มาละแม นอนละเมอ ถึงละแม


เที่ยวหลาดใต้เคี่ยม

“ชุมพรประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”   เป็นคำขวัญประจำจังหวัดชุมพร  คำว่า “ประตูภาคใต้” หมายความว่าจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดแรกที่ก้าวสู่ภาคใต้ ตั้งอยู่บริเวณด้ามขวานส่วนบนในแผนที่ประเทศไทย  แต่ะเอ๊ะ!  ที่ถูกนี่ชาวบ้านเขาเรียกด้ามขวานด้านบนหรือคอขวานก็ไม่รู้สินะ  เป็นอันว่าเรามองไปที่จุดเดียวกันล่ะกัน 

             วันนี้จะพาทุกคนไปเที่ยวอำเภอสุดท้ายของจังหวัดชุมพรที่มีเขตแดนติดจังหวัดสุราษฎร์ธานี

            นั่นก็คือ อำเภอละแม    ที่นี่มีตลาดท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการตลาดที่ใช้ได้ทีเดียว  เป็นตลาดรณรงค์ไม่ใช้พลาสติก และ

กล่องโฟมใส่อาหาร  เน้นวัสดุอุปกรณ์มาจากธรรมชาติ  พ่อค้าแม่ค้ายิ้มแย้มแจ่มใส  วันนี้แม้จะมีฝนตกโปรยปรายลงมาก็ยังมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเยอะพอสมควร  ตลาดนี้มีชื่อว่า “ตลาดใต้เคี่ยม”


...ซุ้มทางเข้าตลาด...

 

                        สงสัยกันแล้วใช่มั้ยล่ะ!!... ว่าทำไมเรียกตลาดใต้เคี่ยม ?

                        "ตลาดใต้เคี่ยม"   ตั้งอยู่  หมู่ที่ 1  ตำบลละแม  อำเภอละแม  จังหวัดชุมพร   เป็นตลาดประชารัฐ  ชาวบ้านเลือกที่จะจัดการตลาดแบบบ้าน ๆ กันที่นี่  

                        ที่เรียกว่าตลาดใต้เคี่ยมสาเหตุ เพราะตลาดอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ที่มีชื่อว่าต้นเคี่ยม  (เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง  จัดได้ว่าเป็นไม้เนื้อดีที่นิยมมาใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างชนิดหนึ่ง)  เป็นไง ! เหตุผลพอฟังได้มั้ยค่ะ   

                       พ่อค้าแม่ค้าเน้นการขายกันแบบง่าย ๆ มีทั้งตลาดขายของสด และซุ้มขายของกินของใช้   อ้อ !  ที่นี่มีของทะเลสด ๆ มาวางขายให้เลือกซื้อกันพอสมควรทีเดียว เพราะอยู่ใกล้ทะเล  มีผักพื้นบ้านนานาชนิดมาวางขาย  ไม่ว่าจะเป็น  สะตอ หน่อเหรียง  ลูกเนียง   ถ้าใครเคยกินหรือรู้จักผักจำพวกนี้จะรู้ดีว่ากินเข้าไปแล้วกลิ่นจะ “แร๊งส์...”  ขนาดไหน  ตามมาด้วยผักตามฤดูกาลเหมือนชาวบ้านเขานั่นแหล่ะค่ะ    ถัดมาเป็นร้านขายเครื่องจักสานประเภทไม้ไผ่   พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และพันธุ์ไม้เศรษฐกิจต่าง ๆ  เช่น ทุเรียน ลองกอง  รวมทั้งเข้าของมากมายที่แล้วแต่ใครจะสรรหามาขายกัน   ร้านค้าแต่ละร้านจัดแบบสวยเก๋  สไตล์ใคร สไตล์มัน  แต่มีการบริหารจัดการร้านอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย   รูปแบบร้านเป็นแบบเดียวกันคือทำจากวัสดุจากธรรมชาติ  ประเภท ไม้ไผ่   เน้นการขายตามธรรมชาติ  ภาชนะที่ใช้ใส่อาหารก็มาจากธรรมชาติ  เช่น  กาบหมาก  กาบกล้วย  กระทงใบตอง   กระบอกไม้ไผ่   กะลามะพร้าว  แม้แต่เปลือกด้านนอกของหัวปลีที่เป็นสีชมพู  ที่ใครๆ ต่างก็ไม่เห็นความสำคัญทิ้ง ๆ กันไป  แต่ชาวบ้านที่นี่นำมาใช้ใส่อาหารขายกันไม่ต้องไปซื้อกล่องโฟม ประหยัดลดขยะ ใช้ชีวิตพอเพียงตามรอยพ่อ  อยู่อย่างพอเพียง  

                       

บริเวณทางเข้าตลาด Welcome to หลาดใต้เคี่ยม


                   ตลาดใต้เคี่ยม มีการดำเนินงานตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ที่ชาวบ้านเข้าใจ และเห็นความสำคัญ และนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม  อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ  ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์  ชุมชนแข็งแรง  มีความรักใคร่กลมเกลียว  มีความรู้รักสามัคคีในชุมชน  มันช่างวิเศษจริง ๆ  

....ป้ายบอกทาง.....


                  เมื่อเข้าไปบริเวณตลาด  จะมีป้ายบอกทางน่ารัก ๆ  เป็นภาษาใต้   มาเรียนรู้ภาษาใต้ง่าย ๆ จากป้ายบอกทางกันค่ะ  คำว่า “หลาด”   มาจาก  ตลาด    “ของเล”   ก็คือ อาหารทะเลนั่นเองค่ะ   คนใต้เป็นคนที่พูดสำเนียงสั้น  เร็ว  ค่ะ  คำบางคำก็รวบคำจนสั้นเช่นตลาด  พูดว่า หลาด , ทะเล  พูดว่า เล   , หนังตะลุง  พูดว่า  หนังลุง   ถือเป็นเอกลักษณ์ทางด้านภาษาอย่างหนึ่ง

                   

....แม้ฝนจะตก เมื่อตลาดเปิดคนยังเดินชมตลาดกัน..เฉย... และที่เห็นต้นไม้ด้านหลังเยอะ ๆ นั่นแหล่ะ คือ ต้นเคี่ยมค่ะ


"ปูใต้เคี่ยม" ..แฮ่ ๆ แอบตั้งชื่อเอง...  เป็นซิกเนเจอร์ของตลาดนี้

 เรามาลองดูร้านค้าต่าง ๆ  ในตลาดกันค่ะ  ว่าขายอะไรกันบ้าง

...ซุ้มกาแฟใต้เคี่ยม

..ทุกคนผ่านมาก็อดไม่ได้ที่จะเก็บภาพ ณ  จุดนี้กันทุกคน…

....ร้านขายน้ำหวานหลากหลายชนิด.... 

แม่ค้ามีไอเดีย เก๋ไก๋ใช้กระบอกไม้ไผ่มาบรรจุน้ำให้ลูกค้าแทนแก้วพลาสติก หรือถุงพลาสติก  มีช่วงโปร ใครถือกระบอกมาเป็นครั้งที่สองแม่ค้าตักให้ฟรี อีกครั้งหนึ่ง  (เขาบอกมา) อิอิ

.....ร้านขนมลูกชุบ....

แม้จะเป็นลูกชุบเหมือนในท้องตลาดทั่วไป แต่สะดุดตาตรงใช้กาบหมากมาทำเป็นกระเช้า

หรือภาชนะรูปเรือ  น่ารักเชียวค่ะ

....ส่วนเจ้านี่ หน้าตาแปลก ๆ คือ เอากะปิมาทาในกะลามะพร้าวแล้วนำไปย่างบนไฟ เรียกว่า "กะปิย่างในกะลามะพร้าว"  ตอนย่างกลิ่นกะปิหอมไปไกลทีเดียว. ชวนหิวข้าวเลยล่ะ วิธีกินก็ เอามาคลุกข้าวสวยร้อน ๆ สูตรนี้คุณยายกระซิบฝากมาว่า  อร่อยเวอร์.... หรือ "หรอยแรงค่ะ"


....เมนูนี้ คือ กล้วยเล็บมือนาง ชุบแป้งทอด  อร่อย...ย...ย…มาก เช่นกัน...

กล้วยเล็บมือนาง เป็นกล้วยประจำจังหวัดชุมพร รสชาดหอมหวาน 


.ดอกดาหลา.

ก่อนจากกันไปขอมอบดอกดาหลาให้ทุกคน 

ดอกดาหลาเป็นดอกไม้ที่ทั้งสวย และกินได้  คนปักษ์ใต้ใช้เป็นส่วนผสมในข้าวยำค่ะ...

อึม !!  ไปละแมครั้งนี้  มีความประทับใจมากที่เดียวเชียว  และเข้าใจคำว่า “ไปละแม นอนละเมอ ถึงละแม”  แล้วว่าเป็นอย่างไร

 

สวัสดีค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 651044เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2018 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2018 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้ำลายสอ..อยากตามไปลิ้มรส….

อยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกล สักวันคงได้ไปเยือนจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท