • งาน mini-UKM ครั้งที่ ๒๐ จะจัดขึ้นโดยมีมหาวิทยาลัยนครพนมเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ ๒๓-๒๕ มกราคม ๒๕๖๒  เรามีเวลาอีกประมาณ ๒ เดือนเศษๆ ในการค้นหา GP ส่งไปที่เจ้าภาพ 
  • ขั้นตอนในการค้นหา GP แสดงดังชาร์ท 
    • เริ่มที่การแต่งตั้งคณะกรรมการ (หากยังไม่มี) โดยสำคัญว่า ให้มีทีม "คุณอำนวย" ของแต่ละหน่วยงานเป็นกรรมการด้วย 
    • ประชุมคณะกรรมฯ เพื่อระดมสมอง ร่วมกันกำหนดแนวทาง แผนงาน ปฏิทินการทำงาน และให้มีการมอบหมายหน้าที่และผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน 
    • เริ่มกระบวนการค้นหา โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ คือ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่ได้รับคัดเลือกเบื้องต้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆ (KM Tools) ซึ่งอาจจะใช้วิธีการหรือกลยุทธ์ต่างๆ เช่น 
      • วิเคราะห์สังเคราะห์จากผลงานเดิมจาก mini-UKM ครั้งก่อนๆ หรือทุนเดิมจากมหาวิทยาลัย .... ผมนึกถึงอาจารย์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยและของสำนักศึกษาทั่วไป 
      • สอบถามจากหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชาส่วนงานต่างๆ หรือ สำรวจจากผู้รับผิดชอบงาน ฯลฯ 
      • พิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ของงาน (ดูจากผลงาน) หรือสำรวจหรือสัมภาษณ์ 
      • จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยให้ผู้สนใจส่ง GP ของตนเองเข้าร่วม 
      • ฯลฯ
    • ให้คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นคัดกรองผลงานให้เหลือเพียง ๕ ผลงาน ดังนี้
      • เทคนิคการสอนแบบอาจารย์มืออาชีพ
      • การพัฒนา Successor เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณภาพอุดมศึกษา
      • เทคนิคการเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน 
      • การจัดการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม
      • เทคนิคการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
    • หากผลงานไม่เป็นที่พอใจของคณะกรรมการ อาจส่งให้เจ้าของ PG แก้ไขหรือเพิ่มเติมตามสมควร 
  • ส่งผลงานให้เจ้าภาพ (ภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑)

AAR

  • บรรลุทั้งสองวัตถุประสงค์ครับ เรื่องเทคนิคการเป็นฟา อาจารย์ที่มาด้วยกันสะท้อนว่า ท่านได้เห็นรูปแบบที่จะนำไปทำต่อ  และได้แนวทางและกรอบเวลาที่ชัดเจนในการไปเตรียมการเพื่องาน mini-UKM ครั้งที่ ๒๐

วิพากษ์และข้อเสนอแนะ (ของผู้เขียน)

  • ผมรู้สึกว่า เพื่อนๆ หลายท่านที่มาประชุมร่วมกันในวันนี้ ยังไม่มีศรัทธาและเห็นคุณค่าของ KM ในการทำงานเต็มที่  ... หลายท่านเชื่อและพูดกันต่อๆ กันไปเองว่า KM ที่ทำยังเป็นภาระเพิ่มเติม ทั้งๆ ที่ความจริงผมเห็นว่า เครื่องมือ KM ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรมดาและกำลังเกิดวัฒนธรรมการทำงานด้วย KM แล้ว .... สรุปโดยรวมคือยังขาดพลัง แต่ที่ยังไปได้ดีขณะนี้เพราะบารมีของผู้ใหญ่ที่ปรึกษาที่ทำอยู่
  • ผมตีความว่า... วง mini-UKM ถูกสิ่งเร้าภายนอก (อาจเป็นผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายและงบประมาณ) กำหนดให้ต้องสร้าง "ชิ้นงาน" หรือ "ผลงาน" ออกมาในลักษณะ Papers หรือ คู่มือ ที่เป็น BP, GP และหลักฐานที่แสดงว่า ได้รับประโยชน์จากการทำ KM อย่างเป็นรูปธรรม เช่น จำนวนผู้ผ่านตำแหน่งวิชาการ จำนวนผลงานตีพิมพ์ เป็นต้น ... แนวคิดแบบนี้ คือ หวังจะใช้ KM เป็นเครื่องมือพัฒนาผลงาน (ไม่ใช่พัฒนาคนเพื่อให้คนพัฒนาผลงาน)
  • โดยส่วนตัวผมเชื่อและศรัทธาว่า การทำงาน KM ควรเน้นควบคู่กันระหว่าง "งานก็เป็นผล คนก็มีความสุข" เหมือนกับที่คุณหมอเจเจพูดบ่อยๆ  
    • ใน่ส่วน "งานก็เป็นผล" นั้น มีเกณฑ์ประกันฯ และ ก.พ.ร. กำกับติดตามมากมาย ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ คนไม่ค่อยมีความสุข ไม่ค่อยมีพลังสร้างสรรค์ในการทำงาน
    • KM ควรเน้นไปที่การ "เสริมพลัง" และ "ปัญญา" ของคน  ก่อนทำมีเป้าหมาย ระหว่างทำท้าทายสนุก หลังทำเกิดความสุขและพลัง ควรเน้นไปที่ "เหตุ" แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ จะสำเร็จหรือไม่อย่างไร แค่ไหน ตัวเลขจะเป็นเท่าใด เป็นเรื่องของ "ผล"  
  • ผมขอเสนอว่า ควรมีการส่งเสริมให้มีการ Show&Share ของคน KM บน www.gotoknow.org ให้มากขึ้น เพราะเป็นเวทีที่ไม่ต้องลงทุนอะไร และยังมีข้อดี ๓ ประการ คือ 
    • ประสบการณ์และบทเรียน (EK) ซึ่งแต่ละคนถอดออกมาจาก TK ของตนเอง จะไม่หายไปไหน มั่นใจะว่า เป็นของคนไทย  ... บันทึกบางห้องที่ผมเขียนบนบล็อคอื่น ถูกลบหายไปดื้อๆ
    • เป็นเว็บไซต์ที่ไม่หวังผลกำไร แม้จะจำเป็นต้องให้มีโฆษณาบ้างก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่แอดมินผู้ดูแล ก็เลือกโฆษณาที่ไม่ทำลายคุณค่าใดๆ ของสังคม 
    • เป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาอันดับต้นๆ ของไทย ที่ต่อไปจะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ทรงพลังมาก 
ท่านล่ะครับคิดอย่างไร  ... ขอจบด้วยภาพถ่ายจากระเบียงชั้น ๕ ของ ตึกประชุมที่ มรภ.สวนสุนันทา ที่ถ่ายแชร์ในกลุ่มไลน์โดย ผู้ใช้นามปากกาว่า Thaya  ขอบคุณครับ 




หมายเลขบันทึก: 655166เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2018 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2018 02:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท