เก็บตกวิทยากร (43) : วาทกรรมการเรียนรู้จากเทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 21 (สองเล สามน้ำ)


แม้ผมจะดูเคร่งเครียดก็เถอะ  แต่หลายต่อหลายครั้ง  เมื่อต้องจัดกระบวนการเรียนรู้  ผมก็รู้ว่าจะผ่อนหนักผ่อนเบาช่วงใดบ้าง  ช่วงใดจะต้องบีบเค้นกดหยิก  ช่วงใดต้องผ่อนปรนนวดคลึง  ช่วงใดต้องกระตุกกระตุ้นอารมณ์ฮา  (ซึ่งแม้ไม่ถนัดนักก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำ)   โดยหลายต่อหลายครั้งก็สรวลเสเฮฮาได้อย่างมากโข 

ใช่ครับ - หลายครั้งหลายเวทีก็ได้ฮากันอยู่มากเหมือนกัน –

 


การเดินทางสู่การเรียนรู้เนื่องไปโครงการ “เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 21”  นี้ก็เช่นกัน  ในช่วงที่ผมเป็นกระบวนกรให้ความรู้และเตรียมความพร้อมนั้น  แม้ครานี้จะไม่ได้ทำกระบวนการเชิงปฏิบัติการมากนัก  แต่ผมก็พยายามสร้างการมีส่วนร่วม  เน้นขยับผ่านทางความคิด  ผสมกับการหยิกแซวและโบยซ้ำสลับกันไป   จนบางทีนิสิตเองก็ออกอาการงงงวยในแบบ “คิดไม่ถึง” หรือ “ตามไม่ทัน”

ก่อนการเดินทาง (วันที่ 22 มีนาคม 2561)  ภายหลังรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (ดร.มลฤดี เชาวรัตน์)  ได้มาพบปะและให้ข้อคิดในการไป “เรียนรู้คู่บริการ”  ก็ถึงคิวที่ผมต้องเติมแต่งด้วยการต่อยอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติ  ซึ่งนอกจากแก่นสารทางวิชาการแล้ว  ในตอนท้าย  ผมก็ชวนเชิญให้นิสิตทั้ง 42 คนได้พูดคำสั้นๆ เป็นวลี  หรือวาทกรรมคนละนิดคนละน้อย  ด้วยการมอบหมายเลขานุการค่ายฯ  จดบันทึกไว้ว่าใครพูดอะไรบ้าง

จากนั้นก็ฝากให้ใช้กระบวนการนี้ในการประชุมแต่ละวัน – โดยฝากให้ดำเนินการหลังการประชุมสรุปงานประจำวัน  หรืออาจจะให้แต่ละคนสะท้อนลงในเฟชบุ๊กก็ได้

 

ใช่ครับ – ผมชัดเจนว่า  นั่นคือการสร้างกระบวนการบันเทิงเริงปัญญาในแบบฉบับของผม  วลี หรือวาทกรรมที่ว่า  ผมเชื่อว่าจะมีความฮาเป็นหลัก  แต่ในความฮาย่อมมีนัยสำคัญบางอย่างที่ซ่อนงำอยู่  เพียงแต่ละคนจะให้ความสำคัญในแบบ “จริงจัง จริงใจ” กับโจทย์ที่ผมให้ไปหรือไม่เท่านั้นเอง 

เฉกเช่นกับการเกริ่นบอกในทำนองว่า  วลี หรือวาทกรรมเหล่านั้น  จะเป็นประหนึ่งกระจกสะท้อนการเรียนรู้ของแต่ละคนในแต่ละวัน  และเป็นเสมือนการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน  เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการร่ำระบายความเหนื่อยล้าสู่การบำบัดตัวเอง ฯลฯ

ทั้งนี้  ผมเองก็ปูพรมความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับความหมายของพยางค์ คำ วลี ประโยคไปในตัว เป็นการทวนซ้ำความรู้เล็กๆ น้อยๆ ผ่านภาษาประจำชาติของเราเอง

 

แน่นอนอครับ – ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ผมคิดเอง เออเองทั้งนั้น 

แต่เท่าที่สังเกตในแต่ละวัน นิสิตก็ดูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก  บางวันสื่อสารปลดเปลื้องวาทกรรมกันในวงประชุม (วงโสเหล่)  กันเลยก็มี  ที่เหลือก็โพสลงในกลุ่มออนไลด์เพื่อสร้างบรรยากาศของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว

 และนี่คือส่วนหนึ่งที่ผมประมวลมาได้  มาดูกันครับว่าบันเทิงเริงปัญญาหรือไม่  หรือจริงๆ ก็คือบันเทิงแต่ไม่เริงปัญญา ....

  •  ·   การที่มีผู้นำที่ดี  ไม่จำเป็นต้องเก่ง  แต่เขาพร้อมที่จะพาเราไปตลอดลอดฝั่ง 
  • ·    เปิดโลกใหม่
  • ·    ตราบใดที่ทะเลยังมีคลื่น อย่าคาดหวังความราบรื่นบนเส้นทางแห่งชีวิต
  • ·    ผู้ร่วมงานที่ไม่ดี คือครูผู้สอนประสบการณ์ที่ดี
  • ·    การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด คือการไม่หยุดออกจากบ้าน 
  • ·    ไม่มีใครสะดุดภูเขาล้ม มีแต่สะดุดก้อนหินล้ม อย่ามองข้ามอุปสรรคที่เล็กๆ
  • ·    ทำทุกวันให้ดีที่สุด
  • ·    เก็บความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน เเล้วอย่ากลับไปเรียนบทเดิม

  • ·       หนักก็ทน คือคนที่สู้
  • ·       แรงที่เหลืออยู่ สู้ไปด้วยกันอย่างดุดัน ฝ่าฟันอุปสรรค
  • ·       ความรู้คู่คุณธรรม
  • ·       ตายเป็นตาย
  • ·       ทำดีได้ดี 
  • ·       ผิดหวังย่อมมีสมหวัง
  • ·       พักเติมพลังให้เต็มที่ แล้วพรุ่งนี้ค่อยสู้ต่อ
  • ·       อุปสรรคคือหนทางแห่งความสำเร็จ
  • ·       ปลายทางที่สำเร็จ อยู่ที่ปัจจุบันที่พยายาม

  • ·   เค็มยิ่งกว่าเกลือบรบือ
  • ·   เค็ม จัง ฮู้
  • ·   ลอย อ่อง ล่อง
  • ·   ยา แก้ แพ้
  • ·   รองพื้นฉันกันน้ำ
  • ·   หลง รัก เล 
  • ·   ไม่เมาเรือ แต่เมารัก
  • ·   ดำแล้วดำอีก
  • ·   อ่อนแอนแอก็บอกให้พักไง ถ้าอ่อนไหวก็ไปทักเค้า
  •     ถึงจะเหนื่อย แต่ก็ทำมันอย่างมีความสุข
  •     อีกนิดเดียว 

ครับ – นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมจัดเก็บมาได้  จะเห็นว่าผสมปนเปอารมณ์อยู่มากมิใช่ย่อย  มีกลิ่นอายปรัชญาแก่นคิดปลุกปลอบและเร้ารุกให้มีพลัง  รวมถึงอบอวลด้วยความบันเทิงผ่านวิถีกิจกรรมที่เข้าไปสัมผัส ทั้งในแบบผิวเผินและฝังตัว

ถอยคำเหล่านั้น แม้ดูไม่ยืดยาวเป็นประโยคที่สมบูรณ์นัก  แต่ผมเชื่อว่า  พวกเขารับรู้ร่วมกันได้อย่างแจ่มชัดว่ามันคืออะไร  มีค่าและความหมายอย่างไรต่อเจ้าของถ้อยคำและความเป็นทีมที่ผมฝากไว้ให้เก็บเกี่ยวหล่อหลอมรวมกัน

นั่นยังไม่รวมถึงกระบวนการที่ผมฝากเป็นนัยยะสำคัญเกี่ยวกับการฝึกถอดบทเรียนด้วยตนเอง  ผ่านการสรุปความรวบยอดเป็นวาทกรรม  เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะอย่างสร้างสรรค์และมีพลังในรูปของคำ วลี วาทกรรม-
 

เขียน : 31 มีนาคม 2561
ภาพ :  สุริยะ  สอนสุระ / เครือข่ายเทา-งามสัมพันธ์

หมายเลขบันทึก: 646102เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2018 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2018 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 "การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด คือการไม่หยุดออกจากบ้าน"

ดังนั้นจึงต้องออกจากบ้านทุกวันไปเรียนรู้

ชอบ ๆ ๆ ๆ ๆ ชอบมากค่ะ  AAR  ด้วย วลี ประจำวัน  สะท้อนวาทกรรมของคนคิด  คนพูดได้แน่นอน

บันทึกต่อเนื่องทุกวันเรื่อย  ใครพูด  เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดของนิสิตได้ดีทีเดียว

เดี๋ยวเลียนแบบบ้าง  อิ อิ

ที่เคยใช้  พอจัดประชุมหลายวันต่อกัน  บางคนขี้เกียจพูดยาว ๆ  บางวันก็ให้สะท้อนแบบสามคำ  ผู้เข้าประชุมที่วัยรุ่นหน่อยจะชอบมากค่ะ  ^_,^

ชอบใจ

 เค็มยิ่งกว่าเกลือบรบือ

  • ·   เค็ม จัง ฮู้
  • ·   ลอย อ่อง ล่อง
  • ·   ยา แก้ แพ้
  • ·   รองพื้นฉันกันน้ำ
  • ·   หลง รัก เล 
  • ·   ไม่เมาเรือ แต่เมารัก
  • ·   ดำแล้วดำอีก
  • ·   อ่อนแอนก็บอกให้พักไง ถ้าอ่อนไหวก็ไปทักเค้า
  •     ถึงจะเหนื่อย แต่ก็ทำมันอย่างมีความสุข

เป็นวาทะกรรมที่ดีมาก

ระบบ gotoknow ลบไม่ได้แล้วครับ

แต่แจ้งลบได้ครับ

ครับ    พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ผมเห็นด้วยจริงๆ ครับ  ว่าการเดินทางออกจากบ้าน หรือในสถานี่ใหม่ๆ มักนำพาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับเรา เสมอ  หรือบางทีหากอยู่ในที่เดิมๆ สามารถถอดรหัสความรู้ได้ ก็สามารถพัฒนาตนจากข้อเท็จจริงตรงนั้นได้ยิ่งดีครับ

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ   พี่หมอ ธิ

วินาทีที่ผมให้เด็กๆ สะท้อนด้วยถ้อยคำเหล่านี้  หนึ่งในนั้นคือการฝึกการสังเคราะห์ความ และฝึกความคิดรวบยอดในตัวเองครับ  ซึ่งง่ายต่อการบันทึกความรู้ ความรู้สึกที่มีต่อการเรียนรู้ในแต่ละวัน นั่นเองครับ

สวัสดีครับ    ดร.ขจิต ฝอยทอง

วาทกรรมเหล่านี้ เป็นประหนึ่งจดหมายเหตุชีวิต  จดหมายเหตุกิจกรรมเหล่านี้ด้วยเหมือนกันครับ  และเท่าที่สังเกตบรรยากาศ คือ  ได้ในแบบบันเทิงเริงปัญญาด้วยนะครับ  สอดคล้องกับวิถีวัยของนิสิตด้วยนั่นเองครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท