“นักเรียน-นักศึกษา-บัณฑิต” ขนมจีน ... แม่ค้า กับลูกชาย และเรื่องเล่าที่ตลาดมอดินแดง


“ชีวิตของการลองผิดลองถูก” ในหลายๆเรื่อง ลองใช้ชีวิตให้เป็นผู้ใหญ่ ลองเรียนหนังสือแบบไม่มีใครบังคับ ลองคิดวิเคราะห์แยกแยะ ลองเรียนและปฏิบัติวิชาการขั้นสูงขึ้น เพราะหลายคนไม่รู้เลยว่า เมื่อเขาสามารถก้าวข้ามจากคำว่า “นักศึกษา” เปลี่ยนสถานะเป็น “บัณฑิต” และกลายเป็น “แรงงาน” นั่นต่างหากคือ “ชีวิตจริง”


ออกจากสำนักงานฯ (อยู่เย็นอาจไม่เป็นสุข) กำลังจะไปตลาดมอดินแดง เจอ ผอ.ม่วย แห่งสำนักงานหอพักนักศึกษา จึงทักทาย พี่ม่วยเพิ่งลงเครื่องบินมาจากทัวร์ยุโรป เราเลยเห็นจักรยานเหลือง ofo ก็เลยชี้บอก พี่ม่วยสนใจ จึงสอนกันว่าทำอย่างไรถึงจะปั่นได้ ขั้นตอน วิธีการ แล้วก็ถือโอกาสปั่นไปตลาดมอฯ 

ถึงตลาดมอ เดินสำรวจร้านค้า หวังในใจว่าจะทานแต่น้อย เดินไปถึงร้านขนมจีน จึงแวะทักทายสองผัวเมีย พ่อค้าแม่ค้าที่ผมเคยเป็น “คุณลูกค้า” มานาน เมื่อครั้งเขาขายส้มตำที่ตลาดเจ๊พร พักหลังย้ายไปขายที่เทคโนไทย เลยอดลิ้มรส ช่วงเย็นจะมาขายขนมจีนน้ำยากับขนมหวาน ...  

มค. : เป็นไงบ้างพี่ยอดไม่เจอกันนานเลย 

ลค. : ผมไม่ได้มาตลาดนานมากครับ 

มค. : เจอน้องบ้างไหม สอนน้องหน่อยสิ เป็นอะไรไม่รู้ ไม่เห็นน่ารักเหมือนตอนเด็กเลย 

ลค. : เอ้า มันดื้อเหรอพี่ เอาน่า มันก็ตามวัยเขานั่นแหละ มันเป็นยังไงละครับที่ว่าดื้อ 

มค. : ก็ชอบไปหลังมอ เหมือนไม่ค่อยเรียน ไม่รู้ไปเรียนบ้างหรือเปล่า 

ลค. : เอ้า เขาพักหอพักเหรอครับ ไม่พักบ้านเหรอ 

มค. : พักหอค่ะ นี่เพิ่งมาพักที่บ้านเมอมนี้เทอมแรก กว่าจะกลับ ดึกมาก บอกไปอ่านหนังสือ ก็ถามว่าทำไมไม่อ่านตอนกลางวัน ก็บอกอ่านไม่ได้ ต้องอ่านกลางคืน 

ลค. : เอาน่า เป็นตามวัยเขาครับ เอ้อนี่เขาเรียนปีไหนแล้ว 

มค. : ปี 3 แล้ว 

ลค. : เอ้า อีกนิดเดียวก็จบแล้วครับ 

มค. : จบอะไรหละ มันบอกจะเป็นซุปเปอร์ เรียน 5 ปีแหนะ อยากให้จบไวๆ มีงานทำเหมือนพี่ยอด 

ลค. : (ทำหน้าแหยะๆ หัวเราะ เหอะๆ) เดี๋ยวก็จบครับ อดทนไปด้วยกันครับ  

ลค. : จ่ายค่าขนมจีน แล้วก็เดินจากไป 


เจอเจ้าเด็กปี 3 ตั้งแต่เรียนประถม จนเติบโตสมวัย เรียนมหาวิทยาลัยที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของครอบครัว พี่สาวเรียน ป.ตรี-โท มหิดล นานทีไปตลาดมอฯ เรื่องราวของชีวิตมีหลากหลายมิติ เจ้าหลานชายก็เจอบ้าง แต่เขาดูจะไม่ค่อยอยากทักทาย น้าชายก็ได้แต่ทำตาฟ่าฟาง ปิดตาไปข้าง ก็ตามจริตของวัย เฟสบุ๊คก็ไม่แอดเป็นเพื่อน นานๆทีจะเด้งมา น้าก็เข้าไป “จอบ” ดูบ้าง “ซอมเบิ่ง” อยู่ห่างๆ เรื่องเล่าหลายบรรทัด มีคำผิดกี่คำครับ

ความคาดหวังของลูกกับผู้ปกครองก็ดูจะต่างกัน (ใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐาน) พอผมโตมาก็พอจะเข้าใจอยู่บ้าง ทั้งในฐานะพี่ ในฐานะน้า ในฐานะผู้ปกครอง ในฐานครู และในฐานะคนรู้จัก เด็กก็จะยังเป็นเด็กในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่เด็กวัย 18-22 ในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น กำลังหลงใหลกับการ “โต” เป็นผู้ใหญ่ที่เหนือการควบคุม จึงอาจเดินพลาดบ้าง ตกหลุมบ้าง หลงลงข้างทางก็บ่อย....ผู้ปกครองอาจบอกว่า “บอกแล้วก็ไม่ฟัง” แต่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นเป็น “ชีวิตของการลองผิดลองถูก” ในหลายๆเรื่อง ลองใช้ชีวิตให้เป็นผู้ใหญ่ ลองเรียนหนังสือแบบไม่มีใครบังคับ ลองคิดวิเคราะห์แยกแยะ ลองเรียนและปฏิบัติวิชาการขั้นสูงขึ้น เพราะหลายคนไม่รู้เลยว่า เมื่อเขาสามารถก้าวข้ามจากคำว่า “นักศึกษา” เปลี่ยนสถานะเป็น “บัณฑิต” และกลายเป็น “แรงงาน” นั่นต่างหากคือ “ชีวิตจริง”

หลายคนฝึกฝนในช่วง “ทดลอง” จนเชี่ยวชาญไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แม้แต่เรื่องร้ายๆที่ไม่เคยทำเลยตอนเรียนมัธยม มาอยู่มหาวิทยาลัยก็ลองซะให้มันรู้รสชาติ หลายคนก็เจอเรื่องดีๆมากมายระหว่างทางจาก “นักเรียน-นักศึกษา-บัณฑิต” บางคนช่ำชองเรื่องอบายมุขซะจนแทบโงหัวไม่ขึ้น แต่เมื่อผ่านเงื้อมมือของมันมาได้ ก็แทบจะสายเกือบไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ทางการศึกษาแห่งตน บางจำพวกก็ขลุกอยู่กับตัวหนังสือ ห้องสมุด ท่องตำรา จนแทบไม่รู้จักโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ไม่ได้ฝึกฝนตนนอกวิชาการในวิชาชีพก็มีให้เห็นอยู่มาก บางคนก็ทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนจนแทบจะเป็นเซียน แต่วิชาการแทบจดจำ “หลัก” แห่งวิชาชีพตนไม่ได้ หลายคนก็ต้องจบชีวิตในภาควิชาการปริญญาตรีลงไปโดยสิ้นเชิง แล้วกลายสถานภาพข้ามขั้น จาก “นักศึกษา” กลายเป็น “แรงงานภาคประชาชน” ไม่มีโอกาสได้เป็น “บัณฑิต”ในทางโลก แต่อาจได้เรียนรู้แล้วได้ “บัณฑิต” ในทางสัจธรรมก็เป็นได้ .... แต่กระนั้นก็เถอะ “ใบปริญญา” ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆบนโลกใบนี้ เมื่อต้องเผชิญกับโลกกว้างและโลกแห่งความเป็นจริงนอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก facebook กลุ่ม มอง มข. ผ่านเลนส์ จากคุณ Angle Kku , Watchara Koonpan , Chot Chatpinit‎  , Phai Chantima ,

 

ณ  มอดินแดง, 30 พฤศจิกายน  2560






หมายเลขบันทึก: 642709เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท