หัวข้อที่ 4 ข้อยกเว้นตามมาตรา20 (Article XX) และประวัติความเป็นมาของมาตรา20 (Article XX)


          2.  ข้อยกเว้นตามArticle XX                    

     ในส่วนของการกล่าวถึง Article XX  นี้  ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในงานชิ้นนี้ก็คือการยกArticle XX ขึ้นอ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  จึงจะกล่าวถึงแต่เงื่อนไขเฉพาะตามArticle XX (b)  และArticle XX (g)  เท่านั้น  เพราะเป็นเงื่อนไขที่มีการยกขึ้นอ้างโดยประเทศต่างๆในการใช้มาตรการทางการค้าซึ่งขัดต่อหลักทั่วไปของ GATT /WTO  รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาในการตีความ และ การปรับใช้ถ้อยคำตามเงื่อนไขดังกล่าว  จนกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่องค์การระงับข้อพิพาทของGATT /WTO  ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมากกว่า specific clause  ข้ออื่นๆ   ซึ่งหากพิจารณาจากคำตัดสินในแต่ละคดีก็จะเห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนในการปรับใช้และตีความถ้อยคำซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยกArticle XX  ขึ้นอ้าง  และส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการนำ Article XX  มาใช้ต่อไปในอนาคต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้ Article XX  กลายมาเป็นข้ออ้างของประเทศมหาอำนาจที่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า   นำมาใช้เพื่อการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะในประเด็นที่ยกเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นฉากบังหน้า  เพื่อที่ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นจะได้กีดกันประเทศกำลังพัฒนาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตน                      

          2.1  ประวัติความเป็นมาของ Article XX        

        ข้อยกเว้นทั่วไป(General Exceptions)ตามที่บัญญัติไว้ใน Article XX  นี้  มีที่มาจาก International Agreement for the Suppression  of  Import  and  Export  Prohibitions  and  Restrictions  1927  ซึ่งรวมอยู่ในร่างข้อยกเว้นทั่วไปในการประชุมเจรจาก่อตั้ง องค์การการค้าระหว่างประเทศ(International Trade Organization or ITO)  โดยที่ร่างของกฎบัตร ITO นั้นในส่วนของบทบัญญัติซึ่งเป็นข้อยกเว้นทั่วไปนี้ถูกเสนอโดยประเทศสหรัฐอเมริกา[1]   ซึ่งในส่วนข้อเสนอที่ยังไม่ได้มีการแต่งความนี้เองถูกยกขึ้นมาพิจารณาในทันทีว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด     ดังเช่นที่คณะผู้แทนจากสหภาพทางเศรษฐกิจ  เนเธอร์แลนด์และเบลโก   ลักเซมเบิร์กเกรงว่าภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “to  protect   animal  or  plant life  or  health”  นั้นจะถูกประเทศบางประเทศนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อเป็นมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน  ดังนั้นเพื่อไม่ให้นำข้อยกเว้นทั่วไปนี้ไปใช้ในทางที่ผิด (misuse or abuse) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อห้ามไม่ให้แต่ละประเทศนำข้อยกเว้นทั่วไปนี้ไปใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน  ในส่วนบทนำ(Introductory Provision or  Chapeau )   จึงถูกแก้ไขปรับปรุงใหม่[2]  โดยการแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในส่วน ครั้งหลังสุดนี้เองที่กลายมาเป็นส่วนในส่วนบทนำ(Introductory Provision or  Chapeau ) ของ Article XX    ของGATT 1994  และยังคงใช้เป็นบทบัญญัติในส่วนของข้อยกเว้นทั่วไปของ GATT /WTO มาจนถึงทุกวันนี้  ในส่วนของบทเฉพาะ( specific clause ) นั้น  ข้อ (g)  เป็นบทบัญญัติที่ได้รับการยืนกรานจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะให้มีบทบัญญัติดังกล่าว  เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่มาของArticle XX   เราจะเห็นได้ว่า  ทุกประเทศยอมรับหลักการหรือนโยบายอื่นๆอีกนอกจากเรื่องการค้าเสรี(Free Trade)  ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศนำมาใช้ในนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้า  แต่อย่างไรก็ตามทางปฏิบัติของประเทศต่างๆต่อมาในการยก Article XX  ขึ้นมาใช้ก็แตกต่างจากจุดมุ่งหมายเดิมค่อนข้างมาก  ทั้งที่หลายๆประเทศในตอนเสนอข้อยกเว้นทั่วไปนี้ในอดีต  ต้องการสร้างบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาเพื่อไม่ให้นำ Article XX  นี้เพื่อการปกป้องอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ  จึงพยายามแก้ไขส่วนบทนำ(Introductory Provision or  Chapeau )ให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการที่ Article XX จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด   แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นสู่  Panel  ข้อยกเว้นทั่วไปตาม Article XX  นี้กลับกลายเป็นข้ออ้างของประเทศที่กำหนดมาตรการที่ขัดต่อหลักการของ GATT /WTO  ใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการต่างๆ  เพื่อกีดกันทางการค้าต่อประเทศอื่นและนอกเหนือไปกว่านั้นก็คือเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของประเทศตน



                [1] โดยภาษาหรือถ้อยคำที่สหรัฐอเมริกาเสนอในส่วนข้อยกเว้นทั่วไปนี้ปรากฏดังนี้  “ Nothing in Chapter IV [ on commercial policy]  of  this [ITO]  Charter shall  be  construed  to  prevent  the  adoption  of  enforcement  by  any  Member  of  measures.”
[2] จากการแก้ไขครั้งหลังสุดนั้น Article XX ในส่วน Introductory Provision or  Chapeau บัญญัติว่า  “Subject to the requirement that such measures are not applied in a manner which would constitute a means of arbitrary or unjustifiable discrimination between countries where the same conditions prevail, or a disguised  restriction  on  international  trade,  nothing  in this  Agreement shall  be  construed  to  prevent  the  adoption  or  enforcement  by  any  contracting  party  of  measures” 
หมายเลขบันทึก: 63490เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท