เปิดภาคเรียนใหม่ พูดเรื่องเสียงสระในภาษาไทย อีกครั้ง


สระไทยมีกี่หน่วยเสียง?

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์ gotoknow.org เมื่อหลายปีก่อน ถ้าท่านต้องการรายละเอียดไปหาอ่านได้ ปัจจุบันผมยังเขียนอยู่ในเว็บไซต์นี้ ในบล็อกภูมิปัญญาภาษาไทย และเรียนรู้อนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน เชิญติดตามผลงานได้นะครับ 

ตอนเรียนชั้นประถมศึกษา ครูสอนว่า สระไทยมี ๓๒ เสียง

พอมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ครูสอนว่า สระไทยมี ๒๔ เสียง

พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รู้สึกจะเป็น ม.๖ ครูบอก สระในภาษาไทย มี ๒๑ หน่วยเสียง

ถ้าท่านเป็นครูภาษาไทย ท่านจะสอน จะอธิบายอย่างไร

ถ้าท่านเป็นนักเรียน ท่านจะทำอย่างไร

ใครอธิบายได้เชิญครับ

แต่ถ้าอยากทราบ ผมจะมาอธิบายต่อไปครับ

สระไทยมี ๒๑ หน่วยเสียง ได้อย่างไร

๑.ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาครูสอนว่า สระมี ๓๒ เสียง ๑.๑ สระเดี่ยว(๑๘ เสียง)

๑.สระอะ ๒.สระอา ๓.สระอิ ๔.สระอี ๕.สระอึ ๖.สระอื๗.สระอุ ๘.สระอู ๙.สระเอะ ๑๐.สระเอ ๑๑.สระแอะ ๑๒.สระแอ ๑๓.สระโอะ ๑๔.สระโอ ๑๕.สระเอาะ ๑๖.สระออ๑๗.สระเออะ ๑๘.สระเออ

๑.๒ สระประสม(๖ตัว)

๑๙.สระเอียะ ๒๐.สระเอีย ๒๑.สระเอือะ ๒๒.สระเอือ๒๓.สระอัวะ ๒๔.สระอัว

๑.๓ สระเกิน(๘ ตัว)

๒๕. สระอำ ๒๖.สระใอ ๒๗.สระไอ ๒๘.สระเอา๒๙. สระฤ ๓๐. สระฤา ๓๑.สระตัว ฦ  ๓๒.สระตัว ฦา 

๒.พอตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ครูบอก สระเกิน ไม่ใช่สระใหม่ เป็นสระเดี่ยวที่มีเสียงพยัญชนะสะกด หรือประสม เช่น สระอำ คือ สระอะ-ม (สะกด = อัม=เสียง อำ)สระใอ,ไอ คือ สระอะ-ย(สะกด=อัย=ใอ=ไอ)สระเอาคือ สระอะ-ว(สะกด=อว=เอา เช่นชวลิต)ส่วน ฤ ฤา ฦฦา ก็คือ เสียง ร และ ล ที่ประสมสระอึ และ สระอื นั่นเองดังนั้น สระจึงเหลือ ๒๔ตัว(สระเดี่ยว ๑๘ + สระประสม ๖ )

๓.พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูอธิบายว่า สระประสม ๓ คู่ ๖ เสียงนั้น

เอียะ กับ เอีย ความสั้นยาวของเสียง ไม่ทำให้ความหมายของคำต่างกัน เรียกว่าไม่มีนัยสำคัญทางความหมายเอือะ กับ เอืออัวะ กับ อัวก็เช่นกัน ฉะนั้น เอียะ เอีย ๒ เสียง แต่ เป็น ๑ หน่วยเสียงเอือะ เอือ ๒ เสียง แต่เป็น ๑ หน่วยเสียงอัวะ อัว ๒ เสียง แต่เป็น ๑ หน่วยเสียงรวมเป็น ๓ หน่วยเสียงฉะนั้น ๑๘ + ๓ จึงเป็น ๒๑ หน่วยเสียง

หลายคนคงงง เรื่องความสั้นยาวของเสียง ไม่ทำให้ความหมายของคำต่างกัน เรียกว่าไม่มีนัยสำคัญทางความหมายแล้ว ผมจะยกตัวอย่างให้เข้าใจต่อไปครับว่า ทำไม ทีสระ อะ กับ อา(และสระเดี่ยวอีก ๘ คู่) จึงเป็น ๒ เสียง ๒ หน่วยเสียง ไม่ใช่ ๒ เสียง ๑ หน่วยเสียง เหมือนสระประสม ๓ คู่ ๖ เสียงนั้น

ทำไมสระไทยมี ๒๑ หน่วยเสียงตอนจบ(ครูภาษาไทยต้องตอบได้)

ทำไม

สระเอียะ สระเอีย นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียงสระเอือะ สระเอือ นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียงสระอัวะ สระอัว นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียง

แต่ สระเดี่ยวทั้ง ๙ คู่ ๑๘ เสียง นับเป็น ๑๘ หน่วยเสียง

ทางภาษาศาสตร์ เขาใช้เครื่องมือ คำคู่เทียบพยางค์มาตรวจสอบคำคู่เทียบพยางค์ เป็นอย่างไร

เช่นเราจะพิสูจน์ว่า สระอะ กับ สระอา เป็นคนละหน่วยเสียง ไม่ใช่นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียง เหมือนพวกสระเอือะ สระเอือให้ทำดังนี้

๑.หาคำมา สองคำ คำหนึ่ง ประสมสระอะ อีกคำประสมสระอา

๒.ให้ทั้ง ๒ คำนี้ มีส่วนประกอบ เหมือนกันในส่วนต่างๆ แต่ต่างกัน ในเรื่องความสั้นยาวของสระ คือคำหนึ่งต้องเป็นสระอะ อีกคำเป็นสระอา (ตรงนี้อาจต้องใช้คำว่าคล้ายกันมากที่สุดแทนคำว่าเหมือนกัน เพราะอาจมีนักภาษาศาสตร์ที่รู้จริงบางท่านทักท้วง นักภาษาศาสตร์ที่ไม่รู้จริงอย่างครูพิสูจน์) ตัวอย่างเช่น

ปะ - ป่า

ปะ มี พยัญชนะต้น คือ ป เสียงวรรณยุกต์เอก ไม่มีตัวสะกด

ป่า มี พยัญชนะต้น คือ ป เสียงวรรณยุกต์เอก ไม่มีตัวสะกด

ปะ กับ ป่า ต่างกันที่เสียงสระ ปะเสียงสระอะ ป่า เสียงสระอา

ปะ มีความหมายว่า มาเจอกัน,ปิดทับ,เอาวัตถุเช่นผ้า หรือไม้ ปิดทับส่วนที่ชำรุดเป็นช่องเป็นรู

ป่า มีความหมายว่า ที่ที่มีต้นไม้ต่างๆขึ้นมา

จากตัวอย่างเหล่านี้ แสดงว่าความสั้น ยาวของเสียงสระ มีผลทำให้คำมีความหมายต่างกัน เรียกว่ามีนัยสำคัญทางความหมาย(ที่ผมเคยกล่าวไว้ในโพสต์ที่ผ่านมา)

เราสามารถเปรียบเทียบ ทำแบบนี้กับสระทั้ง ๙ คู่ ๑๘ เสียง คือ๑.สระอะ ๒.สระอา ๓.สระอิ ๔.สระอี ๕.สระอึ ๖.สระอื๗.สระอุ ๘.สระอู ๙.สระเอะ ๑๐.สระเอ ๑๑.สระแอะ ๑๒.สระแอ ๑๓.สระโอะ ๑๔.สระโอ ๑๕.สระเอาะ ๑๖.สระออ๑๗.สระเออะ ๑๘.สระเออ

แต่ จะไม่สามารถทำแบบนี้ กับ สระประสมทั้ง ๓ คู่ ๖ เสียง คือสระเอียะ สระเอีย สระเอือะ สระเอือ สระอัวะ สระอัว

ได้

ดังนั้น เราจึงสรุปว่า ความสั้นยาวของสระประสม ๓ คู่ ๖ เสียงดังกล่าว ไม่สามารถทำให้คำมีความหมายต่างกันได้ ไม่มีนัยสำคัญทางความหมาย จึงนับเป็น ๓ หน่วยเสียง แต่ละหน่วยเสียง จะมี ๒ เสียงย่อย คือเสียงสั้น กับเสียงยาว นั่นคือ

สระเอียะ สระเอีย นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียงสระเอือะ สระเอือ นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียงสระอัวะ สระอัว นับรวมเป็น ๑ หน่วยเสียง

พอจะเข้าใจไหมครับ ครูภาษาไทย รุ่นใหม่

หมายเหตุ คำคู่ที่นำมาเทียบกันต้องมีความหมาย นะครับ ห้ามนำเสียงธรรมชาติมาใช้ เช่น

เชือะ กับ เชื้อสองคำนี้มีพยัญชนะต้น ช เสียงวรรณยุกต์ ตรี และไม่มีตัวสะกดเหมือนกัน ตามตัวอย่างข้างต้น

เชือะ หมายถึง เป็นเสียงไล่ไก่ เชือะๆ

เชื้อ หมายถึงสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอื่น

แล้วสรุปว่า สระเอือะ กับ สระเอือ เป็นคนละหน่วยเสียง อย่างนี้ เขายังไม่ยอมรับนะครับ ไม่ได้นะครับ

คำสำคัญ (Tags): #เสียงสระไทย
หมายเลขบันทึก: 647302เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2018 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท