PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๘ : ค่ายพัฒนาครูผู้จะไปจัดค่ายเรียนรู้ภาษาไทย (๑)


วันที่ ๑๓-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ กิจกรรม PLC อบจ.ขอนแก่น จัดค่ายเรียนรู้ครู ณ วารีวัลเลย์รีสอร์ท อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้ครูได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้หลักสูตร ๒ วัน ดูหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ รายชื่อวิทยากร และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับค่ายได้ที่นี่

ขออภัยเพื่อนคุณครูและผู้บริหาร อบจ. เป็นอย่างสูง ที่เขียนบันทึกนี้ล่าช้าไปถึง ๓ สัปดาห์ ก็คงต้องแก้ตัวด้วยภาระงานต่อเวลาที่ไม่ "เกิ่งกัน" หวังว่าความตั้งใจและจริงใจจะให้ผลไม่แพ้กัน ... เพื่อให้เป็นประโยชน์ที่สุด ขอมุ่งเอาผลงานของคุณครูที่ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนมาสรุปไว้ให้ท่านผู้อ่านนำไปต่อยอดปรับใช้ หรือได้ระลึกร่วมกันในกิจกรรมวันนั้น 

ขอขอบพระคุณสำหรับกลอนจากคุณครูที่มอบให้ทีมวิทยากรก่อนจะจากกัน ขอบันทึกไว้เป็นที่ระลึกที่นี่ โดยเฉพาะสองบาทสุดท้าย ที่ถือเป็นเป้าหมายของชาว PLC อบจ. ขอนแก่น และครูเพื่อศิษย์ทุกท่าน 

เรียนสนุกสุขใจใครผู้สร้าง   เติมแนวทางสานงานการศึกษา
มาวันนี้ได้เรียนรู้เพิ่มวิชา    เพื่อต้นกล้าของขอนแก่นให้ก้าวไกล
ขอบพระคุณวิทยากรสอนให้รู้   สร้างนักสู้สู่นักคิดแสนสดใส
สื่อสอนศิษย์ส่งสร้างหนทางไกล   ขอขอบคุณด้วยใจในพระคุณ
ขอสัญญานำวิชาไปสร้างศิษย์   ให้พิชิตเป็นพื้นฐานสานเกื้อหนุน
ภาษาไทยใบเบิกสร้างแห่งทางบุญ  เพื่อตอบแทนความการุญด้วยหัวใจ

จากกิจกรรม AAR ด้วยคำถาม ประทับใจอะไร/จะนำอะไรไปใช้บ้าง โดยให้คุณครูเขียนสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) ลงในกระดาษครึ่ง A4  มีคุณครูสะท้อนกลับทั้งหมด ๖๔ ท่าน สิ่งที่คุณครูประทับใจและจะนำไปใช้แบ่งได้เป็น ๕ กลุ่ม เรียงตามลำดับความถี่ ได้แก่ ๑) กิจกรรมการเรียนรู้แบบสันทนาการ ละลายพฤติกรรม (๒๐ ท่าน) ๒) เทคนิค วิธีการสอน และสื่อการสอนภาษาไทย (๒๐ ท่าน) ๓) รูปแบบและแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ (๖ ท่าน) และ ๔) กระบวนการ ๖ ขั้นเพื่อแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (๖ ท่าน) และ ๕) กิจกรรมสร้างสติ เสริมสมาธิ สู่การเรียนรู้อย่างมีความสุข จิตตปัญญาศึกษา (๓ ท่าน) ส่วนที่เหลือ (๙ ท่าน) เขียนบอกกว้างๆ ว่าจะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดไปปรับใช้ในโรงเรียนของตน

ขอถอดบทเรียนแต่ละประเด็นให้เห็นในรายละเอียด เพียงพอที่คุณครูจะระลึกได้ชัดเจน และเห็นตัวอย่างสำหรับแนวทางนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง โดยแยกเป็นบันทึกๆ ไป นะครับ

มาเริ่มกันบันทึกหน้าครับ ...

หมายเลขบันทึก: 648071เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2018 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นำมาฝาก เพื่อ เชื่อมโยง ที่ อาจารย์ ดำเนินการครับ

ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอน ของ มจธ.เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๑    เกิดการอภิปรายวิธีดูผลงานของอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้แบบ service learning    ซึ่งวงการศึกษามักเผลอมองผิดจุด

เรามักมองที่ผลที่โครงงาน หรือกิจกรรมที่นักศึกษาดำเนินการ    หากผลงานได้ผลดีมาก เช่นชุมชนมีการพัฒนาอย่างดี    เราก็มักจะหลงตัดสินว่าเป็นความสำเร็จของ service learning นั้น    นั่นคือการหลงทาง

เป้าหมายที่แท้จริงของ service learning คือการเรียนรู้ หรือพัฒนาการของนักศึกษา     นักศึกษาได้อาศัย service learning ในการพัฒนา ASK ของตนเอง   

 A = Affective domain  หรือ attitude   ซึ่งเป็นมิติด้านจิตใจ จิตวิญญาณ

S = Skills   มิติด้านการพัฒนาทักษะที่เป็นเป้าหมาย

K = Knowledge   มีติการเรียนรู้ด้านเนื้อหาความรู้  

การเขียนเสนอผลงานเพื่อรับรางวัล ควรเขียนให้ชัดว่า เป้าหมายการเรียนรู้คืออะไร    ใช้ service learning เป็น means สู่เป้าหมายการพัฒนานักศึกษาอย่างไร    และในที่สุดนักศึกษาเกิด competency ต่างๆ ตามเป้าหมายอย่างไร

ผมมีความเห็นว่า service learning ที่มีพลังต้องมีกระบวนการตั้งเป้า ที่นักศึกษามีบทบาทสำคัญ    รวมทั้งนักศึกษาได้ทำความเข้าใจว่ากระบวนการ service learning นั้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้นั้นๆ อย่างไร   แล้วระหว่างทำกิจกรรม service learning  นักศึกษาได้ร่วมกันทำ reflection เป็นระยะๆ อย่างไร   

Reflection เป็นกระบวนการช่วยให้นักศึกษาเชื่อมโยงความรู้ปฏิบัติกับความรู้ทฤษฎีเข้าหากัน   ช่วยให้มีความเข้าใจที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น 

วิจารณ์ พานิช        

๑๓ พ.ค. ๖๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท