เทศบาลนครสกลนครกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ





การดูแลคุณภาพชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่มีจำนวนและสัดส่วนที่มากขึ้นในปัจจุบัน เทศบาลนครสกลนครก็เป็นอีกเมืองหนึ่งซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า ๗,๖๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓ ของประชากรทั้งหมด จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เทศบาลนครสกลนคร เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ผมพบว่าเทศบาลนครสกลนครมีวิธีคิด โครงสร้าง โครงการ และกิจกรรมมากมายที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความสุข และเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของเมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนี้

 

๑. ผู้สูงอายุคือทุนทางสังคมของพื้นที่

สิ่งสำคัญที่สุด คือ วิธีคิด (Mindset) หรือการมองผู้สูงอายุว่าเป็นภาระ หรือ เป็นกำลังสำคัญ การมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ การปฏิบัติต่อผู้สูงอายุจะมุ่งเน้นการสงเคราะห์ มีผู้ให้และมีผู้รับ มองว่าผู้สูงอายุดูแลพัฒนาตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งลูกหลานพึ่งหน่วยงานภายนอก

อีกวิธีมองหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุมีศักยภาพ ดูแลตนเอง ดูแลกันและกันได้ เป็นทรัพยากรและเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาเมือง หากเรามองในลักษณะหลังเช่นนี้ บทบาทของผู้สนับสนุนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ดูแล ก็จะทำหน้าที่หนุนเสริมสนับสนุน

สำหรับเทศบาลนครสกลนคร มองผู้สูงอายุเป็นแบบหลัง และคุณนิตยา ทีคอโงน หัวหน้างานคุ้มครองส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุ ได้ทำหน้าที่รวบรวมทรัพยากรผู้สูงอายุผู้ทรงคุณค่าทั้งข้าราชการเกษียณ มีทั้งครู หมอ พยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ มาร่วมเป็นแกนนำชมรมผู้สูงอายุ

ด้วยคุณวุฒิและประสบการณ์ของผู้สูงอายุแต่ละคน ได้ช่วยทำให้ชมรมมีความเข้มแข็งขึ้น มีสมาชิกมากขึ้น มีกิจกรรมที่ตัดสินใจและดำเนินงานร่วมกันเป็นประจำอย่างเข้มแข็งจนกระทั่งชมรมผู้สูงอายุเป็นที่ยอมรับของสังคม ได้รับบทบาทหน้าที่ในงานสำคัญต่างๆ ของเมือง เช่น เป็นขบวนนำงานประเพณีของจังหวัด

 

๒. ผู้สูงอายุกับการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผู้สูงอายุมีความรู้ความสามารถ มีภูมิปัญญาที่ฝังลึกอยู่ในแต่ละบุคคล (Tacit Knowledge) ประเพณีวัฒนธรรม ๖ ชนเผ่าดั้งเดิมของสกลนคร และภูมิปัญญาทางอาชีพและวิชาชีพ ล้วนแต่เป็นองค์ความรู้ที่ สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไม่ให้สูญหายไปเป็นสิ่งสำคัญและต้องรีบดำเนินการ เทศบาลนครสกลนครก็ไม่ได้ละเลย ได้สร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ กำลังจัดทำโครงการแผนที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Cultural and local wisdom mapping) ที่มีอยู่ในเทศบาลนครสกลนคร และสนับสนุนให้นักเรียนในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลได้เรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ จากผู้สูงอายุในชั่วโมงเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เหล่านี้นับเป็นการจัดการความรู้และเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาไม่ให้สูญหายไป

ก่อนจะมีโครงการดังกล่าว ชมรมผู้สูงอายุเองได้ริเริ่มขบวนการอนุรักษ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คือการจัดทำหนังสือ โดยรวบรวมและเขียนเรื่องราวจากอาจารย์บุญขัน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักเรียนในพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ทั้งจากตำราที่ผลิตขึ้น ตลอดจนฝึกซ้อมรำภูไทและตีกลองเส็ง นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นโดยชมรมผู้สูงอายุ

การทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญายังคงอยู่ในวิถีชีวิต คือแนวทางการอนุรักษ์ที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ ต้นผึ้งหัวแมงวัน และขันหมากเบ็ง ยังคงได้รับความนิยมจากผู้คนในพื้นที่เพื่อใช้ในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขันหมากเบ็งซึ่งเป็นงานใบตองที่ต้องทำส่วนต่างๆ ทีละชิ้น แล้วนำมาประกอบกัน ต้องใช้ทั้งความทักษะ ความละเอียด ความอดทน และใช้เวลาในการทำอย่างมาก จึงไม่ค่อยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาทำขันหมากเบ็ง ยังคงแต่กลุ่มผู้สูงอายุและวัยกลางคนบางส่วนเท่านั้นที่ยังคนเป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดไม่ให้ภูมิปัญญานี้สูญหายไป

“...ขันหมากเบ็งเป็นของที่ทำเพื่อบูชา งานที่ทำเป็นงานละเอียด ต้องทำด้วยจิตละเอียด...” แกนนำชมรมผู้สูงอายุคนหนึ่งกล่าว

 

๓. พื้นที่ทางสังคมคือจุดเริ่มต้นของความสุข

ความสุขเกิดขึ้นได้หลายทาง มีทั้งสุขกาย สุขใจ สุขสังคม สุขทางปัญญา หรืออาจจะเกิดขึ้นรวมๆ กันไป และความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

ในด้านความสุขทางสังคม (Social Wellbeing) จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีโอกาสพบปะใคร หรือเราใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง ผู้สูงอายุก็ไม่ต่างกัน นอกจากสุขภาพกายที่แข็งแร สุขภาพจิตที่สดใส ยังต้องการความสุขทางสังคมที่ได้พบปะมิตรสหาย ได้พูดคุยสารทุกข์สุขดิบ ยิ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ เมื่อที่ได้พบกัน การพูดคุยยิ่งออกรสชาติ แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ก็คือความสุขอย่างหนึ่งที่ไม่ด้อยไปกว่าความสุขด้านอื่นๆ ของชีวิต

ด้วยเหตุนี้ เทศบาลนครสกลนคร และชมรมผู้สูงอายุ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) อยู่เป็นประจำ มีทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นประจำเดือนเช่นการบายศรีสู่ขวัญวันเกิด การจัดกิจกรรมด้านนันทนาการ มีลีลาศ ร้องเพลงคาราโอเกะ การจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญา เช่น การทำบายศรี ขันหมากเบ็ง การเล่นดนตรีพื้นเมือง รวมไปถึงกิจกรรมทางอาชีพและรายได้ เช่น การจัดตั้งกลุ่มโภชนาการ จัดบริการอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่ม สำหรับการประชุม การจัดตั้งกลุ่มผลิตของชำร่วย การจัดตั้งร้านเสริมสวยผู้สูงอายุ เป็นต้น

รายได้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการหลังหักค่าใช้จ่ายจะถูกนำเข้าสมทบเป็นเงินกองกลางของชมรม โดยผู้สูงอายุแทบจะไม่มีรายได้เข้ากระเป๋าส่วนตัว นั่นไม่ใช่เพราะกิจการที่ทำไม่เกิดกำไร แต่เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่นี่ต้องการความสุขจากการมารวมตัวกัน มากกว่าต้องการรายได้จากการดำเนินกิจการ ประกอบกับผู้สูงอายุที่มารวมตัวกันค่อนข้างมีฐานะ พึ่งพาตนเองได้ หลายคนมีบำนาญ ทำให้มีความพร้อมในการทำกิจกรรมร่วมกันโดยจิตอาสาอยู่เสมอ

ในส่วนร้านทำผมที่มีการจัดตั้งไว้แล้ว หากพัฒนาต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่อีกเล็กน้อย ร้านทำผมธรรมดาๆ แห่งนี้ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมได้ (Social Innovation) กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้วร้านทำผมจะเป็นเสมือนแหล่งข่าวท้องถิ่น จนนักสังคมวิทยาได้กล่าวไว้ว่า อยากรู้เรื่องอะไรให้ไปถามช่างทำผม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะร้านทำผมเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในหลายรูปแบบ ทั้งระหว่างลูกค้ากับช่างทำผม ลูกค้ากับลูกค้า (ทั้งที่คุยกันเอง และแอบได้ยิน) รวมไปถึงการหยิบนิตยสารมาอ่าน หรือดูทีวีรอเวลาขณะทำผม ก็เป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารหรือสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เป็นธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

หลักการสำคัญในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ (Principle of adult learning) คือ ต้องสอนแบบไม่สอน ต้องปล่อยให้ผู้สูงอายุเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งทำได้หลายทางทั้งจากการดูสื่อ การอ่าน รวมไปถึงการเรียนรู้ระหว่างผู้สูงอายุด้วยกัน วิธีการเหล่านี้ได้ผลที่ดีกว่าการบรรยายหรือจัดอบรมโดยวิทยากร

ดังนั้น ร้านทำผมเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นตัวอย่างของกุศโลบายที่ดี ที่จะให้ทราบสถานการณ์ของผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมไปถึงเป็นช่องทางในการกระจายความรู้เรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ โดยจัดทำผ่านสื่อที่อยู่ในร้านทั้งในรูปแบบนิตยสาร หนังสือ เรื่องสั้น วิดีโอคลิป ฯลฯ ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือต้องทำให้ร้านทำผมแห่งนี้ติดตลาดและได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้สูงอายุเสียก่อน

 

๔. เมืองใหญ่ต้องกระจายการดูแล

เทศบาลนครสกลนคร มีพื้นที่กว่า ๕๔ ตร.กม. มีประชากรสูงอายุกว่า ๗,๒๐๐ คน นับว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุค่อนข้างมาก การดูแลและเข้าถึงผู้สูงอายุทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังศูนย์บริการสาธารณสุขเขตเมือง โรงพยาบาล และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ไม่เพียงพอต่อการดูแลและเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ เทศบาลนครสกลนครจึงเปิดศูนย์ฯ ในระดับชุมชนขึ้นอีก ๑๓ แห่ง สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุได้มากถึง ๒,๔๐๐ คน ศูนย์ฯ ในระดับชุมชนแต่ละศูนย์จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ความสนใจของสมาชิก เช่น ศูนย์ชุมชนหนองแดง ทำขันหมากเบ่ง เหรียญโปรยทาน ทำกระเตี่ยวมวย (ที่รองก้นหวดนึ่งข้าวเหนียว) ชุมชนหนองทรายขาวทำไม้เสียบลูกชิ้นไม้ปิ้งไก่ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรเน้นกิจกรรมออกกำลังกาย ชุมชนกกส้มโฮงมีกิจกรรมสวดสรภัญญะ เป็นต้น

การเปิดศูนย์ฯ ในชุมชนเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเป็นเมือง (Urbanization) มักจะทำความสัมพันธ์ของผู้คนบนพื้นที่ทางกายภาพห่างเหินกันออกไปด้วย ในชุมชนดั้งเดิมที่ผู้คนมีความสัมพันธ์กันเป็นทุนเดิมจะสามารถดำเนินงานได้ง่ายกว่าชุมชนใหม่หรือชุมชนที่ผู้คนมีฐานะทางสังคมหรือฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี

 การเปิดศูนย์ฯ ในชุมชนธาตุดุม ๔ และชุมชนรุ่งพัฒนา ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่มีฐานะ บ้างเป็นข้าราชการบำนาญ จึงเป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย เริ่มต้นครั้งแรกนำร่องด้วยกิจกรรมทางสุขภาพ เช่น การตรวจสุขภาพ การออกกำลังกาย ก็ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนทะยอยหันมาให้ความสนใจ เข้ามาสอบถาม และเข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์ฯ มากขึ้น จึงค่อยขยับขยายนำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเมืองมีความเข้มแข็ง และขยายจำนวนสมาชิกมากขึ้นได้ นั่นคือ

๑) ผู้นำชุมชน และ แกนนำกลุ่มผู้สูงอายุ  ในส่วนผู้นำชุมชนต้องให้ความสำคัญ สนับสนุนให้กลุ่มผู้สูงอายุสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และแกนนำกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าได้บุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือจากผู้สูงอายุด้วยกันเอง หรือที่เรียกว่าเป็นผู้มีบารมี ก็จะทำให้ผู้สูงอายุคนอื่นๆ เชื่อถือและเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในบางพื้นที่ หากผู้นำชุมชนและแกนนำกลุ่มผู้สูงอายุเป็นคนเดียวกันและมีความทุ่มเทก็ยิ่งส่งเสริมให้กลุ่มสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว และส่งเสริมให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

๒) กลุ่มจัดการตนเอง บทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เป็นผู้สนับสนุน (Supporter) ไม่ใช่ผู้นำ (Leader) ในการทำกิจกรรม ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินการเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ส่งผลให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ จึงเห็นได้ว่าแต่ละศูนย์ฯ จะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ตามแต่บริบททางภูมินิเวศน์ ภูมิปัญญา และความต้องการของผู้สูงอายุในกลุ่ม 

ในส่วนชมรมผู้สูงอายุที่ศูนย์ส่วนกลาง ก็มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามความถนัดและความสนใจ อาทิ กลุ่มโภชนาการ กลุ่มประดิษฐ์ของชำร่วย กลุ่มร้านเสริมสวย ฯลฯ แต่ละกลุ่มก็จะมีการบริหารจัดการตนเอง มีการแบ่งหน้าที่ภายในกลุ่มที่ชัดเจน ในส่วนการสื่อสารภายในกลุ่ม ใช้แอพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเชื่อมโยงกลุ่มผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน ใช้ทั้งในการพูดคุยทั่วไป ปรึกษาหารือ และนัดหมายการพบปะกัน

 

๕. ละลายตัวตน เพื่อกลุ่มที่เข้มแข็ง

ผู้สูงอายุทุกคนผ่านประสบการณ์ชีวิตมากมาย ทั้งชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ศพอส. ที่ศูนย์ส่วนกลาง ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ ทั้งครู อาจารย์ แพทย์ พยาบาล ฯลฯ เมื่อหลายคนมารวมกลุ่มกันใหม่ ส่วนใหญ่ยังคงพกตัวตนตามบทบาทหน้าที่มาด้วย ส่งผลให้ไม่เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ชมรมผู้สูงอายุจึงให้ความสำคัญและตั้งกติการร่วมกันว่า “ทุกคนต้องสลายตัวตนเสียก่อน”

การสลายตัวตนของสมาชิก ดำเนินการโดยกลุ่มแกนนำผู้สูงอายุเอง ทั้งการตั้งกฎกติกา การจัดกิจกรรมร่วมกันของผู้สูงอายุทั้งด้านสันทนาการ นันทนาการ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์ ล้วนเป็นการละลายพฤติกรรมของสมาชิกเข้าด้วยกัน ให้เกิดความเท่าเทียม รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

นอกจากการสลายตัวตนของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องละลายพฤติกรรมของสมาชิกเข้ากับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทำให้การดำเนินงานราบลื่น การติดต่อประสานงานและเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ชมรมผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องแบ่งบทบาทให้ชัดเจน คือ ผู้สูงอายุเป็นแกนนำทำกิจกรรม ส่วนเจ้าหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนหนุนเสริม

บทบาทเจ้าหน้าที่เทศบาลนครซึ่งทำหน้าที่เอื้ออำนวยเชิงกระบวนการ (Facilitation) มีคุณสมบัติที่สำคัญที่ส่งเสริมให้ชมรมผู้สูงอายุสามารถเกาะเกี่ยวกันได้อย่างเข้มแข็งคือ คือ ๑) เข้าใจผู้สูงอายุทั้งในด้านศักยภาพ และข้อจำกัดอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ๒) เป็นคนใจเย็น ไม่เร่งเร้า เฝ้ารอ การเรียนรู้และเติบโตของกลุ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปได้  ๓) เป็นผู้มีจิตอาสา เสียสละ เพราะบางครั้ง การทำงานกับชมรมต้องทำในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน แม้ว่าผู้สูงอายุจะดำเนินกิจกรรมเองได้ แต่ยังต้องการการเอื้ออำนวยจากเจ้าหน้าที่อยู่ ๔) พูดจริงทำจริง คือ รับผิดชอบต่อคำพูด และทำงานที่รับผิดชอบจนประสบความสำเร็จร่วมกัน ๕) เป็นนักแสวงหาโอกาส คือ สามารถเชื่อมประสานทรัพยากร หน่วยงานต่างๆ ทั้งในรูปของกิจกรรม โครงการ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ เพื่อทำให้สมาชิกเกิด การเรียนรู้และพัฒนาชมรมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

           


หมายเลขบันทึก: 638037เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2017 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2017 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท