เส้นทางสู่ความสำเร็จ-ชนะเลิศเพลงพื้นบ้าน(ภาคกลาง)นักเรียน


นี่คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ เพลงอีแซวนักเรียนบางลี่วิทยา

เส้นทางสู่ความสำเร็จ-ชนะเลิศเพลงพื้นบ้าน

      เล่าความเป็นมา คุยให้ฟังไปแล้วว่าคณะเพลงพื้นบ้านโรงเรียนบางลี่วิทยาประสบความสำเร็จอย่างไรในปี ๒๕๔๙ ถือว่าชนะเลิศระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัดในเรื่องเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว(บางคนคนคุยถึงระดับโลก...ค่อนข้างจะมากไปหน่อยแต่เขาก็บอกว่า ก็ในโลกไม่มีประเทศไหนเล่นเพลงอีแซวเป็น..และบ้างก็ว่ายังมีคนเก่งกว่านี้อีกตั้งมากมายอย่ามาคุย..เราก็บอกว่าเขาเก่งแต่ไม่ส่งเข้าแข่งขันเราถือว่าเขาสละสิทธิ์..เพราะการแข่งขันเหล่านี้ผู้จัดเผยแพร่ประกาศไปทั่วโลก..ใครสนใจก็ส่งเข้าแข่งขัน..ใครสนใจน้อยก็ไม่ส่งเข้าแข่งขัน)

      เอาละที่นี้ผมจะเล่าความเป็นมาให้ฟังให้อ่านว่า กว่าจะถึงวันนี้มีความเป็นมาอย่างไร แต่แรกเริ่มเดิมทีนักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยาร้องเพลงอีแซวไม่เป็นเลย ไม่มีพื้นฐานเลย ถามว่าในย่านอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีการร้องเพลงอีแซวกันไหม ขอตอบว่ามีเพราะเพลงอีแซวคือเพลงพื้นบ้านที่อยู่ในสายเลือดของคนสุพรรณแต่ร้องกันตามวงเหล้าบ้าง ตามผู้ที่มีความสามารถพิเศษเช่นหมอทำขวัญบ้าง แต่ไม่มีวงเพลงพื้นบ้านหรือพ่อเพลงแม่เพลงที่เปิดวงเล่นเป็นลำเป็นสัน ผมถามแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่ก็ว่าเคยรู้จักพ่อเพลงแม่เพลงชาวสองพี่น้องเหมือนกัน แต่ผมยังไม่ได้สืบค้นอย่างละเอียด รู้จักแต่ผู้ใหญ่เติม เนตรสว่างนักด้นกลอนสดและหมอทำขวัญ ที่จริงที่สองพี่น้องมีเพลงพื้นบ้านมืออาชีพอยู่คณะหนึ่ง คือแม่เหม อินทร์สวาท แม่เพลงผู้มีผลงานดีเด่นด้านเพลงพื้นบ้านภาคกลาง (แกถึงแก่กรรมไปสิบกว่าปีแล้ว)แกเป็นคนราชบุรีมาได้สามีที่ย่านวัดใหม่นพรัตน์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีจึงตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่น แต่แกมีคณะเพลงทรงเครื่อง ไม่มีเพลงอีแซว เพลงทรงเครื่องเล่นเหมือนลิเก แต่งตัวตามเนื้อเรื่อง มีดนตรีปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ แต่เวลาร้องร้องโดยใช้เพลงฉ่อยแทนกลอนลิเก เดี๋ยวนี้หาดูยาก โรงเรียนวัดใหม่นพรัตน์ กำลังอนุรักษ์ไว้

      ว่าจะเล่าความเป็นมาของคณะเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านโรงเรียนบางลี่วิทยา ออกนอกเรื่องไปมาก ภาษาเพลงพื้นบ้านก็ต้อง"ขอถอนกลอนย้อนกลับ"มาเล่ากันต่อไปว่าเมื่อปี ๒๕๔๒ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ครูภูมิปัญญาไทย ของกกศ.ร่วมกับอาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์ อาจารย์ ๓ ระดับ ๘(สมัยนั้น)ครูผู้ช่วยครูภูมิปัญญาไทยได้จัดการอบรม โครงการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านสืบสานเพลงอีแซวขึ้น ณ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๑ อำเภอดอนเจดีย์ ขึ้น มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยศึกษาเข้าร่วมอบรมระดับละ ๑๐ กว่าโรงเรียน การอบรมใช้ช่วงปิดภาคฤดูร้อน เฉพาะวันหยุด โรงเรียนบางลี่วิทยา ขณะนั้นมีอาจารย์ปราณ๊ อยู่ดี เป็นหัวหน้าหมวดตัดสินใจส่งนักเรียนเข้าร่วมอบรม ๑๐ คนโดยให้อาจารย์ปริน อยู่ดีผู้เป็นสามีออกตามเด็กมาเข้ารับการอบรมบางคนอยู่ในไร่ บางคนอยู่ในนา บางคนกำลังเลี้ยงหลาน เลือกเอาคนที่กล้าแสดงออกไปเข้ารับการอบรม โดยมีนางปราณี อยู่ดีและนายพิสูจน์ ใจเที่ยงกุล เป็นครูผู้ควบคุมและเข้าอบรมร่วมกับนักเรียน ผลการอบรมช่วงแรกๆนักเรียนกลับมาร้องไห้บอกว่าหนูไม่อยากไปอีกแล้ว ผมไม่เอาแล้ว ครูปราณีก็บอกว่าถ้าอย่างนี้ ครั้งต่อไปเราสละสิทธิ์ไม่ไปดีกว่า เดี๋ยวโรงเรียนบางลี่วิทยาจะขายหน้ามากขึ้น เพราะการอบรมเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ อบรมเสร็จก็ให้นักเรียนออกมาแสดง ร้อง รำ เล่นเพลง โรงเรียนอื่นๆ(มีบางโรงก็เหมือนบางลี่วิทยา)เขาพอมีพื้นฐาน พอออกมานำเสนอก็ทำได้ดี วิทยากรยิ้มแก้มป่อง พอถึงคราวโรงเรียนบางลี่วิทยา ร้องก็เพี้ยน ไม่เข้าจังหวะ รำก็เก้งก้าง กลองตะโพน(ที่ยืมเขามา..เจ้าของหวงมาก)ก็ตีล่มแล้วล่มอีก ผู้ร่วมอบรมก็หัวเราะ(เยาะนิดๆ)กันสนุกสนาน พอถึงคราวนำเสนอทีไรก็อยากดูบางลี่ๆๆๆเพราะเป็นตัวตลกให้คลายเครียด ...

     แต่ใครจะรู้บ้างว่าเด็กบางลี่เครียดมาก..ครูยิ่งเครียดใหญ่...ในที่สุดผม(ครูพิสูจน์)ขอแก้ปัญหาก่อน พอกลับมา(เพื่อรอไปอบรมสัปดาห์ต่อไป)ผมเริ่มแต่งเนื้อร้องเองง่ายๆให้นักเรียนหัดร้อง ท่องจำ ให้คนที่มีทักษะทางรำสอนรำให้แก่กันและฝึกซ้อมให้พร้อมเพรียง ขอแรงครูดนตรี(อาจารย์พินิจ เมฆฉา)มาฝึกการตีตะโพนและฉิ่ง กรับ

     พอกลับไปครั้งนี้วันสุดท้ายของการอบรมเขาให้มีการประเมินรวมโดยจัดการแสดงทุกโรงเรียน โรงเรียนบางลี่วิทยาขอแสดงก่อน ผู้ร่วมอบรมเตรียมหัวเราะความเปิ่น เฉิ่ม ของโรงเรียนบางลี่อีกแล้ว แต่แล้วทุกคนต้องนั่งเงียบ โดยเฉพาะแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์และอาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์ เพราะคณะเพลงอีแซวหัดใหม่ของโรงเรียนบางลี่วิทยา ร้องกลอนเพลงอีแซวทีแต่งชมวิทยากรและแซวเพื่อนร่วมอบรมทุกโรงเรียน ได้อย่างไพเราะทั้งจังหวะและทำนอง มีลีลาการร่ายรำที่งดงามและพร้อมเพรียง วันนั้นเราได้รับเกียรติบัตรคณะเพลงอีแซวที่มีการพัฒนายอดเยี่ยม

     และนี่คือจุดเริ่มต้นความสำเร็จ ของคณะเพลงอีแซวนักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยา (เนื้อเรื่องอาจยาว ภาพกำลังจะนำมาลงแสดงประกอบ รู้ดีว่าดูไม่น่าสนใจ แต่ถ้าติดตามต่อไปจะรู้ว่า คุ้ม คุ้ม จริงๆ)

หมายเลขบันทึก: 63773เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนให้แล้วอย่าลืม "เพิ่มเพลงพื้นบ้าน ให้ฟัง มีเนื้อเลงประกอบด้วย ok"

แล้วจะเข้ามาใหม่นะค่ะ

แอน แอน แอน แอน แอน แอน แอน

อย่าลืมนะค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท