ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

การเขียนอักษรเทวนาครี


เรียนสันสกฤต จำเป็นต้องอ่านเทวนาครี देवनागरी หรือไม่     นี่เป็นคำถามที่พบบ่อยมาก แต่ก่อนผู้เขียนเองก็เคยสงสัย เพราะภาษาสันสกฤตนั้น (เช่นเดียวกับภาษาบาลี) ไม่จำเป็นต้องใช้อักษรเทวนาครี เขียนด้วยอักษรโรมัน หรืออักษรไทย อักษรมอญ เขมร ฯลฯ ก็ได้ก่อนจะตอบว่าจำเป็นหรือไม่ ขอเล่าเรื่องเก่าๆ สักหน่อยหนึ่ง

ย้อนกลับไปสมัยก่อน ชาวตะวันตก คือฝรั่ง ไปศึกษาภาษาสันสกฤตที่อินเดีย ก็ศึกษาอักษรเทวนาครี เขียนตำราภาษาสันสกฤตก็ใส่อักษรเทวนาครีด้วยเสมอ ดูเหมือนว่าถ้าเรียนภาษาสันสกฤตแล้ว น่าจะต้องอ่านเขียนเทวนาครีให้ได้ด้วย สำหรับนักวิชาการตะวันตกแล้ว ตำราและพจนานุกรมภาษาสันสกฤตจะใช้อักษรเทวนาครีเป็นส่วนใหญ่ นับว่ามีนัยสำคัญ

อาจจะเป็นเพราะสมัยแรกๆ ฝรั่งยังไม่มีระบบถอดเสียงสันสกฤต แต่แม้ในสมัยหลังมีระบบการถอดที่ชัดเจน แต่ก็ยังใช้เทวนาครีในตำราและพจนานุกรม    ในบ้านเรา ตำราภาษาสันสกฤตเพิ่งจะมีเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นแม้จะกล่าวถึงภาษาสันสกฤตบ้างก็น้อยเต็มที สมัยแรกๆ ตำราสันสกฤตของเรามักใช้อักษรไทย เพราะไม่มีเครื่องพิมพ์อักษรเทวนาครี อีกอย่างหนึ่งอักษรไทยก็พอเพียงสำหรับการถ่ายเสียงในภาษาสันสกฤต อาจมียกเว้นเพียงเสียงพิเศษบางเสียงเท่านั้น

แล้วจำเป็นต้องอ่านเขียนเทวนาครีไหม

ถ้าเรียนเพื่อให้เข้าใจหลักภาษา รู้จักคำศัพท์ ใช้อักษรไทยก็สะดวกดี เรียนได้เร็ว  (แต่การใช้อักษรโรมันก็ดีอีกอย่าง เพราะทำให้เข้าใจเรื่องการสนธิง่ายกว่า ปัญหาที่เห็นก็คือ ผู้เรียนมักจะสับสนว่าสระใดแน่ที่เกาะกับพยัญชนะ ระบบการเขียนของไทย สระมีทั้งด้านหน้าหลัง บนและล่าง แต่โรมัน สระต้องอยู่หลังสถานเดียว จึงเข้าใจได้ง่ายกว่า)

หากท่านเรียนไวยากรณ์เพื่อจะได้รู้จักภาษาสันสกฤต และรู้จักคำยืมภาษาสันสกฤตในภาษาไทย การใช้อักษรไทยก็น่าจะเพียงพอ

แต่หากท่านเรียนสันสกฤตจนคล่อง แล้วอยากจะอ่านเรื่องที่เป็นภาษาสันสกฤตดูบ้าง ก็เห็นจะลำบาก หากอ่านเทวนาครีไม่ได้ ต้องหาเรื่องที่แปลงเป็นโรมันหรืออักษรไทยแล้วเท่านั้น ซึ่งมีไม่มาก ยกเว้นเรื่องที่นิยมกันแพร่หลาย นอกจากนี้คัมภีร์อรรถกถาซึ่งมักจะพิมพ์คู่กับคัมภีร์หลัก ก็ไม่นิยมแปลงเป็นอักษรอื่นให้เสียเวลา ทำให้อ่านส่วนนี้ไม่ได้อีก

อันที่จริง นอกจากเทวนาครีแล้ว นักศึกษาภาษาสันสกฤตก็ควรอ่านอักษรอื่นๆ ของอินเดียให้ได้ด้วย เพราะในแต่ละท้องถิ่นยังมีต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรอื่น แม้ผู้เรียนภาษาบาลีเอง หากไปเอเชียใต้ ก็ต้องเรียนรู้ตัวอักษรต่างๆ ทั้งเทวนาครี ทมิฬ สิงหล และอื่นๆ

ดังนั้น สรุปว่าหากต้องการเอาจริงกับภาษาสันสกฤต เรียนแทวนาครีเถอะ ไม่ยาก ไวยากรณ์สันสกฤตมีที่ยุ่งยากมากกว่า อย่างเช่น การแจกรูปกริยาจากธาตุ กฺฤ कृ ตัวเดียวก็ใช้เวลาเรียนรู้นานกว่าการหัดอ่านเทวนาครีเสียอีก.

เทวนาครี ตัวหนังสือเทวดา

เทวนาครี (देवनागरी) อ่านว่า เท-วะ-นา-คะ-รี; อังกฤษ: Devanagari) เป็นตัวชื่อตัวเขียนที่ใช้เขียนภาษาต่างๆ ของอินเดีย พัฒนามาจากอักษรพราหมีในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ใช้เขียนภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต ภาษามราฐี ภาษาบาลี ภาษาสินธี ภาษาเนปาล และภาษาอื่นๆ ในประเทศอินเดีย  แต่ไม่เหมาะกับเขียนภาษาไทย เพราะมีสระน้อยกว่าหลายตัว. บางแหล่งบอกว่าอักษรเทวนาครีใช้เขียนภาษาต่างๆ มากถึง ๑๒๐ ภาษา! แต่เป็นอักษรที่นิยมใช้เขียนภาษาสันสกฤตมากที่สุด.

อักษรเทวนาครีเกิดขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 1743 (ค.ศ. 1200) โดยพัฒนาขึ้นจากอักษรสิทธัม และค่อยๆ เข้ามาแทนที่อักษรศารทา ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีมาก่อน (ยังคงใช้คู่ขนานกันไปในกัษมีร์) อักษรทั้งสองแบบมีต้นกำเนิดมาจากอักษรคุปตะ ซึ่งได้มาจากอักษรพราหมีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีที่มาตั้งแต่ช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนอักษรนาครีนั้น ปรากฏในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 เป็นสาขาตะวันออกของอักษรคุปตะ ร่วมสมัยกับอักษรศารทาอันเป็นสาขาตะวันตก

คำว่า นาครี เป็นสตรีลิงค์ ของ นาคร หมายถึง เกี่ยวกับเมือง เป็นคุณนาม จากคำนาม นคร ซึ่งหมายถึงเมือง ที่ใช้รูปสตรีลิงค์ เพราะนี้ เดิมใช้บ่งบอกนามสตรีลิงค์ ลิปิ ซึ่งหมายถึง อักษร ในที่นี้ จึงหมายถึงอักษรของชาวเมือง หรืออักษรของผู้มีวัฒนธรรม อักษรนาครีนั้นมีที่ใช้หลากหลาย อักษรที่มีคำว่า เทวะ (เทวดา) เติมข้างหน้า หมายถึง อักษรของเทวดา หรืออักษรที่ใช้ของชาวเมืองชั้นสูงนั่นเอง

ปัจจุบันมีการใช้คำว่า "เทวนาครี" อย่างกว้างขวาง แต่เรียกสั้นๆ ว่า "นาครี" ก็พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งมีความหมายถึงอักษรอย่างเดียวกันนี้ ความนิยมใช้เทวนาครีอย่างแพร่หลายนั้น เกี่ยวโยงกับการใช้ในยุคอาณานิคม ซึ่งแทบจะใช้อักษรเทวนาครีเพียงอย่างเดียว ในการตีพิมพ์งานสันสกฤต แม้ว่าภาษาสันสกฤตนั้น สามารถใช้อักษรต่างๆ ได้แทบทุกแบบของอินเดียก็ตาม และด้วยเหตุนี้ จึงมักจะทำให้มีการผูกโยงระหว่างอักษรเทวนาครีและภาษาสันสกฤต จนมีความเชื่อผิดๆ ไปอย่างกว้างขวาง เรียกอักษรนี้ว่า "อักษรสันสกฤต" ก็มี

หลักการเบื้องต้น

อักษรเทวนาครีมีลักษณะการเขียนจากซ้ายไปขวา มีเส้นเล็กๆ อยู่เหนือตัวอักษร หากเขียนต่อกัน จะเป็นเส้นยาวคล้ายเส้นบรรทัด มีการแยกพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายต่างๆการเขียนเทวนาครีนั้นคล้ายกับอักษรไทย คือแยกสระ และพยัญชนะ ทางภาษาศาสตร์เรียกว่าอักษรประเภท abugida (อะบูกีดา) คืออักษรแทนหน่วยเสียง แล้วนำมาประสมกัน. ไม่เหมือนจีน ที่อักษรหนึ่งแทนคำ หรือญี่ปุ่น อักษรแทนพยางค์ เช่น นี (น กับสระ อี) ได้เสียงหนึ่งพยางค์แล้ว. แต่อักษรเทวนาครีต่างจากอักษรไทยตรงที่ของเขาไม่มี อ อ่าง. สระจึงแบ่งเป็น ๒ แบบ.

๑) แบบที่มี อ อ่างอยู่ด้วย เรียกว่าสระเต็มตัวหรือสระลอย. จะเขียนไว้ต้นคำ.

๒) แบบที่มีแต่เครื่องหมายสระ เอาไว้ประสมกับพยัญชนะ เรียกว่าสระสำหรับเกาะ หรือ สระจม จะอยู่ตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ต้นคำ.

เช่นเดียวกับตระกูลอักษรพราหมีอื่นๆ หลักการเบื้องต้นของอักษรเทวนาครีคือ อักษรแต่ละตัวใช้แทนเสียงพยัญชนะซึ่งมีเสียงสระ a (อะ) [ə] อยู่ในตัว ตัวอย่างเช่นอักษร क อ่านว่า ka (กะ) อักษรสองตัว कन อ่านว่า kana (กะนะ) อักษรสามตัว कनय อ่านว่า kanaya (กะนะยะ) เป็นต้น ส่วนเสียงสระอื่นๆ หรือการตัดเสียงสระทิ้ง จะต้องมีการดัดแปลงตัวพยัญชนะของมันเองดังนี้

  • กลุ่มพยัญชนะ (consonant cluster) จะถูกเขียนเป็นอักษรรวม (ligature) เรียกว่า sayuktākara (สังยุกตากษะระ) ตัวอย่างเช่นอักษรสามตัว कनय kanaya (กะนะยะ) สามารถรวมได้เป็น क्नय knaya (กนะยะ), कन्य kanya (กะนยะ/กันยะ), หรือ क्न्य knya (กนยะ)
  • เสียงสระอื่นที่นอกเหนือจากเสียง a (อะ) จะเขียนเครื่องหมายเสริมลงบนพยัญชนะ เช่นจาก क ka (กะ) เราจะได้ के ke (เก), कु ku (กุ), की kī (กี), का kā (กา) เป็นต้น
  • สำหรับสระที่ไม่มีพยัญชนะ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสระนั้นอยู่ต้นคำ หรืออยู่ถัดจากสระอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีอักษรตัวเต็มที่ใช้แทนเสียงสระนั้นเรียกว่าสระลอย ตัวอย่างเช่น ในขณะที่เสียงสระ ū (อู) เขียนขึ้นโดยการเติม ू ลงไปทำให้กลายเป็น कू kū(กู) เสียงสระนี้ก็ยังมีอักษรของมันคือ ऊ ใน ऊक ūka (อูกะ) และ कऊ kaū (กะอู) อย่างไรก็ตามภาษาปัจจุบันจำนวนหนึ่งมีการใช้อักษรตัวเต็มของ अ a (อะ) มาเติมเครื่องหมายโดยปกติวิสัย กลายเป็น अूक ūka (อูกะ) และ कअू kaū (กะอู) ซึ่งคอมพิวเตอร์บางระบบไม่รองรับ
  • พยัญชนะสะกดจะมีการกำกับเครื่องหมายนี้ ્ เรียกว่า virāma (วิรามะ) ในภาษาสันสกฤต หรือ halanta (หะลันตะ) ในภาษาฮินดี ไว้ที่ตัวอักษร ซึ่งจะทำให้เสียงสระ a (อะ) ถูกตัดออกไป เช่นจาก क्नय knaya (กนะยะ) เปลี่ยนเป็น क्नय् knay(กนัย) นอกจากนี้ halanta ถูกใช้เป็นการกำหนดกลุ่มพยัญชนะในข้อแรก ถ้าหากการพิมพ์ไม่สามารถกระทำได้

นอกจากสระและพยัญชนะ กับเครื่องหมายอีกไม่กี่ตัวแล้ว ยังมีพยัญชนะซ้อน ซึ่งสร้างความปวดหัวให้แก่ผู้เริ่มเรียนเป็นอย่างมาก พยัญชนะซ้อนจะนำมาใช้เมื่อมีพยัญชนะตัวหนึ่งไม่มีสระมาประสม แล้วดันมีพยัญชนะอีกตัว(หรืออีกตัวๆ) ตามมา.

เช่น รตน रतन (र त न) อย่างนี้ใช้พยัญชนะเต็มตัว อ่านว่า ระตะนะ แต่ รตฺน (रत्न) ตัว ต ไม่มีสระ (จึงใส่จุดข้างล่าง) จะต้องซ้อนกับ น. พยัญชนะซ้อนของเทวนาครีส่วนใหญ่จะย่อรูปเดิมที่พอมองออก แต่ที่เปลี่ยนรูปไปมากหน่อยก็มีบ้าง เช่น กฺษ क्ष, ชฺญ ज्ञ, ตฺร त्र ฯลฯ

ลักษณะเด่นของเทวนาครีคือ มีเส้นนอนขีดยาวด้านบนของตัวอักษรอักษร (ครูรุ่นเก่าเรียกว่า ประทุน) บ้างก็ขีดตลอดตัว บ้างก็ขีดเพียงครึ่งเดียว ต้องสังเกตให้ดี   ดูเผินๆ เหมือนกับการเขียนใต้เส้นบรรทัด ซึ่งในสมัยโบราณ อักษรแต่ละตัวจะมีขีดบนไม่ติดกัน เมื่อเขียนรวมกันเป็นคำ ก็จะมีช่องว่างด้านบนเล็กน้อย (दे व ना ग री) แต่ในปัจจุบันเส้นด้านบนจะเชื่อมต่อกัน อย่างนี้ देवनागरी

ในการเขียนด้วยลายมือ บางครั้งต้องการความรวดเร็ว เส้นด้านบนอาจไม่ได้ขีด แต่ก็อ่านกันรู้เรื่อง แต่ถ้าเราไม่คุ้นเคยก็จะงง เพราะบางตัวคล้ายกันมาก    สำหรับคนไทย สามารถเข้าใจวิธีการเขียนเทวนาครีได้ดีกว่าคนที่ใช้ภาษาอื่นๆ เพราะอักษรไทยนั้นพัฒนามาในแนวทางเดียวกันจากจุดกำเนิดคือพราหมี (ระหว่างทางอาจมีได้หลายแบบ) ฝรั่งเองนั้นเมื่อกล่าวถึงเทวนาครีก็ต้องอธิบายมากมาย เช่น บอกว่าเขียนจากซ้ายไปขวา มีการเขียนสระสองแบบ พยัญชนะลอยๆ ก็ออกเสียงได้ ฯลฯ ซึ่งตรงกับลักษณะในภาษาไทยอยู่แล้ว คนไทยเรียนก็สบายแฮ...

ที่สำคัญ ชาวตะวันตกรู้สึกประหลาดใจที่เทวนาครีเขียนติดต่อกันได้ยืดยาว ไม่ใช่คำหนึ่งแล้วเว้นวรรคแบบภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ที่เรารู้จัก ซึ่งเรื่องนี้คนไทย ลาว พม่า มอญ เขมร รู้ดี และใช้กันมานาน เพราะในภาษาเรา เมื่อจบประโยค หรือความช่วงหนึ่งจึงจะเว้นวรรค

เมื่อนำมาใช้เขียนภาษาสันสกฤต ยังมีพิเศษกว่านั้น เป็นวิธีการที่ฝรั่งหรือแม้คนไทยปัจจุบันก็งง คือ การเขียนด้วยเทวนาครีอาจติดต่อกันยืดยาวหลายประโยคได้ ถ้าตัวหนังสือเชื่อมกันได้ ในกรณีที่คำนั้นลงท้ายด้วยพยัญชนะ แล้วมีคำอื่นตามมา (ไม่ว่าขึ้นต้นด้วยสระหรือพยัญชนะ) เช่น ตาปสสฺ ตุ ก็เขียนเป็น ตาปสสฺตุ. สำหรับผู้เริ่มเรียนแล้ว ย่อมอ่านลำบากมาก

ที่แปลกยิ่งกว่านั้น ในต้นฉบับโบราณ เทวนาครีจะเขียนติดต่อกันโดยไม่เว้นวรรค ไม่ย่อหน้า ไม่ขึ้นบรรทัดใหม่. เขียนไปจนเต็มหน้า (เพื่อประหยัดพื้นที่?) เป็นภาระอันหนักหนาของนักอ่านอักษรโบราณ   ผู้เรียนภาษาสันสกฤตควรจะฝึกอ่านเขียนอักษรเทวนาครีให้คล่อง เมื่อคล่องแล้วก็สบาย..

 

 

ข้อควรจำเกี่ยวกับการเขียนอักษรเทวนาครี

๑. อักษรเทวนาครีนั้น ใช้หลักการเดียวกับอักษรไทย (ความจริงต้องบอกว่า อักษรไทยใช้หลักการเดียวกับอักษรเทวนาครี เพราะเทวนาครีเกิดก่อน และมีพัฒนาการต่อมาเป็นอักษรอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งอักษรไทยด้วย) กล่าวคือ มีพยัญชนะ สระ แยกกัน พยัญชนะ ตั้งแต่ ก ถึง ห หรือ ฬ (แล้วแต่ภาษาที่ใช้) โดยเขียนจากซ้ายไปขวา

๒.หน่วยย่อยที่สุดของการเขียนคือหน่วยพยางค์ อักษรตัวเดียวถือว่าไม่มีเสียง (แต่โดยอนุโลมถือว่า มีเสียงสระอะอยู่ด้วย เช่น ก ออกเสียงว่า กะ) แต่หากไม่ต้องการให้ออกเสียงสระตามหลังพยัญชนะนั้น ก็จะมีเครื่องหมายกำกับไว้เช่น

वर्मन् วรฺมนฺ varman เครื่องหมายข้างใต้ตัว นฺ न เรียกว่า วิรามะ หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า วิราม ก็ได้ (ถ้าเป็นอักษรโรมัน ไม่มีปัญหา ไม่มีสระ ก็ไม่มีสระ)

तत् ตตฺ tat (ออกเสียงว่า ตัต) อักษร ต ตัวหน้าถือว่ามีเสียงสระอะตามหลัง เมื่อมี ตฺ ตามมา จึงอ่านว่า ตัต

๓. พยัญชนะมีสองแบบคือ พยัญชนะเดียว เช่น ก ข ค ง และพยัญชนะประสม ในกรณีที่พยัญชนะนั้นไม่มีเสียงสระตามมา แต่มีพยัญชนะอื่นตาม เช่น รตฺน रत्न (ratna) กรณีนี้ ต त กับ น न จะประสมเป็นตัวพิเศษ ตฺน त्न (rt)

ตัวพิเศษนั้น มักจะเขียนครึ่งตัว แต่บางตัวก็มีวิธีเขียนเฉพาะ โดยเฉพาะตัวที่ใช้บ่อยๆ เช่น ป प และ ร र เมื่อประสมกัน ปฺร प्र pra

๔. เล่าไปแล้วว่าสระของเขามีน้อยกว่าของเขา แต่รูปสระนั้นมีสองแบบ คือ สระเมื่ออยู่ต้นคำ จะเป็นสระตัวเต็ม(เรียกว่าสระลอย) กับสระที่ตามหลังพยัญชนะจะเป็นครึ่งตัว (เรียกว่าสระจม) เช่น

อานนฺท ānanda (อักษรโรมัน ตัว ā จะใช้ตัวใหญ่ก็ได้ เพราะเป็นชื่อเฉพาะ) “อา” ตรงนี้จะใช้สระลอย, ส่วนสระ อะ ที่ตามหลัง น ตัวแรกนั้นใช้สระจม ดังนี้ आनन्द (สระอะ รูปจมนั้นไม่ปรากฏรูป)

อาศีรฺวาท āśīrvāda อา ใช้สระลอย, อี ใช้สระจม आशीर्वाद (शी= ศี)

 ๕. สระทุกตัวที่ประสมกับพยัญชนะ   ไม่ว่าจะเขียนข้างหน้า ข้างบน ข้างล่าง หรือข้างหลัง เช่น    ते (เต, te สระเอ อยู่ข้างบน)      यो (โย, yo สระโอ อยู่ข้างหลัง    हि (หิ, hi สระอิ อยู่ข้างหน้า)     पू (ปู, pū สระอู อยู่ข้างล่าง)

ดังนั้นให้พิจารณาเสียงเป็นสำคัญ อย่าถือตำแหน่ง มิฉะนั้นอาจจะสับสนว่าพยัญชนะประสมสระใด (อีกวิธี ให้ดูอักษรโรมัน จะชัดเจนมาก เพราะสระที่ประสมกับพยัญชนะ จะตามหลังพยัญชนะเสมอ)     (พยัญชนะประสมสองตัวแบบอื่นๆ ให้ดูที่นี่ http://en.wikipedia.org/wiki/Devanagari#Biconsonantal_conjuncts)

๖. พยัญชนะประสมนั้น ยังมีแบบที่ประสมมากกว่าสองตัว    สามตัวที่พบบ่อย ได้แก่สฺตฺร (สฺตฺรี) ศาสฺตฺรา, สฺปฺร, หฺมฺน , क्ष्म (ลกฺษฺมนฺ)   สี่ตัว เช่น द्ध्र्य ทฺธฺรฺย นฺทฺรฺย (อินฺทฺริยะ)   โอกาสที่พบพยัญชนะประสมก็เช่น เมื่อต้องแผลงพยัญชนะกึ่งสระ(อิ อี อุ อู) เป็นพยัญชนะ พยัญชนะตัวนั้นจะไม่มีสระ ต้องประสมกับพยัญชนะตัวอื่นต่อไป

๗.การแบ่งพยางค์  การแบ่งพยางค์ให้ถือเอาสระ, วิสรรคะ และอนุสวาระ เป็นเกณฑ์ คือ เมื่อใดมีสระ/วิสรรค/อนุสวาระ เมื่อนั้นจบหนึ่งพยางค์. ยกเว้นพยางค์สุดท้ายของคำ อาจจบด้วยพยัญชนะก็ได้ (แน่นอนว่า พยัญชนะตัวนั้นไม่มีสระตามมา) เช่น

เกฺษตฺราณิ => เกฺษ/ตฺรา/ณิ  क्षेत्राणि => क्षे/त्रा/णि  kṣetrāṇi => kṣe/trā/ṇi

*โปรดสังเกต พิจารณาจากอักษรโรมันจะง่ายกว่า

อธฺยายะ อ/ธฺยา/ยะ   अध्यायः => अ/ध्या/यः adhyāyaḥ => a/dhyā/yaḥ

พยางค์สุดท้ายมีสระอะแล้วตามด้วยวิสรรคะแล้วจบคำ จึงนับ ยะ yaḥ เป็นหนึ่งพยางค์

รามาณามฺ => รา/มา/ณามฺ रामाणाम्=> रा/मा/णाम् Rāmāṇām => Rā/mā/ṇām

๘. การเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรเทวนาครี จะไม่เว้นวรรค จนกว่าจะสิ้นสุดคำ คำในที่นี้คือ คำเดียวโดดๆ, หรือหลายคำที่อาจเชื่อมกันด้วยวิธีสนธิก็ได้ แต่เสียงกลมกลืนกัน ก็จะเขียนติดต่อกันไปเช่น किम् अर्थम् इदम् เมื่อสนธิแล้ว จะได้ किमर्थमिदं ก็จะเขียนเช่นนั้น (กิมฺ อรฺถมฺ อิทมฺ => กิมรฺถมิทํ) แต่หากเขียนด้วยอักษรโรมัน จะแยกคำตามคำเดิมเท่าที่จะทำได้ kim artham idam. ไม่นิยมเขียน kimarthamidam

 

การเขียนสระ

สระเดี่ยว

เสียงสั้น

เสียงยาว

อะ

a

อา

ā

อิ

i

อี

ī

อุ

u

อู

ū

ฤๅ

ฦๅ

สระประสม

เอ ए  e

ไอ ऐ āi

โอ ओ o

เอา औ āu

สระ อะ อา อิ อี อุ อู นั้นเป็นสระปกติ พบได้มากๆๆๆๆ

สระจม

สระ ที่มีแต่เครื่องหมาย พิมพ์ด้วยแป้นพิมพ์ปกติไม่ได้ (เหมือนกับการเขียนสระอิ อี อุ อู ของเรา ไม่สามารถพิมพ์ลอยๆ ได้) ในที่นี้จึงใช้ ก เป็นแบบ ดังนี้. พยัญชนะเปล่าๆ ไม่มีเครื่องหมายอะไร จะออกเสียง อะ. เช่น ก ออกเสียงว่า กะ.

का

कि

की

कु

कू

कृ

कॄ

कॢ

कॣ

กา

กิ

กี

กุ

กู

กฺฤ

กฺฤๅ

กฺฦ

กฺฦๅ

के

को

कै

कौ

कं

कः*

क्**

เก

โก

ไก

เกา

กํ

กะ

กฺ

* เครื่องหมาย ะ หมายถึงออกเสียงลมหายใจซ้ำตามมา (กะ ออกเสียงเป็น กะฮ่ะ)

** เครื่องหมายข้างใต้ क เรียกว่า วิราม ใส่ไว้เมื่อพยัญชนะนั้นไม่มีเสียงสระตามมา

ตารางแสดง สระลอย และสระจม

สระลอย

ไทย

โรมัน

สระจม

อะ

a

प pa ป

อา

ā

पा pā ปา

อิ

i

पि pi ปิ

อี

ī

पी pī ปี

อุ

u

पु pu ปุ

อู

ū

पू pū ปู

पृ pṛ ปฺฤ

ฤๅ

पॄ pṝ ปฺฤๅ

पॢ pḷ ปฺฦ

ฦๅ

पॣ pḹ ปฺฦๅ

เอ

e

पे pe เป

ไอ

āi

पै pāi ไป

โอ

o

पो po โป

สระลอย

ไทย

โรมัน

สระจม

เอา

Āu

पौ pāu เปา

vocalic r

कृ

ฤๅ

vocalic rr

कॄ

vocalic l

कॢ

ฦๅ

vocalic ll

कॣ

การเขียนพยัญชนะ

พยัญชนะวรรค

ก क k

ข ख kh

ค ग g

ฆ घ gha

ง ङ ṅ

จ च c

ฉ छ ch

ช ज j

ฌ झ jh

ญ ञ ñ

ฏ  ट ṭ

ฐ ठṭ h

ฑ ड ḍ

ฒ ढ ḍh

ณ ण ṇ

ต त t

ถ थ th

ท द d

ธ ध dh

น न n

ป प p

ผ फ ph

พ ब b

ภ भ bh

ม म m

 

พยัญชนะอวรรค

ย य y

ศ श ś

ร र r

ษ ष ṣ

ล ल l

ส स s

ว व v

ห ह h

ฬ  ळ ḷ

การเขียนตัวเลข

เลขเทวนาครี

เลขอารบิก

เลขไทย

คำอ่าน

0

 

1

เอก

2

ทฺวิ

3

ตฺริ

4

จตุรฺ

5

ปญฺจนฺ

6

ษษฺ

7

สปฺตนฺ

8

อษฺฏนฺ

9

นวนฺ

१०

10

๑๐

ทศนฺ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

ธวัชชัย  ดุลยสุจริต, ภาษาสันสกฤตง่ายนิดเดียว, https://www.gotoknow.org/blog/...  เข้าถึงข้อมูล ๒ ม.ค. ๒๕๖๑

https://palicoach.com/%E0%B8%8...  เข้าถึงข้อมูล ๒ ม.ค. ๒๕๖๑

https://th.wikipedia.org/wiki/...เข้าถึงข้อมูล ๒ ม.ค. ๒๕๖๑

https://ezsanskrit.wordpress.c...เข้าถึงข้อมูล  ๒ ม.ค. ๒๕๖๑

ธวัชชัย ดุลยสุจริต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 

หมายเลขบันทึก: 644131เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2018 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2018 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท