จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 6 : การทำงานคู่ขนานในบริบทของภูมิภาค


จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 6 : การทำงานคู่ขนานในบริบทของภูมิภาค

14 กันยายน 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

          ในท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศ ณ ห้วงเวลานี้ มีความสับสนร้อนรนใคร่รู้ใคร่ถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากมาย มีการถามไถ่สอบถามกันมาทั้งในที่ประชุมสัมมนา ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว ก็อย่างที่บอกคำถามปัญหาหลักวนเวียนอยู่เพียงแค่ ไม่กี่คำถาม และหากจะแตกหน่อแตกคำถามหลักออกไปอีก ก็จะมีคำถามต่อไปอีกหลายคำถาม ในคำถามย่อย ๆ เหล่านี้ ล้วนผูกโยงมาจากปัญหาหลักที่ยังไม่รู้ชะตา อาทิ การรักษาการณ์ของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นจะสิ้นสุดเมื่อใด การคัดเลือกสอบคัดเลือกสายบริหารท้องถิ่นและอำนวยการท้องถิ่นจะดำเนินการได้เมื่อใด ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง (การพัสดุ) จะเสร็จเรียบร้อยเมื่อใด ทั้งนี้รวมถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทย หรือระเบียบกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยว่าจะเสร็จเรียบร้อย และมีผลให้ท้องถิ่นถือปฏิบัติได้เมื่อใดเป็นต้น

 

อำนาจและหน้าที่

          มิติใหม่เรื่อง “อำนาจหน้าที่”ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ในการปาฐกถา เรื่องการสร้างนักกฎหมาย ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 [2] คาดหวังว่า การแก้ไขหลักการจากเดิม “หน้าที่และอำนาจ” เป็น “อำนาจและหน้าที่” หมายความว่า ต้องมีอำนาจก่อน แล้วจึงทำหน้าที่ได้หน้าที่มาก่อน เตือนว่า คุณต้องทำหน้าที่ จึงจะมีอำนาจแต่เดิมหน่วยงานทุกหน่วยก็จะคิดว่ากฎหมายนั้นเป็นของตัว กฎหมายคือพระไตรปิฎก ที่แก้ไม่ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่มีปัญหาอุปสรรค เขาก็จะไม่แก้ไขกฎหมายเพราะกฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะของสังคมกฎหมายที่ออกมาเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทำเพื่อมาบังคับราษฎร แต่เจ้าหน้าที่ก็นึกว่า อำนาจที่กำหนดไว้นั้นเป็นอำนาจติดตัวของตัว กฎหมายให้อำนาจ เพราะกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ไปทำหน้าที่ เช่น ให้ ตำรวจรักษาความสงบ ตำรวจก็จะให้มีอำนาจจับ แต่ตำรวจจะมีอำนาจจับก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 [3] แนวคิดในเรื่อง กฎหมายพยายามที่จะให้มันเปลี่ยนไป ให้ตระหนักของการมี กฎหมายมากกว่าที่จะกระตือรือร้นมีกฎหมายเพื่อมิให้ออกกฎหมายโดยไม่จำเป็นมาตรา 25 [4]มาตรา 26 [5] บัญญัติให้การออกกฎหมายอย่าไปกระทบกระเทือนสิ่งใดแต่ปรากฏว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลองวิจัยดูก็จะพบว่า เรามีกฎหมายที่กระทบกระเทือนสิ่งต่าง ๆ มาก

          หากพิจารณาปรับใช้ในมิติของท้องถิ่น ก็หมายความว่า “ต้องมีการจัดสรรอำนาจของท้องถิ่นให้ชัดเจนแน่นอนเสียก่อน” และแล้ว “อำนาจ” ของท้องถิ่นก็จะตามมาทันที เช่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดบริการสาธารณะที่เป็นเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องการส่งเสริมอาชีพ การสงเคราะห์คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง หรือ ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและไม่อาจพึ่งพาบุคคลอื่นได้ เป็นต้น

 

ปัญหาการทำงานแบบ “คู่ขนาน” ของท้องถิ่น(ต่อ)

          ดังที่เกริ่นแล้วว่า “ผู้มีส่วนได้เสียของ อปท.” นั้นมีหลายฝ่าย หากพิจารณาจากการทำงานแบบ “คู่ขนาน” (parallel) แล้ว จะมีลักษณะการทำงานเชิง “ปฏิปักษ์ขัดแย้ง”กันในระหว่าง “คู่กรณีในแต่ละคู่” ลองมาดูมุมมองของคู่กรณีอีกสักฝ่ายคือ “ฝ่ายบริหารราชการส่วนภูมิภาค” ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอรวมถึงบริหารราชการส่วนกลาง ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯ ด้วย

(1) รัฐพยายามมุ่ง “สร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค” โดยการอ้างสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ทั้งนี้ดูจากการคิดเรื่องแผนภาค และแผนพัฒนาจังหวัดแบบ One Plan [6] รวมตลอดถึงโครงการหมู่บ้านละ 2 แสน [7]ตำบลละ 5 ล้าน [8] ที่เป็นการส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรง โดยผ่านกลไกส่วนภูมิภาค วัตถุประสงค์ก็คือ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง เพื่อลดการพึ่งพิงนักการเมืองท้องถิ่น เป็นการสร้างความเข้มแข็งของส่วนภูมิภาคและประชาชนโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันถือว่า “เป็นการลดบทบาทของ อปท.” ท่านผู้รู้ให้ทัศนะว่า แม้เจตนารมณ์เรื่อง One Plan จะดี คือมุ่งสร้างประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ และการทำแผนให้เป็นเอกภาพ สัมพันธ์กับขนาดและบริบทของพื้นที่แต่ในขณะเดียวกันยังมี “เครื่องมืออื่น” อีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ศึกษาพัฒนาวิธีการ และนำมาใช้ ท่านผู้รู้เสนอแนะเช่น (1.1)ความร่วมมือในระหว่างท้องถิ่น ในการจัดทำบริการสาธารณะ อาทิ ความร่วมมือปกติ และสหการ(1.2)หลักการวางแผนพัฒนาร่วมกันในพื้นที่ที่คาบเกี่ยว (Regional Plan)[9](1.3)การจัดทำผังเมืองให้มีการกำหนดขอบเขตการเจริญเติบโตของเนื้อเมือง (Urban Boundary Growth)[10](1.4)การกำหนดโครงสร้างการปกครองให้สอดคล้องกับกายภาพของการตั้งถิ่นฐาน (ปัญหา 1 ตำบล หลาย อปท.) (1.5)การทำสัญญาแผน [11] ระหว่างรัฐส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น ซึ่งมีใช้ในหลายประเทศในกลุ่ม OECD[12]

(2) ท่านผู้รู้คนเดิมให้ทัศนะต่อว่า ปัจจุบันงบประมาณส่วนกลาง คือ กระทรวง และกรม หรือ “การยึดหน่วยงานเป็นหลัก” (Functions) ยังคงมากกว่างบประมาณ “การยึดพื้นที่เป็นหลัก” (Area) [13] กล่าวคือ ยังไม่ได้กระจายอำนาจจากกรมลงมาสู่ท้องถิ่นนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ อปท. ได้ตามที่กฎหมายกำหนด (หวงเงินไว้สำหรับการบริหารราชการส่วนกลาง และภูมิภาค) แม้ที่ผ่านมา จะมีแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ฉบับที่ 2 และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฉบับที่ 3 [14] ก็ตามรัฐไทยก็ยังยึดติดการบริหารราชการแผ่นดินโดยยึด “Functions” เป็นหลักแบบแตกกระจาย ที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องในการบริหาร โดยใช้เมืองเป็นฐานเพราะ จังหวัดไม่มีเนื้อเมือง (ไม่มีพื้นที่) แต่ อปท. ต่างหากที่มีเนื้อเมือง ฉะนั้น การบริหารและงบประมาณจึงควรคำนึงถึงเนื้อเมืองเป็นหลัก ซึ่งก็คือ อปท.นั่นเอง

ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้จะมีแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจก็ตาม แต่งบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง หรือ หน่วยงาน Functions นั่นเองเท่ากับว่า พื้นที่ หรือ Area ซึ่งรวมถึง อปท. ก็ยังคงมีงบประมาณขนาดเล็กเช่นเดิมเพราะการบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดเอาหน่วยงานเป็นฐาน ไม่ได้ยึดเอาเมือง ซึ่งก็คือ อปท.เป็นฐาน

(3)ในความเห็นอีกฝั่งได้มีการเสนอรูปแบบการปกครองแบบ “จังหวัดจัดการตนเอง” [15] ขึ้น นัยว่าเป็นการผสานแนวคิดเรื่อง “เนื้อเมือง” ให้เข้ากับ “ภารกิจอำนาจหน้าที่” แม้จะมีการกล่าวว่า การกระจายอำนาจจะสำเร็จได้รัฐบาลต้องเข้าใจหลักการกระจายอำนาจโดยการกระจายอำนาจด้านการหาเงิน และด้านการจ่ายเงินควบคู่กันไปแต่ในแนวคิดนี้ยังห่างไกลต่อความรู้สึกที่มุ่งเป้าไปที่การสร้างความแข็งแกร่งของ “ภูมิภาค” ตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหากจะว่ากันตรง ๆ ตามหลักวิชาการก็คือ “การปกครองภูมิภาคก็คือติ่งของการปกครองส่วนกลาง” นั่นเอง

(4) มีกระแส “ข่าวลือ” ว่าจะ ปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ (การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.) ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่า “ข่าวมั่ว”เพราะจะเลือกตั้งท้องถิ่นไปทำไม ในเมื่อ รูปแบบ “อปท.” ที่มีจำนวนหน่วยมากมายยังไม่นิ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ยังไม่มีการตรากฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันมีรูปแบบ อปท.ทั่วไปในระดับล่าง (Lower Tier) 2 แบบ คือ เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีรูปแบบโครงสร้างไม่เหมือนกัน มีจำนวนสมาชิกสภาที่แตกต่างกัน มีความเหลื่อมล้ำเรื่องงบประมาณ แถมยังมีความเหลื่อมล้ำของประชากรนอกจากนี้ อปท.ที่มีขนาดเล็กรายได้น้อยมีจำนวนถึง 4,500 แห่ง [16] ฉะนั้น หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริงก็ต้องใช้งบเลือกตั้ง “บาน” เท่ากับเป็น “หลุมพรางการปกครองตนเอง” ของประชาชน เป็น “กับดักประชาธิปไตย” เสียเอง

(5) รัฐบาลชุดนี้มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ลงถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า ตำบลละ 5 ล้าน หมู่บ้านละ 2.5แสน [17] มาถึงตำบลละ 2.5 ล้าน[18] ผ่านกระทรวงเกษตรฯ โดยเกษตรอำเภอ ซึ่งสอบถามจากกำนัน ก็รับคำตอบว่า โครงการมีเงินลงมาจะให้ชาวบ้านจ้างแรงงาน จะทำอะไรดี ได้เงินวันละ 305 บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำจากให้เงิน ถึงชาวบ้านโดยตรง มีข้อสงสัยจากท้องถิ่นว่า เหตุใด (5.1) งบประมาณไม่ผ่านท้องถิ่น เพราะเป็นหน้าที่ท้องถิ่นโดยตรง ที่มีทั้งบุคลากรที่พร้อมเพรียง การรั่วไหลของงบประมาณที่เกิดขึ้น เป็นลักษณะโครงการที่ไม่หวังผลความสำเร็จเป็นรูปธรรมหวังเพียงกระตุ้นเศรษฐกิจ (5.2) การตรวจสอบเพียงพอหรือไม่ หากเพียงตรวจสอบเฉพาะที่ได้รับการร้องเรียนคงไม่พอหากมีการรั่วไหลงบประมาณมาก เพราะการตรวจสอบน้อย อาทิ การเอาชื่อมาเบิกเกินความเป็นจริง การยืมบัตรเวียนเบิกโดยไม่ทำงาน เป็นต้น (5.3) ความต้องการผลสำเร็จของการใช้งบประมาณของรัฐบาล ต้องการจะกระจายเงินให้ถึงมือประชาชนหรือ เพียงต้องการแจกเงินให้ถึงประชาชนเท่านั้น เพราะ โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเพาะต้นไม้แจกให้ประชาชนปลูกโดยผ่านเกษตรอำเภอ

จากข้อสังเกตเล็กน้อยเท่านี้ ยังมีเหลือข้อสังเกตอื่นๆอีก ยังไม่หมดประเด็น แต่น่าจะพอวิพากษ์เสนอแนะได้ตามสมควร

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ที่ 15 - วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2560, หน้า 66  

& หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23523 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ

[2]มีชัย ฤชุพันธ์, การปาฐกถา เรื่องการสร้างนักกฎหมาย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์), 26 สิงหาคม 2560, https://www.facebook.com/21306...

[3]มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ  ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

[4]มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้วการใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

[5]มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม  ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

[6]มท.ให้แนวทำแผนพัฒนาพ.ท.ยึด”เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หาจุดเด่น-โอท็อป ห้าม”รวยกระจุกจนกระจาย” ทุจริตงบฯ, 17 มิถุนายน 2560, https://www.matichon.co.th/new...

ขณะนี้ ส่วนราชการด้านการวางแผนพัฒนาและ มท. กำลังเสนอรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงระเบียบและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นฉบับเดียวกันโดยมีโครงสร้าง กลไก อำนาจหน้าที่สอดคล้องเชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่ทุกระดับ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

• ให้ส่วนราชการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งให้มีผู้แทนภาคประชาชนในรูปคณะกรรมการร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นแผนเดียวกัน (one plan)

• ให้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการพัฒนาประเทศออกเป็น 6ภาค

• แผนพัฒนาทุกระดับจะประกอบด้วยปัญหาและความต้องการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญและความต้องการไว้แล้ว (priority) เพื่อให้จังหวัดและส่วนราชการภูมิภาครวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (area-based)

• ใช้แผนพัฒนาภาคเป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายและความต้องการด้านพัฒนาพื้นที่ภาคที่ต้องมีความเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาคและ/หรือระหว่างประเทศเพื่อให้ส่วนราชการระดับกรม กระทรวง (function) นำไปจัดทำเป็นแผนงานขอรับงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

[7]โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ,กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, จาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559, http://pab.dopa.go.th/project_...

หมู่บ้านละ 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) จำนวน 74,965 หมู่บ้าน ภายในกรอบวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

[8]มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท), www.ppb.moi.go.th/midev06/uplo...  & หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0211.4/ว 5264 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เรื่อง การดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล, http://www.ppb.moi.go.th/midev... & โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5ล้าน). https://tambon.dopa.go.th/web/...  &  https://tambon.dopa.go.th/ckfinder/userfiles/files/mt0319_v21080.pdf

มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท” จำนวน 7,255 ตำบล วงเงินรวม 36,275 ล้านบาท

[9] การเปรียบเทียบประสบการณ์ของต่างประเทศ (ภาคผนวก ก), โครงการวางและจัดทำผังอนุภาค กลุ่มจังหวัดเพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ปีงบประมาณ 2553, กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย,

http://www.dpt.go.th/prachuapkhirikhan/main/group_2/data/plan_policies.files/scheme_particle_1/A.pdf

แนวคิดการวางและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ ความหมายของการวางแผนภาค (Regional Plan) และอนุภาค (Sub-Regional Plan) อาจแยกได้เป็น 2 ประเด็น คือ การวางแผน หมายถึง กระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะมุ่งสู่อนาคต ส่วนภาคหรือ อนุภาคนั้น หมายถึง ขอบเขตของพื้นที่ใดๆ ซึ่งจำแนกขึ้นจากเกณฑ์การพิจารณาเกณฑ์เดียวหรือหลายเกณฑ์รวมกัน การวางแผนภาคนี้ต่างจากการวางแผนอื่นๆ ที่ระดับของการวางแผนอยู่ระหว่างการวางแผนระดับชาติ (National Plan) และการวางแผนระดับท้องถิ่น (Local Plan) การวางแผนอนุภาคจึงเป็นการวางแผนภายในภาค (Intra Region) แต่ในขอบเขตที่อยู่เหนือกว่าท้องถิ่น (Supra Local)

& การวางแผนภาค, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/การวางแผนภาค

การวางแผนภาค (regional planning) เป็นสาขาหนึ่งของการวางแผนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการกำหนดการใช้ที่ดินและกิจกรรม โครงสร้างพื้นฐานและการเจริญเติมโตอันเนื่องมาจากการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากมากกว่านครหรือเมืองใดเมืองหนึ่งเพียงเมืองเดียว

พื้นที่ “ภาค” ครอบคลุมพื้นที่ของหลายองค์การปกครองท้องถิ่นซึ่งมีกฎหมายท้องถิ่นและระบบงบประมาณเป็นของตัวเอง การวางแผนภาคจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การพัฒนาของพื้นที่ภาคโดยภาพรวมซึ่งมีผลกระทบถึงกันโดยตรงมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจน

[10]กิ่งกมล พลอยไธสง กับพวก, ทิศทางการพัฒนาชุมชนเมือง, รายวิชาการศึกษากับการพัฒนาชุมชน(106233) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เสนอ อาจารย์ ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ, 2558, http://www.kruinter.com/file/81220150110120501-[kruinter.com].pdf

“การเจริญเติบโตของเนื้อเมือง” หรือ “เขตขยายตัวของเมือง” (Urban Growth Boundary) เป็น “รูปแบบของเมือง” (Urban Form)ประเภทหนึ่ง หมายถึง ขอบเขตของพื้นที่เมืองที่สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปไม่ต่ำกว่า 20 ปีเพื่อป้องกันการเก็งกำไร เมื่อครบช่วงเวลาก็จะมีการปรับขอบเขตการขยายตัวของเมืองใหม่ เพื่อรองรับความต้องการในการขยายตัวของเนื้อเมือง ไม่ใช่เพื่อรองรับตัวเลขประมาณการเท่านั้น เช่น ขยายขอบเขตเพื่อรองรับชุมชนใหม่ ปรับขอบเขตเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ใหม่

[11]ระบบสัญญาแผนหรือสัญญาโครงการ (contrat de plan / contrat de projet). http://fr.wikipedia.org/wiki/Contrat_de_projets_%C3%89tat-r%C3%A9gion  

สัญญาแผนหรือโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการคือ (1) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างแรงดึงดูดการลงทุนของภาค (2) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (3) การสร้างความเป็นปึกแผ่นของภูมิสังคม หลังจากลงมือปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว โดยเมื่อรัฐได้ลงเงินก้อนแรกไปแล้วนาน 18 เดือน ถ้าโครงการของภาคไม่มีความก้าวหน้า รัฐก็สามารถที่จะถอนตัวได้ ดู ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, “ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย”, บทความนี้ถอดจากปาฐกถานำเรื่อง “ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553, http://128.199.181.253:8001/?edmc=1686  

[12]รองศาสตราจารย์วุฒิสาร  ตันไชย, ปฏิรูปท้องถิ่นอย่างไรประชาชนจะได้ประโยชน์, PowerPoint, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, 6 กันยายน 2557, http://www.lampang.tu.ac.th/pd...

องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD - Organisation for Economic Co-operation and Development) คือ ประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ รวม 30 ประเทศ

กลุ่มประเทศที่สังกัด OECD เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ได้ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการบริหารงานภาครัฐ

& รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย, ดุลอำนาจรัฐ ท้องถิ่น และประชาชน : การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น

, KPI Yearbook 2558, http://kpi.ac.th/media/pdf/M10...

[13]มท.ให้แนวทำแผนพัฒนาพ.ท.ยึด “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หาจุดเด่น-โอท็อป ห้าม “รวยกระจุกจนกระจาย” ทุจริตงบฯ, 17 มิถุนายน 2560, อ้างแล้ว

งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ area-based งบประมาณส่วนราชการระดับกรม กระทรวง คือ function

[14]ดู ณรงค์ เชื้อบุญช่วย ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการผอ.สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.), ในงานประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “18 ปีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก้าวสู่การปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” จัดโดย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560

& การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อทบทวนและจัดทำแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. และแผนปฏิบัติการฯ (ฉบับที่ 3), 9 สิงหาคม 2556, http://www.odloc.go.th/web/?p=52

& เผยแผนกระจายอำนาจฉบับที่3ไม่คืบ, กรุงเทพธุรกิจ, 19 พฤศจิกายน 2557, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/618448

& การประชุม ก.ก.ถ. ครั้งที่ 4/2560 วันที่ 10 สิงหาคม 2560, ส่วนประชาสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.odloc.go.th/web/?p=...

คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3)

& ดู รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์(Final Report) โครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย เสนอต่อ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามสัญญาเลขที่ 36/2556 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2556 โดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ หัวหน้าโครงการ, http://www.odloc.go.th/web/wp-content/uploads/2014/12/242.pdf

[15]จังหวัดจัดการตนเอง, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.ph...จังหวัดจัดการตนเอง   

& ศรันยา สีมา, จังหวัดจัดการตนเอง : แนวคิดในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น, กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558, http://library2.parliament.go....

& ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์, แนวทางในการกระจายอำนาจแบบจังหวัดจัดการตนเอง : ศึกษากรณี “ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ พ.ศ. 2555”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2557, http://libdcms.nida.ac.th/thes...

& ชัยมงคล  ไชยรบ, โครงการศึกษาและวิจัย “จังหวัดจัดการตนเอง”, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร, 2557, http://www.dla.go.th/upload/ca...

& พลศักดิ์ ชัยศรี, “จังหวัดจัดการตนเอง” ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ สู่การปฏิรูปประเทศไทย, 1 กุมภาพันธ์ 2555, https://prachatai.com/journal/...

[16]ยุบรวม'อบต.'ในมิติสปท. เพิ่มศักยภาพ-เซฟเงินหลวง-ลดเหลื่อมล้ำ, ฐานเศรษฐกิจ, 27 มีนาคม 2560, www.thansettakij.com/content/1...

& ดู World Bank Documents & Reports 2012, “ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น”, รายงานศึกษาการบริหารจัดการการคลังสาธารณะของประเทศไทย: รายงานศึกษาฉบับที่ 3, จัดทำการศึกษาโดย ดร. อันวาร์ ชาห์, ชาห์บี อาลี โมฮิบ, ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล, โรเบิร์ต บูท (ธนาคารโลก) และ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โดยได้คำชี้แนะและความร่วมมือจาก คุณวีระชัย ชมสาคร สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ สำนักนายกรัฐมนตรี, http://documents.worldbank.org/curated/en/219131468312352683/pdf/674860v20P14640ons0Paper0THAI0Clean.pdf

& เปิดรายงานธนาคารโลก ชี้ประเทศไทยบริหารงบประมาณรัฐบาลกลาง-ท้องถิ่น ไร้ประสิทธิภาพ สร้างความเหลื่อมล้ำ, 11 พฤษภาคม 2555, https://thaipublica.org/2012/05/world-bank-report-the-federal-budget-local/

ข้อมูลการศึกษาของธนาคารโลก กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนกว่า 3,000 แห่งจากทั้งหมด 7,853 แห่ง มีประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบน้อยกว่า 5,000 คน และมี อปท. จำนวนไม่น้อยที่มีประชากรภายใต้การดูแลต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งถือว่ามีขนาดที่เล็กเกินกว่าที่จะเกิดความคุ้มค่าในเชิงการบริหารจัดการ เนื่องจากงบประมาณประจำปี ส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายในรายจ่ายประจำโดยจะเหลืองบประมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อที่จะใช้ในการจัดหาบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน ... ถ้ามีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ 3-5% ...

[17]แจกอีกหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท, thairath.co.th, Oct 26, 2016 , https://www.thairath.co.th/con... &รมว.มท. เผยผลสำเร็จโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท แล้วเสร็จ 8 หมื่นโครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมขยายเวลาสำหรับโครงการในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้, 2 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.thaigov.go.th/news/...

[18]เดินหน้า “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ”ทุ่มงบกว่า 2 หมื่นล้าน สู่ชุมชน, 1 กรกฎาคม 2560, https://www.kasetkaoklai.com/h...2017/07/เดินหน้า-โครงการ-9101/

&ครม.เทงบไม่มีอั้น - ไทยรัฐออนไลน์, 5 กรกฎาคม 256, https://www.thairath.co.th/con...994733

เทงบ 25768 ล้านบาทช่วยเกษตรกร ทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ทุ่มจ้างงานเกษตรกรให้หมดใน 2 เดือน ชุมชนละ 2.5 ล้านบาททั่วประเทศ

หมายเลขบันทึก: 636734เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2017 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2017 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท