‘ขอมสบาดโขลญลำพง โขลนทวาร โขงประตู’ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)


 

 

(ภาพปรับปรุงจาก สุจิตต์ วงษ์เทศน์)
 

 

‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ ชื่ออันเป็นปริศนาผู้ปรากฏนามตั้งแต่ยุคต้นชิงเมืองสุกโขไท กับพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ผู้ถูกเอ่ยอ้างไว้ในจารึกหลักที่ 2 จารึกวัดศรีชุม ซึ่งนักวิชาการด้านจารึกกำหนดอายุราว พ.ศ. 1894-1898 (ตรงใจ หุตางกูร, พ.ศ. 2558) ไล่เลี่ยกับการสถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาฯ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกตีความควานหาแหล่งกำเนิดภูมิหลังมาอย่างนับเนื่อง ดังเช่น

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญเรื่องจารึกในแถบภาคพื้นอุษาคเนย์ ผู้เดินทางเข้ามารับตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ ตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ให้ความหมายของ ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ ว่าเป็นขุนนางขอมผู้ควบคุมเมืองสุกโขไท แล้วภายหลังจึงถูกพวกไทคือ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมืองเข้าแย่งชิง ซึ่งกลายเป็นเค้าโครงต้นเรื่องของราชวงศ์พระร่วงแห่งรัฐสุกโขไทเรื่อยมา

อันเป็นเรื่องที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เขียนวิพากษ์แนวคิดของ ยอร์ช เซเดส์ ในหนังสือเรื่อง ‘ฝรั่งเป็นเหตุ’ (พ.ศ. 2546) ว่าแอบอิงกับลัทธิล่าอาณานิคมค่อนข้างมาก โดยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับขุนนางชาวขอมว่าเป็นผู้ครอบครองเมืองมาก่อน และมองข้ามเนื้อหาสำคัญของจารึกในส่วนที่ว่า พ่อขุนศรีนาวนำถุมนั้นครองเมืองสุกโขไทอยู่เดิม ก่อนถูก ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ เข้าควบคุมเมื่อสิ้นพ่อขุนศรีนาวนำถุม

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายถึงชื่อนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง ‘ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม’ (พ.ศ. 2547) ความว่า:

“ขอมสบาดโขลญลำพงนี้ เรื่องในจารึกบอกชัดว่าเป็นผู้รักษาเมืองสุโขทัย และมีคำนำหน้าบอกไว้ว่าเป็น “ขอม” ขอมผู้นี้จะเป็นพวกไหน? คำตอบพอจะหาได้จากคำว่า โขลญลำพง ซึ่งเป็นชื่อยศและตำแหน่งราชการของเขมรโบราณสมัยนครธม ในบรรดาศิลาจารึกที่พบในประเทศเขมรนับร้อยๆ แห่ง เราได้พบขุนนางเขมรประเภท โขลญ เสมอ ข้าพเจ้ายังไม่ได้ศึกษาละเอียดพอที่จะเทียบ โขลญ กับตำแหน่งราชการของไทยได้ แต่พอจะรวบรวมมาเสนอให้ศึกษากันได้บ้าง โขลญ มีอยู่หลายแผนกงาน ในแต่ละเมืองจะมีหลายคนเป็นต้นว่า

โขลญพล: ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายควบคุมกำลังไพร่

โขลญพิษัย: ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายมหาดไทย ทำนองขุนเมือง คำว่า พิษัย เป็นภาษาสันสกฤตซึ่งเขมรโบราณยืมมาใช้หมายถึงตัวเมือง

โขลญคลัง: คลังในภาษาเขมรโบราณหมายถึงที่เก็บทรัพย์ ทำนองจะเป็นอย่างไทยว่า ขุนคลัง

โขลญมุข: ยังไม่ทราบหน้าที่แน่ชัด (ในกฎหมายไทยสมัยต้นกรุงศรีอยุธยามีกล่าวถึงนักมุข หรือ มุขลูกขุน มุขมนตรี)

โขลญพระลำพัง: ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายรักษาวังหรือบริเวณที่ว่าราชการ (ขอให้สังเกตว่าในราชการกระลาโหมและมหาดไทยของเราสมัยก่อน มีกรมพระลำพัง) ทำนองจะเทียบกับขุนวัง หรืออะไรทำนองนั้น

นอกจากนั้น ยังมีโขลญตำรวจพล โขลญตำรวจพิษัย ฯลฯ ยศของโขลญยังแบ่งเป็น ๔ ขั้น คือ เอก โท ตรี จัตวารี

คราวนี้ย้อนมาพูดถึง โขลญลำพง ผู้รักษาเมืองสุโขทัย เข้าใจว่าเป็นตำแหน่ง โขลญพระลำพัง ของเขมรโบราณนั่นเอง ถ้าเขียนเสียว่า โขลญลำพัง ก็จะมองเห็นชัดขึ้นว่าทิ้งคำ พระ ไปคำเดียว”            

อาจารย์ธิดา สาระยา อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์สุโขทัย: พลังคน อำนาจผี บารมีพระ’ (พ.ศ. 2544) ความว่า:

“ขอมสบาด หมายถึงเขมรดง และ โขลญลำพง หมายถึงคำสำหรับเรียกคนทำงานประจำเทวสถานหรือวัดวาอาราม  สำหรับบริบทนี้ ขอมสบาดโขลญลำพง น่าจะหมายถึงหัวหน้าของกลุ่มเขมรป่าดงที่มีคนอุทิศกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ตามศาสนสถาน หรืออีกความหมายหนึ่งอาจหมายถึง พ่อค้าในสังกัดของรัฐขอมที่คอยเก็บส่วยในที่ห่างไกลจากเมืองหลวง”

อาจารย์วินัย  พงศ์ศรีเพียร บรรยายเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์และหลักฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย: จารึกวัดศรีชุม’ (พ.ศ. 2554) และได้หมายเหตุไว้ว่า:

“ขอมสบาด เป็นชื่อคน โขลญลำพง เป็นตำแหน่งเจ้าเมือง (โขลญ เป็นคำเขมรโบราณ แปลว่า ขุน ส่วน ลำพง มาจาก ลำพัง แปลว่า เขต มณฑล)”  

และ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนในบทความเรื่อง ‘ขอมละโว้ (จากเมืองลพบุรี) ยกกองทัพ ‘ดำดิน’ ยึดสุโขทัย’ (พ.ศ. 2559) เช่นกันว่า:

“การที่กรุงสุโขทัยหันไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายสุพรรณภูมินั้น พ่อขุนบางกลางหาวน่าจะมีบทบาทสำคัญ ดังจะเห็นความเกี่ยวดองของราชวงศ์พ่อขุนบางกลางหาวกับราชวงศ์สุพรรณภูมิในสมัยหลังๆ จึงเป็นเหตุให้ละโว้ (ลพบุรี) ต้องส่งขอมสบาดโขลญลำพงขึ้นไปปราบปรามแล้วยึดกรุงสุโขทัย อาจถึงขนาดทำให้พ่อขุนศรีนาวนำถุมต้องตายในคราวนี้ ดังมีจดไว้ในจารึกวัดศรีชุม”

และในอีกท่อนที่ว่า: 

“ขอมสบาดโขลญลำพง ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ก็เป็นวงศ์เครือญาติของกษัตริย์กรุงสุโขทัยศรีสัชนาลัยนั่นแหละ คำว่า “ขอม” ยังเรียกกันอีกหลายอย่าง เช่น “กรอม” หรือ “กล๋อม” หรือ “กะหลอม” หรือ “ก๋าหลอม” และไม่ใช่ชื่อเรียกตัวเอง แต่เป็นชื่อที่คนอื่นใช้เรียก โดยมีความหมายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างๆ เช่น หมายถึงพวกที่อยู่ทางใต้”

ในมุมมองของผู้เขียน คำที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือคำว่า ‘โขลญ’ การสืบสาวลำดับความเป็นมาของคำนี้บางทีอาจช่วยชี้ได้ว่าใครเป็นใคร โดยความหมายตามคำอธิบายของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ข้างต้นคือ ตำแหน่งการปกครองของเขมรระดับหัวหน้า เมื่อรวมเข้ากับคำว่า ‘ลำพง’ ที่แปลว่าขอบเขต จึงขยายเป็นหัวหน้าผู้ปกป้องคุ้มครองอาณาเขตของเมือง ซึ่งหากมองในเชิงการศึกสงครามก็อาจขยายความได้ว่าคือ ผู้ที่ต้องทำหน้าที่รักษาประตูและขอบเขตกำแพงเมืองไว้ให้มั่น หากเวลาใดที่ข้าศึกสามารถตีฝ่าประตูและกำแพงเข้าไปในเมืองได้ ก็หมายความว่าเมืองนั้นเป็นอันแตกสลายพ่ายแพ้ ดังคำปริวรรตในจารึกวัดศรีชุมบรรทัดที่ 29, 30 และ 31 ที่ว่า:

“พ่อขุนผาเมือง(มารบ)ขอมสบาดโขลญลำพงห(าย) พาย พง oพ่อขุนผาเมืองจึงยังเมืองสุโขทัยเข้าได้ oเวนเมืองแก่พ่อขุนบางกลางหาว oพ่อขุนบางกลางหาวมิสู้เข้าเพื่อเกรงแก่พระสหาย oพ่อขุนผาเมืองจึงเอาพลออก พ่อขุนกลางหาวจึงเข้าเมือง oพ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย”

เพราะแนวทางหนึ่งเข้าใจว่า ‘โขลญ’ คำเก่าจากต้นทางเขมรในฐานะของการเป็นผู้ควบคุมรักษา ได้ถูกเคลื่อนย้ายท้ายอักษรมาเป็นคำว่า ‘โขลน’ ในชั้นต่อมา เช่นคำให้การของขุนโขลนเรื่อง ‘ตำนานและประเพณีของพระพุทธบาทที่ดำเนินมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาฯ’ คัดจากประชุมพงศาวดารภาคที่ 7 ดังนี้:  

“วัน ๔ ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรงสัมฤทธิศก ขุนสัจพันธคีรี ขุนอินทรพิทักษ์ ขุนธรรมการ ประขาวเพ่ง นั่งพร้อมกันบนที่ทักษิณโรงประโคม จึงบอก (ฉบับลบ)๑ ได้ ทำราชการมาแต่ครั้งบรมโกษฐ มาจนถึงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงเอาตำรารายจดหมาย อย่างธรรมเนียมท้องที่อำเภอ๒ พระพุทธบาทแต่ก่อนนั้นมาส่งให้ข้าพเจ้า

เปนอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ขุนหมื่นกรมการข้าพระพุทธบาทนั้น ขุนยกรบัตรข้าหลวงกำกับท่านตั้งมาแต่กรุงเทพมหานคร

๑ ความตรงที่ฉบับลบตอนนี้ สันนิฐานว่า คงเปนชื่อกรมการ เก่าซึ่งเคยเปนผู้รั้งตำแหน่งขุนโขลน ให้เอาตำราเรื่องพระพุทธบาทมาให้แก่ขุนสัจพันธคิรีที่เปนตำแหน่งขึ้นใหม่ ๒ ที่เรียกว่าอำเภอตรงนี้ ทำให้เข้าใจว่าครั้งกรุงเก่าการปกครองเปนอำเภอ ตำแหน่งนายอำเภอเรียกว่า ขุนโขลน ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทรยกขึ้นเปนเมืองจัตวา กลับลดลงเปนอำเภอเมื่อจัดตั้งมณฑลในรัชกาลที่ ๕ เดี๋ยวนี้ที่พระพุทธบาทเปน แต่กิ่งอำเภอ เพราะตัดที่ตอนเมืองเก่าตั้งเปนอำเภอหนองโดน”

เมื่อใช้ควบคู่กับคำว่า ‘ทวาร’ กลายเป็นคำว่า ‘โขลนทวาร’ อันเป็นพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งในการออกศึกสงครามมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดย ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน ได้รวบรวมความหมายของ ‘โขลนทวาร’ ไว้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 ความว่า:

“สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ อักษร ข-จ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวไว้ว่า โขลนทวาร หมายถึง ประตูป่า เป็นประตูที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับใช้ในพิธีกรรมที่เป็นสิริมงคลและขจัดความอัปมงคลแก่ผู้ที่เดินผ่าน พิธีนี้ เรียกว่า พิธีโขลนทวาร นิยมทำทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ การประกอบพิธีโขลนทวารที่เป็นพิธีหลวงนั้น จัดขึ้นในโอกาสที่สำคัญ ๓ วาระ คือ (๑) ในการยกทัพออกจากเมืองเพื่อไปทำศึกสงคราม ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจในการรบเอาชนะข้าศึกศัตรู (๒) ในการรับกองทัพที่ได้ชัยชนะกลับมาเพื่อขจัดอุปัทวันตราย ขับเสนียดจัญไร วิญญาณข้าศึกไม่ให้ติดตามตัวทหาร เครื่องศัสตราวุธ ช้างม้าเข้ามาในเมือง และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทหารที่กลับมา (๓) ในการรับช้างสำคัญเข้าเมือง เพื่อสมโภชช้างเผือกตลอดการเดินทาง ก่อนจะประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวางในเมืองหลวง

พิธีตั้งโขลนทวารในการยกทัพออกจากเมืองต้องประกอบร่วมกับพิธีตัดไม้ข่มนาม การประกอบพิธีต้องมีสถานที่สำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และสวดชยันโต ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา บาตรน้ำพระพุทธมนต์ จับสายสิญจน์วงรอบโขลนทวารพอให้พระสงฆ์ถือสวดได้ และยังมีพราหมณ์หมอเฒ่า ๒ คน พราหมณ์พิธี ๒ คน ทำหน้าที่ประพรมน้ำเทพมนตร์และเป่าสังข์ มีเกยหอ ๒ เกยสำหรับพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และพราหมณ์ประพรมน้ำเทพมนตร์เมื่อเวลาทหารช้างม้าผ่านโขลนทวาร ส่วนการตัดไม้ข่มนามต้องเอาต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อข้าศึกมาสมมติว่าเป็นตัวข้าศึก เอาพระแสงอาชญาสิทธิ์ฟันต้นไม้นั้นแล้วให้ทหารเดินข้ามไปเป็นการข่มนามข้าศึก

ส่วนพิธีราษฎร์ มีการสร้างประตูป่าสำหรับชักศพลอดผ่านจากบ้านไปยังวัด เพื่อทำพิธีเผาหรือฝังหรือเก็บไว้รอทำพิธี ในการชักศพไปวัดจะตั้งประตูป่าตรงประตูที่จะนำศพออก โดยนำกิ่งไม้ ๒ กิ่งมาปักตั้งปลายขึ้น จับเป็นวงโค้งผูกประกบกัน ขนาดกว้างและสูงพอที่จะหามหีบศพลอดผ่านได้ เวลาหามหีบศพลอดประตูป่าต้องเอาด้านปลายเท้าศพออกก่อน เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายมองเห็นบ้าน ทำให้เกิดอาลัยหวนกลับบ้าน เมื่อหามหีบศพลอดผ่านประตูป่าแล้วต้องรื้อประตูป่าทิ้งทันที เพื่อทำลายเส้นทางไม่ให้วิญญาณจำทางเข้าบ้านได้”     

ทั้งนี้ตำราพิชัยสงครามของพวกไทยลุ่มเจ้าพระยา ได้ถูกรวบรวมไว้ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาฯ เป็นอย่างน้อย ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ จารไว้ว่า: “ศักราช ๘๘๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๖๑) ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างพระศรีสรรเพชญ์ เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิชัยสงคราม และแรก (สารบาญ) ชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง” และ ‘โขลนทวาร’ ในพระราชพิธีเบิกฤกษ์ตามตำราพิชัยสงครามแต่โบราณ ยังใช้ต่อมาจนถึงครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นในคราวที่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงยาตราทัพไปตั้งรับทัพพม่าที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2363 คัดจากประวัติวัดราชโอรสาราม (วัดจอมทอง) ดังนี้:

“เส้นทางยาตราทัพในวันแรกได้ผ่านคลองบางกอกใหญ่เข้าคลองด่าน เมื่อเสด็จถึงวัดจอมทอง ซึ่งเป็นวัดโบราณ ก็เสด็จหยุดประทับแรมที่หน้าวัด และได้ทรงกระทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ณ ที่วัดนี้ ดังมีความในหนังสือนิราศตามเสด็จทัพลำแม่น้ำน้อยที่พระยาตรัง กวีเอกผู้โดยเสด็จราชการทัพครั้งนี้ บรรยายถึง การกระทำพิธีนี้ไว้ว่า

“อาดาลอาหุดิห้อม โหมสนาน ถึกพฤฒิพราหมณ์ โสรจเกล้า ชีพ่อเบิกโขลนทวาร ทวีเทวศ วายแล ลารูปพระเจ้าปั้น แปดมือ””

คำนี้ยังถูกนำมาใช้กับการเรียกร่องน้ำสำคัญ สำหรับควบคุมการเดินเรือเข้า-ออกปากน้ำเจ้าพระยา เช่นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่ อาจารย์โดม ไกรปกรณ์ เขียนบทความเรื่อง ‘วิวัฒนาการของเมืองสมุทรปราการ: จากเมืองป้อมปราการสู่เมือง “กึ่งสมัยใหม่”’ (พ.ศ. 2558) ความว่า:

“พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมป้อมของเดิมและสร้างป้อมใหม่ขึ้นในเมืองสมุทรปราการอีกหลายแห่ง ได้แก่ ป้อมปีกกา (สร้างต่อจากป้อมประโคนชัย) ป้อมตรีเพ็ชร (ตั้งอยู่บริเวณบางนางเกรง) ป้อมคงกระพัน (ตั้งอยู่บริเวณบางปลากด) ป้อมเสือซ่อนเล็บ (ตั้งอยู่ที่ตำบลมหาวงศ์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ) ตลอดจนโปรดเกล้าฯ ให้นำหินก้อนใหญ่ๆ มาถมปิดปากอ่าวที่ตำบลแหลมฟ้าผ่าไว้ 5 กอง ทำเป็นช่องๆ เรียกว่า “ร่องน้ำโขลนทวาร” สำหรับบังคับให้เรือขนาดใหญ่ต้องเดินเรือตามร่องน้ำที่สยามกำหนด”

และยังพบ ‘โขลนทวาร’ แบบซุ้มประตูจีนในพระอารามหลวงสองแห่งของกรุงเทพมหานครฯ คือ วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ และวัดกัลยาณมิตร คัดจากเพจ mof e-magazine ได้ความว่า:

“ซุ้มประตูศิลาที่เรียกว่า “ซุ้มโขลนทวาร” ด้านหน้าพระวิหารหลวง ซุ้มประตูศิลานี้มีการสลักลวดลายมงคลจีนทั้งรูปมังกร รูปกิเลน และ รูปฮกลกซิ่ว เปรียบเสมือนเมื่อพุทธศาสนิกชนเดินผ่านซุ้มแห่งความเป็นมงคลนี้ จะได้รับแต่สิ่งที่เป็นมงคลทั้งเมื่อเข้าและออกจากพระวิหารหลวง อนึ่งในประเทศไทยมีเพียง ๒ พระอารามเท่านั้นที่มีซุ้มโขลนทวารภายในวัด คือ ซุ้มโขลนทวารหน้าพระวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และซุ้มโขลนทวารหน้าพระวิหารหลวงวัดกัลยาณมิตร ส่วนกระถางธูปทองเหลืองขนาดใหญ่ เจ้าพระยารัตนบดินทร์เป็นผู้สร้างถวาย”

นอกจากนี้ คำว่า ‘โขลน’ เฉยๆ ยังถูกใช้ในการเรียกตำแหน่ง ‘กรมโขลน’ ซึ่งเป็นผู้รักษาประตูและเขตพระราชฐานชั้นในโดยเฉพาะ สืบต่อลงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาฯ และมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ทำหน้าที่ในกรมโขลน เช่นในบทวิจารณ์หนังสือเรื่อง ‘ราชสำนักฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์’ โดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต คัดส่วนที่เกี่ยวข้องว่า:

“กลุ่มที่สองกลุ่มพนักงานฝ่ายในซึ่งแบ่งเป็นแผนก มีท้าววรจันทร์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และยังมีผู้ช่วยอีก 10 ตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น ท้าวมสมศักดิ์ เป็นรองจากท้าววรจันทร์ ท้าวศรีสัจจาดูแลกรมโขลน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตพระราชฐานชั้นในทั้งหมด และดูแลความสะอาดในพื้นที่ส่วนกลางของฝ่ายใน”

ดังนั้นเมื่อสืบสาวมาถึงบรรทัดนี้ จึงอาจรวมคำออกความหมายพื้นฐานคำว่า ‘โขลญ’ และ ‘โขลน’ ได้ว่าคือ ‘ผู้ควบคุมใหญ่ ทั้งช่องทางประตูหลักและขอบเขตอาณาบริเวณ’ เป็นคำและความหมายที่รับสืบทอดมาจากวัฒนธรรมเขมรโบราณ จาก ‘โขลญ’ ในฐานะผู้ควบคุมรักษาประตูและเมืองสุกโขไท ขยับลงมาเป็น ‘โขลน’ ในฐานะนายของอำเภอในสมัยกรุงศรีอยุธยาฯ เป็น ‘โขลนทวาร’ ในฐานะประตูใหญ่ไว้รอดเบิกทางเอาชัยยามออกศึก ในฐานะประตูกางกั้นมิติคนเป็นและคนตาย ในฐานะร่องน้ำหลักที่อยู่ภายใต้การควบคุม และในฐานะซุ้มประตูชัยมงคล จนถึงการเป็น ‘โขลน’ ในฐานะเพศหญิงผู้รักษาประตูและปกป้องเขตพระราชฐานชั้นในของเวียงวัง

สิ่งที่น่าสนใจถัดไปพบว่าในภาษาเขมรเองมีคำว่า ‘โขฺลงทฺวาร’ แปลว่าประตูใหญ่มีเสาปักสองข้างและมีไม้วางขวางข้างบน อ้างอิงจากเรื่อง ‘คำยืมที่มาจากภาษาเขมร’ โดย อาจารย์วิไลศักดิ์ กิ่งคำ ซึ่งถือว่าเป็นคำที่สามารถเทียบเคียงได้เป็นอย่างดีกับ ‘โขลนทวาร’ ทั้งในแง่ของรูปคำและความหมาย (ยกเว้นตัวสะกดท้ายคำ ‘โขฺลง’ และ ‘โขลน’ ที่แตกต่างกัน) จนอาจตีความได้ว่า ‘โขฺลง’ ควรมีความสัมพันธ์โยงใยกับ ‘โขลน’ และ ‘โขลญ’ มาแต่ครั้งโบราณ     

ในบทความวิชาการเรื่อง ‘กัมรเตง อัญ : ศึกษาในประเด็นที่มาและรูปแบบการใช้คำ’ โดย อาจารย์วิมล เขตตะ และคณะ (พ.ศ. 2560) ได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปรเสียงลงท้ายระหว่าง ง.งู และ ญ.หญิง ในคำว่า ‘เตง’ คัดมาส่วนหนึ่งดังนี้:

“รูปคำ “กมฺรเตงฺ อญฺ” มีปรากฏในจารึกในวัฒนธรรมเขมรโบราณหลายแห่งและต่างยุคต่างสมัยกันอีกทั้งยังเขียนต่างกันไปหลายรูปแบบคือ “กมฺรตางฺ อญฺ” (จารึก K.149, K.600, K54, K44, K137, K.561, จารึกวัดทองทั่ว พ.ศ. 1158-1178) “กมฺรตาญฺ อญฺ” (จารึกวัดทองทั่ว, จารึกภูมิเจร็ย พุทธศตวรรษที่ 12, จารึกภูมิกอมเรียง พ.ศ. 1227) “กํมฺรตางฺ อญฺ” (จารึก K.582, จารึกหินขอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พุทธศตวรรษที่ 13-14) “กมฺรเตงฺ อญฺ” (จารึกเนินสระบัว พ.ศ. 1304, จารึกบ่ออีกา พ.ศ. 1411)   “กํมฺรเตงฺ อญฺ” และ “กํมฺรเตญฺ อญฺ” (จารึกสด๊กก๊อกธม 1 พ.ศ. 1480) 

รูปคำที่ปรากฏในจารึกเหล่านี้แม้มีรูปคำต่างกันไปบ้างแต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะการใช้แล้ว เห็นว่าทั้งหมดใช้เป็นคำประกอบหน้าตำแหน่งนามของบุคคล หรือเทพเจ้าเพื่อใช้แสดงสถานะทางสังคมและเพื่อยกย่องบูชาเหมือนกันทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า รูปคำทั้งหมดข้างต้นเป็นคำเดียวกัน เพียงแต่เขียนต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละพื้นถิ่น ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเท่านั้น และหากจะลำดับความก่อนหลังเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของคำว่า “กัมรเตงอัญ” นี้ อาจกล่าวได้ว่ารูปคำที่เก่าที่สุดที่พบในจารึกนั้นคือ “กมฺรตางฺ อญฺ” ซึ่งรูปคำดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในจารึกที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 หลักฐานที่เก่าที่สุดพบในจารึกสมัยพระเจ้าอีศานวรมัน (พ.ศ. 1158-1178) คือ จารึก K.149 ซึ่งคำ “กมฺรตางฺ อญฺ” ที่ปรากฏในจารึกดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้เป็นคำประกอบหน้าพระนามของพระมหากษัตริย์ คือ วระกัมรตางอัญศรีภววรมัน (วฺระ กมฺรตางฺ อญฺ ศฺรีภววรฺมฺม) วระกัมรตางอัญศรีมเหนทรวรมัน (วฺระ กมฺรตางฺ อญฺ ศฺรีมเหนฺทฺรวรฺมฺม) และวระกัมรตางอัญศรีอีศานวรมัน (วฺระ กมฺรตางฺ อญฺ ศฺรีศานวรฺมฺม) นอกจากนี้ในจารึกยุคสมัยเดียวกัน คือ จารึกที่วัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี เนื้อความกล่าวถึง พระราชโองการของพระเจ้าอีศานวรมันได้ปรากฏรูปคำที่แตกต่างออกไปคือ “กมฺรตาญฺ อญฺ” (รูปพยัญชนะท้าย ง เปลี่ยนเป็น ญ) แต่เนื่องจากข้อความต่อจากนี้ตัวอักษรลบเลือนหายไปทั้งบรรทัด จึงไม่ทราบว่านามที่ตามหลังเป็นนามของอะไร แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาข้อความก่อนหน้านั้นที่กล่าวถึงการอุทิศข้าวของ ก็อาจเป็นไปได้ว่า ชื่อที่ตามหลังนั้นเป็นพระนามของเทพเจ้า”

ในบทความยังอธิบายด้วยว่า รูปคำ ‘กมฺรตางฺ อญฺ’ และ ‘กมฺรตาญฺ อญฺ’ นี้ ใช้ร่วมกันมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 13 ดังที่ปรากฏในจารึกภูมิเจร็ย ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกภูมิกอมเรียง พ.ศ. 1227 และจารึก K.582 ร่วมสมัยกับจารึกภูมิกอมเรียง หลังจากนั้นได้เปลี่ยนสระ อา ไปเป็นสระ เอ จาก ‘ตางฺ/ตาญฺ’ ไปเป็น ‘เตงฺ/เตญฺ’ ตั้งแต่ในจารึกหินขอน 2 และจารึกเนินสระบัวเป็นต้นมา และยังคงใช้ตัวสะกดท้ายคำทั้งพยัญชนะเสียง ง.งู และ ญ.หญิง ปะปนกันเรื่อยมาจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 เช่นในจารึกสด๊กก๊อกธม 1 จึงลดเหลือแต่เพียงเสียงลงท้ายด้วย ง.งู เท่านั้นว่า ‘กมฺรเตงฺ อญฺ’ (หรือ ‘กํมฺรเตงฺ อญฺ’)     

เสียง ง.งู และเสียง ญ.หญิง เป็นเสียงที่เกิดในระนาบเดียวกับเสียง น.หนู คือเป็นเสียงนาสิกขึ้นจมูกที่เกิดจากเพดานอ่อน เพดานแข็ง และฐานปุ่มเหงือก ตามลำดับจากในออกนอก โดยเสียง ญ.หญิง เป็นเสียงที่อยู่ตรงกลางระหว่างเสียง น.หนู และเสียง ง.งู (ลลิตา โชติรังสียากุล, พ.ศ. 2545) ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ามีโอกาสมากที่จะเกิดการเคลื่อนเสียงสะกดท้ายคำไปมาระหว่างเสียง ญ.หญิง กับเสียง น.หนู พวกหนึ่ง และเสียง ญ.หญิง กับเสียง ง.งู อีกพวกหนึ่ง ดังเช่นการสลับเสียงท้ายคำไปมาระหว่าง ‘กมฺรตางฺ อญฺ’ และ ‘กมฺรตาญฺ อญฺ’ ของภาษาเขมรโบราณตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ข้างต้น ก่อนจะใช้เสียงท้ายคำด้วย ง.งู เท่านั้น หลังปลายพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนการตีความอย่างหนึ่งว่า ‘โขฺลง’ และ ‘โขฺลญ’ ต้นทางในภาษาเขมรอาจจะเป็นคำเดียวกันมาเก่าก่อน หากสิ่งที่ไม่เหมือนกับ ‘กมฺรตางฺ อญฺ’ และ ‘กมฺรตาญฺ อญฺ’ คือว่า ‘โขฺลง’ และ ‘โขฺลญ’ ต่างมีลำดับพัฒนาการในเรื่องคำและความหมายแยกเป็นเอกเทศ โดย ‘โขฺลง’ ใช้ร่วมกับ ‘ทฺวาร’ กลายเป็นซุ้มประตูทางเข้า-ออกใหญ่ ส่วน ‘โขฺลญ’ ใช้กับผู้คนที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานใดงานหนึ่ง และในสมัยก่อนพระนคร หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 ขึ้นไปออกเสียงขึ้นต้นด้วย ก.ไก่ เช่น ‘โกฺลญฺ’ ในจารึกวัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี อ่านโดย ชะเอม แก้วคล้าย (พ.ศ. 2541) หรือ ‘กํโลญ’ ในหนังสือเรื่อง ‘ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม’ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ (พิมพ์ พ.ศ. 2547) เป็นต้น

ซึ่งการลื่นไหลไปมาของเสียงที่มี ญ.หญิง เป็นจุดร่วมนี้ อาจสังเกตจากภาษาไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) ได้เช่นกัน เพราะมีเสียงก้องนาสิกขึ้นจมูกแบบเดียวกับภาษาเขมร คือเสียง ง.งู เสียง ญ.หญิง และเสียง น.หนู หากเป็นเสียง ญ.หญิง ที่มีการแปรเปลี่ยนมากกว่าอีกสองเสียงอย่างเห็นได้ชัด ดังอ้างจากผลงานวิจัยของ อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ เรื่อง ‘The Phonology of Proto-Tai’ (ค.ศ. 2009, หน้า 123-124) ความว่า เสียงพยัญชนะต้น น.หนู โบราณยังถูกรักษาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ในพวกไท-ไต ยกเว้นบางพวกของ Shan (ฉาน) ที่ควบรวมกับเสียง ล.ลิง เช่นเดียวกับเสียง ง.งู โบราณที่ยังถูกรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี ยกเว้นในพวก Saek (แสก) ที่กลายเป็นเสียง ญ.หญิง และบางสำเนียงของไทยภาคใต้ที่กลายเป็นเสียง ฮ.นกฮูก ในขณะที่เสียง ญ.หญิง โบราณได้ถูกแยกออกเป็นสองสายอย่างชัดเจนคือ สายที่ยังรักษาเสียงดั้งเดิมไว้ได้ เช่นพวก Lao (ลาว), Black Tai (ไทดำ), White Tai (ไทขาว), Western Nung (นุง), Debao, Yishan, Tianlin, Huanjiang, Guigang และ Saek (แสก) เป็นต้น และอีกสายที่ไม่สามารถรักษาเสียงดั้งเดิมไว้ได้ เช่น Siamese (ไทยสยาม), Lue, Leiping, Lungchow, Qinzhou, Shangsi, Wuming, Hengxian และ Tiandong เป็นต้น โดยสายหลังนี้ได้ลดเสียงขึ้นจมูกและเลื่อนมาลงที่เสียง ย.ยักษ์ แทน

และในปัจจุบันไม่พบว่ามีพยัญชนะท้ายคำเสียง ญ.หญิง ในพวกไทย รวมไปถึงพวกไท-ไต (อย่างไรก็ตาม อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้เสนอไว้ในงานวิจัยเรื่องเดียวกันว่าภาษาไท-ไตโบราณควรต้องมีเสียง ญ.หญิง เป็นตัวสะกดท้ายคำรวมอยู่ด้วย) ดังนั้นเมื่อมีการยืมคำที่ลงท้ายด้วยเสียง ญ.หญิง หรือฐานเพดานแข็ง บ้างจึงนำไปฝากไว้ที่แม่กน และบ้างนำไปฝากไว้ที่แม่กง ซึ่งอยู่คนละฟากของช่องปากคือ ฐานปุ่มเหงือก และฐานเพดานอ่อนตามลำดับ เช่น คำยืมจากเขมรว่า ‘เพ็ญ’ พวกไทยสยามเขียน ‘เพ็ญ’ (เป็นส่วนใหญ่) แต่ออกเสียงท้ายคำด้วยเสียง น.หนู ในขณะที่พวกล้านช้างเรียก ‘เพ็ง’ และล้านนาเรียก ‘เป็ง’ ลงท้ายคำด้วยเสียง ง.งู ทั้งคู่          

ในกรณีของคำว่า ‘โขลญ’ มีความซับซ้อนพอสมควร เพราะตามหลักฐานที่เก่าที่สุดนั้น พบว่าคำเรียก ‘โขลญ’ ถูกใช้ในฐานะของตำแหน่งผู้คนคือ ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ ในยุคชิงเมืองสุกโขไท เขียนลงท้ายด้วยพยัญชนะ ญ.หญิง ออกเสียง น.หนู ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเขียนลงท้ายตรงตัวว่า ‘โขลน’ ในภายหลัง หากปรากฏถึงสองสถานะพัวพันอยู่ด้วยกันคือ หนึ่งในฐานะของตำแหน่งผู้คน เช่น ขุนโขลน กรมโขลน และสองในฐานะของประตูหลักควบคุมพื้นที่ เช่นโขลนทวาร ซึ่งไปตรงกับคำเรียก ‘โขฺลงทฺวาร’ ของทางเขมรที่อาจไม่ได้หมายถึงเฉพาะซุ้มประตูใหญ่แต่เพียงเท่านั้น หากยังกินความไปถึงพิธีกรรมเบิก ‘โขลนทวาร’ ต่างๆ รวมเข้าด้วยกันทั้งหมด จนตีความว่าเป็นไปได้ที่พวกไทยสยามลุ่มเจ้าพระยารับการถ่ายทอดคำว่า ‘โขลงทวาร’ พร้อมความหมายและพิธีกรรมเบื้องหลัง มาในรุ่นราวคราวเดียวกับคำว่า ‘โขลญ’ เลยทีเดียว ก่อนจะกลืนทั้ง ‘โขลญ’ และ ‘โขลง’ กลายมาเป็นคำว่า ‘โขลน’ แค่คำเดียวเมื่อเข้าสู่ยุคกรุงศรีอยุธยาฯ แล้ว            

นอกจากนั้นคำว่า ‘โขฺลง’ ต้นทางเขมรในฐานะของประตูควบคุมหลัก ยังถูกตีความว่าได้ไปปรากฏอย่างกว้างขวางในถิ่นล้านนาและล้านช้าง ด้วยคำพูดของชาวไทถิ่นเหนือผู้ไม่นิยมในการรัวกระดกลิ้น และมักทำให้คำควบกล้ำหดสั้นลงเสมอๆ ว่า ‘โขง’ ในฐานะของซุ้มประตูใหญ่ ดังข้อสนับสนุนเชิงวิชาการ เช่นในบทความเรื่อง ‘โขง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-25 รูปแบบ เทคนิคและแนวคิด ของกลุ่มสกุลช่างลำปาง’ โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา และ ฐิติกานต์ แก้ววิเศษ (พ.ศ. 2556) เขียนถึงแนวคิด ‘โขง’ ไว้ว่า:

“พจนานุกรมภาษาถิ่นล้านนาไทย โดย มณี พยอมยงค์ ได้ให้ความหมายไว้ 2 ความหมาย คือ ความหมายแรกหมายถึง ซุ้มประตูวัด และความหมายที่สองหมายถึง อาณาเขต (เช่นทั่วโขงเขตข้อง คือทั่วอาณาบริเวณ) ส่วนในพจนานุกรมฉบับแม่ฟ้าหลวง โดย อุดม รุ่งเรืองศรี เขียนไว้ว่า โขง หมายถึง อาณาเขต, ซุ้ม หมายถึง สิ่งที่ทำให้โค้งอย่างเช่น ประตูซุ้ม และ โขงประตู หมายถึง ประตูใหญ่ ส่วน โขงพระเจ้า หมายถึง มณฑปลักษณะคล้ายเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานในวิหาร

ประตูโขงในล้านนามีลักษณะคล้ายปราสาทซ้อนชั้น ส่วนบนสุดเป็นยอดแหลม ซึ่งตามความหมายของคำว่า ปราสาท จะเห็นได้จากชั้นหลังคาบัวถลา จะสร้างแท่นบัวย่อส่วนซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ และแต่ละชั้นจะมีซุ้มป่องปิ๋วประดับ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลในศิลปะอินเดียเช่นกัน เรียกซุ้มนี้ว่า กุฑุ (kudu) อันเป็นสัญลักษณ์ของที่อยู่เทวดา ในชั้นต่างๆ ที่ลดหลั่นกันขึ้นไป โดยมีเขาสุเมรุเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล

ซุ้มประตูโขง มีลักษณะเป็นซุ้มยอดดอกบัวตูม ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ทางทิศเหนือ งานศิลปะซุ้มประตูโขงเป็นลักษณะของซุ้มยอดปราสาท สันนิษฐานว่า โขง หมายถึง โค้ง ซึ่งจะเห็นได้จากวงโค้งกรอบซุ้มประตูรูปครึ่งวงกลม เชื่อว่าประตูโขงมีพัฒนามาจาก ทวารโตรณะ (Drava Torana) ของศิลปะอินเดีย เป็นเครื่องหมายบอกทางเข้าพุทธสถาน ซึ่งได้ถ่ายทอดมาถึงพื้นที่แถบนี้และมีการพัฒนารูปแบบขึ้นมาจนมีลักษณะเป็นศิลปะตน”             

และในอีกบทความเรื่อง ‘อัตลักษณ์ในส่วนตกแต่งองค์ประกอบสถาปัตยกรรมศาสนาคารพื้นถิ่นไทยอีสานกับ สปป.ลาว’ โดย อาจารย์ติ๊ก แสนบุญ (พ.ศ. 2553) แสดงความละม้ายคล้ายคลึงกันของวิถีและโครงสร้าง ‘โขง’ คัดมาบางส่วนว่า:

“ทรงซุ้มแบบปราสาทย่อส่วนมีเครื่องยอด รูปแบบดังกล่าวนี้ถือเป็นการตกแต่งช่องเปิด-ปิดด้วยเทคนิคการก่ออิฐถือปูนและงานปั้นปูน โดยนิยมทำแบบที่มีส่วนยอด ถ้าเป็นรูปหลังคาจั่วที่เรียกว่า ทรงคฤห หรือซุ้มทรงบันแถลง (บรรพ์แถลง) ที่เป็นการย่อส่วนขององค์ประกอบ หน้าบัน อย่างรูปลักษณะเดียวกันกับซุ้มเรือนแก้วนั้นเอง โดยมีบางส่วนเสริมส่วนยอดของหลังคาประตูหรือหน้าต่างด้วยเครื่องยอดทรงรูปจอมแหรูปลักษณะต่างๆ เช่น รูปทรงเลียนแบบยอดปราสาทขอม

กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีอิทธิพลศิลปะแบบราชสำนักทั้งกรุงเทพฯ และล้านช้าง พบอยู่ในกลุ่มช่างพื้นเมืองอย่างที่ปรากฏอยู่กับอาคารเครื่องก่อขนาดใหญ่อย่างเช่น วัดสีสะเกด เวียงจันทน์ วัดมโนภิรมย์ วัดศรีมงคลใต้ จังหวัดมุกดาหาร วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยส่วนใหญ่พบว่าในวัฒนธรรมลาวมีการตกแต่งยอดซุ้ม แบบยอดธาตุแบบบัวเหลี่ยมซ้อนชั้น โดยมีการตกแต่งส่วนยอดเหล่านั้นด้วยกาบซ้อนสลับคล้ายกลีบขนุนอย่างศิลปะขอม ที่น่าจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับรูปแบบของยอดดอกไม้เครื่องบูชาที่เรียกว่า ยอดขันหมากเบ็ง โดยเฉพาะซุ้มช่องเปิดประตูทางเข้าหลัก อย่างในวัฒนธรรมลาวนิยมเรียกส่วนตกแต่งทั้งหมดนี้ว่า โขงประตู หรือ วัง และ สุ่ม ก็เรียก โดยส่วนนี้ถือเป็นการจำลองย่อส่วนรูปเรือนปราสาท (ลักษณะการแบ่งครึ่ง) ไว้ในพื้นที่สมมุติตามกรอบแนวคิดของ ไตรภูมิคติ โดยสร้างสภาวะเหมือนจริงอย่างทางโลกย์ไว้ที่เรือนผนังอาคาร โดยมีสัตว์สัญลักษณ์อย่างพญานาคเป็นองค์ประกอบหลักในโครงสร้างรูปทรงซุ้ม”               

ทั้งชาวล้านนาและล้านช้างรวมถิ่นอีสาน ต่างใช้วัฒนธรรมร่วมซุ้มประตู ‘โขง’ อย่างสอดคล้องซึ่งกันและกัน บนความหมายนามธรรมพื้นฐานว่า ‘ประตูใหญ่ประตูหลัก กินไปถึงความเป็นอาณาเขต’ กับมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าเน้นการใช้กับศาสนสถานมากกว่าวิถีทางโลก เช่นการสร้างโขงประตูปากทางเข้าวัด เพื่อกางกั้นแบ่งแยกขอบเขตระหว่างโลกียะและขอบเขตโลกุตระ ซึ่งความหมายเช่นข้างต้นนี้ แสดงความชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์กับคำว่า ‘โขลน’ ของพวกลุ่มเจ้าพระยา หากแตกต่างในเรื่องของสถานที่การใช้สอย เพราะพวกหลังมักเน้นกับราชสถานและวิถีชีวิตทางโลกเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประตูเมือง ประตูวัง ประตูออกสงคราม ประตูแม่น้ำ และประตูป่าที่สอบโค้งเข้าหากัน เป็นต้น

หากสิ่งที่น่าสนใจเกินไปกว่านั้น กลับมีแนวโน้มสูงว่า ‘โขฺลง’ และ ‘โขฺลญ’ ขึ้นไปจนถึง ‘โกฺลญฺ’ คำความหมายของชาวเขมรอาจมีที่มาจากรากคำดั้งเดิมของภาษาออสโตรนีเซียน เช่นรากคำ ‘*waŋ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในรากคำชนิด ‘monosyllabic root’ ที่ศาสตราจารย์ Robert A Blust ผู้เชี่ยวชาญภาษาออสโตรนีเซียนแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย-อิ ได้เคยค้นคว้าไว้เมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว (ค.ศ. 1988) แสดงความหมายพื้นฐานไว้ว่า ‘wide-open space’ หรือที่โล่ง ที่ว่าง หรือบางสิ่งกว้างขวางใหญ่โตกว่าอื่นๆ ในภาษาอินโดนีเซียปัจจุบันพบว่ารากคำพยางค์เดียวนี้ ได้กลายเป็นแก่นของคำสองพยางค์หลายคำ ดังคัดจากพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย (Kamus Besar Bahasa Indonesia) ฉบับ ค.ศ. 2012 เช่น

คำว่า ‘awang-อาวัง’ แปลว่าห้องใหญ่หรือพื้นที่กว้างขวางบนผืนพิภพ ที่ว่างเปล่า ถ้าใช้กับชีวิตก็หมายถึงใช้ชีวิตเยี่ยงราชา ใช้กับระยะทางก็อีกยาวไกลกว่าจะสุดทาง ใช้กับความสูงว่าสูงยิ่งนัก ใช้กับความสุขว่าสุขยิ่งยวด  

คำว่า ‘gawang-กาวัง’ มีความหมายแบบตรงตัวว่าการตั้งเสาสูงสองต้นและผูกโยงด้านบนเข้าหากัน (เสียง g ในภาษาอินโดนีเซียออกเสียงควบระหว่าง ก.ไก่ และ ง.งู)

คำว่า ‘kawang-กาวัง’ แปลว่าการผูกปมผ้าโสร่งเข้าไว้ด้วยกัน

คำว่า ‘lawang-ลาวัง’ แปลว่าประตูเข้า-ออกขนาดใหญ่ เช่น ประตูวัง ประตูวัด เป็นต้น

คำว่า ‘sawang-ซาวัง’ แปลว่าห้อง หรือพื้นที่ว่างเปล่าใหญ่โต เช่นอยู่ระหว่างผืนฟ้าและพื้นดิน หรือใช้กับผืนป่าขนาดใหญ่ หรือรวงรังที่รวมกันอยู่มากมาย

คำว่า ‘tawang-ตาวัง’ แปลว่าพื้นที่ขนาดใหญ่กางกั้นระหว่างผืนฟ้าและพื้นดิน

ซึ่งจะสังเกตว่าคำร่วมราก ‘*waŋ’ ในภาษาอินโดนีเซียเหล่านี้กินความหมายในเชิงความกว้างขวางใหญ่โตแทบทั้งสิ้น รวมไปถึงความเป็นประตูทางเข้า-ออกขนาดใหญ่ และด้วยพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น จึงตีความว่าคำเรียกสมัยก่อนยุคพระนครที่ใช้เสียง ก.ไก่ เป็นพยัญชนะต้น เช่น ‘โกฺลญฺ’ เป็นคำนำเข้าเพี้ยนเสียงแรกเริ่มจากต้นทางภาษาออสโตรนีเซียน ที่ ณ ตอนนี้ยังให้น้ำหนักกับทางชวา-มาลายูโบราณมากกว่าสายอื่นเช่นพวกจามปา เดินทางผ่านประตูใหญ่ผ่านสนามต่างมิติเข้ามายังเมืองเขมรตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร และแพร่กระจายขยายความหมายขึ้นไปทางภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ ตามอิทธิพลของจักรวรรดิพระนครอันยิ่งใหญ่ ครอบคลุมทั้งลุ่มเจ้าพระยา, ล้านนา และล้านช้าง อย่างทั่วอาณาบริเวณทั่วโขงเขตข้อง ก่อนที่ ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ จะปรากฏตัวอย่างเนิ่นนาน

และสำคัญเป็นยิ่งยวดว่า รากคำ ‘*waŋ’ ความกว้างขวางใหญ่โตของภาษาออสโตรนีเซียน ยังอาจเชื่อมโยงทางเชื้อสายมาถึงกลุ่มคำ ‘กว้าง’ อันเก่าแก่ของพวกไท-ไตที่อาศัยอยู่ทางจีนตอนใต้ไล่เป็นลูกระนาดลงมายังเขตเวียดนามตอนเหนือ, สิบสองปันนา, ล้านช้าง, ล้านนา จนถึงลุ่มเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นคำว่า กว้าง, ขวาง, ขว้าง, คว้าง, ว่าง, วาง, วัง(น้ำ), (ระ)หว่าง, ห้วง, ห่าง ยันถึงคำว่า ข่วง ซึ่งล้วนมีความหมายพื้นฐานร่วมกันว่าพื้นที่โล่งกว้างในทางขวาง เป็นพวกไท-ไตผู้หลงลืมรากคำและความหมายดั้งเดิมไปจนเกือบหมดสิ้น หากได้หวนคืนมาพานพบกับคำร่วมสาแหรก ผู้เป็นญาติพี่น้องชั้นลูกหลานที่พลัดพรากและถูกเลี้ยงดูอุ้มชูมาในอีกเส้นทางหนึ่ง

ดังนั้น ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ จึงเป็นชื่อคำที่แสดงนัยยะถึงตำแหน่งของผู้คนที่เป็นชาวขอมเขมรอย่างชัดเจน ในฐานะของผู้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้า ในฐานะของผู้มีหน้าที่หลักในการรักษาขอบเขตและประตูเมืองสุกโขไท ในฐานะของหนึ่งเม็ดโคนภายในโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นเพียงรัฐเล็กๆ ที่ยังตกอยู่ภายใต้กระดานอำนาจการปกครองของจักรวรรดิพระนคร ที่แผ่ปกคลุมมาช้านานหลายศตวรรษ หากไม่ได้หมายถึงว่า ‘ขอมสบาด’ ผู้นี้ต้องเป็นสายตรงที่ถูกส่งมาจากอำนาจศูนย์กลางเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากความเสื่อมถอยในอำนาจปลายยุคจักรวรรดิ เป็นไปได้ที่ ‘ขอมสบาด’ ผู้นี้อาจเป็นเพียงชาวขอมเขมรที่อาศัยรับราชการเติบโตอยู่ภายในลุ่มเจ้าพระยาร่วมกับคนพวกอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดแต่อย่างใด ก่อนจะทำการยึดเมืองเมื่อคราวสิ้นเจ้านายเหนือหัว พ่อขุนศรีนาวนำถุม

ซึ่งการสืบสาวความเป็นมาทั้งสิ้นนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยย่ำย้ำคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์หลายท่านที่ได้เคยให้ไว้ว่า ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ คือ ชาวขอมเขมรผู้ควบคุมรักษาเมืองสุกโขไท ขยายความออกเป็น ชาวขอมเขมรผู้รับราชการในเมืองสุกโขไทจนได้รั้งตำแหน่งหัวหน้า เรียกว่าตำแหน่ง ‘โขลญลำพง’ มีหน้าที่ปกป้องรักษาประตูทางเข้า-ออกและขอบเขตพื้นที่ภายในเมืองสุกโขไทเป็นการเฉพาะ

หากทั้งสิ้นนั้น ผู้เขียนบทความได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเสมอมาว่า ไม่ตัดสินถูกหรือผิดเป็นที่สุด เป็นเพียงทางเลือกที่อยากขอเสนอไว้ เพื่อการถกเถียงอย่างเปิดกว้างทางความคิด เพื่อความเจริญงอกงามทางปัญญาสืบต่อไป และผิดพลาดประการใดไป ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 20 ตุลาคม 2559 (ปรับปรุง 7 พฤศจิกายน 2560)       

 

บรรณนานุกรม

กระทรวงการคลัง. พ.ศ. 2553. วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร. วารสาร eMoF Magazine ปีที่ 6 ฉบับที่ 65 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553: กระทรวงการคลัง. (www.mof.go.th)

กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ. พ.ศ. 2457. พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1. กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณ สะพานยศเส (ตั้งชื่อตามพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ผู้ค้นพบเอกสารต้นฉบับ, สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระมาตุฉา มีรับสั่งให้ รวบรวมพิมพ์ เมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศล ในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช ท.จ, พ.ศ. 2457). (th.wikisource.org)

กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ. พ.ศ. 2460. คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 7: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ (พิมพ์แจกในงานศพนายอี่ ปีมเสง). (th.wikisource.org)

คณะทำงานโครงการ พปอ. พ.ศ. 2558. ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ). มรดกความทรงจำแห่งเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย: ประมวลจารึกสมัยพระยาลิไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

จิตร ภูมิศักดิ์. พ.ศ. 2547. ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

ฐาปกรณ์ เครือระยา และ ฐิติกานต์ แก้ววิเศษ. พ.ศ. 2556. โขง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-25 รูปแบบ เทคนิคและแนวคิด ของกลุ่มสกุลช่างลำปาง: วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง. (www.lit.ac.th)

โดม ไกรปกรณ์. พ.ศ. 2558. วิวัฒนาการของเมืองสมุทรปราการ: จากเมืองป้อมปราการสู่เมือง “กึ่งสมัยใหม่”. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (www.tci-thaijo.org)

ติ๊ก แสนบุญ. พ.ศ. 2553. อัตลักษณ์ในส่วนตกแต่งองค์ประกอบสถาปัตยกรรมศาสนาคารพื้นถิ่นไทยอีสานกับ สปป.ลาว. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2553: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  (www.arch.kku.ac.th)

ธิดา สาระยา. พ.ศ. 2544. ประวัติศาสตร์สุโขทัย: พลังคน อำนาจผี บารมีพระ: เมืองโบราณ (อ้างอิงจากคลังสาระ จิปาถะ, บล็อกนายไข่ คนโบราณกาล). (www.storybykai.blogspot.com)

ประวัติวัดราชโอรสาราม: วัดจอมทอง (www.ro.ac.th)

ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน. พ.ศ. 2552. โขลนทวาร. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

วินัย พงศ์ศรีเพียร. พ.ศ. 2554. ประวัติศาสตร์และหลักฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย - จารึกวัดศรีชุม: บรรยาย ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 (อ้างอิงจากสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ). (www.social.obec.go.th)

ลลิตา โชติรังสียากุล. พ.ศ. 2545. หนังสือออนไลน์-ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.  (www.oservice.skru.ac.th/ebook/)

วิมล เขตตะ และคณะ. พ.ศ. 2560. กัมรเตง อัญ : ศึกษาในประเด็นที่มาและรูปแบบการใช้คำ. วารสารช่อพะยอม ปีที่ 28 ฉบับที่ 1พ.ศ. 2560: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. (www.tci-thaijo.org)

วิไลศักดิ์ กิ่งคำ. (ไม่ระบุปีที่พิมพ์). อิทธิพลของภาษาต่างประเทศต่อภาษาไทย: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (www.cyberlab.lh1.ku.ac.th/elea...)

ศรีศักร วัลลิโภดม. พ.ศ. 2546. ฝรั่งเป็นเหตุ: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. (www.lek-prapai.org)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกวัดศรีชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. พ.ศ. 2559. ขอมละโว้ (จากเมืองลพบุรี) ยกกองทัพ “ดำดิน” ยึดสุโขทัย. มติชนออนไลน์ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559. (www.matichon.co.th)

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. พ.ศ. 2555. บทวิจารณ์หนังสือ ราชสำนักฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์. วารสารวิจัย มข. 2 (1) มกราคม-มีนาคม 2555: มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (www.resjournal.kku.ac.th)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert and Trussel, Stephen. 2010: revision 2017. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

 

หมายเลขบันทึก: 648524เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2018 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2021 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท