คำครุ ลหุ


เคยสงสัยกันบ้างไหมค่ะ ว่าคำบางคำในภาษาไทยทำไมเวลาออกเสียงจะมีความหนักแน่นบ้าง แผ่วเบาบ้าง มีเสียงขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้ภาษาไทยเรามีเสียงที่ไพเราะและมีเสน่ห์มากเลย ครูสรเรียกเสียงนี้ว่าเป็นเสียงคลื่นค่ะ

วันนี้เราจะมารู้จักคำ ครุ คำลหุ กันค่ะ ชื่อแปลก ๆ ใช่ไหมค่ะ คำทั้งสองประเภทนี้เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยกันมานาน ในบทประพันธ์ประเภทฉันท์ ร่าย โคลง โดยเฉพาะในบทประพันธ์ประเภทฉันท์ ที่มีข้อบังคับให้เป็นคำครุ และคำลหุ ตามฉันทลักษณ์กันเลยทีเดียว

คำครุ คำลหุ คืออะไร

คำครุ อ่านว่า คะ-รุ เป็นภาษาบาลี แปลว่า หนัก ในความหมายนั้นจะหมายถึงการออกเสียงพยางค์ที่มีเสียงหนัก มีสัญลักษณ์ ั

คำลหุ อ่านว่า ละ-หุ เป็นภาษาบาลี แปลว่า เบา ในความหมายนั้นจะหมายถึงการออกเสียงพยางค์ที่มีเสียงเบา มีสัญลักษณ์ ุ

ข้อแตกต่างของคำครุ คำลหุ

ครูสรคิดว่า คำครุและคำลหุ มีความแตกต่างกัน ซี่งดูได้ไม่ยากเลย และวันนี้ครูสรได้นำข้อแตกต่างของคำทั้งสองประเภทมาให้ดูกัน ดังนี้

คำครุ

เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก.กา

มีเสียงหนัก

เป็นคำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สระเกิน”

มีตัวสะกดเป็นพยางค์ปิดในมาตราทั้ง 8 แม่

มีตัวสะกด ม ย ว เป็นตัวสะกดแฝง

มีสัญลักษณ์ ั

เป็นคำบังคับที่นำไปแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ตามฉันทลักษณ์

คำลหุ

ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก.กา

มีเสียงเบา

ไม่มีตัวสะกด

พยางค์ที่มีพยัญชนะตัวโดด เช่น ณ บ ธ ก็ บ่ ฤ

มีสัญลักษณ์ ุ

เป็นคำบังคับที่นำไปแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ตามฉันทลักษณ์

ตัวอย่างคำครุ

ใน นา มี ปู ตา ดำ วัว ลาก ไถ พุทธ สันดาน มูล หมองมัว ยั่ว เอว เจ็บ โสภา ศาลา วัด แม่ ข้าวสาร ดวงใจ ไฉไล เขลา เนื้อ เต้น ทั่ว ร่าง สั่น ไหว ช่อฟ้า หัว อีกา สาม ฤาษี คาวี วับวาบ ญาณ เรา ครอง แผ่นดิน โดย ธรรม พรรณ ช่อฟ้า เย้ยหยัน

ตัวอย่างคำลหุ

มติ กะปิ กะทิ กะทะ ฐิติ อุระ อมตะ พระ มิ ก็ อุระ จะ เกะกะ ทะลุ คช รวิ วจนะ ศศิ เมรุ พิศ และ สุ จิ ปุ ลิ สติ ระยะ เยาะ บ่ ณ ธุระ สติ

ตัวอย่างคำประพันธ์ที่มีข้อบังคับของคำครุ ลหุ

มาณวกฉันท์ 8

ดูปฏิภาณ ญาณอุระเรา

ครองสติเอา เขลาฤมิมี

แผนภูมิ

ัุุั ัุุั

ัุุั ัุุั

บทประพันธ์มาณวกฉันท์ 8 ทั้ง 2 บาท ข้างต้นนี้ ครูสรคิดขึ้นมาเพียงต้องการยกตัวอย่างคำที่เป็นคำครุ ลหุ เท่านั้นนะคะ จึงไม่ได้แต่งให้ครบทั้งบท อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดและนำคำครุ ลหุ มาต่อบทประพันธ์ของครูสรให้ครบทั้งบทกันหน่อยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 650037เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2018 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2018 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท