นิทรรศการพระเมรุมาศ


คำชี้แจง 

๑. ความเป็นมาและความสำคัญของพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศ และพระเมรุ คือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมือง เพื่อใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระราชพิธีพระศพโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้

พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินีพระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”

การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

ผังอาคารและอาคารประกอบ

แผนผังของพระเมรุมาศ มีแนวคิดจากผังของเขาพระสุเมรุ ในสมัยโบราณจะปรับพื้นที่พูนดินสร้างเขาให้มีลักษณะ ประดุจเขาพระสุเมรุก่อน แล้วจึงก่อสร้าง อาคารประกอบพระราชพิธี ส่วนประกอบอื่นอย่าง ศาลาและอาคารที่ใช้สอยต่าง ๆ มีความหมายถึงสร้างวังทั้งวังขึ้นบนเขา มีรั้วราชวัติล้อมรอบ ประดับฉัตร ธงทิว รายล้อมด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นการล้อเลียนธรรมชาติตามคติในเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตบริภัณฑ์

อาคารหลักคือ พระเมรุมาศ 1 องค์ และอาคารประกอบอย่าง ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเรียกว่าทับเกษตร อันมีความหมายว่า “เขตอันเป็นที่พัก” ตรงส่วนมุมคดของทับเกษตรทั้ง 4 มุมเรียกว่า “สร้างหรือสำสร้าง” เป็นที่ที่สวดอภิธรรมของพระสงฆ์ นอกจากนี้อาคารบริวาร มีราชวัติ ฉัตร ธง รายล้อม หลังสร้างหรือสำสร้างมีรูปสัตว์รายรอบ ถัดจากนั้นมี เสาดอกไม้ พุ่ม ดอกไม้ไฟ ส่วนพระที่นั่งชั่วคราวที่เรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม จะอยู่ด้านตรงข้ามพระเมรุมาศ สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ในบริเวณส่วนกลางของพระเมรุมาศหรือพระเมรุ จะประดิษฐานพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐานพระโกศ พระศพ จะประดับด้วยพระโกศไม้จันทน์ และดอกไม้สดเป็นลวดลายก้าน ดอก ใบ ที่มีฝีมืออันประณีต สำหรับพระมหากษัตริย์-ราชวงศ์-ข้าราชการ ถวายพระเพลิง   

ส่วนยอดพระเมรุมาศ สามารถแสดงฐานันดรของพระศพได้จากยอด คือหากเป็นพระเมรุมาศสำหรับพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ยอดจะเป็น "พระมหาเศวตฉัตร" หรือหากเป็นพระบรมราชวงศ์ ชั้นฉัตรก็ลดหลั่นลงมา หรืออาจไม่มีฉัตรแต่เป็นยอดนภศูลก็ได้

โครงสร้าง

การออกแบบมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเช่นในส่วนโครงสร้างทุกส่วนต้องแข็งแรงพอรับน้ำหนักประจำและน้ำหนักจรได้อย่างมั่นคงแข็งแรงวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างปัจจุบัน ออกแบบพระเมรุอาคารประกอบของพระเมรุคิดน้ำหนักเฉลี่ยโดยทั่วไปอยู่ที่ 300 กิโลกรัมต่อ ตารางเมตร ส่วนองค์พระเมรุคิดน้ำหนักไว้ที่ 500 กิโลกรัมต่อ ตารางเมตร และในคราวสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯส่วนรับเตาเผาที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพมีน้ำหนักมากถึง 5 ตัน หรือ 5 พันกิโลกรัมจึงออกแบบเพิ่มน้ำหนักส่วนของพระเมรุเพิ่มขึ้น

แต่เดิมส่วนฐานรากแต่เดิมใช้ไม้ซุงยาว5-6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตอกเป็นฐานราก หนุนเป็นแบบระนาดวางไว้ที่ฐานเพื่อรับน้ำหนักแรงกระทำแนวดิ่งจนพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเปลี่ยนฐานรากจากไม้เป็นคอนกรีตสำเร็จรูปนำมาตัดเป็น ท่อนๆ ตามขนาดของน้ำหนักที่จะกดลงตรงที่นั้นๆส่วนพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ใช้แผ่นพื้นสำเร็จวางปูเพื่อเป็นฐานส่วนเสาแต่เดิมใช้เสาไม้สักเส้นผ่าศูนย์กลาง50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เป็นเสาหลักแต่ปัจจุบันใช้เสาเหล็กผสมไม้ และส่วนประกอบอื่นอย่างลวดลาย ไม้ตัวโครงสร้างใช้ไม้และไม้อัด

สำหรับโครงสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใช้โครงสร้างแบบชั่วคราวสามารถรื้อถอดไปประกอบติดตั้งใหม่ได้ มีโครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็งและเหล็กรูปพรรณประกอบกันเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้แข็งแรงปลอดภัยเพียงพอในการใช้งาน

การตกแต่ง

  การตกแต่งจะเป็นไปตามแบบแผนของการก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรม มี 2 ลักษณะคือตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสี โดยการตกแต่งพระเมรุทอง(มักจะใช้กับพระเมรุมาศ ของพระมหากษัตริย์) เช่นการปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาด อย่างเช่นทองคำเปลวกระดาษทอง[39] พื้นเมรุสีแดงมีลายทองหรือจะปิดกระดาษทองย่นมีสายสีแดง ส่วนการตกแต่งเมรุสี หรือ เมรุลงยาราชาวดีจะใช้สีจากวัสดุหลากหลายประเภท อย่าง กระจกสีต่าง ๆสอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษกั่วสีโดยการเลือกสีจะสัมพันธ์กับผู้ที่จะรับการถวายพระเพลิง เช่นเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เป็นต้น 

อาคารประดับตกแต่งด้วยหุ่นเทวดา ถือเครื่องสูงเพื่อเป็นการแสดงพระอิสริยยศ บางครั้งประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ที่อยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุเช่นเสาหงส์       

งานภูมิสถาปัตยกรรม

            การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณพระเมรุมาศคำนึงที่พื้นที่ว่างระหว่างอาคารภายในขอบเขตรั้วราชวัติและบริเวณโดยรอบตามประโยชน์ใช้สอยเพื่อเสริมส่งให้พระเมรุมาศและบรรยากาศโดยรอบมีความงดงามอีกทั้งให้ความหมายในเรื่องคติของแผนภูมิจักรวาลให้สมบูรณ์ โดยจำลองเขาพระสุเมรุคือบริเวณโดยรอบพระเมรุมาศจะเปรียบเสมือนเขาพระเมรุตั้งอยู่กลางจักรวาล ส่วนที่ว่างปลูกต้นไม้บริเวณฐานเปรียบเหมือน

ป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขาโดยมีลวดลายของเส้นเป็นตัวกำหนดส่วนบริเวณถัดมาใช้สำหรับเชิญพระโกศเวียนพระเมรุมาศ จะเปรียบเสมือนสีทันดรมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

งานออกพระเมรุมาศ

  เมื่อถึงกำหนดงานออกพระเมรุ จะอัญเชิญพระบรมศพออกไปถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งมีการแห่ไปทั้งทางบกทางน้ำ โดยเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงมาที่พระยานมาศสามลำคาน แล้วแห่ออกท่าราชวรดิษฐ์ไปลงเรือ พายตามน้ำไปขึ้นที่ท่าเตียน จากนั้นเชิญขึ้นพระยานมาศสามลำคานจากเรือไปจนถึงหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ จัดเป็นริ้วขบวนแห่เข้าพระเมรุที่ท้องสนามหลวง

การแห่กระบวนเป็นไปตามราชประเพณีแต่โบราณ เพื่อเป็นเกียรติยศ สำหรับการแห่ทางน้ำหรือชลมารคในรัชกาลปัจจุบันได้ลดทอนเหลือแต่กระบวนแห่ทางบก โดยแห่จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นการเฉพาะสำหรับพระบรมศพและพระศพเกียรติยศจริง ๆ เท่านั้น โดยริ้วขบวนมักประกอบด้วยริ้วขบวน 6 ริ้วได้แก่

 

 

 

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศพระยานมาศสามลำคานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัย

ราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง


ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศโดยราชรถปืนใหญ่ สำหรับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระยานมาศสามลำคานสำหรับพระศพเจ้านายชั้นสูง เวียนโดยอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ แล้วเชิญพระโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

ริ้วขบวนที่ 4 ในวันเก็บพระอัฐิ เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชยานกงสำหรับพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า หรือพระวอสีวิกากาญจน์สำหรับพระบรมวงศ์ฝ่ายใน จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง

ริ้วขบวนที่ 5 ในวันเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน      จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐานที่พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หรือวัดแห่งอื่นตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร


อย่างไรก็ตาม ในริ้วขบวนที่ 3 สำหรับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าที่ทรงรับราชการทหารนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ราชรถปืนใหญ่รางเกวียนทรงพระบรมศพหรือพระศพเวียนรอบพระเมรุมาศหรือพระเมรุ โดยเริ่มปรากฏหลักฐานของธรรมเนียมดังกล่าวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะพระบรมศพของพระมหากษัตริย์นั้น ได้เริ่มธรรมเนียมนี้ขึ้นในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์เอง ข้อที่ 11 ซึ่งระบุไว้ว่า "ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดรถเสียใหม่เป็นรถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร" แต่เมื่อถึงคราวจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระเวชยันตราชรถ (ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามในหมายกำหนดการว่าพระมหาพิชัยราชรถ) ทรงพระบรมศพ ในริ้วกระบวนเชิญพระโกศทรงพระบรมศพจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวงตามโบราณราชประเพณีเช่นเดิม แต่ทรงอนุโลมให้ใช้ราชรถปืนใหญ่เชิญพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศตามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม การจัดริ้วขบวนดังกล่าวนี้ได้สืบทอดเป็นราชประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง ในคืนก่อนวันออกพระเมรุ จะมีการจัดงานเครื่องสดอย่าง งานแทงหยวกและงานดอกไม้สด เพิ่มเติมในพระเมรุมาศ โดยงานแทงหยวกแต่งจิตกาธาน ด้วยเพราะหยวกฉ่ำน้ำช่วยไม่ให้ไฟโหมไหม้แรงเกินไป ส่วนงานดอกไม้สด ร้อยประดิษฐ์เป็นฉัตรและเครื่องแขวนต่าง ๆ ที่มาจากโบราณ ยังเป็นเครื่องกลบกลิ่น ส่วนในงานกลางคืนของคืนวันออกพระเมรุ จะจัดให้มีมหรสพสมโภชและจัดซุ้มให้ประชาชนมาถวายดอกไม้จันทน์

 

เครื่องสังเค็ด

  เครื่องสังเค็ด หมายถึง วัตถุทานที่เจ้าภาพสร้างอุทิศเพื่อใช้ชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมทำเป็นของใช้สำหรับพระสงฆ์ อาทิ พัดรอง ธรรมมาสน์ เครื่องบริขาร และเครื่องนมัสการ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานแรกที่มีการจัดสร้างเครื่องสังเค็ดเพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของศาสนาอื่นด้วย อาทิ ธรรมมาสน์ เพื่อมอบแก่วัดในพระพุทธศาสนา เชิงเทียน เพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของคริสต์ศาสนา และโคมไฟ เพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของมุสลิม หลังจากนั้นก็คงมีแต่การพระราชทานเครื่องสังเค็ดเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น จนเมื่อครั้งงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีการพระราชทานเครื่องสังเค็ดแก่ศาสนสถานของศาสนาทุกศาสนา และโรงเรียนและห้องสมุดด้วย ได้แก่

๑. เครื่องบูชาวิปัสสนาและพวงแก้วน้ำ พระราชทานเป็นสังเค็ดแก่พระอารามหลวง และพระอารามอันเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น วัดเสนหา อันเป็นวัดประจำพระราชวังสนามจันทร์ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี วัดแก้วพิจิตร วัดประจำสกุลอภัยวงศ์ และวัดประยุรวงศาวาสราชวรวิหาร วัดที่บรรจุอัฐิของคุณเล็ก บุนนาค พระชนนีของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

๒. เชิงเทียนประดับอักษรพระนาม เพื่อพระราชทานแก่ศาสนสถานของคริสต์ศาสนา เทวสถานของพราหมณ์ และศาลเจ้าของเต๋า

๓. โคมไฟประดับอักษรพระนาม เพื่อพระราชทานแก่มัสยิดและสุเหร่าของศาสนาอิสลามและซิกซ์

๔. ตู้หนังสือ เพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัย โรงเรียน และห้องสมุดต่างๆ ที่อยู่ในพระอุปถัมภ์

ของที่ระลึกเนื่องในงานออกพระเมรุ

  การจัดทำของที่ระลึกในงานพระเมรุ ทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่ออุทิศเป็นบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโดยพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ พระราชโอรสทรงร่วมแจกทานเป็นเสื้อผ้าและเงินทอง และสิ่งของเครื่องใช้แก่ประชาชน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังคงจัดทำเครื่องสังเค็ดและถวายพระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนาเทศน์หรือพิจารณาผ้าบังสุกุล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกเป็นเงินพดด้วง มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์รูปครุฑ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงการจัดทำเป็นหีบเงินหรือกระเบื้องเคลือบ ในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก นอกจากนี้การพิมพ์หนังสือที่ระลึกก็เป็นที่นิยมเช่นกัน เช่นงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกถึง 5 เล่ม

สำหรับของที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น นอกจากเครื่องสังเค็ดถวายพระสงฆ์แล้ว ยังมีการจัดทำหนังสือ และของที่ระลึกอื่น ๆ ทั้งเข็มที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก

ชิ้นส่วนหลังการรื้อถอน

  ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์ โดยในสมัยก่อนส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มักจะเป็นตัวไม้ หลัก ๆ เท่านั้น ส่วนสัตว์หิมพานต์สมัยก่อน วัดวาอารามบางวัดจะขอเก็บไว้บ้าง แต่ที่เก็บไว้ก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือนรูปต่างๆ โดยโปรดเกล้าฯให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่าครั้นเสร็จการให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้จำนวน 4 หลัง ณ บริเวณวังหลัง ซึ่งต่อมาคือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังเสร็จสิ้นงาน เอาไปสร้างศาลาหลังหนึ่งที่วัดปทุมวนาราม ข้างวังสระปทุม โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธี ของทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง โดยส่วนที่นำไปแปรธาตุไปใช้อย่างอื่นเช่น ศาลาต่างๆ ทับเกษตร ราชวัติ ส่วนที่เก็บไว้เช่น ส่วนฉัตร กลีบบัว ฉัตรปรุ โครงฉัตรผ้าฉลุทอง

หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาคารพระเมรุและอาคารประกอบ ถูกรื้อถอนเป็น 3 ส่วน คือส่วนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้หน่วยงานต่างๆ ส่วนที่ 2 เปิดประมูล และส่วนที่ 3 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา เช่นชิ้นส่วน พระโกศจันทน์ รูปปั้นเทวดา สัตว์หิมพานต์

วิทยากรผู้ให้ความรู้ คือ .นางสาวกัญญา  แก้วคำฟุ่น  ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารบุคคลกรรมศาสนา

หมายเลขบันทึก: 642706เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท