การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้ถึงมือผู้เรียนให้เร็วที่สุด


ขอให้กระทรวงศึกษาฯ กระจายบทบาท “การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้ถึงมือผู้เรียนให้เร็วที่สุด”

จากหน่วยงานส่วนกลาง ไปสู่ผู้จัดที่หลากหลาย ทั้งในท้องถิ่นและสถานศึกษาอิสระประเภทต่างๆ เพื่อให้ถึงมือผู้เรียนเร็วที่สุด

นโยบาย : กระจายบทบาท อำนาจหน้าที่และงบประมาณ "การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ให้ถึงมือผู้เรียนให้เร็วที่สุด" จากหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่ผู้จัดที่หลากหลาย ทั้งท้องถิ่น สถานศึกษา และผู้จัดอื่นๆ ที่มีความสามารถจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้ทั่วถึง

 ต้องเกิดการกระจายบทบาท อำนาจหน้าที่และงบประมาณ "การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ให้ถึงมือผู้เรียนให้เร็วที่สุด"

 เพราะระบบการบริหารจัดการศึกษาเดิมมีปัญหา

     1. หน่วยงานระดับกระทรวงมีบทบาทแต่ผู้เดียว ตั้งแต่การกำหนดนโยบายฯ การกำกับการปฏิบัติตามนโยบายและการเป็นผู้จัดการศึกษาระดับโรงเรียนทั้ง 3หมื่นกว่าแห่งเอง จึงขาดความคล่องตัว ในการดำเนินงานอย่างทันต่อปัญหาในห้องเรียน/โรงเรียนและขาดระบบธรรมาภิบาล

    2. ครูใช้หลักสูตรแกนกลางแบบสำเร็จรูปทำ เพราะไม่มีเวลาเตรียมการสอน ไม่สามารถออกแบบสร้างแผนการเรียนการสอน และการประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ด้วยตัวเองให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนและบริบทนั้นๆ

   3. ปัญหาภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของครูและผู้อำนวยการมากเกินกว่าที่จะดูแลห้องเรียนและนักเรียนได้อย่างแท้จริง เพราะต้องปฏิบัติตามโครงการและงบประมาณต่างๆที่ส่งไปจากส่วนกลาง ซึ่งไม่อาจตอบโจทย์ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนได้โดยตรง

   4. ระบบการประเมินคุณภาพโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ที่ขึ้นอยู่กับกลไกส่วนกลาง ไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลหรือผลการเรียนตามสภาพจริงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในห้องเรียน/สถานศึกษาโดยตรง จึงทำให้การเติบโตในอาชีพของบุคลากร ไม่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 เป้าหมาย

   1. เพื่อคืนผู้อำนวยการให้อยู่โรงเรียนและเป็นผู้นำการบริหารวิชาการที่แท้จริง เป็นครูของครู

   2. คืนครูสู่ผู้เรียน ให้ครูมีเวลาเอาใจใส่เด็กนักเรียนเป็นรายบุคคล สามารถช่วยเด็กแต่ละคนให้เรียนรู้อย่างเข้าใจ เข้าถึง และทำเป็น

   3. จัดระบบพัฒนาครู แบบชุมชนผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ (PLC  Professional Learning Community) ภายในสถานศึกษา เพื่อพัฒนาครู ผู้ปกครอง และชุมชนให้เป็นผู้นำการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ

   4. เพื่อสร้างผู้เรียนที่ใฝ่รู้ (Active learners) มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และมีสมรรถนะของความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณค่า

   5. เพื่อพัฒนาสถานศึกษาหรือศูนย์การเรียนต่างๆ ในท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัย

โครงสร้างใหม่ช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้

   1. ผลประโยชน์จะถึง “เด็ก” เร็วที่สุด เพราะเด็กเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เด็กโตขึ้นทุกวัน

   2. เกิดผู้จัดการศึกษาที่เน้นคุณภาพที่หลากหลายขึ้น และมีอิสระจากการจัดการของหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ

   3. เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน องค์กรชุมชน ครอบครัวและท้องถิ่น มีโอกาสและบทบาทร่วมจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

   4. มีเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สร้างคนให้มีอาชีพตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่น

   5. เด็กรู้ว่าเรียนไปทำไม? เรียนไปเพื่ออะไร

 แนวทางที่จะนำไปสู่การ “ปรับโครงสร้างการจัดการศึกษาใหม่” ดังนี้

   1. ให้มีกลไกสนับสนุนระดับนโยบาย เพื่อกำกับดูแลด้านวิชาการและกฏระเบียบ เพื่อจัดทำโครงการนำร่อง ผู้จัดการศึกษาอิสระ เพื่อเริ่มเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเจตจำนงและมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เสนอโครงการกับหน่วยกำกับนี้ ซึ่งทำงานประสานกับสภาการศึกษาจังหวัดหรือหน่วยงานเฉพาะฯเพื่อพิจารณาอนุมัติและกำกับทิศทาง

   2. ให้บทบาทอำนาจหน้าที่ และสนับสนุนงบประมาณกับกลุ่มผู้จัดที่พร้อมและมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ได้ทันที และจะเกิดผลกับเด็กโดยตรง เช่น สถานศึกษา/กลุ่ม/เขตสถานศึกษาอิสระ (นิติบุคคล) ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลฯ หรือการจัดการศึกษาของหน่วยงานอื่น ๆ ที่สามารถออกแบบโครงการเพื่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่/สถานศึกษาของตนเองได้

   3. ให้กลไกระดับพื้นที่ เช่นสภาการศึกษาจังหวัด ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดการศึกษาระดับจังหวัด /เขต หรืออำเภอ เพื่อร่วมกันวางแผนการจัดการศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของ ภาครัฐ เอกชน หรือผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน ครู ผู้ปกครอง และนักการศึกษาในท้องถิ่นเป็นต้น

   4.พัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นให้มีความสามารถในการจัดความรู้ด้านการศึกษา

ซึ่งถ้าเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้ ภายใน 5 ปี การศึกษาไทยเปลี่ยนแน่นอน เพราะสิ่งที่ดิฉันเสนอไปไม่ใช่เรื่องยากในประเทศไทยมีตัวอย่างหลายๆที่ทำแล้ว เช่น สมัชชาการศึกษาเชียงใหม่ ภูเก็ต สุรินทร์ ตราด ระยอง และจังหวัดอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า15จังหวัดที่พร้อมดำเนินการปฏิรูปการศึกษา  เพราะพื้นที่มีความแตกต่างกัน การศึกษาแต่ละพื้นที่หรือแต่ละกลุ่ม บริบทจึงย่อมแตกต่างกัน ทุกพื้นที่มีศักยภาพที่สามารถจัด การศึกษาเองได้โดยไม่ต้องรอใคร   การศึกษาควรเป็นเรื่องที่ทุกคนในชุมชนช่วยกันได้ เพื่ออนาคตของเด็กในพื้นที่ของตัวเอง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง “เปลี่ยนการศึกษาไทย” ด้วย “โครงสร้างใหม่” กับนโยบาย

ผู้เสนอนโยบาย : รศ.ประภาภัทร นิยม

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นนักการศึกษาแนวใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21

ร่วมรณรงค์ที่  http://gg.gg/wakeup2560

แคมเปญรณรงค์นี้จะถูกส่งไปที่:

1. กระทรวงศึกษาธิการ

2. คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

3. คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

4. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

หมายเลขบันทึก: 642679เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 05:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 05:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท