โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

พระศาสนากับการศึกษา


โสภณ เปียสนิท

..............................

            บ้านหลังนั้นตั้งอยู่บนเนื้อที่ยี่สิบกว่าไร่ ติดถนนใหญ่รถผ่านไปมาทั้งคืน ทั้งที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชายขอบเมืองกาญจนบุรี ใครๆ ก็ว่า เป็นหมู่บ้านเล็กไม่มีกำลังซื้อไม่เหมาะกับการทำธุรกิจธุรกรรมใดๆ คนราวสองร้อยกว่าครอบครัวอยู่ร่วมกันไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความแตกต่างของวิถีดำรงชีวิต มีอาชีพต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน มีความคิดต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือมีชีวิตอยู่แบบหาเช้ากินค่ำด้วยกัน ให้ความสำคัญทางการศึกษาน้อยพอกัน ให้ความสำคัญกับหลักธรรมในการดำรงชีพน้อยพอกัน

            สมัยก่อนมีโรงเรียนหลังเล็กๆ ที่ครูต้องเป็นผู้วิ่งเต้นในการก่อสร้างอาคารประจำโรงเรียนขึ้นเองตามมีตามได้ พบครู่ใหญ่สมัยนั้นเมื่อวันก่อน เลยได้คุยเรื่องราวแต่หนหลังแลกเปลี่ยนความทรงจำกันอย่างเพลิดเพลิน จนเริ่มสงสัยว่าตัวเองจะย่างเข้าสู่วัยชราเสียแล้วกระมัง

                พ่อแม่และญาติเล่าให้ฟังว่า ผมเกิดที่บ้านสองชั้นใต้ถุนสูงตั้งอยู่ริมตลิ่งฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี แล้วเติบโตบนเรือต่อลำใหญ่ เพราะพ่อพาครอบครัวขึ้นเรือต่อใช้เรือยนต์ลากเรือต่อลำนี้แล่นสวนน้ำแควใหญ่ขึ้นมาถึงหมู่บ้านท่ามะนาว อันเป็นบ้านเดิมของพ่อ มาถึงท่ามะนาวแล้วยังไม่มีที่ดินเหมาะสมจะปลูกบ้าน จึงพักอาศัยบนเรือต่อไปก่อน ในความทรงจำลางเลือนไม่รู้ว่าผมอยู่บนเรือต่อลำนี้นานเท่าใด รู้แต่เพียงว่า ตอนเข้าโรงเรียนวัยแปดขวบนั้น เดินผ่านหาดทรายขาวโพลนยามเช้าผ่านอากาศหนาวเย็นชนิดควันออกปากด้วยเท้าเปล่า ไปเรียนกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่หลังเล็กห่างออกไปจากบ้านราว 100 เมตร

            ตอนจบประถมสี่ ครอบครัวเราปลูกบ้านสองชั้นบนที่ดินราวสองไร่เสร็จพอดี พ่อซื้อต่อมาจากญาติอีกที เพื่อที่จะได้อยู่กันในชุมชน เพราะที่ดินของครอบครัวที่ปู่ให้พ่อไว้นั้นอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งมีบ้านน้อยกว่าฝั่งนี้ เงียบเหงากว่าฝั่งนี้ สังเกตได้ว่า คนเรานั้นเป็นไปคำกล่าวของนักสังคมนิยมที่ชื่อว่า โรเบิอร์ตเมอร์ตัน ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม บางคนในบางช่วงของเวลาอาจรู้สึกไม่ชอบสังคมขึ้นมาได้บ้าง แต่หากลองไม่ได้พูดคุยกับใคร ไม่ได้อยู่กับใครสักพัก ความโหยหาจากสัญชาติญาณจะเรียกร้องทางความรู้สึกที่เงียบเหงาว้าเหว่

            พ่อจึงรอช่วงเวลาพร้อมการเงินพร้อมในเบื้องต้น จึงซื้อที่ดิน และสร้างบ้าน ตอนบ้านเสร็จผมจบประถมสี่ พ่ออยากให้ผมบวชเรียน บวชแบบที่บ้านในชนบทนั้นขาดครูอาจารย์ในการสั่งสอน จึงมุ่งเน้นให้บวชในวัดที่มีการเรียนการสอนปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลี และหากมีการเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญด้วยก็ยิ่งดี เพราะสมัยนั้นการศึกษาแยกตัวออกเป็นสองระบบ การศึกษาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เรียกว่าการศึกษาของอาณาจักร และสังฆาณาจักรก็ว่าได้ จากมติของฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายราชการ

            ขณะที่ฝ่ายอาณาจักรให้การยอมรับการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเพียงด้านเดียว การศึกษาฝ่ายสงฆ์ปล่อยให้สงฆ์จัดการกันเอง ยอมรับกันเองตามแต่จะเห็นควร บนปลายรอยต่อของการศึกษายุคแยกการศึกษาของชาติออกจากวัด บทบาทของวัดลดลงอย่างมาก พระเณรถูกลดบทบาทลงอย่างมาก หน้าที่ของฝ่ายสงฆ์ต่อสังคมจึงเหลือเพียงผู้นำทางพิธีกรรมเท่านั้น

            ครูอาจารย์ของผมเองจบการศึกษาระดับนักธรรมโทจากวัดหลังการสึกหาลาเพศบรรพชิตได้รับการยอมรับให้เป็นครูในระบบกระทรวงศึกษาธิการได้ ต่อมาจึงได้ไปเรียนเสริมจากวิทยาลัยครูในระดับอนุปริญญา สมัยนั้นเรียกว่าประโยคครูมัธยม (ครู ปม. ) แสดงว่าการศึกษายุคปลายแห่งการแยกการศึกษาวัดไปสู่กระทรวงศึกษานั้น ยังพอมีรอยเชื่อมโยงกันอยู่บ้าง

            หลายสิบปีผ่านไปการศึกษาสองสายแยกห่างออกจากกัน เรียนนักธรรม เรียนบาลีของฝ่ายสงฆ์มิอาจนำไปใช้สมัครงานการตามหน่วยงานราชการ ห้างร้านทั่วไปได้ บุคคลากรทางพระศาสนารุ่นอาจารย์ของผม เรียนรู้วิชาการทางพระศาสนาระดับสูงแล้ว สึกหาลาเพศออกไปดำรงชีวิตฆราวาสครองเรือนเหมือนคนปกติ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนา คนเหล่านั้นไม่สามารถรับราชการได้ ไม่สามารถใช้วุฒิเข้าทำงานรับเงินเดือนตามวุฒิได้ เพราะไม่มีการเทียบเท่าระดับความรู้ เมื่อมีหน่วยงานทางการศึกษาของศาสนาอื่นมาจ้างให้ไปทำงานกับเขา จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางพระศาสนาสอนในสถานศึกษาของศาสนาอื่น บางรายถึงกับแต่งงานเข้ารีตศาสนาอื่น และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงความรู้ ได้รับค่าจ้างพอให้ดำรงชีพไปได้อย่างดี

            เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬลงกรณราชวิทยาลัย และรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าให้มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ เนื่องจากทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก การศึกษาสงฆ์ปรับตัวอนุวัติตามการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และการศึกษาโลก ฝ่ายผู้จัดการศึกษาทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และคณะบุคคลฝ่ายฆราวาสมีความเห็นน้อมไปในทางอนุรักษ์นิยมคือไม่เทียบวุฒิให้กับผู้จบการศึกษาสงฆ์ เพื่อป้องกันมิให้ผู้บวชเรียนสึกหาลาเพศออกไปแย่งงานกับผู้มีความรู้ทางโลก การห้ามพระเณรสึกนั้นเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ ก่อเกิดผลเสียต่อวงการสงฆ์อย่างลึกซึ้งในภายหลังต่อมา

            คณะผู้จัดการศึกษาสงฆ์ฝ่ายก้าวหน้า จึงวางแผนใช้มหาวิทยาลัยภายนอกประเทศกดดันฝ่ายรัฐบาลไทยสมัยนั้นให้ยอมรับการศึกษาสงฆ์ ด้วยการส่งผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยในต่างแดน พระสงฆ์บางรูปไปเรียนประเทศสหรัฐอเมริกา บางรูปไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ส่วนมากไปเรียนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศอินเดีย ขณะที่ประเทศไทยเองกลับไม่ยอมรับพระสงฆ์สามเณรที่เป็นคนไทยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่สร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของคนไทย กล่าวให้แรงหน่อยคือ ตัดสิทธิ์ทางการศึกษาของพระสงฆ์สามเณร

            มองออกไปอีกครั้ง กลับพบว่า มีสถานศึกษาของต่างศาสนา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยต่างที่มีบุคลากรในศาสนานั้นๆ เป็นผู้จัดการศึกษาในประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยสมัยนั้นๆ สมัยแล้วสมัยเล่า ที่สำคัญแล้วคนในศาสนาอื่นจัดการศึกษาในเมืองไทยแล้วได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนรับรอง ส่วนการศึกษาสงฆ์สมัยนั้น กลับให้การช่วยเหลือน้อยมาก แถมไม่ยอมรับรอง พอมองเห็นความผิดปกติทางความคิดอยู่บ้างใช่เปล่าครับ

            ครั้งหนึ่งผมเดินทางเข้าเยี่ยมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บาทหลวงภารดาประทีป กล่าวต้อนรับและแนะนำมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาช้านานในเมืองไทย จำได้ว่า ได้สอบถามเรื่องนักศึกษามักจะขาดแรงจูงใจในวิชาการทางศาสนา และมักจะไม่เข้าเรียน ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างไร ท่านตอบอย่างรวดเร็วว่า “เนื่องจากเราเป็นมหาวิทยาลัยทางศาสนาหากนักศึกษาขาดเรียนในรายวิชาทางศาสนาเกินสองครั้ง จะต้องลงเรียนใหม่”

            พระสงฆ์สามเณรรุ่นแรกๆ เดินทางไปศึกษาในต่างแดน บางรูปใช้ความรู้ระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง บางรูปใช้วุฒิทางภาษาบาลี ประโยค 7-9 เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโท – เอก ผ่านการปรับเปลี่ยนรายวิชาให้สอดคล้องกันด้วยความยากลำบาก เพราะระบบการเรียนที่แตกต่างกันไม่น้อย แต่เมื่อปรับเข้าหากันได้แล้วผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีบ้าง โทบ้าง เอกบ้าง กลับมาถึงเมืองไทย บางรูปอยู่เป็นพระช่วยงานพระศาสนาต่อไป บางรูปสึกหาลาเพศบรรพชิตออกไปเป็นฆราวาส ใช้วุฒิจากต่างประเทศสมัครเข้าทำงานทั้งในส่วนราชการ และเอกชน กลับได้รับการยอมรับอย่างดี

            เหตุการณ์เป็นอย่างนี้อยู่ช่วงหนึ่ง กล่าวว่าเป็นช่วงแห่งความอิหลักอิเหลื่อก็ว่าได้ เพราะมองเห็นว่า เมืองไทยไม่ยอมรับการศึกษาสงฆ์ในระดับปริญญาตรี พระเณรใช้วุฒินี้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยต่างแดน ต่างแดนให้การยอมรับเข้าศึกษาได้ ศึกษาจบระดับปริญญาโทบ้าง ปริญญาเอกบ้าง กลับมาทำงานในเมืองไทยโดยใช้วุฒิจากต่างแดน กลายเป็นเรื่องหัวมังกุ ท้ายมังกร จากไทยไม่ยอมรับ ต่างแดนยอมรับ กลับมาทำงาน ไทยยอมรับ เห็นแล้วก็ขำไม่ออก ในที่สุดก็ต้องยอมรับ เพราะมีแรงกดดันจากมหาวิทยาลัยที่นักเรียนไทยไปจบมาจากต่างแดนสอบถามมา

            ถึงปัจจุบันรัฐบาลให้การยอมรับมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งมากขึ้น ให้การช่วยเหลือมากขึ้น แต่ยอมรับการศึกษาด้านภาษาบาลี คือเปรียญธรรม 9 เพียงระดับปริญญาตรี ทั้งที่สูงสูดด้านภาษาบาลีแล้ว โดยตั้งประเด็นไว้ว่า ยังไม่มีการทำวิจัยในระดับปริญญาเอกเลย ซึ่งต้องมีการจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกันต่อไป แต่น่าเสียดายว่า การศึกษาภาษาบาลี 9 ปีสายตรง จนสุดสายการศึกษาแล้ว ควรยอมรับให้เทียบเท่าปริญญาเอก

            การศึกษาคือการทำคนให้เจริญขึ้น ดังนั้น คนนั้นไม่ว่าจะเป็นใครหากตั้งใจศึกษาเล่าเรียนย่อมเป็นผลดีแก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีสถานภาพเป็นใคร เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม รัฐบาลที่มีความหวังดีต่อสังคมไทย จึงควรส่งเสริมการศึกษาฝ่ายสงฆ์อย่างเต็มกำลัง

            มุมมองทางสังคมที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนก็คือ มองว่าพระเณรไม่ควรเรียนวิชาการทางโลก เพราะมองว่า พระเณรควรเดินเส้นทางเดียวคือมุ่งตรงสู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระศาสนา เหตุผลที่มุมมองนี้ควรเปลี่ยนเพราะ การบวชและสึกเป็นเรื่องปกติตามความสมัครใจ เป็นเรื่องของบุญบารมี ผู้ใดอยากบวชต้องยอมรับกฏเกณฑ์ข้อบังคับระเบียบปฏิบัติ พระธรรมวินัย เมื่อยอมรับไม่ได้รู้สึกว่า ไม่อยากจะยอมรับต่อไปก็สึกเสีย ศาสนาก็ไม่มัวหมอง การจะบังคับว่าบวชแล้วห้ามสึก ย่อมเป็นความผิดพลาดอย่างมาก

            เมื่อรู้แล้วว่าอนาคตข้างหน้าไม่แน่นอน อาจอยู่เป็นพระเณรจนสิ้นอายุขัย หรืออาจสึกหาลาเพศไปก็ได้ ดั่งนั้น การจัดการทีดีก็คือ จัดส่งเสริมการศึกษาให้ผู้บวชได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างสุดกำลังของแต่ละคน ย่อมเป็นผลดีต่อผู้บวชเรียน อยู่ก็สามารถก้าวเดินบนเส้นทางธรรมอย่างสง่างาม สึกไปก็อาศัยวิชาความรู้ที่ลงทุนเล่าเรียนมาเป็นวิชาชีพและเป็นกำลังเสริมคอยบำรุงพระศาสนากลายเป็นบุคลากรที่มีค่าของพระศาสนาและของชาติไทย

หมายเลขบันทึก: 645844เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2018 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2018 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์

-วันนี้ผมอ่านบันทึกของอาจารยฺ์แบบ NonStop

-ได้อะไรมากมาย

-อบใจ อบความคิดจากบันทึกที่ผ่านมา..

-การศึกษาสร้างคน..

-คนสร้างชาติ...

-กำไรชีวิตคืออะไร? 

-ความสุข คือคำตอบกำไรชีวิตของผมขอรับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท