กิจกรรมบำบัดสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ (RQ)



กิจกรรมบำบัดสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ

          สถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพในปัจจุบัน หากกล่าวว่า “ปัญหาด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก คงหนีไม่พ้นปัญหาด้านสุขภาพจิต” คงยากที่จะค้าน . . .

          จากคำกล่าวของ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ว่า “การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว สำหรับประเทศไทย คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน และ โรคซึมเศร้า ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย”


จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตที่กำลังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร ?

          ปัญหาด้านสุขภาพจิตส่วนใหญ่ มักเกิดจากการที่บุคคลขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ไม่สามารถปรับอารมณ์ความรู้สึกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา การดำเนินชีวิตในสังคมมักต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ความเครียด (Stress) ความล้มเหลว (Failure) ความผิดหวัง (Disappoint) บุคคลที่สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตได้อย่างมีสติ ปรับสมดุลในการดำเนินชีวิต นำความเครียดมาสร้างเป็นพลังทางจิตใจ จนสามารถผ่านพ้นอุปสรรคของชีวิต อาจเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มี “ภูมิคุ้มกันทางใจ”


พลังแห่งสุขภาพจิต (Resilience Quotient) คืออะไร ?

Resilience Quotient (RQ) หรือ “พลังแห่งสุขภาพจิต” หมายถึง เป็นความสามารถทางอารมณ์ละจิตใจ ความสามารถในการเผชิญความจริง ปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องเผชิญได้อย่างรวดเร็ว หรือกล่าวได้ว่าเป็นพลังบวกของจิตใจในการยอมรับต่อความผิดพลาด ผิดหวัง หรือล้มเหลว ช่วยให้ตะหนักรู้ตนเอง มุ่งมั่นปรับตัว สร้างกำลังใจใหม่ ทำให้สามารถผ่านพ้นไปได้

        จากบทความ อาร์คิว . . . ภูมิคุ้มกันทางใจ โดยนพ.ทวีศกัดิ์ สิริรตัน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า

อาร์คิว (RQ) เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลที่ทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ได้อย่างแข็งแกร่ง มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ อึด-ฮึด-สู้ กล่าวคือ

อึด คือ มีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถทนทานต่อภาวะกดดันได้ดี จัดการความเครียดได้ อย่างเหมาะสม ควบคุมอารมณ์ได้ดี ยิ้มสู้กับทุกสถานการณ์

ฮึด คือ มีศรัทธาและกำลังใจที่ดี เชื่อว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆ ย่อมผ่านพ้นไปได้ สามารถให้กำลังใจ ตัวเอง และได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง

สู้ คือ สามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอย่างชาญฉลาด มีทักษะในการแก้ไขปัญหาดี หาทางออก ได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้

          RQ เป็นความสามารถที่มีอยู่แล้วในตัวแต่ละบุคคล เป็นความสามารถที่จะถูกดึงออกมาเมื่อต้องเอาชนะอุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ผู้ที่มีพลังแห่งสุขภาพจิตที่ดี จะสามารถยกระดับความคิดและจิตใจ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างพลังให้ตนเอง เสริมสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่ง ให้สามารถทำให้รอดพ้นจากปัญหาไปได้

ขอขอบคุณรูปภาพจาก https://www kidsmatter.edu.au/families/enewsletter/resilience-essential-skill-life

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ resilience skill

          ผู้ที่มี RQ ดี จะเป็นผู้ที่สงบเมื่อเจอปัญหา สามารถปรับสมดุลทางอารมณ์ได้ดี มุ่งเน้นการแก้ปัญหา เผชิญกับอุปสรรค มากกว่าที่จะมาติดอยู่กับความรู้สึก ผิดหวัง สิ้นหวัง มักจะมองเห็นคุณค่าในตนเอง รับรู้ความสามารถตนเอง รับรู้กำลังใจของตนเองและกำลังใจจากคนรอบข้าง รู้สึกมั่นใจในตนเอง ส่งผลให้สามารถฟื้นตัวจากปัญหาได้เร็ว

            อาจกล่าวได้ว่า RQ คือทักษะสำคัญที่พึ่งมี เป็นทักษะแห่งความมุ่งมั่น พยายามที่จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มี RQ ที่ดีคือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันทางใจ แม้บุคคลจะมี IQ หรือ EQ มากเพียงใด แต่ถ้าหากขาด RQ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

กิจกรรมบำบัดนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจได้อย่างไร ?

            กิจกรรมบำบัดเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะนำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันทางใจ โดยนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็น เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาตนเอง สร้างเป็นภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่ผู้รับบริการ ให้ผู้รับบริการสามารถกลับไปเผชิญกับปัญหา และดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง

            นักกิจกรรมบำบัดไม่เพียงแต่รักษาทางกายภาพ ยังมุ่งเน้นที่จะสร้างทักษะในการเผชิญความจริงและปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างเป็นภูมิคุ้มกันทางใจให้ผู้รับบริการมีพลังแห่งสุขภาพจิตที่ดี (RQ) ดังนี้

  • มุ่งเน้นให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงสาเหตุของปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น
  • กระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มองจากปัญหาลงไปถึงสาเหตุที่แท้จริง
  • มองตามความเป็นจริงว่าไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง
  • กระตุ้นให้ผู้รับบริการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง มุ่งเน้นการแก้ปัญหา การเผชิญกับอุปสรรค
  • ส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง การปรับสมดุลอารมณ์เมื่อต้องเผชิญปัญหา
  • รับฟัง ให้กำลังใจ นำไปสู่การมีพลังทางใจ
  • กระตุ้นให้ผู้รับบริการดึงความสามารถด้าน RQ ออกมาเอาชนะอุปสรรค
  • ชี้ให้ผู้รับบริการมองเห็นคุณค่าในตนเอง

           ความล้มเหลว ผิดหวัง การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ล้วนเป็นธรรมชาติที่ทุกคนต้องเผชิญ ความเครียดเป็นสภาวะทางสุขภาพจิตเชิงลบที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพกายและการเจ็บป่วยทางจิต สุขภาพจิตจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้หากปราศจากการมีสุขภาพจิตที่ดี

           RQ เป็นความสามารถด้านการยอมรับความจริง พร้อมเผชิญกับปัญหา ซึ่งสามารถพบได้ในแต่ละบุคคล นักกิจกรรมบำบัดมีส่วนช่วยในการดึงทักษะความสามารถเหล่านี้ออกมาเพื่อเสริมสร้างเป็นพลัง นำไปสู้การมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถกลับไปดำเนินชีวิต เผชิญปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง


คนที่มีทักษะ RQ เป็นอย่างไร ?

            จากบทความ “จิตใจแย่...คนแก้ต้องอาร์คิว (RQ)” (ข้อมูลจากเว็บไซต์หมอชาวบ้าน หัวข้อบทความสุขภาพ) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของคนที่มี RQ ไว้ว่า


เราจะพัฒนา Resilience quotient หรือ สร้างพลังแห่งสุขภาพจิตให้ดีได้อย่างไร ?

            เราสามารถฝึกสร้างหรือทักษะ RQ ได้โดยใช้เทคนิค 4 ปรับ 3 เติม ดังนี้

หลักการ 4 ปรับ คือ . . .

ปรับอารมณ์ คือ การตั้งสติ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่โกรธแค้นหรือโทษใคร

ปรับความคิด คือ การคิดในมุมบวก มองให้ลึกถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ปรับพฤติกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่

ปรับเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

หลักการ 3 เติม คือ . . .

เติมศรัทธา คือ ความเชื่อที่ว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อผ่านพ้นความมืดตอนกลางคืนไปแล้ว พระ

อาทิตย์ย่อมขึ้นมาให้ความสว่างเสมอ

เติมมิตร คือ มิตรสหาย และครอบครัว ที่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจเพื่อช่วย

หาทางออก

เติมจิตใจให้กว้าง คือ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มองไปให้ไกลออกจากตัวเรา ในขณะที่เรามีความ

ทุกข์ยากลำบาก ก็ยังมีคนอื่นๆ ที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา บางคนอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ

 

แหล่งอ้างอิง

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น. (2560) RQ ภูมิคุ้มกันทางใจ สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2560 จากเว็บไซต์ : http://www.happyhomeclinic.com/Download/article/a21-RQ.pdf

นิตยสารหมอชาวบ้าน. (2552) จิตใจแย่...คนแก้ต้องอาร์คิว (RQ) สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2560 จากเว็บไซต์ : https://www.doctor.or.th/article/detail/5865

K nation blog. (2552) RQ หรือพลังสุขภาพจิต วิธีปรับ 4 เติม 3 สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2560 จากเว็บไซต์ :

http://oknation.nationtv.tv/blog/RQ/2009/05/19/entry-1

Nation TV. (2560) กรมสุขภาพจิตย้ำ ซึมเศร้า ไม่ใช่ความอ่อนแอ ทุกคนช่วยได้ รักษาหายได้ สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2560 จากเว็บไซต์ : http://www.nationtv.tv/main/content/378557723/

กันดั้มแมว. (2557) RQ คือ สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2560 จากเว็บไซต์ : https://pantip.com/topic/32523226

รูปภาพที่เกี่ยวข้องในบทความ

Kids matter. Resilience is an essential skill for life สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2560 จากเว็บไซต์ : https://www.

kidsmatter.edu.au/families/enewsletter/resilience-essential-skill-life

หมายเลขบันทึก: 643359เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 05:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบทความดีๆมากค่ะ ใช้สอนเด็กๆในกิจกรรมแนะแนว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท