ประวัติศาสตร์คำเสพสังวาสของไทย (ฉบับปรับปรุง 2561)


 

 

 

   

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องกล่าวคำขอโทษผู้อ่านทุกท่านว่า มิได้มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเขียนถึงเรื่องบัดสีบัดเถลิง ของธรรมชาติพื้นฐานระหว่าง ผู้บ่าวผู้ชื่นชอบการแบกไถ กับ ผู้สาวผู้เป็นเจ้าของนาผืนกว้างแห่งลุ่มอุษาคเนย์ แม้อารมณ์จะเพรียกหาถึงเพียงใด เพราะผู้เขียนพึงเดียงสาพอตัว ว่าเรื่องพรรค์นี้ไม่ควรนำมาเปิดเผยต่อหน้าธารกำนัล เป็นเรื่องที่ควรกระทำและดำเนินท่วงทำนองของคู่รักสองต่อสอง ในสถานที่อันอบอุ่นและรโหฐานเพียงเท่านั้น

เมื่อเขียนถึงคำเสพสังวาสร่วมเมถุน จึงเป็นความยากเย็นอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างถึงคำไทยว่า “เย็ด” เพราะแม้แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เคยอธิบายอย่างตรงไปตรงมาไว้ในเรื่อง “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ” ซึ่งบรรยายในโครงการฯ สิทธิทางเพศ ณ ห้องเจ้าพระยา 2 โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556 และถูกเรียบเรียงนำมาลงในหน้าเพจสำนักข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 คัดมาในส่วนที่เกี่ยวข้องว่า:

“ส่วนคำที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์หรือคำว่า “เย็ด” ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “เฮ็ด” ซึ่งมีความหมายว่า “ทำ” การเย็ดกัน จึงเปรียบเสมือนกิจกรรมหนึ่งของคนโบราณ และที่สำคัญคือ ในวัฒนธรรมดังกล่าว หญิงเป็นฝ่ายเลือกผู้ชายอีกด้วย เหตุที่ไทยมีวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องเข้ามาอยู่บ้านผู้ชายเพราะเรารับวัฒนธรรมมาจากจีน พรหมจรรย์ (virginity) ไม่มีความสำคัญในสังคมโบราณ แต่เริ่มมีความสำคัญเมื่อรับวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดูเข้ามา เช่นในประกอบอาหารเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา ต้องให้ผู้หญิงพรหมจรรย์เป็นคนทำเท่านั้น วัฒนธรรมเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงที่เสียพรหมจรรย์แล้วจึงถูกมองเป็น “ผู้หญิงชั่ว””

และนายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ได้เคยอธิบายถึงคำเสพสังวาสไว้ในบันทึกเรื่อง “สนุกกับภาษาไทย-ภาษาอัชฌาไศรย 40. ชายคาภาษาไทย (19) หัวข้อ ผรุสวาท” ลงในหน้าเพจ GotoKnow เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คัดมาท่อนหนึ่งว่า:

“ผู้เขียนได้พูดถึงคำว่า สำสี้ ไปแล้ว จึงควรพูดถึงคำที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในบรรดาคำหยาบ หรือจะว่า เป็นราชาคำหยาบก็ว่าได้ นั่นคือ คำว่า เย็ด นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่การสังวาสกันระหว่างชายหญิงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของชีวิต แต่ค่านิยมสังคมกลับทำให้คนเลี่ยงไปใช้คำแขกเช่น ร่วมประเวณี ร่วมสังวาส แทนไปเสียอย่างไม่น่าเชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่าศัพท์เริ่มต้นคือ เร็ด ภาษาเหนือออกเสียง ร เรือ ไม่ได้ ออกด้วย ฮ ฮูก เป็น เฮ็ด ลาวออกเสียงว่า เยี๊ยะ และไทยกลางว่า เย็ด คำทั้งหมด แปลว่า ทำ เช่น เฮ็ดงาน แปลว่า ทำงาน แต่คำไทยกลางใช้ในเรื่องการสมสู่ด้วย คำไทยคำนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า fuck ซึ่งคนรุ่นใหม่ทั้งอังกฤษและอเมริกันพูดกันติดปากจนถือได้ว่า เป็นคำสบถประจำชาติไปแล้ว นักสืบประวัติภาษาบอกว่า คำนี้เป็นคำที่อธิบายได้ยากที่สุดคำหนึ่ง เพราะเป็นคำต้องห้ามมาก่อนและไม่ค่อยมีให้เห็นในงานเขียน”  

ส่วนพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “เย็ด” และ “เฮ็ด” ไว้สั้นๆ ว่า “(ปาก) ก. ร่วมประเวณี.” และ “(ถิ่น-อีสาน) ก. ทำ.” ตามลำดับ

ซึ่งผู้เขียนมีความสงสัยมาเป็นเวลานานพอสมควรว่าคำสองคำที่มีรูปคล้ายกันนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใช่หรือไม่ที่คำว่า “เย็ด” (ในรูปของ "เยด") ของพวกไทยกลางเช่นลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งปรากฏในกฎหมายตราสามดวงตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาฯ เป็นอย่างน้อย ใช้เฉพาะในเรื่องของการร่วมเพศ อันแตกต่างจากคำที่ใช้เรียกการร่วมเพศของชาวเหนือว่า “สำ” และชาวอีสานว่า “สี้” และเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เฮ็ด” ซึ่งแปลว่าทำ ผู้ผันผายจากคำเก่าเดิมว่า “เร็ด” อีกทอดหนึ่ง เพราะบางพวกไม่ยอมออกเสียง /ร/

ในบทความวิชาการเชิงมานุษยวิทยาที่สำคัญเรื่องหนึ่งชื่อ “The Black Tai Chronicle of Muang Mouay” หรือ “ความโทเมือง” ฉบับ James R. Chamberlain ได้บันทึกตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองครั้งเก่าก่อนของพวกไทดำ ผู้ต้องอพยพหนีภัยสงครามจากถิ่นฐานเมืองหม้วย ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามเข้ามายังประเทศลาวเมื่อราวปี ค.ศ. 1954 ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ถูกเรียบเรียงขึ้นผ่านความทรงจำผ่านถ้อยคำของผู้เฒ่าลี้ภัยไทดำ ผู้เป็นลูกหลานสืบสายลงมาจากเครือเหล่า “Lo-Kam” (ลอ-คำ) และถูกนำเสนอทางวิชาการไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ได้ปรากฏคำที่สื่อโยงถึงคำว่า “เย็ด” และ “เฮ็ด” อย่างน่าสนใจ คัดเนื้อความมาดังนี้:

“ɲaam nan2 pu1 caw2 Co kom2 faa2

ʔaw ngu maa ʔyiat

ʔaw Khiat maa dɔy

ʔaw Hɔy maa ʔyet vaaŋ1 (L)daw2

mɛng ŋuan maa ʔyet Caaŋ1 paat

paa Laat maa ʔyet baaw1 Cua

nok Thua maa ʔyet naaŋ laam1”

และถอดความเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า:

“King Chô – Who – Protects – The – Sky,

Took a snake and stretched it out,

Took a Khiat – frog and wrapped it like a corpse,

Took snails to make wine in jars,

Took a fly to make a sweeper,

A spiny eel to make a cook,

A thrush to make a hostess.”

James R. Chamberlain ได้ถอดความคำว่า ʔyet /เอยด/ เป็นภาษาอังกฤษว่า “make” ที่แปลว่าทำ ซึ่งมีรูปคำใกล้เคียงกับคำว่า “เย็ด” หรือ “เยี๊ยะ” มากกว่า “เฮ็ด” ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ถอดนัยยะในเชิงอาการร่วมเพศมากกว่านัยยะในเชิงอาการทำ ดังคัดจากบทความเรื่องเดียวกับที่บรรยายข้างต้น แสดงไว้ในหน้าเพจ sujitwongthes ความว่า:

          “มีร่องรอยพิธีร่วมเพศอยู่ในคำบอกเล่าของพวกผู้ไทย (พูดลาว-ไทย) ในเวียดนามเหนือ ดังนี้

ยามนั้นฟ้าจั่งแล้งสีแสด แดดสีสาว วัวควายจั่งตายอยากหญ้า บ่าวค้าตายห่างทาง ข้าวอยู่ไฮ่ตายผอย หอยอยู่นาตายแล้ง แป้งอยู่สาควนโฮม มันอยู่ขุมตายเอ้า เป้าอยู่ป่าตายแขวน บ่าวเฮือตายอยากน้ำ

ยามนั้นปู่เจ้าชูโค้มฟ้า เอางูมาเหยียด เอาเขียดมาดอย เอาหอยมาเย็ดหว่างเด้า แมงงวนมาเย็ดช่างปาด ปาหลาดมาเย็ดบ่าวชัว โหนกถัวมาเย็ดนางล่าม

ผู้เขียนตีความว่าความหมายโดยรวมของบทร่ายนี้ เมื่อมองผ่านคำว่า ʔyet /เอยด/ แสดงนัยยะของการปั้นแต่งเครื่องพิธีกรรมมากกว่านัยยะของการร่วมเพศ ซึ่งขอเน้นที่คำว่า “ปั้นแต่ง” อย่างเป็นพิเศษ เพราะคือคำแสดงการตกแต่งเปลี่ยนแปลงสิ่งของอย่างหนึ่งให้เกิดเป็นสิ่งของอีกอย่างหนึ่ง เพื่อใช้เป็นตัวแทนในการพลีสังเวยสั่งฝนให้ตกจากฟ้า อันเนื่องจากสาเหตุที่ปู่แถนโกรธเกรี้ยวปู่เจ้าชูโค้มฟ้า ผู้ทำการตัดสายขึงฟ้าให้แยกลอยยกสูงขึ้นขาดจากผืนดิน จึงบันดาลให้เกิดความอดอยากแห้งแล้งไปทุกย่อมหญ้าของเมืองลุ่ม จนในที่สุดผู้คนฝูงสัตว์และพรรณพืชต่างพากันล้มตายเพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นปั้นแต่งที่เรียกใช้กันในสำนวนสามัญว่า “เสกสรรปั้นแต่ง” ซึ่งเข้าใจว่าได้หมายรวมอารมณ์ร่วมรักเพื่อการสรรสร้างก่อกำเนิดเข้าไว้ในอ้อมอกอย่างชนิดสนิทแนบ เป็นเสกสรรปั้นแต่งที่เต็มไปด้วยความหมายพื้นฐานของคำว่า “ทำ” (make) จนแทบล้นทะลัก บนคำจำกัดความตามสมัยนิยมของพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่ว่า:

“(๑) ก. กระทำ, ประกอบขึ้น, ผลิตขึ้น, สร้างขึ้น, ก่อขึ้น, เช่น ทำเก้าอี้ ทำโต๊ะ ทำรองเท้า ทำรัง (๒) ก. ประกอบการงาน เช่น ทำนา ทำสวน ทำโป๊ะ (๓) ก. ดำเนินการ, ปฏิบัติงาน, เช่น ทำหน้าที่ประธาน ทำตามคำสั่ง ทำตามกฎหมาย (๔) ก. แต่งให้งาม เช่น ทำผม ทำนัยน์ตา ทำจมูก (๕) ก. คิดและปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ทำเลข ทำการฝีมือ, ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการนั้น ๆ เช่น ทำวัตร ทำศพ (๖) ก. แสดง เช่น ทำเบ่ง (๗)  (ปาก) ก. ศึกษาในระดับปริญญา เช่น ทำปริญญา ทำดอกเตอร์.”

ซึ่งอาจสังเกตถึงแนวโน้มว่า การขึ้นต้นคำด้วยเสียง /อย/ หรือ /ย/ ในคำว่า ʔyet /เอยด/ และ “เย็ด” ในฐานะของ “เสกสรรปั้นแต่ง” ควรถูกเรียกใช้กันกว้างขวางในบรรดาหมู่คนที่พูดภาษาไท-ไตมาแต่ครั้งโบราณ มากกว่าการแปรเปลี่ยนเสียงขึ้นต้นจาก /ฮ/ ในคำว่า “เฮ็ด” และยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มดังกล่าวข้างต้นยังได้รับการสนับสนุนผูกโยงชั้นดีจากคำร่วมเชื้อสายคำออสโตรนีเซียน ดังนี้

ในภาษาของชาวอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งสาแหรกของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน มีคำและความหมายออกอย่างตรงตัวในคำว่า “ayut” /อะยุต หรือ อายุต/ แปลว่าร่วมรัก ร่วมเพศ หรือภาษาชาวบ้านว่าเอากัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคำเก่าพื้นถิ่น เพราะปรากฏคำและความหมายสืบต่อใกล้เคียงอีกหลากหลายคำ โดยอ้างอิงเพิ่มเติมจากพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย Kamus Besar Bahasa Indonesia ค.ศ. 2012 เช่นในคำว่า

“buyut” /บุยุต/ แปลว่าแม่ที่สืบเชื้อมาจากรุ่นยาย หรือเหลนที่สืบเชื้อลงไปจากชั้นหลาน ถ้าเติมปัจจัย –an ต่อท้ายเป็น “buyutan” /บุยุตัน/ แปลว่ามักชอบคิดฟุ้งซ่านเพราะว่าเป็นคนแก่เฒ่า หรือถ้าเติมหน้าต่อหลังเป็น “bebuyutan” /เบอบุยุตัน/ จะแปลว่าการสืบต่อสายพันธุ์ลงไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือแปลว่าเนิ่นนานเต็มที “buyut” ยังหมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่เคารพบูชากราบไหว้ก็ได้

“denyut” /เดินยุต/ แปลว่าการเคลื่อนตัวขึ้นและลงอย่างเป็นจังหวะ

“gayut” /กายุต/ แปลว่าห้อยแขวนและแกว่งตัวไปมา

“geduyut” /เกอดุยุต/ แปลว่ายืดหยุ่น หรือถุงใส่ของห้อยๆ

“gelayut” /เกอลายุต/ แปลว่าแกว่งตัวไปมา และห้อยแขวนโตงเตง

“hanyut” /ฮันยุต/ แปลว่าถูกพัดพาไปไกล หมดไป เคลื่อนไป

“kenyut” /เกินยุต/ แปลว่าดูดหรือดวดให้ของเหลวไหลเป็นสายออกมา

“layut” /ลายุต/ แปลเหมือนกับ “geduyut” อย่างหนึ่ง และแปลว่าเชื่อมสายร้อยเรียงในอีกอย่าง

“lenyut” /เลินยุต/ แปลว่านั่งฝันล่องลอย

“luyut” /ลุยุต/ แปลเหมือน “geduyut”

“nyunyut” /ญุนยุต/ แปลว่าดึงยืดให้ยาวๆ การดูดเป็นสาย หรือการเคลื่อนขึ้นลงเป็นจังหวะก็ได้

“nyut” /ญุต/ แปลเหมือน “denyut”

“renyut” /เรินยุต/ แปลเหมือน “denyut”

“runyut” /รุนยุต/ แปลว่ายับย่น หรือเหี่ยวแห้ง เป็นต้น

แล้วยังมีคำเพื่อนพ้องในอีกคำว่า “lanjut” /ลันยุต/ ซึ่งแปลว่าแก่เฒ่า ยืดยาว สูงล้ำ ยาวนาน และทนทานไม่หมดสิ้น 

 

จะสังเกตได้ว่าคำทั้งหลายที่ยกขึ้นมาข้างบนนี้ ตั้งแต่คำที่หมายถึงอาการร่วมเพศ การดึงขึ้นดึงลง ชักเข้าชักออกอย่างเป็นจังหวะ ยืดหยุ่น หดได้ยืดได้ แกว่งตัวไปมา ดึงดูดเป็นสายยาว การสืบต่อเป็นทอดๆ ไม่หมดสิ้น แก่เฒ่า อดทน ยืดเยื้อ จนถึงการสืบสายพันธุ์ตั้งแต่รุ่นย่ายายลงไปยันรุ่นหลานเหลน ต่างมีความหมายนามธรรมร่วมกันว่า “บางสิ่งสืบสายต่อกันเป็นทอดๆ จากแก่ไปอ่อน ยืดยาวออกไปไม่หมดง่าย มีความยืดหยุ่นหดตัวและขยายตัวได้ มีการแกว่งตัวโตงเตงไปมาเมื่อถูกแขวนลอย มีการชักขึ้นลง หรือชักเข้าชักออกอย่างเป็นจังหวะ”

อันเป็นกลุ่มคำยาวสองพยางค์ที่ผู้เขียนคาดว่าถือกำเนิดมาจากรากคำรากภาษาเดียวกันว่า *yut/ñut /jut/ɲut/ (อาจเป็นได้ทั้งเสียง /ย/ หรือ /ญ/) ซึ่งเป็นคำโดดพยางค์เดียวที่เรียกในเชิงภาษาอังกฤษว่า “monosyllabic root” เป็นรากคำเก่าแก่ชนิดต้นด้ำโคตรวงศ์ของออสโตรนีเซียน และตรงกับรากคำโดดพยางค์เดียวที่จัดจำแนกไว้โดยศาสตราจารย์ Robert A. Blust ค.ศ. 1988 ว่า *ñut /ญ/ ในความหมายว่า ยืดเหยียด (stretchy) หรือยืดหยุ่นหดตัว (elastic)

และไม่ได้มีเพียงพวกอินโดนีเซียเท่านั้น เพราะปรากฏหลักฐานอย่างค่อนข้างชัดเจนว่าบางพวกของออสโตรนีเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ และฟอร์โมซา ที่เป็นชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวัน ก็มีการเรียกคำเสพสังวาส (sexual intercourse) ด้วยถ้อยคำที่อยู่ในกลุ่มรากคำเดียวกัน อาทิ:

พวก Cebuano, Tagalog และ Iloko บนเกาะฟิลิปปินส์เรียก ʔiyut /อิยุต/, ʔiyot /อิยต/ และ yut /ยุต/ ตามลำดับ

และพวก Puyuma และ Bunun บนเกาะไต้หวันเรียก maħa-ħiyut /มะฮะ-ฮิยุต/ และ paquit /ปาคุอิต/ ตามลำดับ และสืบสร้างเป็นคำโบราณว่า *qiyut /คิยุต/ 

(อ้างอิงจากบทความเรื่อง “The Philippine languages and the determination of PAN syllable structure” โดย John U. Wolff ค.ศ. 2005 หน้า 76) 

จึงเป็นกลุ่มคำภาษาออสโตรนีเซียนที่มีรูปและความหมายพื้นฐานสอดคล้องกลมกลืนเข้ากันเป็นอย่างดีกับรูปคำและความหมายพื้นฐานของ ʔyet /เอยด/ และ “เย็ด” จนถึง “เยี๊ยะ” ในพวกไท-ไต ทั้งในลักษณะของการเสกสรรปั้นแต่งด้วยการดึงเหยียดยืดออกและหดสั้นตบแต่งเข้ารูป และในปฏิกิริยาโต้ตอบกันไปมาของเครื่องเพศผู้กับเครื่องเพศเมียด้วยการชักเข้าและชักออกอย่างเป็นจังหวะ สอดรับขับขานกันไปมาจนกว่าจะถึงฝั่งฝันทั้งสองฝ่ายในบั้นปลายท้ายสุด

ที่น่าสนใจในอันดับถัดไปคือว่า เมื่อค้นคำศัพท์ภาษาไท-ไตซึ่งจัดทำไว้โดยอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ในปี ค.ศ. 2009 ได้พบคำละม้ายเป็นอย่างมากกับรูปและความหมายของคำว่า ʔyet /เอยด/ และ “เย็ด” รวมถึงรากคำรากภาษา *yut/ñut เขียนในภาษาอังกฤษว่า “stretch out” (เหยียด) และ “stretch” (ยืด) แม้ว่าจะไม่พบการกล่าวถึงคำเสพสังวาสของพวกไท-ไตโดยตรงก็ตาม คัดมาดังนี้ 

 

                                            Stretch out (เหยียด)               Stretch (ยืด)

  พวก Siamese เรียก               jiətDL1 /เหยียด/                      jɯ:tDL2 /ยืด/                                                                                  พวก Bao Yen เรียก               jetDS1 /เหย็ด/                         jɯ:tDL2 –I /ยืด/                                                                             พวก Cao Bang เรียก             jiətDL2 /เยียด/                        ɲutDL2 /ญุด/                                                                                      พวก Lungchow เรียก            ji:tDL1 /หยีด/                                                                                                                          พวก Shangsi เรียก                jitDL1 /หยิด/ 

  และสืบสร้างเป็นคำโบราณว่า   *ʔjiətD /เอยียด/                     *ɲɯ:tD /ญืด/

เป็นความคล้ายคลึงกันอย่างมากของรูปคำและความหมาย จนสามารถรวมเอาคำว่า “เหยียด” และ “ยืด” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคำ ʔyet /เอยด/, “เย็ด” และรากคำ *yut/ñut ได้อย่างไม่ขัดเขิน และนอกจากนั้นยังขยับขยายรูปและความหมายในเชิงนามธรรมออกไปถึงคำไทยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่นคำว่า

“ฉุด” แปลว่าดึงเข้ามาหาตัว

“ดูด” แปลว่าใช้ปากสูบดึงขึ้นมาเป็นสาย

“ดวด” แปลว่าดูดดื่มทีเดียวให้หมด

“ยุด” แปลว่ายื้อยุดฉุดกระชาก

“ยึด” แปลว่าหดตัวเข้ามา

“ยื้อ” แปลว่าแย่งยื้อระหว่างกันไปมา

“เยื้อ” แปลว่ายืดยาวนานออกไป

“ยอด” แปลว่าส่วนปลายสุด

“ยวด” แปลว่ายิ่งไปกว่ายอด

“หยด” แปลว่าไหลเป็นหยดๆ ย้อยๆ

“หยาด” แปลว่าไหลยืดหยดลง

“หยอด” แปลว่าค่อยๆ เทหยดยืดลงไป

“หด” แปลว่าย่นสั้นเข้า คล้ายคำว่า “ยึด” เป็นต้น

โดยมีหมายเหตุระหว่างบรรทัดตรงคำเรียก “ยวด” ว่า อาจารย์และผู้รู้ผู้ศึกษาภาษาศาสตร์เชิงประวัติบางท่านได้ตีความว่า คือคำเดียวกับ “yue” /เยว่/ หรือ /เยวี่ย/ ที่มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “to go beyond”

ดังนั้น คำต่างๆ ที่พัวพันแวดล้อมอยู่กับคำว่า “เย็ด” ทั้งในแง่ของรูปคำและความหมาย ตั้งแต่คำไท-ไตโยงใยไปยังเชื้อสายคำออสโตรนีเซียน จึงเป็นเครื่องยืนยันชั้นเยี่ยมว่า กลุ่มคำเหล่านี้ควรพัฒนาแตกสาแหรกออกมาจากรากด้ำโคตรเหง้าเดียวกัน เช่นจากรากคำ *yut/ñut บนความหมายนามธรรมว่า “ยืดเหยียด หยุ่นหดตัว ชักขึ้นชักลง ชักเข้าชักออกอย่างเป็นจังหวะ และการสืบสายยืดยาว” โดยคำบางคำเช่น คำที่ใช้สำหรับการเสพสังวาส การดูดดึง การเหยียดตัวออก การหดสั้นเข้า ควรเป็นคำยาวสองพยางค์เก่าแก่ของคนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนและไท-ไต ขยายจนถึงไท-กะไดทั้งตระกูล เคยใช้ร่วมกันมาก่อนที่จะมีการเคลื่อนตัวแยกย้ายแปรผันกันออกไป

ในขณะที่คำเรียกใช้เพื่อการเสกสรรปั้นแต่งรูปร่างใดๆ ว่า ʔyet /เอยด/ และ “เยี๊ยะ” ควรถูกพัฒนาขึ้นมาภายหลังเป็นการเฉพาะในหมู่พวกไท-ไต ที่สำคัญไม่ได้เพี้ยนกลายมาจากคำว่า “เฮ็ด” แต่เป็น “เฮ็ด” ที่แปรเสียงมาจากคำว่า ʔyet /เอยด/ หรือแม้แต่ “เย็ด” ในบางอารมณ์ และคงไม่ได้มีต้นกำเนิดจากคำว่า “เร็ด” แต่อย่างใด

เป็นคำที่ไท-ไตหลายพวกได้สืบต่อความหมายของการสรรสร้างสิ่งต่างๆ รอบตัวลงมาเป็นลำดับ ยกเว้นเรื่องการเสพเมถุนร่วมประเวณี ซึ่งแตกต่างจากไท-ไตบางพวกเช่นไทยลุ่มเจ้าพระยา ผู้ยึดมั่นในเรื่องของการเสกสรรปั้นสังวาส ผ่านความบันเทิงเริงถึงใจ ผ่านความยืดหยุ่นเข้าและออก ผ่านท่วงท่าและทำนองอย่างระทึกในอารมณ์ จนหลงลืมการเสกสรรปั้นแต่งสรรพสิ่งอื่นๆ ไปบ้างในบางชั่วขณะ หากคือผู้ที่สามารถสืบทอดรักษาขนบธรรมเนียมดึกดำบรรพ์แห่งการปั้นแต่งสายเผ่าพันธุ์เอาไว้ได้จนถึงทุกวันนี้

สุดท้ายแต่ยังคงไม่ท้ายถึงที่สุด ด้วยความระทึกในห้วงอารมณ์แบบขาดตอนบ้างไม่ขาดตอนบ้าง ผู้เขียนขอเสนอการรื้อ-สร้างประวัติความเป็นมาของคำเสพสังวาส “เย็ด” ตลอดจนการเสกสรรปั้นแต่งใดๆ ของ “คนพูดไท” ไว้เป็นทางเผื่อเลือก ที่อาจแตกต่างจากคำและความหมายของ สุจิตต์ วงษ์เทศ และนายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ไปบ้าง หากทั้งนี้ทั้งนั้นเต็มไปด้วยความเคารพอย่างสูงเป็นที่ตั้ง

และในบทเพลงลา เห็นควรที่จะเสนอฉากจบด้วยคำเรียกการเสพสังวาสใหม่แทนคำว่า “เย็ด” ที่หลายคนฟังแล้วอาจระคายหูเป็นยิ่งนัก เพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ฟังเบาสบายและไม่หยาบโลน ในคำเก่าดั้งเดิมว่า “อายุต” มา ณ ที่นี้

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 27 กันยายน 2559 (ปรับปรุงครั้งที่ 2 เมื่อ 9 มกราคม 2561)

 

 

อ้างอิง:

ราชบัณฑิตยสถาน. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. (www.royin.go.th)

วิจารณ์ พานิช. พ.ศ. 2550. สนุกกับภาษาไทย-ภาษาอัชฌาไศรย 40. ชายคาภาษาไทย (19) หัวข้อ ผรุสวาท วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550: เพจ GotoKnow. (www.gotoknow.org)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. พ.ศ. 2556. หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ. หมวดหมู่บทความ-สารคดี: เพจ sujitwongthes. (www.sujitwongthes.com)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. พ.ศ. 2556. หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ. บรรยาย ณ ห้องเจ้าพระยา 2 โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556: เพจประชาไท. (www.prachatai.com)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert A. and Trussel, Stephen. 2016. The Austronesian Comparative Dictionary, web edition. (www.trussel2.com)

Chamberlain, James R. 1984, 1985 and revision 1991. The Black Tai Chronicle of Muang Mouay: Chulalongkorn University. (www.sealang.net)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Wolff, John U. 2005. The Philippine languages and the determination of PAN syllable structure. Hsiu-chuan Liao and Carl R. Galvez Rubino, eds. Current issues in Philippine linguistics and anthropology: Parangal kay Lawrence A. Reid. Manila: LSP and SIL. pp. 69-80. (www-01.sil.org)

หมายเลขบันทึก: 648480เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2021 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในภาษา เยอรมัน  ใช้คำว่า..จราจร...ในภาษา..ของเขา...verkehr...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท