พี่เชื่อมั่นในตัวน้อง...น้องจึงต้องเชื่อมั่นในตัวเอง


พี่เชื่อว่าน้องทำได้

โรคบางโรคหรืออาการเจ็บป่วยของคนเรา บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาหรือการบำบัดรักษาด้วยเครื่องมือหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่เลยด้วยซ้ำ... “เพียงแต่ต้องรู้สาเหตุที่แท้จริงของการเจ็บป่วย” เพราะผู้ป่วยบางคนอาจไม่ได้ป่วยจากสาเหตุทางกาย... “แท้ที่จริงลึกๆภายในจิตใจต่างหากที่ส่งผลให้กายแสดงการเจ็บป่วยออกมา”… หากเรารู้สาเหตุที่แท้จริงเหล่านี้แล้ว ยารักษาโรคจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้...และมากไปกว่านั้นเรายังสามารถส่งต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยไปยัง Care Giver หรือบุคคลที่รายล้อมและใกล้ชิดผู้ป่วยได้อีกด้วย...

ในช่วงเวลา16.30 น. - 18.00 น. ภายในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของภาคอีสาน เป็นช่วงเวลาที่มีการจราจรอุ่นหนาฝาคั่งมาก รถราวิ่งกันขวักไขว่ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นรถยนต์หรือสองล้อคู่ใจของทั้งบุคลากรและนักศึกษา ท่ามกลางบรรยากาศหน้าฝนที่ร้อนอบอ้าว อีกทั้งเมฆก้อนดำมหึมาที่กำลังก่อตัวปกคลุมท้องฟ้า ราวกับว่าจะประกาศสงครามกับสิ่งมีชีวิตบนโลกเลยก็ว่าได้  “ตือดือ...ตือดือ”  เสียงดังอื้ออึงสลับกับไฟวูบวาบมาจากรถพยาบาล(Ambulance) ที่วิ่งมาพร้อมกับส่งสัญญาณขอทางมาแต่ไกล...และแน่นอนผมในฐานะพยาบาลวิชาชีพหัวหน้าทีมปฏิบัติการกู้ชีพ ก็ได้โดยสารมากับรถคนนี้ด้วยพร้อมเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆเต็มกำลัง หลังจากที่ได้รับแจ้งจากนักศึกษารุ่นพี่ของคณะหนึ่งว่ามีน้องนักศึกษาปี 1 ไม่สบายหายใจหอบและมีอาการคล้ายๆคนชัก  หลังจากที่รถพยาบาลวิ่งฝ่าดงฝูงยานพาหนะมาได้สักพักก็ถึงจุดหมายในเวลา 17.48 น.โดยใช้เวลาเดินทางจากศูนย์สั่งการมายังจุดเกิดเหตุไม่ถึง 5 นาที จุดเกิดเหตุเป็นอาคารที่ใช้ทำกิจกรรมรับน้องใหม่ของคณะดังกล่าว  เมื่อทีมเราลงจากรถก็มีรุ่นพี่นักศึกษาวิ่งกรูเข้ามาเราประมาณ 2-3 คน  “พี่ครับๆ เชิญทางนี้ครับ น้องนอนอยู่ในห้องปฐมพยาบาลครับ” นักศึกษารุ่นพี่คนหนึ่งเชื้อเชิญผมด้วยท่าทางที่รีบร้อนและตกใจ  ภายในห้องปฐมพยาบาลผมได้พบนักศึกษาผู้หญิงผิวขาวผมยาวหยักศกสวมแว่นตาและไม่ลืมตา กำลังนอนอยู่บนเตียงและเธอดูท่าทางหายใจผิดปกติ ลักษณะการหายใจคือเร็วตื้นบ้างลึกบ้างสลับกัน  ขณะเดียวกันปลายมือและเท้าทั้งสองข้างของเธอจีบเกร็งอย่างเห็นได้ชัด ผมเดินเข้าไปที่ข้างเตียงด้านขวามือของเธอ โน้มตัวลงเล็กน้อยและเรียกชื่อเล่นเธอเบาๆ(ผมอ่านชื่อเล่นเธอจากป้ายชื่อที่คล้องคอ)  “ น้องกิ๊บครับๆ เป็นอย่างไรบ้าง ลืมตาขึ้นมาคุยกับพี่ได้ไหมครับ? ”  พอสิ้นเสียงผมน้องก็ลืมตาขึ้นมาโดยที่เธอไม่ปริปากพูดอะไรใดๆทั้งสิ้น แต่ผมสังเกตภายในแววตาของน้องเหมือนกำลังจะบอกว่าเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว....ผมไม่พยายามพูดคุยหรือซักไซ้อะไรจากน้องมาก เพียงแต่ได้บอกน้องประโยคหนึ่งว่า... “กิ๊บต้องช่วยเหลือตัวเองนะ คุณหมอ รุ่นพี่หรือเพื่อนคนอื่นช่วยกิ๊บให้หายจากภาวะที่เป็นอยู่ไม่ได้ แต่สามารถอยู่เป็นเพื่อนและให้คำปรึกษาได้”   พูดจบผมก็เรียก นักศึกษารุ่นพี่พร้อมกับเพื่อนๆนักศึกษาปี 1 ที่เป็น Roommate ของน้องเข้ามาข้างๆเตียงพร้อมกับอธิบายสาเหตุและอาการที่น้องเป็นอยู่ด้วยภาษาที่ไม่เป็นทางการและเข้าใจง่ายๆว่า เป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า โรคหอบจากความเครียด (Hyperventilation Syndrome)

โรคหอบจากความเครียด (Hyperventilation Syndrome)  หรือภาวะระบายลมหายใจเกิน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียด การพักผ่อนน้อย หรือมีปัจจัยกระตุ้นที่ให้เกิดอาการ เช่น ทะเลาะกับผู้อื่น ไม่พอใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเก็บเอามาคิดจนทำให้วิตกจริต  ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจเอาอากาศเข้าไปในร่างกายมากเกิน จนทำให้เกิดความไม่สมดุลของระดับออกซิเจน(Oxygen) และคาร์บอนไดออกไซด์(Carbon dioxide)ในกระแสเลือด ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเกิดการหดรัดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้ระดับแคลเซียม(Calcium)ในเลือดลดลงด้วย ซึ่งมักจะแสดงอาการให้เห็นชัดคือ มือเท้าจีบเกร็ง สัมพันธ์กับการหายใจที่เร็วและลึก  ส่วนการช่วยเหลือให้เน้นที่ตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกหายใจช้าๆลึกเพียง 6-12 ครั้งต่อนาที  หากไม่ดีขึ้นสามารถควบคุมการหายใจโดยใช้ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกโดยเจาะรูเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1 เซนติเมตร ครอบบริเวณจมูกและปากของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันต้องพยายามลดปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการอีก เช่น จัดสิ่งแวดล้อมให้ผ่อนคลาย  อากาศถ่ายเทสะดวก จัดให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนโดยไม่มีผู้คนหรือปัจจัยรบกวน และการให้กำลังใจผู้ป่วยก็เป็นสิ่งที่สำคัญแต่ควรให้ในลักษณะที่เป็นการเสริมสร้างพลัง(Empowerment) มากกว่าการปลอบโยน(Comforting) หรือแสดงความเห็นใจ(Sympathy)จนมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเศร้าตามมาได้และจะกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวซ้ำอีก

            ผมใช้เวลาอธิบายเกี่ยวกับกลุ่มอาการ Hyperventilation พร้อมกับแนะนำการวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ นักศึกษารุ่นพี่และเพื่อนๆของน้องกิ๊บด้วยระยะเวลาสั้นๆไม่ถึง 2 นาที พร้อมกับสาธิตวิธีการปฏิบัติไปพร้อมๆกับอธิบายด้วย  นักศึกษารุ่นพี่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของผมได้ถูกต้อง  หลังจากที่พี่ๆและเพื่อนๆช่วยกันฝึกให้กิ๊บหายใจในถุงได้ประมาณ 5 นาที กิ๊บก็เริ่มหายใจช้าลงจากเดิม มือและเท้าเริ่มคลายตัว  ผมจึงแนะนำให้เพื่อนๆของน้องออกไปทำกิจกรรมต่อ และให้มีเพื่อนหรือพี่อยู่เป็นเพื่อนกิ๊บ 1 คน พร้อมกับให้ความเชื่อมั่นกับนักศึกษารุ่นพี่คนที่อยู่เป็นเพื่อนกิ๊บว่า   “ ถ้าน้องเค้าเป็นอีกก็ให้ทำตามที่พี่แนะนำ ตั้งสติดีๆ ไม่มีอะไรน่ากลัว น้องๆเก่งอยู่แล้วหรือถ้ามีอะไรก็โทรหาพี่ได้ พี่อยู่เวรบ่ายถึงเที่ยงคืน”  พูดจบผมพร้อมลูกทีมก็กับขอตัวกลับ.....

“ กริ๊ง...กริ๊ง”  เสียงโทรศัพท์ในห้องศูนย์สั่งการดัง ขณะนั้นเป็นเวลา 22.00 น แล้ว ทันทีที่ผมยกหูโทรศัพท์ขึ้นรับสายก็มีเสียงแทรกเข้ามาทันทีชนิดที่ผมยังพูดคำว่าสวัสดีครับยังไม่จบเลย   “พี่ครับๆน้องเป็นอีกแล้วครับ”  ผมตอบกลับไปว่า  “ใจเย็นๆครับผมใครเป็นอะไรครับ”   น้องคนเดิมพูดสวนตอบขึ้นมาทันทีว่า  “ น้องหายใจเร็วมือจีบอีกแล้วครับทำไงดีครับพี่ ”  ผมอมยิ้มแล้วตอบกลับไป  “ พี่บอกน้องแล้วไงตั้งสติแล้วทำตามที่พี่บอกเดี่ยวน้องเค้าก็หาย ”  น้องนักศึกษาคู่สายของผมเงียบไปสักพัก แต่มีเสียงแว่วผ่านหูโทรศัพท์มาคลับคล้ายคลับคลาว่าน้องตะโกนถามเพื่อนเรื่องอะไรบางอย่าง     " คนใหม่ครับคนใหม่ ไม่ใช่คนเดิมครับพี่ ”  น้องพูดยังไม่จบประโยคดี  " ฮ่า ฮ่า ฮ่า "  เสียงหัวเราะหลุดออกจากปากผมแบบไม่ตั้งใจ ประหนึ่งว่ามันอยู่นอกเหนืออำนาจควบคุมของจิตใจจนเกือบยกหูโทรศัพท์ออกจากปากแทบไม่ทันเลย (เหตุผลที่อดขำไม่ได้เพราะอะไรผมว่าทุกคนคงมีคำตอบในใจแล้ว?...555+)        “ ขอโทษทีครับน้อง...ตั้งสติให้ดีและตั้งใจฟังพี่...ความรู้ที่พี่มีพี่สอนน้องไปหมดแล้วเมื่อตะกี้...ทำใจให้ดีๆพี่เชื่อว่าน้องทำได้...ถ้ามีอะไรให้โทรหาพี่ได้...พี่อยู่ถึงเทียงคืน ”  ผมพูดจบน้องก็ตอบมาด้วยน้ำเสียงที่ดูมั่นใจมากขึ้นและฟังชัดเจนมากขึ้นว่า  “ ถ้าพี่เชื่อว่าผมทำได้ ผมก็จะพยายามทำให้ได้ เพราะพี่บอกผมไว้ ว่าโทรหาได้แค่ถึงเที่ยงคืนครับ ”

ผมเดินลงบันไดเพื่อจะกลับที่พักพร้อมกับเหลือบมองดูเวลาที่ข้อมือขณะนี้เป็นเวลา 00.30 น.แล้ว นึกไปนึกมาก็ชวนให้คิดถึงเรื่องขำๆ ในช่วงเวรบ่ายที่ผ่านมาตะกี้ไม่ได้   คิดแล้วก็พลางอมยิ้มไปหัวเราะไป หากคนอื่นมาเห็นผมตอนนี้คงจะคิดว่าผมเป็นบ้าหรือทำไมเดินหัวเราะยิ้มคนเดียว ก็มันอดขำไม่ได้นี่ครับ “ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ” ...เห็นไหมลล่ะครับโรคบางโรคก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาเสมอไป เพียงแค่ใช้ความเข้าใจผสมผสานความรู้คู่กับเทคนิคและวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้....

Hyperventilation

พว. วีรโชค   นาคินชาติ  Emergency  Nurse

                                                                                                                                                                                         

 

หมายเลขบันทึก: 648456เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บทความนี้อ่านไป อมยิ่มไป เขียนดีมากค่ะ

เก่งมากค่ะ ยิ่งกว่าการให้บริการ คือ การให้ความรู้ที่เขาจะดูแลตนเองและคนอื่นได้ สุดยอด

ขอบครับอจ. อุบล และ อจ.ขวัญสุดา ที่มาให้กำลังใจมือใหม่หัดเขียนครับ

อ่านอย่างสนุก  เห็นภาพน้องนักศึกษาทำตามได้  สาระมากมี  ประเด็นสื่อสารคมชัดมากนะคะ  ^_,^

ขอบคุณ​ครับคุณหมอธิ ธิรัมภาครับ……

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท