ภาพฝันช่วยให้เป็นจริง



วารสาร Science ฉบับวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑  คอลัมน์ Editor’s Choice แนะนำเรื่อง You can’t be what you can’t see  (0) นำผมไปสู่รายงานผลการวิจัยเรื่อง Looking Beyond Academic Performance: The Influence of Instructor Gender on Student Motivation in STEM Fields (1) ลงพิมพ์ในวารสาร American Educational Research Journal

ข้อความในวารสาร Science เริ่มด้วยทฤษฎี IBM (identity-based motivation theory) (2)    ดึงความสนใจให้ผมอ่านที่มาของทฤษฎีนี้   และพบว่ามาจากผลงานวิจัย ทดลองในเด็ก ม. ๒ สองกลุ่ม คือกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม   โดยที่เด็กสองกลุ่มนี้ไม่ต่างกันในเรื่อง เกรด  เวลามาเรียน  และการทำการบ้าน   กลุ่มทดลองได้รับกิจกรรมทุกๆ ๒ สัปดาห์ รวม ๑๒ ครั้ง    ทำความชัดเจนเรื่องเป้าหมายในการเรียนของตน ว่าตนต้องการผลการเรียนแบบไหน  ตนต้องการเป็นอย่างไรในปีหน้า  และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่อยากมีอนาคตเป็นอย่างไร    ผลปรากฏว่าเด็กกลุ่มทดลองผลการเรียนดีขึ้น ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ  

ผมสรุปว่า “ภาพฝันช่วยให้เป็นจริง

กลับไปที่รายงานผลการวิจัยเพศของครูอาจารย์    เป็นงานวิจัยสนองนโยบายเพิ่มอาจารย์ผู้หญิงในสาขา STEM    เพื่อสร้าง role model แก่นักศึกษาหญิงว่าผู้หญิงก็เก่ง STEM ได้ (วิชาชีพด้าน STEM รายได้สูง)    เป็นงานวิจัยที่สำรวจอิทธิพลของอาจารย์ ต่อนักศึกษา ที่ไม่ใช่แค่ดูที่ผลการเรียน แต่ดูที่ผลทางจิตใจด้วย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อแรงบันดาลใจ      

  เขาบอกว่า มีผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ บอกว่า นักศึกษาหญิงทำคะแนนในวิชา STEM ได้ต่ำกว่านักศึกษาชาย    และอาจารย์ผู้หญิงทำให้ช่องห่างนี้แคบลง    ผลการวิจัยชิ้นนี้ก็ยืนยันข้อค้นพบนี้    รวมทั้งพบว่าอาจารย์ผู้หญิงมีผลยกระดับแรงบันดาลใจต่อการเรียนวิชา STEM ในนักศึกษาหญิงด้วย

เขาอธิบายข้อค้นพบนี้ว่า อธิบายได้โดย ๓ เหตุผล

อิทธิพลของตัวแบบ (role model)    อธิบายว่า ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงสำคัญที่นักศึกษาก่อร่างอัตลักษณ์ของตน โยงไปยังเป้าหมายอนาคตของตนเอง    โดยเชื่อมโยงชีวิตในมหาวิทยาลัยเข้ากับสังคมในภาพใหญ่   ทฤษฎี IBM บอกว่า การก่อเกิดอัตลักษณ์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต    และขึ้นกับการตีความหรือให้ความหมายต่อประสบการณ์ตามบริบทต่างๆ    ว่าประสบการณ์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของตนอย่างไร    หากนักศึกษามั่นใจจากตัวแบบ ว่าตนก็มีความสามารถเรียนวิชา STEM ได้ดี   ก็จะมีแรงบันดาลใจต่อการเรียน  และมีผลการเรียนดี    ที่ผ่านมางานวิจัยหลายชิ้นให้ผลขัดแย้งกัน      

วิธีการสอนแตกต่างกัน    มีผลการวิจัยเป็นที่เชื่อถือกันทั่วไปว่า นักเรียนนักศึกษาชอบวิธีสอนต่างแบบกัน    และนักศึกษาเพศหญิงกับเพศชายชอบวิธีการสอนที่แตกต่างกัน    หากครูใช้วิธีการสอนที่ตรงกับจริตของนักศึกษา  นักศึกษาจะเรียนได้ผลดี     

อคติของอาจารย์    เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ Pygmalion Effect (3)    ซึ่งบอกว่า ความคาดหวัง (ของคนอื่น) ที่สูง ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ที่สูง    การที่อาจารย์มีความเชื่อตามข้อมูลทั่วไป ว่านักศึกษาชายทำคะแนน STEM ได้สูงกว่านักศึกษาหญิง ก็จะมีอิทธิพลต่อผลการเรียนของนักศึกษา    นอกจากนั้นอคติของอาจารย์ว่านักศึกษาชายเรียน STEM ได้ดีกว่านักศึกษาหญิง มีผลให้อาจารย์ที่รู้จักเพศนักศึกษาให้คะแนนแก่นักศึกษาชายสูงกว่านักศึกษาหญิง    ข้อมูลนี้ได้จากงานวิจัยเปรียบเทียบคะแนนสอบที่ให้โดยอาจารย์ที่รู้จักนักศึกษา กับอาจารย์ภายนอก ที่ไม่รู้จักนักศึกษา      

การวิจัยนี้ทำที่ University of California at Irvine ในปี 2013   เริ่มจากเทอมฤดูใบไม้ผลิ  และดำเนินต่อเนื่องใน 3 quarter (๑ ควอเตอร์ เท่ากับ ๑๑ สัปดาห์)    มีการเก็บข้อมูลจากการสอบถามนักศึกษาในสัปดาห์ที่ ๒ (ก่อนเรียน)  และ ๙ (หลังเรียน) ของ ควอเตอร์    จำนวนนักศึกษาที่เข้าโครงการวิจัย รวม ๙,๗๖๖ คน   โดยเก็บข้อมูลของ ๔ รายการ

ผมจะไม่เล่ารายละเอียดของวิธีการ (ซึ่งซับซ้อนมาก)   แต่จะกระโดดไปที่ผลการวิจัยเลย    โดยโจทย์วิจัยคือ การเปลี่ยนอาจารย์จากอาจารย์ชายไปเป็นอาจารย์หญิง  มีผลเปลี่ยนแปลงสมรรถนะและแรงจูงใจของนักศึกษาหญิง ในการเรียนวิชา STEM อย่างไรบ้าง    

ในด้านผลการเรียน เมื่อมีอาจารย์เป็นผู้หญิง ผลการเรียนของนักศึกษาหญิงขยับไปใกล้เคียงกับผลการเรียนของนักศึกษาชายมากขึ้น  

ทางด้านแรงจูงใจที่วัดโดย ๔ มิติ สรุปได้ดังนี้   

พฤติกรรมสนใจเรียน   ของนักศึกษาหญิงดีขึ้น เมื่ออาจารย์เป็นผู้หญิง 

ความเข้าใจวิชา    ไม่ต่างกันในนักศึกษาหญิงที่สอนโดยอาจารย์ชายกับอาจารย์หญิง  

ความรู้สึกว่าน่าสนใจ   ของนักศึกษาชายลดลงเมื่ออาจารย์เป็นผู้หญิง    ของนักศึกษาหญิงเข้าไปใกล้กับของนักศึกษาชาย  เมื่ออาจารย์เป็นผู้หญิง    โดยช่องว่างที่ลดลงนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของนักศึกษาชาย        

การเห็นคุณค่าใช้งาน   ข้อความในรายละเอียดไม่กล่าวถึง

 

จะเห็นว่าผลการวิจัยนี้ บ่งชี้ว่าการดำเนินนโยบายเพิ่มกำลังคนด้าน STEM เพศหญิง   โดยการเพิ่มอาจารย์ STEM ในมหาวิทยาลัยที่เป็นเพศหญิง  ให้ผลทั้งด้านบวก (ต่อนักศึกษาหญืง)  และด้านลบ (ต่อนักศึกษาชาย)    ผลที่เห็นชัดคือผลตามที่ระบุในวารสาร Science   ว่า IBM Theory เป็นจริง   … ภาพฝันอนาคตของตนเอง ช่วยให้บรรลุได้จริง

วิจารณ์ พานิช          

๕ พ.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 648406เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2018 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2018 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท