ทุนนิยมกับทฤษฎีอาชญาวิทยาจาก Anomie ถึง Strain Theory สู่วิถีพอเพียง Sufficiency Economy


 

ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
นักอาชญาวิทยา 

 

 

     


 

 

         ....แล้วการสอบก็ดำเนินมาถึงคำถามสุดท้าย อาจารย์กรรมการสอบถามว่า

          “ไหนคุณลองอธิบายความสัมพันธ์ ทฤษฎีความกดดัน จาก เดอร์ไคม์ ถึง แอ๊คนิว ให้ฟังหน่อย และจะแก้ไขปัญหาสังคมนี้อย่างไร? 

          ผมพยักหน้าตอบว่า “ได้ครับ แต่มันยาวมาก ผมขอสรุปเป็นหลักการคร่าวๆ ดังนี้ครับ” 

          หยุดตั้งสติมองเพดานนิดนึง

          “.....ในปี 1893 เอมิลล์ เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) เป็นคนแรกที่เสนอคำว่า Anomie ครับ ...Anomie หมายถึง สภาวะที่คนบางกลุ่มเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกไปไม่ยอมปฏิบัติตามบรรทัดฐานสังคม (Deviance) ไม่ว่าจะเป็น จารีตประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติตามวิถีปกติของคนในสังคมนั้น และหากบรรทัดฐานดังกล่าวเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา นั่นคือ การก่ออาชญากรรมได้เกิดขึ้นแล้วครับ ตามความเข้าใจของผม

          สาเหตุที่ เดอร์ไคม์ ได้ให้ความหมายของ Anomie นั้น เกิดจากการที่เขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมฝรั่งเศส จากยุคปฏิวัติเกษตรกรรมไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ จึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้สังคมกลายมาเป็น Anomie ครับ”

 

 

             นั่งนึกในใจไม่มีไรผิดนะ งั้นรัวคำตอบต่อดีกว่า

          “...ต่อมาในปี 1920 ได้เกิดสำนักอาชญาวิทยาสังคมศาสตร์ โดยกลุ่มนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ทำการศึกษาวิจัยก่อกำเนิดแนวคิดทฤษฏีต่างๆ อธิบายปรากฎการณ์อาชญากรรมนั้นว่าเกิดจากสังคม ซึ่งเป็นสามาเหตุมาจากระบบนิเวศน์ของมนุษย์ก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้น

       ซึ่งพวกเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใน ชิคาโก เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นกัน คนเข้าสู่เมืองมากขึ้น มีความเป็นเมืองมากขึ้น (Urbanization) แต่คนกลับไม่รู้จักกัน ความเป็นปึกแผ่นน้อยลง สังคมอ่อนแอมากขึ้น ความเป็นอยู่แออัดมากขึ้น ชุมชนเสื่อมโทรมลง ค่านิยม วัฒนธรรม แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้เกิดเป็นสภาวะไร้ระเบียบสังคมที่เรียกว่า Social Disorganization การเติบโตของบ้านเมืองอย่างรวดเร็วนำไปสู่สภาวะการไร้ระเบียบและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นเหตุให้ชุมชนนั้นมีอาชญากรรมสูงขึ้น”

 

          ผมสลับสายตาไปมามองกรรมการสอบแต่ละท่าน พร้อมใช้ภาษามือประกอบท่าทาง ใจจริงอยากลุกไปเขียนกระดาน แต่ไม่ดีกว่า ใช้เวลาให้น้อยที่สุดดีกว่า

 

 

          “....ต่อมาในปี 1938 โรเบิร์ต เมอร์ตัน (Robert Merton) ได้พัฒนาทฤษฎีที่มีชื่อเสียงขึ้นมาคือ ทฤษฎีความกดดัน (Strain Theory) ซึ่งพัฒนามาจาก Anomie ของ เดอร์ไคม์ โดย เมอร์ตัน อธิบายว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนของคนไปจากบรรทัดฐานของสังคมนั้น เกิดจากความขัดแย้งทาง ค่านิยม ของสังคมกับ วิธีการ ในการบรรลุวัตถุประสงค์…

     ....ใน อเมริกา ค่านิยม ที่เป็นตัวกำหนดความมุ่งหมายของคนในสังคมที่ทุกคนควรจะไขว่คว้าหามาให้ได้ คือ ความร่ำรวย ที่เรียกว่า American dream....” อาจารย์กรรมการสอบพยักหน้า

Robert Merton
 

 

 

        “ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน นั้นหมายถึงทุกคนมีสิทธิจะรวยได้ แตกต่างกันก็แค่ความรู้ ความสามารถ แต่การยกย่องคนรวยนั้นเลยเถิดไปถึงการที่ ไม่ว่าเขาจะรวยด้วยวิธีใดก็ตาม คนรวยก็ยังได้รับการยกย่อง ทำให้การที่ชนชั้นล่างไม่สามารถบรรลุความสำเร็จตามค่านิยมของสังคมได้หรือไม่มีความสามารถที่จะทำให้ตนรวยได้ ก็เกิดความกดดัน จนเกิดปฏิกิริยาตอบโต้สังคมไม่ยอมปฏิบัติตามบรรทัดฐานหรือกฎหมาย แต่เป้าหมายยังเป็นค่านิยมเดิม คือ ต้องรวย แต่เปลี่ยนวิธีการ เพื่อให้ตนร่ำรวยโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเกิดการก่ออาชญากรรมขึ้นในที่สุด”

       “ต่อมาทฤษฎีความกดดันได้ถูกพัฒนาต่อโดย โคเฮน (Cohen,1955) โคเฮน ได้มุ่งศึกษาแก๊งค์วัยรุ่น เขาเชื่อว่า เมื่อวัยรุ่นชนชั้นล่าง ซึ่งเขาเรียกว่า ชนชั้นทำงาน (Working Class) มาเข้าเรียนในสถานศึกษา แล้วได้รับผลกระทบความกดดันจากค่านิยมชนชั้นกลาง ทำให้เกิดพฤติกรรมโต้ตอบสังคมเกิดเป็นการก่ออาชญากรรม และเป็นอาชญากรรมที่แตกต่างจากอาชญากรรมทั่วไปที่มุ่งต่อ ทรัพย์สิน หรือ แก้แค้น แต่พวกเขาต้องการ การยอมรับ”

       ผมขยับท่าทางอธิบายต่อ 

       “ผมจำได้ดีเลยครับค่านิยมชนชั้นกลาง (Middle Class Value) มี 9 ข้อ" ...ในใจก็แอบนึกว่า แท้จริงแล้วผมเป็นชนชั้นล่างรึเปล่านะเพราะรู้สึกตัวเองตรงข้ามกับค่านิยมชนชั้นกลางแทบจะทั้งนั้น และตอนเด็กก็ได้รับผลกระทบจากค่านิยมชนชั้นกลางเหมือนกัน 555 ก็นึกถึงหน้าพ่อแม่ และอมยิ้มในใจ...

        "1ความอยากและความทะเยอทะยาน 2ความรับผิดชอบ 3ความประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน 4ความรู้จักระงับชั่งใจในความต้องการของตนเอง 5ความสามารถในการวางแผนระยะยาวและบริหารเงิน 6มีกิริยาวาจาสุภาพ 7การควบคุมความก้าวร้าว 8การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม 9การเคารพสิทธิผู้อื่น" อาจารย์กรรมการสอบทั้งสองท่านพยักหน้าพอใจ

         "โคเฮน อธิบายว่า เมื่อเด็กจากชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงานที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่มีการวางแผน ก้าวร้าว ไม่ถูกเลี้ยงมาด้วยความรัก ไม่ใช้เหตุผล เป็นต้น เมื่อเข้ามาในโรงเรียนได้พบกับค่านิยมของชนนั้นกลาง อาทิเช่น ความทะเยอทะยาน ความต้องการความสำเร็จระยะยาวทั้ง การเรียนและการงาน ความไม่ก้าวร้าว การควบคุมอามรมณ์เป็น ความเป็นคนสุภาพเรียบร้อย เคารพสิทธิผู้อื่น และอีกหลายๆ อย่างที่ชนชั้นกลางเลี้ยงดูลูกพวกเขามาอย่างนั้นตามค่านิยมที่เป็นมา

         ทำให้เด็กๆ จากชนชั้นล่างที่ปรับตัวไม่ได้ พวกเขาได้รับความกดดันมากขึ้น เกิดการตอบโต้กลับไปยังสังคม ด้วยพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานสังคม และพวกเขาไปสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ เป็นวัฒนธรรมรอง เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมหลักของสังคมมิใช่การปฏิวัติโครงสร้างสังคม”

        ค่านิยมจากการวิจัยของโคเฮนนั้นไม่ธรรมดาจริงๆ ลึกซึ้งมาก จำเป็นด้วยเหรอที่เราเกิดมาแบบไหนแล้วต้องเปลี่ยนตัวเองไปเหมือนแบบเขา ถึงแม้จะดีกว่าแต่ถ้าเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน กลับกลายเป็นว่าความบีบคั้นกดดันอย่างมากที่คนที่เกิดมาเป็นชนชั้นล่างต้องถีบตัวมาเป็นตัวให้เหมือนชนชั้นกลาง นอกจากเขาเดือดร้อนมากแล้ว ถ้าทำไม่ได้สังคมเดือดร้อนอีก        

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

          .... “ต่อมา โควาร์ด และโอลิน (Cloward and Ohlin,1961) ได้พัฒนาทฤษฎีวัฒนธรรมรองต่อเนื่องมาอีกหลายประเด็น โดยเห็นด้วยว่าความอยากร่ำรวยมากเกินไปในวัฒนธรรมหลัก สร้างความกดดันให้คนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนชนชั้นล่างที่ปรับตัวไม่ได้จึงไปสร้างวัฒนธรรมรอง โดยการก่ออาชญากรรมให้ได้รับการยอมรับ

        แต่โควาร์ด และ โฮลิน กลับเห็นว่าเยาวชนทุกคนไม่ใช่จะมีความสามารถก่ออาชญากรรมที่สร้างความร่ำรวยได้เหมือนกันทุกคน พวกเขาจึงเสนอทฤษฎีวัฒนธรรมรอง แตกย่อยออกมาอีกสามทฤษฎี คือ

      หนึ่ง วัฒนธรรมรองอาชญากรรม (Criminal Subculture) คือ การที่เยาวชนรวมตัวกันประกอบอาชญากรรม เช่น ลักทรัพย์ ปล้น ฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเพื่อสร้างการยอมรับในสังคม

       สอง วัฒนธรรมรองขัดแย้ง (Conflict Subculture) คือ ใช่ว่าเยาวชนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จจากการร่ำรวยอย่างถูกกฎหมาย จะสามารถไปทำเรื่องผิดกฎหมายแล้วรวยได้ทุกคน เพราะต้องใช้ความสามารถหรือความฉลาดเช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงแสดงออกตอบโต้มาด้วยการเป็นคน ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง พวกเขาไม่สามารถเรียนรู้วิธีหาเงินผิดกฎหมายได้ จึงสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ได้รับการยอมรับด้วยการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มหรือการต่อสู้ระหว่างแก๊งค์

      สาม วัฒนธรรมรองหลบหนี (Retreats Subculture) พวกเขาไม่สามารถประสบความสำเร็จร่ำรวยได้ทั้งวิธีถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และพวกเขาอ่อนแอไม่สามารถแสดงความรุนแรงหรือต่อสู้เอาชนะใครได้ จึงหลบหนีออกจากสังคม มีพฤติกรรมตอบโต้ความกดดันของสังคมออกมาในรูปแบบอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ เช่น การเสพสุรา ยาเสพติด เยาวชนเหล่านี้จะหลบหนีจากสังคมไปสร้างวัฒนธรรมใหม่”  

    อธิบายไปก็ถอนหายใจเหนื่อยแทนเด็กยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา แว่บนึงก็นึกถึงตัวเองได้รับความกดดันมาเยอะเลย กว่าจะมานั่งสอบปากเปล่าวันนี้ วิชาสุดท้ายแล้ว ถ้าผ่านก็ได้เป็น Ph.D. Candidate ถ้าไม่ผ่านก็รีไทร์เลย กดดันจิมๆ น้ำตาจิไหล เอ่าลุยต่อ

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

 

         “...ทีนี้ทฤษฎีวัฒนธรรมรอง ถูกพัฒนาต่อมาถึง โรเบิร์ต แอ๊คนิว (Robert Agnew) เรียกว่า ทฤษฎีความกดดันทั่วไปของ แอ๊คนิว  Agnew’s General Strain Theory” เกือบจะพูดผิดตอนพูดศัพท์ภาษาอังกฤษ หยุดคิดไปพักนึงเหมือนกันครับ

      “ในปี 1985 แอ๊คนิว ได้ให้ความเห็นว่า ความกดดันที่จะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบสังคมในการก่ออาชญากรรมนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจหรือความร่ำรวย เท่านั้น แต่ความกดดันเกิดขึ้นในทุกวัน และสาเหตุความกดดันมีสามสาเหตุ ดังนี้

       หนึ่ง ความกดดันจากการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งเห็นด้วยกับการไม่บรรลุวัตถุประสงค์เดิมของทฤษฎีกดดันดั้งเดิมและทฤษฎีวัฒนธรรมรอง แต่ยังรวมถึงการที่คนไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย

          สอง การสูญเสียของมีค่าหรือการถูกถอดถอน คือ การที่คนสูญเสียของรัก การถูกไล่ออกจากงาน ถูกถอดถอนจากทีมกีฬาโรงเรียน ถูกตัดขาดจากครอบครัว เป็นต้น

        สาม การประสบเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่นคนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ครอบครัวแตกแยก หรือถูกรังแกในโรงเรียน เป็นต้น”

          ว่าแล้วก็นึกถึงเด็กๆ ที่โชคร้ายหากไปเจอขาใหญ่ในโรงเรียนคอยรังแกคอยทำร้าย ถ้าไม่หนีจากโรงเรียน ก็คงฮึดสู้ขโมยปืนพ่อมาโรงเรียน ก่ออาชญากรรม และเด็กคนนั้นก็โชคร้าย ถูกลงโทษ ทั้งที่ตัวการที่ก่อเหตุรังแกก่อนแทบจะไม่ได้รับโทษเลย 

 

 

 

           เปลี่ยนเรื่องหยุดคิดดีกว่า ผมขยับท่าทีให้หลังตรงรู้สึกดีใจโล่งอกมั่นใจที่จำหลักทฤษฎีของแต่ละคนได้ ทีนี้ก็ถึงข้อเสนอวิธีแก้ปัญหา

       “ขอบคุณสำหรับคำถามที่ว่า แล้วจะแก้ปัญหาความกดดันเหล่านั้นอย่างไร....

        ....อาจารย์ครับ เช้าวันที่ผมตื่นมาสอบนั้นจู่ๆ ผมก็คิดมาได้ว่า อาชญากรรมที่เกิดจากทฤษฎีความกดดันอันมาจากเศรษฐกิจหรือความอยากร่ำรวยนั้น เปลี่ยนง่ายๆ เลยครับ คือ เปลี่ยน ค่านิยม.....ค่านิยมที่ผมหมายถึงคือ พอเพียงเมื่อไรเป็นสุขทันที.....” อาจารย์กรรมการสอบพยักหน้า

        “ไม่ได้หมายถึงอยู่แค่ไหนอยู่แค่นั้น แต่พยายามเต็มที่แล้วไปได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น ทุกคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ทุกคนมีจุดที่เหมาะสมของแต่ละคนที่จะอยู่ในโครงสร้างสังคมที่เป็นชนชั้นแต่ละชั้นอย่างพึงพอใจและเป็นสุข หากเราเอาความกดดันนั้นออกไป อาชญากรรมจะไม่เกิดขึ้น สังคมจะสงบสุขขึ้น เด็กๆ ไม่ต้องไปลำบากอีกต่อไป” ตอบเสร็จผมยิ้ม และคณะกรรมการจบคำถาม

 

 

 

 

       ....ระหว่างทางที่ผมเดินลงลิฟต์ ได้นึกถึงภาพสังคมอเมริกันและความกดดันทั้งปวงแก่ผู้คนในระบอบทุนนิยม คนไทยเราไม่มีอะไรมาก เรานึกแค่ว่าเป็นฝรั่งแล้วดีกว่าคนไทย มีประชาธิปไตยแล้วรวย ประชาธิปไตยที่ให้โอกาสคนมีความรู้ความสามารถจะครอบครองทรัพยากรได้มากกว่า ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะรวย และความยากจนจะหมดไป

         ผมเชื่อว่าคนอเมริกันมีสัดส่วนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า Poverty line มากกว่า 45% ส่วนสังคมนิยมอย่างประเทศคอมมิวนิสต์นั้นไม่มีคนจน แต่ไม่มีคนรวย ทรัพยากรถูกนำมาแบ่งปันให้เท่าๆ กันโดยรัฐ พระจันทร์ และผืนฟ้าเป็นของทุกคน ส่วนคนไทยเชื่อว่าต้องมีทางเลือกใหม่ระดับโลก ต้องมีนักการเมืองที่รวยมากมาทำให้คนไทยทุกคนรวยได้ เพียงแต่เขาไม่บอกวิธีการขอให้เลือกเขาก่อน

       ภายใต้สภาพความกดดันของสังคมทุนนิยมนั้นความเครียดรุนแรงเหลือเกิน กลุ่มคนที่ก่ออาชญากรรมไม่ได้ และต้องหลบหนีไปจากสังคม จากครอบครัวที่ให้กำเนิดมา พวกเขาไม่มีวันมีความสุขในชีวิตเลยจนวันตาย

       แล้วผมก็กลับนึกถึงความพึงพอใจที่ตอบคำถามคณะกรรมการสอบในเรื่องการเปลี่ยนค่านิยมเป็น “พอเพียง” พอเพียงเมื่อไรเป็นสุขทันที ผมประหลาดใจมากจนขนลุกว่า เหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงบรรลุเหตุแห่งมรรคดังที่กล่าวมานี้ พระองค์ทรงพระราชทานปัญญาที่ยิ่งใหญ่ให้พสกนิกรชาวไทยนำไปปรับใช้ชีวิตจริงๆ ผมเองก็รู้สึกถูกปลดเปลื้องไปจากค่านิยมที่เคยถูกปลูกฝังมา ต้องเรียนจบสูงๆ มหาวิทยาลัยดีๆ มีงานราชการตำแหน่งสูงๆ และรวย

        แน่นอนสิ่งเหล่านั้นต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่จะประสบความสำเร็จทั้งหมด ผมไม่ต้องรวยก็ได้ ผมไม่ต้องมีงานดีๆ ก็ได้ ไม่ต้องรวยก็ได้ อยู่ไปวันๆ และหาโอกาสทำประโยชน์ให้บ้านเมืองบ้างก็พอ เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง สอนหนังสือบ้างก็ดี

         หลายคนผมเชื่อว่า ต้องเรียนหรือทำงาน จะมีความสุขได้ต่อเมื่อรอผลลัพธ์ออกมา รอเกรดออกมา หรือรอเงินเดือนขึ้นหรือไม่ ค่าตอบแทนเป็นเท่าไร ถึงจะพึงพอใจมีความสุขได้ และการเรียนหรือการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่อดทนไม่เต็มใจจะทำ ยิ่งลำบากใจมาก ยิ่งคาดว่าผลตอบแทนนั้นต้องสูงมากเช่นกัน

          แต่หากเรียนเรื่องที่ชอบหรือทำงานที่ชอบ คนเราจะมีความสุขทันทีที่ได้ทำ ไม่ต้องรอผลตอบแทน เขาเรียกว่ามี Passion ในการทำงานหรือเรียน มันจะมีความสุขประเภทหนึ่งที่มีค่ามากกว่าเงิน และมีคุณค่าต่อชีวิตมากๆ

         ....ผมไม่ทราบว่าผลการสอบจะออกมาเยี่ยงไร ผมจะได้เดินต่อไปจนถึงการได้รับพระราชทานปริญญาดังค่านิยมที่ถูกคนอื่นกำหนดมาหรือไม่ ไม่สำคัญแล้ว เพราะผมได้ปัญญาเรียบร้อยแล้ว ผมยิ้มได้ทันที

 

 

 

 

 

        

          .....ชั่วโมงต่อมาผมขับรถมารับพระสงฆ์รูปหนึ่งเพื่อจะไปส่งท่านยังจุดหมาย ซึ่งท่านเคยเป็นสหายของผมในวัยรุ่น ท่านบวชไม่สึกง่ายๆ บวชมานานมากแล้ว และเป็นพระนักปฏิบัติ
 

          

            

            .... พระ ต้น ธรรมทาน “สอบทำได้ไหม โยม?”

          ผม “ก็พอตอบได้ครับ แต่ทฤษฎีทางอาชญาวิทยานั้นมันยิ่งใหญ่ เป็นหลักสูตรที่สุดยอดของสรรพวิชา วันนี้ผมประทับใจทฤษฎีความกดดันครับหลวงพี่”

          ....ผมขับรถไปเล่าให้หลวงพี่ฟังถึงทฤษฎีความกดดันที่เด็กๆ ในโลกทุนนิยมชาวอเมริกันได้รับค่านิยมที่ต้อง เรียนเก่ง ต้องได้งานดีๆ และร่ำรวย เมื่อพวกเขาทำไม่ได้ จึงก่ออาชญากรรม

 

          ตัวหลวงพี่เอง ก็เล่าให้ฟังว่า ตัวท่านเองจบ ปวช. มา แล้วสอบติด วิศวะ มหาลัยเอกชนที่โยมพ่ออยากให้มาเรียน หลวงพี่กามั่วก็สอบติด ในใจก็รู้ตัวว่าเรียนไม่ไหวแน่ๆ ซวยแล้ว จนในที่สุดเรียนไปก็ถูกรีไทร์ และเปลี่ยนมหาวิทยาลัย ในที่สุดหลวงพี่ยอมรับสภาพ เข้าใจตนเองเลิกเรียนในที่สุด พ่อและครอบครัวก็ผิดหวังในตัวหลวงพี่ นอกจากสภาพความกดดันจากครอบครัวและคนรอบข้างที่รู้จักในสังคม จะคอยเป็นห่วงคอยถามไถ่ จบยัง? เรียนปีไหนแล้ว? ทำงานอะไร? ...ในที่สุดท่านออกบวชมาเป็นสิบปีแล้ว และไม่มีกำหนดสึก แต่ใจที่บริสุทธิ์ยังคอยมุ่งช่วยเหลือคนทุกข์ต่อไป

          หลวงพี่ถามข้าพเจ้าว่า “จำเติ้ล ได้ไหม คนที่ตาเขๆ จบ ปวช. เหมือนอาตมา และเรียนไม่จบ”

          ข้าพเจ้า พยักหน้าจำได้ และจินตนาการถึงความยากลำบากในชีวิตที่เขาต้องพบเจอ

          หลวงพี่ “คนจบ ปวช. มา จะเรียนวิชาการอ่อน แม้เทียบเท่าคนจบ ม. 6 ก็ตาม”


 

          ข้าพเจ้านึกตามแล้วนึกถึงสหายในอดีตมากมาย คนจบ ปวส. มาเรียนวิศวะต่อเนื่องนั้นไม่มีปัญหา ตรงกันข้ามพวกเขาเก่งปฏิบัติและมีประสบการณ์ แต่คนจบ ปวช. มาเข้าเรียน วิศวะ 4 ปี กับเด็กสายสามัญนั้นเจอทั้ง เคมี ฟิสิกส์ คงเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับบางคน

        หลวงพี่กล่าวว่า “เติ้ล ชวนอาตมาไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด และเติ้ลจบเศรษฐศาสตร์ อาตมาจบรัฐศาสตร์ง่ายๆ ไม่เดือดร้อนอะไร..........แต่สุดท้าย เติ้ล ยิงตัวตาย”

         ผมตกใจจนเหยียบเบรครถสะดุ้ง “อะไรนะ?” ...ผมสงสารเพื่อนมาก ไม่เจอกันมายี่สิบกว่าปี เขาคงได้รับความกดดันรอบด้านมากๆ ผมนึกไม่ออกเลยว่าครึ่งชีวิตของเขาจะมีความสุขได้ตอนไหน ใครจะแบกรับวิญญาณเขาไว้ ผมได้แต่ถอนหายใจ ผมนึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมากมาย เด็กวิศวะ เรียนไม่จบ บวชไม่สึกบ้าง ฆ่าตัวตายบ้าง หรือแม้แต่เด็กวิทยาจุฬาพลาดเกียรตินิยมโดดตึกดับ....

 

 

 

 

 

 

         “ความกดดัน” หากสร้างขึ้นเองก็เรื่องหนึ่ง หากพ่อแม่สร้างไว้ให้ลูกนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ให้พิจารณากันเอาเอง ความกดดันจากตัวเองที่ตั้งจุดมุ่งหมายในชีวิตเองนั้น จริงอยู่ความกดดันและความลำบากทำให้เราแข็งแกร่ง และเก่งขึ้น แต่เรายังให้อภัยตัวเองได้หากเราไปไม่ถึง 

          แต่ความกดดันที่เกิดจากพ่อแม่นั้น เรียกได้ว่าหากลูกยิ่งรักพ่อแม่มาก เขายิ่งกดดันมาก ความหวังของพ่อแม่ที่ตั้งไว้หากทำไม่ได้ จากที่คิดจะแทนคุณด้วยการทำให้สำเร็จ เขาอาจกลายเป็นลูกอกตัญญู ในความคิดของเด็กบางคน พ่อแม่ที่คอยแนะนำและไม่กำหนดค่านิยมให้ลูก เป็นพ่อแม่ที่ประเสริฐแท้

        อย่างไรก็ตาม ความกดดัน ต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแล้วพลาดหวังทำไม่ได้ ปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมานั้นรุนแรงต่อสังคมและตัวบุคคลเอง นับเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ระดับโลก พวกเขาระทมทุกข์ชั่วชีวิต และสังคมไม่สงบสุข 

              เท่าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวแนวคิดทางวิชาการที่กล่าวถึงมากๆ ในการลดความกดดันของคนในสังคมทุนยิมก็มีอยู่สองเรื่อง คือ

              หนึ่ง ทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย นอกจากผ่อนคลายความกดดันให้คนในสังคมแล้ว ยังลดทอนความเป็นอาชญากรรมหรือลดโทษอาญาลดปัญหาคนคุกที่เรียกว่า Decriminalization ด้วยเห็นว่ากัญชามีประโยชน์มากกว่าโทษ หลายๆ ประเทศได้เปลี่ยนกฎหมายให้กัญชาถูกกฎหมาย

              สอง รณรงค์สิทธิการตายอย่างถูกกฎหมายของคนปกติ เดิมมีสิทธิการตายให้ผู้ป่วยที่ทรมาน แต่คนปกติที่ได้รับความกดดันจากการใช้ชีวิต และจนปัญญาที่จะมีชีวิตอยู่ ก็ต้องการได้รับสิทธิบริการทางการแพทย์ที่จะตายอย่างไม่เจ็บปวดและมีความสุขเช่นกัน

 

            ทางออกในการรับมือกับความกดดันจากสังคมทุนนิยม และสะท้อนออกมาสู่สังคมในรูปแบบการก่ออาชญากรรมที่มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ทางออกที่เกริ่นเมื่อสักครู่ไม่ได้รู้สึกว่าดีเลย  นอกจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของชาวไทย ได้ทรงพระราชทานทางออกไว้ให้ “พอเพียงเมื่อไรเป็นสุขทันที” อยากให้ฝรั่งโชคดีแบบคนไทยบ้างจัง

หมายเลขบันทึก: 646990เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท