เวที PLC พูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสาน ปี ๒๕๖๑ (๒) : Logbook ที่ดีจะทำให้เกิด PLC (ผมช็อคกับรูปแบบการทำ Logbook ที่ให้ครูทำ)


วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ทีมขับเคลื่อนอิสระ "ฅนค้นครู" จัดเวที "พูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสาน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑"  มีครูเพื่อศิษย์อีสาน ๑๕ ท่าน ศึกษานิเทศก์ ๓ ท่าน และผู้อำนวยการโรงเรียน ๒ ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถือเป็น PLC หรือ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ อีกวงที่ส่งผลต่อความสุขของผู้เข้าร่วมทุกคน

หลังจากที่ได้รับแรงบันดาลใจและคำแนะนำแนวทางการขับเคลื่อนจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (อ่านบันทึกที่ ๑ ที่นี่)  เรากลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อ โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่มย่อย คือ กลุ่มปฐมวัย กลุ่มประถมและมัธยม และกลุ่ม "ฅนค้นครู" คือ ผอ. ศน. ได้ผลสรุปที่น่าสนใจหลายประเด็น  แต่ปีนี้เราไม่ได้คาดหวังการ  Show&Share แบบเต็มรูปแบบ จึงจัดเพียงครึ่งวัน ดังนั้นจึงไม่มีเวลาพอที่จะถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนกันละเอียดมากนัก ... ขอสรุปสั้นๆ ไว้ให้เป็นเหตุการระลึกถึง ดังนี้


  • กลุ่มที่ ๑ ครูประถมและมัธยม
    • ครูเพ็ญศรี ใจกล้า แลกเปลี่ยนเรื่อง โมเดล 3PBL คือ เรียนรู้ในรูปแบบ (Pattern-based) เรียนรู้ด้วยการทำโครงการ (Project-based) และ เรียนรู้โดยใช้การแก้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based) 
    • ครูอัจฉราวรรณ ภิบาล แลกเปลี่ยนเรื่องการสอนทักษะภาษาอังกฤษ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยให้ทำหนังสั้น โดยเน้นการทำงานเป็นทีม ทั้งระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียน
    • ครูเพ็ญศรี กานุมาร แลกเปลี่ยนเรื่องการเรียนรู้จากป่าในโรงเรียน เน้นการเรียนรู้พันธุ์โดยบูรณาการระหว่างโรงเรียนและชุมชนผ่านปราชญชาวบ้าน ผ่านรายวิชาวิทยาศาสตร์ 
    • ครูจีระนันท์ จันทยุทธ แลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกห้องเรียน วิถีชีวิตในท้องถิ่น โดยให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการลงมือปฏิบัติ พัฒนานักทักษะการนำตนเองของนักเรียน 


    • ครูวรารัตน์ แลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้มุ่งให้เกิดทักษะชีวิตสู่อาชีพในท้องถิ่น โดยบูรณาการทุกรายวิชา ด้วยการสอนแบบ PBL ในช่วงเวลาลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และเน้นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ 
    • ครูกรรณิการ์ แลกเปลี่ยนเทคนิคการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ด้วยความรักความเมตตา ดูแลเด็กรายบุคคล เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจริงๆ และนำเอากระบวนการ ๖ ขั้นของครูตุ๋มไปใช้ 
    • ครูสุรียนต์ ฉิมพลี แลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้แบบไร้รูปแบบ หลากหลายรูปแบบ บูรณาการทุกรายวิชา เน้นสร้างห้องเรียนแห่งความสุข  



    • ครูปราณี จงจอหอ แลกเปลี่ยนการสอนภาษาไทยด้วยเพลง เกมส์ และนิทาน (น่าจะเคยถอดบทเรียนท่านไว้แล้วครั้งหนึ่ง สู้ต่อนะครับอาจารย์)
    • ครูพัชรา แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการสอนภาษาไทยว่า "อย่าเยอะ อย่าแยะ"  ต้องไม่เน้นเนื้อหาเกินไป ยืดหยุ่น เน้นให้เกิดความสุข ความสนุกสนานในชั้นเรียน 




  • กลุ่มย่อยที่ ๒ ครูปฐมวัย 

    •  ครูคเณศ เป็นตัวแทนกลุ่ม ท่านเน้นว่า สำคัญคือต้อง "เล่นปนเรียน"  จับหลักสำคัญว่า เรามุ่งให้เด็กมีพัฒนาการ ๔ ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในระดับประถม 

 

  • กลุ่ม "ฅนค้นคน"
    • ก่อนเริ่มการแลกเปลี่ยน ผมเล่าให้ท่าน ผอ. ศน. ฟังว่า ระหว่างเดินไปส่งท่าน ท่านตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างให้ให้คุณครูไป "ก่อกระบวนการ" ขยายผลประสบการณ์ของตนเอง 

    • ท่าน ผอ.ไพฑูรย์ แวววงศ์ เสนอทันทีว่า ให้เข้าร่วมจัดทำเป็นหลักสูตรในโครงการคูปองครู 
    • ผอ.ปรีชา เสนอว่า ท่านจะสร้างเครือข่ายผู้อำนวยการเพื่อขับเคลื่อนขยายผลออกไปอีกทางหนึ่ง
    • ศน.อัชรา บอกว่า เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้บูรณาการงานนี้ เข้าไปกับระบบและกลไกการประเมินและส่งเสริมความก้าวหน้าของครูแล้ว 
    • ศน.กันยารัตน์ บอกว่า อบจ. เริ่มให้มีการทำ PLC อย่างจริงจังแล้ว และกำลังนำร่องอย่างจริงจังแบบทั้งโรงเรียน (Whole School PLC) 
    • ศน.สุรัมภา จาก กศจ.มหาสารคาม ท่านบอกว่า ตอนนี้กำลังขยาย "SARAKHAM Model" ออกไปสู่กลุ่มเป้าหมายโรงเรียนเอกชน และท่านเองตอนนี้เป็นกรรมการผู้ทรงของสำนักปลัดกระทรวง หากมีโอกาสก็จะเสนอโครงการขยายผลนี้ด้วย 
    • ประเด็นสำคัญที่สุดที่ (ผม) เข้าใจว่า จะช่วยให้ครูเพื่อศิษย์ขยายผลและประสบการณ์ของตนออกไปได้เร็วที่สุดคือ การเขียนบันทึกลงใน Logbook  และครูก็จะได้ประโยชน์จาก Logbook ที่ตนเองเขียนด้วย เพราะขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษา ได้กำหนดเป็นเกณฑ์สำหรับการเลื่อนวิทยฐานะครูแล้ว 

 Logbook

จากการสืบค้น พบว่าเอกสารเผยแพร่และไฟล์ช่วยจัดทำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าในวิชาชีพของครู สามารถดูและดาวน์โหลดได้ที่นี่   ผมจับความได้ว่า หากครูจะขอวิทยาฐานะ จะต้องกรอกแบบฟอร์มเอกสารจัดทำแบบ "ว.xx"  มี ๙ ประการ  องค์ประกอบที่ ๗ คือการมีส่วนร่วมในการทำ PLC ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

  • วันที่ 
  • ชื่อกลุ่มกิจกรรม
  • จำนวนสมาชิก
  • ชื่อกิจกรรม
  • ครั้งที่ 
  • วันเดือนปีที่จัดกิจกรรม
  • ภาคเรียน
  • ปีการศึกษา/ปีงบประมาณ
  • จำนวนชั่วโมง
  • บทบาท
  • จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรม
  • ประเด็น
  • สาเหตุ
  • ความรู้/หลักการที่นำมาใช้
  • กิจกรรมที่ทำ
  • ผลที่ได้จากกิจกรรม
  • การนำผลที่ได้ไปใช้
  • อื่นๆ
  • รหัสเอกสารสำหรับตรวจสอบ
  • การรับรองจาก ผอ. 

ผมศึกษามาถึงตรงนี้ .... ผมรู้สึกช็อค.... ช็อคกับเรื่องนี้... นี้มันเพิ่มงาน นี่มั่นงานของนักทำเอกสาร ครูเพื่อศิษย์ที่ผมรู้จัก ไม่มีเวลามาเรียนรู้การเขียนเอกสารแบบนี้ เพราะท่านจะไม่ให้ความสำคัญกับการรายงานเอกสารแบบนี้  และท่านก็ไม่สนใจการเลื่อนวิทยฐานะนั้นด้วย ... สุดท้ายครูเพื่อศิษย์ที่อยู่กับเด็กจริงๆ ก็จะถูกทอดทิ้งอีกต่อไป ... ผมขอแยกไปเขียนข้อเสนอในความเห็นของ "ฅนค้นครู" ไว้ในบันทึกหน้าจะดีกว่าครับ.....

หมายเลขบันทึก: 652763เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2018 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2018 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คน ค้น ครู

ผมชอบคำนี้ครับ ;)…

อย่าไปยึดติดกับ ความหมายมากนักเลยครับอาจารย์ เพราะทาง ก.ค.ศ. เองก็บอก PLC มีหลายระดับ ระดับครูกลุ่มสาระ ระดับกลุ่มต่างสาระ ระดับโรงเรียน ….. ผมมาทำงานนี้ด้วยใจครับ และทำมานานแล้ว และตั้งใจจะทำไปเรื่อยๆ

ผมส่งอีเมล์ถึง อ.ยุภาพักตร์ ดังนี้ครับ เรียน อาจารย์ครับ

ขอบคุณที่เข้าไปให้ความเห็นครับ และขอบคุณที่ไปอ่านบันทึกของผมครับ

ผมตีความ ความเห็นของท่านที่ว่า “PLC เวทีในห้องเรียน” ของท่านว่า คอมเมนต์ไปที่ ความหมายของ PLC จึง อยากจะตอบ เพื่อไม่ใช่จิตใจคลายจากตรงนี้ไปแล้วนัก

  • ผมเห็นด้วยว่า PLC เป็นเวทีในห้องเรียน แต่ที่ไหนๆ ก็คงจะเป็น “ห้องเรียน” ได้ สำหรับความหมายนี้
  • PLC ทั่วไปที่เขาทำ เท่าที่ผมศึกษา เขาทำกันหลายระดับมาก ตั้งแต่ ห้องเรียน เช่น Lesson Study PLC ในกลุ่มสาระ ต่างกลุ่มสาระ ระหว่างครูในสังกัดเดียวกัน ระหว่างโรงเรียน ระหว่างเขตพื้นที่ … ในทาง KM ที่ผมชอบ PLC คือ CoP (Cooperative of Practice)

ดังนั้น หากท่านหมายความอย่างที่ผมเข้าใจ ก็อยากจะบอกว่า อย่าไปสนใจหรือตีกรอบความหมายของ PLC มากนักเลยครับ ให้คนที่มีใจ อยากทำ อยากมีส่วนร่วม เข้ามามีการส่วนร่วมกับทางการศึกษามากๆ จะดีกว่า เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน

ของแสดงความนับถืออ.ต๋อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท