วัดสุทัศนเทพวรารามวัดประจำรัชกาลที่ 8


วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า "วัดมหาสุทธาวาส" โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย  ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิงเพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง

            จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จการก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม" ปรากฏในจดหมายเหตุว่า "วัดสุทัศนเทพธาราม"และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหารพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี" "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"  ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงปฎิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก

            ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรและได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

            วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนตีทอง 1 ถนนบำรุงเมือง หน้าวัดออกทางถนนอุณากรรณ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่ติดกับถนน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทิศตะวันออก ติดถนนอุณากรรณ์ ด้านทิศเหนือติดถนนบำรุงเมือง (เสาชิงช้า) ด้านทิศตะวันติดถนนตีทอง ด้วยเหตุนี้วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร จึงเป็นวัดที่มีประตูเข้าออกหลายทาง ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกจะเป็นด้านที่ประชาชนที่ขับรถมาเองเข้า-ออกเป็นประจำเพราะถนนบำรุงเมืองจอดรถไม่ได้ เกาะกลางถนนบำรุงเมืองเป็นที่ตั้งของเสาชิงช้า

สถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่

พระวิหารหลวง

            พระวิหารหลวง จำลองมาจากวัดมงคลบพิตรที่กรุงศรีอยุธยา เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 5 ห้อง กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน 1 ตับ มีชั้นซ้อน(หลังคามุข) ทางด้านหน้าและด้านหลังข้างละ 1 ชั้น และมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ 3 ตับ หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ 2 ตับ มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน 12 ต้น ทั้งสองด้านรวม 24 ต้น และเสานาง เรียงด้านข้าง ด้านละ 6 ต้น รวมทั้งหมดจึงเป็นเสา 36 ต้น เสานางเรียงและเสารับมุขหัวเสาเป็นปูนปั้นบานประตูพระวิหารหลวงเป็นบานไม้แกะสลักลายลึกเป็นรูปพฤกษามีกิ่งก้านใบและดอกตระหวัดเกาะเกี่ยวอ่อนช้อยงดงามมีสัตว์เกาะเหนี่ยวเหมือนธรรมชาติลวดลายเหล่านี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีการแกะและเริ่มแกะด้วยพระองค์ก่อน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝีมือแกะต่อเป็นบานประตูที่งดงามหาที่เปรียบมิได้ น่าเสียดายที่ปัจจุบันโดนไฟไหม้บางส่วนและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครรอบพระวิหารหลวงจะมีเจดีย์ศิลปะแบบจีนรายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์ เรียกว่า ถะรายพระวิหาร คำว่า "ถะ" เป็นเครื่องศิลาแบบจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 6 ชั้น แต่ะลชั้นเป็นช่องโปร่งซึ่งเป็นลักษณะของเรือนไฟใช้ตามประทีป ถะรายพระวิหารมี 28 ถะ หมายถึงพุทธ 28 พระองค์ ตั้งอยู่บนพนักฐานพระวิหารชั้นที่ 2

            ภายในพระวิหารหลวงมี "พระศรีศากยมุนี" ประดิษฐานเป็นพระประธาน หล่อด้วยสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 6.25 เมตร เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย อายุกว่า 600 ปี ที่ด้านหลังบัลลังก์พระพุทธรูปมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี เป็นรูปสลักปิดทองปางยมกปาฏิหารย์และปางประทานเทศนาในสวรรค์ เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก เข้าใจว่าจะมีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก

             นอกจากนี้ภายในพระวิหารหลวงยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุด แห่งหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ โครงสร้างส่วนต่างๆ ภายในมีภาพจิตรกรรมประดับอยู่โดยตลอดทุกส่วนจนไม่มีที่ว่าง และเป็นภาพที่น่าชมมาก เช่น ภาพเรื่องพระอดีตพุทธ 28 องค์ ภาพไตรภูมิโลกยสันฐานและภาพเรื่องพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าโปรดเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระวิหารคด (พระระเบียงคด)

            สร้างล้อมพระวิหารหลวงทั้ง 4 ด้าน ความกว้าง 89.60 เมตร ความยาว 98.87 เมตร ระหว่างกลาง พระระเบียงคดแต่ละด้าน มีประตูซุ้มจตุรมุข หน้าบันลำยองไม้แกะจำหลักลายปิดทองประดับกระจกสี เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังเป็นลายกนกก้านออกช่อหางโต บานประตูพระวิหารคด เป็นบานไม้ขนาดใหญ่ มีลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง (ทวารบาล) ยืนบนหลังกิเลน เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆ เช่น นรมฤค กินรี ราชสีห์ คชสีห์ นกหัสดี นกเทศ เหมราช ฯลฯ ภาพหลังบานประตูเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์บริเวณระเบียงคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง 156 องค์ บริเวณมุมพระวิหารคดทั้ง 4 มุม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งจะต่างจากพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเรียงรายอยู่ทั้ง 4 ด้าน ที่เป็นปางสมาธิราบทั้งหมด

ก๋งจีนหน้าพระวิหาร

           เครื่องศิลาสลักจีนเก๋ง ประดับอยู่ที่ลานประทักษิณชั้นล่าง ด้านหน้า มีลักษณะเป็นปราสาทแบบจีน ตั้งอยู่บนตั่งขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยตุ๊กตารูปสัตว์ ฉากหลังเป็นเขามอ

เขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์

           ตั้งอยู่บนลานประทักษิณพระวิหารหลวงชั้นล่าง ด้านหลัง เป็นภูเขาที่สลักจากศิลาจีน มีรูปฤาษีและสัตว์ที่สลักศิลาประกอบอยู่โดยรอบ สมมุติเป็นเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์จักรวาล เขาลูกนี้เดิมเป็นฉากสำหรับแสดงโขนกลางแปลงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ถวายพระอารามแห่งนี้เพื่อเทียบให้เป็นคติแก่จักรวาลกับพระวิหารหลวง

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8

           พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ประดิษฐานไว้บริเวณลานประทักษิณ ชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือพระวิหารหลวง พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ประทับยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง

          วัดสุทัศนเทพวรารามถือกันว่าเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 8 เพราะทรงมีความเกี่ยวข้องกับวัด คือ เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก ได้เสด็จมาที่วัดนี้และทรงพระราชปรารภว่าสถานที่วัดสุทัศน์ฯ ร่มเย็นน่าอยู่ และเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สกลมหาสังฆปรินายก (แพ ติสสเทโว) ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายโอวาท

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบรมเชษฐาธิราชเจ้าไว้ ณ ผ้าทิพย์ เบื้องหน้าฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี (พระประธานในพระวิหารหลวง) และในวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตจะจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดสุทัศน์ นี้เป็นประจำทุกปี

พระอุโบสถ

           พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ยาวสวยงามที่สุดในประเทศไทยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 เมตร เป็นอาคารสูงใหญ่มาก มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด 68 ต้น หลังคา 4 ชั้น และชั้นลด 3 ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวเป็นพื้น คั่นกรอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง หน้าบันมุขหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลักลาย ประดับกระจกสี มีประตูด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู รวม 4 ประตู หน้าต่างด้านข้างด้านละ 13 ช่อง รวมทั้งหมด 26 ช่อง

          ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน คือ "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" เป็นพระปางมารวิชัยที่หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และถวายพระนามโดยรัชกาลที่ 4 เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะทั้งองค์ หน้าตักกว้าง10 ศอก 8 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง  เบื้องหน้าพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดาที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร สร้างด้วยปูนปั้นลงสีนั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เฉพาะที่บานแผละของหน้าต่างพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ ทั้ง 26 บาน เขียนภาพเกี่ยวกับวรรณคดีไทย รวม 13 เรื่อง ส่วนที่บานแผละของประตูทั้ง 4 บาน เขียนเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องราวที่เขียนเลือกเอาเฉพาะเหตุการณ์ตอนเด่นๆ ของแต่ละเรื่องมานำเสนอเรียงลำดับกันไปตาม ท้องเรื่อง เป็นผลงานของจิตรกรสมัยรัชกาลที่ 3 และส่วนใหญ่อยุ่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง 3 เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ 1 ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน 3 ดอก บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้มีเกยอยู่ด้านละ 4 เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า "เกยโปรยทาน"

ศาลารายพระอุโบสถ

        เป็นศาลาก่ออิฐถือปูนเตี้ยชั้นเดียวหลังคาจั่วทรงไทยมุงกระเบื้อง หน้าบันปูนปั้นลายดอกและเถาแบบจีนซุ้มประตูแบบจตุรมุขกั้นแนวเขตระหว่างเขตพุทธาวาสกับเขตสังฆวาส

ศาลาลอย

        ศาลาลอยมีฐานหรือยกพื้นสูงอยู่ระดับเดียวกับกำแพง เรียงกันอยู่ตามแนวกำแพงด้านหน้า หรือด้านทิศเหนือทั้งหมด 4 หลัง รูปแบบทรงไทยผสมจีนและยุโรป ศาลาหลังริมที่อยู่ด้านตะวันออก เป็นศาลาเปลื้องเครื่องของพระมหากษัตริย์ ก่อนที่จะเสด็จเข้าสู่พระวิหาร ศาลาหลังที่ 2 ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่อง มีเกยสำหรับเทียบเสด็จเข้าด้านหน้า ซึ่งยังมีเกยสำหรับเทียบอยู่ สำหรับศาลาอีกสองหลังถัดไปนั้นคงเป็นสถานที่สำหรับประทับทอดพระเนตรพระราชพิธีโล้ชิงช้าของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยก่อน

ศาลาดิน

         ศาลามีฐานหรือยกพื้นต่ำ เรียงตามแนวกำแพงวัดในเขตพุทธาวาส ด้านทิศตะวันออก ทั้งหมดมี 4 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไย หลังคาจั่วมุงกระเบื้อง หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้และเถาแบบจีนศาลาทั้ง 4 หลังนี้เดิมใช้เป็นที่จัดเตรียมเครื่องไทยธรรม ก่อนที่จะนำเข้าพิธีในบริเวณพระวิหารหลวงหรือพระอุโบสถ

ศาลาการเปรียญ

        อยู่ในเขตสังฆาวาสของวัด สร้างในสมัยราชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทยที่สวยงามมาก ภายในเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธเสรฏฐมุนี" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อด้วยทองเหลืองของกลักฝิ่นที่จับรวบรวมมาได้เมื่อ พ.ศ. 2382

หอระฆัง

         หอระฆังอยู่ในเขตสังฆาวาส บริเวณเดียวกันกับศาลาการเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปทรง 8 เหลี่ยม ช่วงมุมเหลี่ยมทำเป็นเสาแนบติดผนัง เจาะผนังเป็นช่องวงโค้ง หลังคาโดมคล้ายหมวกรูป 8 เหลี่ยม

สัตตมหาสถาน

         สัตตมหาสถานในศาสนาพุทธ หมายถึง สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากได้ทรงตรัสรู้ธรรมวิเศษแล้วเป็นเวลาแห่งละ 1 สัปดาห์

        สัตตมหาสถานในวัดสุทัศนเทพวราราม หมายถึง สถานที่สำคัญ 7 แห่ง รัชกาลที่ 3โปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองขึ้นแทนพระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอุณากรรณ เรียงเป็นแถวแนวทิศเหนือ ทิศใต้ ประกอบไปด้วย

   1.ต้นโพธิ์ลังกา (สมมุติเป็นต้นมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้)

   2.เก๋งจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร  (สมมุติเป็นอนินมิสเจดีย์ที่ประทับยืนทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์)

  3.แผ่นศิลาปูนบนฐานสี่เหลี่ยมสูง (สมมุติเป็นที่รัตนจงกรมเจดีย์)

  4.ศาลาศิลาทรงโรงแบบจีน (สมมุติเป็นเรือนแก้วหรือรัตนฆรเจดีย์)

  5.ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามธิดาพญามาร (สมมุติเป็นต้นอชปาลนิโครธ)

  6.ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก (สมมุติต้นจิกเป็นต้นมุจลินท์)

   7.ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรับผลสมอนั่งสมาธิ (ต้นเกดนี้มีคุณสมบัติเป็นต้นไม้ราชายตนะ)

     ในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 บริเวณสัตตมหาสถานนี้ใช้เป็นที่สำหรับเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาและปัจจุบันพิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาใช้บริเวณพระวิหารหลวงแทน

หมายเลขบันทึก: 648353เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2018 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2018 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท