การพัฒนาที่ยั่งยืน


การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องไม่ไกลตัวแต่หากเกิดขึ้นกับตนเอง

             พระธรรมปิฏก (2539) กล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า หมายถึง การพัฒนาที่สนองตอบความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบันโดยไม่กระทบกระเทือนความ สามารถของคนรุ่นต่อไปในการที่จะสนองตอบความต้องการของเขาเอง ในขณะที่ ฉลิมเกียรติ แก้วหอม (2558) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามความหมายที่องค์กรสหประชาชาตินิยามไว้ คือ รูปแบบของการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต ต้องประนีประนอม ยอมลดทอนความสามารถ ในการที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่า 

ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่เกิดสภาพที่ไม่พึงปรารถนาต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านต่างๆ ให้กับชุมชนและสภาพแวดล้อมโดยรอบ มีการกระจายผลประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย

               การพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จได้จะต้องพัฒนาคนให้มีจริยธรรม  พระพรหมคุณาภรณ์  (ป.อ.ปยุตฺโต) (2552) ได้กล่าวถึงระบบการพัฒนาที่ยั่งยืน  มองจาก  4  ปัจจัย  คือ  หนึ่งได้แก่ มนุษย์ที่ต้องมุ่งให้การศึกษาและจัดสรรปัจจัยเกื้อหนุนอื่นเพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงาม เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ พึงพัฒนาคนให้มีคุณภาพมีสุขภาพดี ขยัน อดทน รับผิดชอบ มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่จัดสรรให้เกื้อหนุนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  สองคือ สังคมที่ควรจัดระบบสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การบริหาร ตลอดจนกิจการต่าง ๆ ให้ประสมกลมกลืนสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนฐานแห่งความรู้ความเป็นจริง สร้างบรรยากาศแห่งความไม่เบียดเบียน บรรยากาศแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูล พิทักษ์ปกป้องคนที่อยู่ในสถานะต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสมีความสามารถต่างกัน สามได้แก่ ธรรมชาติโดยการมองตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องมีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้โลกน่าอยู่ และปัจจัยที่สี่ คือ  เทคโนโลยีทั้งการใช้และการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาและอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเกื้อกูล พัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเองอย่างพอเพียง

                จากที่กล่าวมา สรุปได้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงผลกระทบจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเสรีนิยมต่อสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เพื่อการพัฒนายั่งยืน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัฒน์ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านของสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจทั้ง การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนา พิจารณาแบบองค์รวมในแง่ของการมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับความต้องการของทุกฝ่ายซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม และไม่ส่งผลกระทบในทางลบของการพัฒนาในอนาคต

                   ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องไม่ไกลตัวแต่หากเกิดขึ้นกับตนเองในการลดการใช้พลังงานและวัสดุ ละความโลภในการบริโภคสังคมและสภาพแวดล้อม เลิกพฤติกรรมที่ไม่คำนึงถึงสังคมในอนาคต เติมพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ช่วยสร้างสังคมการเรียนรู้อย่างพอเพียงเพื่อวันข้างหน้า

                  การจัดการความรู้จึงเข้ามามีบทบาทเนื่องจากการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนจะต้องเกี่ยวข้องกับความรู้และสภาพแวดล้อม หากเราสามารถหาวิธีในการค้นหาความรู้โดยเฉพาะที่มีอยู่แล้วในแต่ละคนมาใช้ร่วมกันและใช้ประสบการณ์ในการร่วมกันใช้ความรู้จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของการทำงานสามารถต่อยอดพัฒนาเชิงรุกได้ โดยเฉพาะการให้บริการยิ่งมีความจำเป็นเพราะเราจะบริการอย่างไรให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจซึ่งเกิดจากผลการให้บริการที่ตรงกับความต้องการและเกินความคาดหมาย

หมายเลขบันทึก: 647963เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2018 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท