ว่าด้วยคำนำหน้านาม


คำนำหน้านาม

18 มกราคม 2561

"คำนำหน้านาม" 

คือ คำที่ใส่เพิ่มไปหน้าชื่อของบุคคลเพื่อบ่งบอกถึงสถานภาพ ยศ ตำแหน่ง หรือบรรดาศักดิ์ เช่น เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง นางสาว เป็นต้น ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดคำนำหน้านามต่างๆ ไว้ดังนี้


*  กรณีบุคคลที่มีอายุไม่ครบ  15  ปี บริบูรณ์ ถ้าเป็นเพศชายให้ใช้  "เด็กชาย" ถ้าเป็นเพศหญิงให้ใช้   "เด็กหญิง"
*  กรณีเมื่อชายหรือหญิงที่ไม่มีบรรดาศักดิ์มีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์ สำหรับชาย ให้ใช้   "นาย" สำหรับหญิงให้ใช้ "นางสาว"  กรณีที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสและเมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.  2551   กำหนดให้ฝ่ายหญิงเลือกได้ตามสมัครใจว่าประสงค์จะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว"และกรณีที่การสมรสสิ้นสุดลง ฝ่ายหญิงสามารถใช้คำนำหน้านามว่า "นาง"หรือ "นางสาว"ได้ตามความสมัครใจเช่นเดียวกัน
*  กรณีหญิงมีบรรดาศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง) แม้เมื่อมีสามีแล้วก็ยังคงใช้บรรดาศักดิ์นำหน้านามของตนได้
*  กรณีผู้ประกอบอาชีพรับราชการทหาร ตำรวจ อาสารักษาดินแดน สามารถใช้ชั้นยศดังกล่าวเป็นคำนำหน้านามก็ได้ แต่ในการปฏิบัติราชการหรือทำงานในส่วนราชการพลเรือน องค์การหรือรัฐวิสาหกิจ  ฝ่ายพลเรือน ผู้มียศทหารจะใช้ยศประกอบชื่อเท่าที่จำเป็นหรือจะไม่ใช้ยศประกอบชื่อก็ได้
*   กรณีการใช้คำนำหน้านามของพระภิกษุ สามเณร พระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้ระบุสมณศักดิ์ใหม่ที่ได้รับแล้ววงเล็บชื่อตัว ชื่อสกุลต่อท้าย   สำหรับพระภิกษุที่ไม่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ให้ใช้คำว่า "พระ"นำหน้าแล้วตามด้วยชื่อตัว ชื่อสกุลต่อท้าย
*  กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้เป็นการลงชื่อหนังสือ เอกสาร งานสารบรรณ หรือการเรียกขานใดๆ เสมือนยศหรือคำนำหน้านามอย่างอื่น เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ เป็นต้น ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการแก้ไขคำนำหน้านามในทะเบียนบ้าน เพราะเป็นเพียงคำที่แสดงให้ทราบถึงการประกอบอาชีพและระดับการดำรงตำแหน่งหน้าที่ของบุคคล เช่นเดียวกับคำว่า นายแพทย์ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ จึงไม่อาจใช้เป็นคำนำหน้านามในทะเบียนบ้านได้
 
                                            
หมายเหตุ 

[1] การใช้คำนำหน้านาม สำหรับผู้ที่มียศทางราชการ โดยปกติแล้วสามารถใช้ยศที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้ หรือ หากไม่ประสงค์จะใช้ยศประกอบชื่อ .... ทหาร ตำรวจ ที่มียศ ทำบัตรประชาชนไม่มียศนำหน้า แจ้งได้หน่วยบริการบัตรประจำตัวประชาชน ของสำนักทะเบียน
[2] บทความทางวิชาการ เรื่อง การใช้นาง หรือ นางสาว นั้นสำคัญไฉน, 
http://www.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/1562/file_1413861318.pdf 
[3] คำนำหน้านาม, มติชนรายวัน  วันที่ 8 สิงหาคม 2552   ปีที่ 32 ฉบับที่ 11473 หน้า 22, http://swis.act.ac.th/html_edu/cgi-bin/act/main_php/print_informed.php?id_count_inform=2639  

[4] ชำนาญ จันทร์เรือง, นาย นาง นางสาว ฤาถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง, Published on Thu, บทความ, 11 ตุลาคม 2550, http://prachatai.com/journal/2007/10/14477   

[5] ทะเบียนราษฎร ว่าด้วย คำนำหน้า vs ตำแหน่งทางวิชาการ, Pantip, 8 เมษายน 2557, https://pantip.com/topic/31887876 

[6] ทำไมแพทย์จึงมีอภิสิทธิ์ใช้วิชาชีพนำหน้าชื่อได้เพียงอาชีพเดียว, ผู้เขียน : ศาสตราจารย์ (พิเศษ)ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ข้อมูลจากหนังสือประมวลข้อหารือเกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่าด้วยงานสารบรรณ  พ.ศ. 2516  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ. 2531, http://bangkokideaeasy.com/informations/attt/index.php?op=dynamiccontent_detail&dynamiccontent_id=3377 

[7] คำนำหน้านามทางวิชาการ  

ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น (ผศ. ผศ.(พิเศษ) รศ. รศ.(พิเศษ) ศ.พิเศษ) สามารถใช้เป็นคำนำหน้านามใน "เอกสารราชการ" (ของหน่วยงาน)
ดูระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านามพ.ศ. 2536. ข้อ 5

[8] คำนำหน้านามทางวิชาชีพ

เพื่อเป็นการสื่อสารการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ของตนเป็นการทั่วไป ซึ่งมิใช่การใช้คำนำหน้านามในหนังสือราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ)
ตำแหน่งทางวิชาชีพ เช่น น.พ. (นายแพทย์) น.สพ. (นายสัตวแพทย์) พว. (พยาบาลวิชาชีพ) (ภก.) เภสัชกร ฯลฯ

: ประกาศสภาพยาบาล เรื่อง การใช้คำนำหน้าชื่อผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการดุงครรภ์ พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 พว. (พยาบาลวิชาชีพ)

: คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย  แห่งราชบัณฑิตยสถาน  จึงได้มีมติให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ในการย่อคำว่า นายสัตวแพทย์ สัตวแพทย์หญิง และสัตวแพทย์ กล่าวคือ
คำว่า สัตวแพทย์ (สัตวแพทย์ทั้งชายและหญิงที่จบประกาศนียบัตร) ให้ใช้ว่า สพ.
คำว่า นายสัตวแพทย์ (สัตวแพทย์ปริญญาที่เป็นชาย)  ให้ใช้ว่า นสพ.
คำว่า สัตวแพทย์หญิง (สัตวแพทย์ปริญญาที่เป็นหญิง) ให้ใช้ว่า สพญ.
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 11 ฉบับที่ 124 กันยายน 2544

: คำนำหน้านามทางวิชาชีพ เรียกทนายความว่า ทค. ATTY. = Attorney at Law ตาม “ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการใช้คำนำหน้าชื่อผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ พ.ศ.2557” ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557

: เรียกวิศวกรว่า วศ. Eng.=Engineer คณะกรรมการสภาวิศวกรได้มติเห็นชอบ ให้ใช้คำนำหน้าชื่อ วศ. แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร และการปฏิบัติงานระหว่างวิศวกรและเพื่อเป็นการเชิดชู ยกย่อง เสริมสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพวิศวกรรม เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ที่มีการใช้คำนำหน้าชื่อ เช่น แพทย์ ทนายความ ทันตแพทย์ เป็นต้น

สำหรับผู้มีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อ วศ. จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมใน 7 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเหมืองแร่ หรือ ได้รับใบรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมส่งเสริม (ไม่ควบคุม) ในอีก 17 สาขา อาทิ วิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมชายฝั่ง วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมต่อเรือ วิศวกรรมบำรุงรักษาอาคาร วิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมปิโตรเลียม วิศวกรรมพลังงาน วิศวกรรมเมคคาทรอนิคส์ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสารสนเทศ วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมอากาศยาน และวิศวกรรมอาหาร จากสภาวิศวกร โดยการใช้คำนำหน้าชื่อให้เป็นไปโดยสมัครใจ และมิได้เป็นคำนำหน้าชื่อตามกฎหมาย

: สภาวิศวกรเตรียมใช้ "วศ." นำหน้าชื่อวิศวกร, ฐานเศรษฐกิจ, 15 ธันวาคม 2560, 
https://www.thansettakij.com/business/242267 

[9] รายงาน-สกู๊ป - ใครเรียก “นาง” มีเคือง!! สภาการพยาบาล ไฟเขียวใช้ “พว.” นำหน้าแทน, 31 กรกฎาคม 2556, https://www.isranews.org/isranews-scoop/22696-she.html 


อ้างอิง

[1] พระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามเด็ก ประกาศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2464 (ยกเลิก)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/A/324.PDF 
เด็กคือ ผู้ที่มีอายุ 15 ปีลงมา 
เด็กที่เปนบุตร์สามัญชนให้ใช้คำว่า "เด็กชาย" หรือ "เด็กหญิง" เปนคำนำนาม ส่วนเด็กที่เปนบุตร์ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ให้ใช้คำนำนามว่า "นายน้อย" หญิงให้ใช้คำนำนามว่า "นางน้อย" และเด็กที่เปนเชื้อราชตระกูลหรือได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดคำนำนามไว้เปนอย่างอื่นแล้วนั้น ให้คงใช้คำนำนามตามชั้นบันดาศักดิ์และที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้เดิม
แต่ก็ได้มีประกาศยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าคำนำนามเด็ก พ.ศ.2464 นี้เสียเพราะเกิดความยุ่งยากและสับสนในการใช้ อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ก็ใช้ "เด็กชาย" หรือ "เด็กหญิง" แล้วแต่กรณี จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 
การเรียกบุตรข้าราชการสัญญาบัตรที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ว่า “นายน้อย” (ชาย) และ “นางน้อย” (หญิง) ซึ่งก็คงจะมาจากคำว่า “Little Master” กับ “Little Miss”

[2] พระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสัตรี พระพุทธศักราช 2460 (ยกเลิก)
โดยข้อ 1 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้สตรีทั่วไปที่ยังไม่มีสามีให้ใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" แต่ถ้ามีสามีแล้ว ให้ใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" แล้วตามด้วยนามสกุลของสามี อย่างไรก็ตาม การใช้คำนำหน้านามทั่วไปข้างต้นไม่ใช้กับสตรีในราชตระกูล สตรีที่สามีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนาม (เฉพาะภรรยาเอกไม่รวมอนุภรรยา ...)

[3] พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551
https://guru.sanook.com/4736/ 

ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะทำให้หญิงซึ่งแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถที่จะเลือกใช้ 'นาง' หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ และหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

[4] พรบ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2530 ฉบับที่ 3  พ.ศ. 2548 
ดูเว็บไซต์ของ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา  ยังเป็นตัวเดิมนะครับ คือ พรบ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 และมีกฎกระทรวง 1 ฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนชื่อสกุล และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญ พ.ศ. 2505  

[4.1] สามารถตรวจสอบกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ได้ที่เว็บไซต์ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา ตามลิ้งค์
http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general/!ut/p/c5/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3g_A2czQ0cTQ89ApyAnA0__EIOAQGdXAwNDc6B8JG55dzMCuv088nNT9YNLMvQLciPKAaAtXIk!/dl3/d3/L2dJQSEvUUt3QS9ZQnZ3LzZfTjBDNjFBNDFJUUJSQjBJT1QwUFFDRTAwUDY!/ 

[4.2] มีการแก้ไข พรบ.ชื่อบุคคล ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ. 2548 ตามลิ้งค์
http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general/!ut/p/c5/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3g_A2czQ0cTQ89ApyAnA0__EIOAQGdXAwNDc6B8JG55dzMCuv088nNT9YNLMvQLciPKAaAtXIk!/dl3/d3/L2dJQSEvUUt3QS9ZQnZ3LzZfTjBDNjFBNDFJUUJSQjBJT1QwUFFDRTAwUDY!/ 

หมายเลขบันทึก: 644021เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2018 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2021 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท