ให้สัมภาษณ์เรื่อง "การเรียนรู้ตลอดชีวิต"


เมื่อวานนี้ (๒๔ มิ.ย. ๖๐) มีนิสิตระดับปริญญาเอกท่านหนึ่ง บอกผมทางอีเมล์ว่า ได้อ่านบันทึกเกี่ยวกับ "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ซึ่งผมเขียนไว้ที่นี่ ผมทราบภายหลังว่าท่านกำลังทำปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับ "องค์ประกอบและตัวบ่งชี้การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพลเมืองไทย" และส่งข้อคำถามเพื่อสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนกับผมเรื่องนี้ ผมยินดีมาก และอยากเอามาแบ่งปัน ให้เห็นคำถามสัมภาษณ์และคำตอบของผม และจะดียิ่งถ้าแลกเปลี่ยนกันต่อท้ายบันทึกนี้


๑) ท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างไร?


ความหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ควรแบ่งออกเป็น ๒ ความหมาย เพื่อให้ผู้กล่าวถึง เข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างชัดเจนในทุกขณะที่กล่าวถึงคำว่า "เรียนรู้ตลอดชีวิต" ได้แก่ ความหมายสำหรับการเรียนรู้ภายนอก เรียนรู้ทางโลก (โลกียะ) และความหมายสำหรับการเรียนรู้ภายใน เรียนรู้ทางธรรม (โลกุตระ) โดยยึดเอาตัวผู้เรียนรู้เป็นสำคัญในการนิยามทั้งสองความหมายนี้


ความหมายภายนอก 

การเรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองของมนุษย์ผู้มีอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ เพื่อตอบสนองความสงสัยใคร่รู้ ความต้องการแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งใด ๆ ให้ดีขึ้น มักเกิดขึ้นหลังจากได้สัมผัสกับสิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อมที่มากระทบประสาทสัมผัสทั้งห้าได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และรวมถึงความสงสัยใคร่รู้หรือความต้องการที่ผุดขึ้นในใจเองด้วย การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้คิดและลงมือกระทำด้วยตนเองเท่านั้น .... เป้าหมายของการเรียนรู้นี้คือปัญญาทางโลก


ความหมายภายใน 

กาเรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึง การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงจากภายใน ด้วยการมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง โดยไม่ขึ้นกับกาละ เทสะ หรือปัจจัยภายนอกใด ๆ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนระลึกรู้สภาวะของใจที่หลงไปคิด โลภ โกรธ หรือสภาวะของกายที่รู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง เคลื่อนไหว ... เป้าหมายของการเรียนรู้นี้คือปัญญาทางธรรม ได้แก่การรู้แจ้งอริยสัจ เข้าถึงซึ่งความจริงแท้ คือ "นิพพาน"


(หมายเหตุ ความหมายนี้ นิยามบนฐานความรู้จากการฟัง สำนวนคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช)


๒) ท่่านคิดว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทยเป็นอย่างไร


การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทย ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวัตถุ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒธรรมของคนไทย การจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตควรเน้นให้สมดุลและครบถ้วนทั้งการเรียนรู้ภายนอกและภายใน โดยเฉพาะการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้านการศึกษา และการพัฒนาตนเองเพื่อยกระดับจิตวิญญาณสู่การรู้แจ้งความจริงสูงสุดตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ


๓) ท่านคิดว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง 

(การเรียนเพื่อรู้ การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน การเรียนรู้เพื่อชีวิต การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้เพื่อความยั่งยืน)


องค์ประกอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต แสดงดังรูปด้านล่าง (ผมเรียนรู้เรื่องนี้จาก อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ขอแนะนำให้นิสิตไปเรียนรู้จากท่านครับ)


ผลของการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือ "ปัญญา" อาจเป็นปัญญาทางโลกหรือปัญญาทางธรรม ก็สุดแท้แต่ผู้เรียนจะประสงค์จากพฤติกรรมการเรียนรู้นั้น ๆ เรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อปฏิบัติได้จริง เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน เหล่านี้เป็นเป้าหมายภายนอก ส่วนการเรียนเพื่อชีวิต เรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการเรียนเพื่อความยั่งยืน เหล่านี้น่าจะเป็นเป้าหมายจากภายใน


สิ่งที่ผู้เรียนควรสนใจและให้ความสำคัญที่สุด ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของตนเอง คือ "คุณภาพการเรียนรู้" ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๔ ประการได้แก่ ๑) ความเชื่อ (ความเห็นที่ถูกต้อง) ๒) สติและสมาธิ ๓) ความรู้เดิมหรือประสบการณ์ และ ๔) สิ่งแวดล้อมและกัลยาณมิตร โดยต้องประกอบด้วยปัจจัยให้สำเร็จในการเรียนรู้ ๔ ประการ ได้แก่ ๑) แรงบาลดาลใจและความชอบ (ฉันทะ) ๒) ความเพียรและบ่อยซ้ำย้ำทำ (วิริยะ) ๓) ความจดจ่อและต่อเนื่อง (จิตตะ) และ ๔) การใคร่ครวญศึกษาทดลองและสะท้อนป้อนกลับ (วิมังสา) หรือก็คือ อิทธิบาท ๔ (ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเองครับ)


(Cr.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์)


ผมเคยให้คำอธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิตไว้ในบันทึกนี้ ดังนี้ 


องค์ประกอบที่สำคัญต่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง หรือเรียกว่า “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” เมื่อเรารับประสบการณ์ใหม่จากสิ่งแวดล้อมใหม่ ความเชื่อหรือศรัทธาในเรื่องต่างๆ ความเชื่อที่แตกต่างกันย่อมทำให้แต่ละบุคคลมีกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดแตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อท่าทีหรือเจตคติต่อเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแตกต่างกันไป องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความรู้และประสบการณ์เดิมที่สั่งสมในแต่ละบุคคล ความเชื่อและประสบการณ์เดิมจะส่งผลต่อการฟัง การคิด และการลงมือปฏิบัติ ทำให้ “กระบวนการเรียนรู้” ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไปด้วย ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่ คือ การมีสติรู้ตัว มีปัญญาระลึกรู้ ซึ่งตามพุทธวิธีจะต้องฝึกสมาธิให้ใจตั้งมั่นและเจริญสติให้จิตจดจำสภาวะต่างๆ ให้ได้ก่อน ส่วนประสิทธิภาพของการเรียนรู้ของแต่ละคนนั้น จะแตกต่างกันไปตามทักษะหรือความสามารถในการฟัง การคิด การปฏิบัติ ซึ่งโดยทั่วไปจะแสดงให้เห็นจากความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเองและประสิทธิผลหรือความสำเร็จของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร จะขึ้นอยู่กับปัจจัยแห่งความสำเร็จ ๔ ประการ ได้แก่ แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ (ฉันทะ) ความเพียรพยายาม (วิริยะ) การจดจ่อต่อเนื่อง (จิตตะ) และการสะท้อนป้อนกลับที่ถูกต้องเหมาะสม (วัมังสา)..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/575366 


๔) ท่านคิดว่า ตัวบ่งชี้การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะทำให้บรรลุแต่ละองค์ประกอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีอะไรบ้าง


ดังที่ได้ตอบไปแล้วในข้อที่ ๓) ปัจจัยให้บรรลุของการกระทำทั้งปวงของมนุษย์คือ อิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ครับ


หากยึดเอาความหมายและองค์ประกอบของการเรียนรู้ดังที่ผมตอบไปแล้ว มาตอบคำถามตามแต่ละองค์ประกอบที่นิสิตได้กำหนดไว้ สามารถตอบได้ดังนี้ 

  • เรียนเพื่อรู้ ตัวชี้วัดคือ อธิบายได้ วัดความรู้
  • เรียนเพื่อปฏิบัติได้จริง ตัวชี้วัดคือ ทำเป็นและทำได้ วัดความสามารถ ด้วยการให้ทำคือแก้ปัญหาหรือพัฒนา 
  • เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน ตัวชี้วัดคือ ความสามัคคีหรือความขัดแย้ง วัดทักษะทางสังคม 
  • เรียนรู้เพื่อชีวิต ตัวชี้วัดคือ ความเข้าใจตามเป็นจริงของสรรพสิ่ง วัดปัญญาปฏิบัติ
  • เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตัวชี้วัดคือ ความเป็นตัวตน (ลดลง) ความเห็นแก่ตัว (น้อยลง) ความรู้จักตนเอง
  • เรียนรู้เพื่อความยั่งยืน ตัวชี้วัดคือ วัดอุปนิสัย "พอเพียง" วัดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (ขออภัยหากนิยามไม่สอดคล้องกับวรรณกรรมที่นิสิตได้ทบทวนมา)


๕) ท่านคิดว่าในแต่ละช่วงอายุ องค์ประกอบ/ตัวบ่งชี้การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร


ผมคิดว่าแตกต่างกันบ้างครับ ไม่เสมอไปครับ เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ ศตวรรษที่ ๒๑ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ หรือสรรหาครู ยูทูป หรือพบเจอผู้เป็นกัลยาณมิตร โลกเปลี่ยนแปลงเร็วจนยากจะคาดเดา กล่าวคือสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งเร้าเปลี่ยนแปลง หลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ใช้ไม่ได้ ผู้เรียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความแตกต่างระหว่างวัยของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่พอจะจัดหมวดหมู่ได้ คงอยู่ในลักษณะของความคาดหวังของนักการศึกษาของแต่ละประเทศ 


อย่างไรก็ตาม หากนิสิตถามมา ผมก็จะตอบ ตามความเห็นของตนเอง เกี่ยวกับองค์ประกอบและตัวชี้วัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนี้ 


  • วัยเรียน (๕-๑๕ ปี) ในวัยนี้แม้จะเน้น "เรียนเพื่อรู้" แต่สิ่งที่สำคัญมากคือการปลูกฝังคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตต่อไป องค์ประกอบของการเรียนรู้ที่ควรพัฒนาและประเมิน ได้แก่ 
  • ประเมินความรู้ที่จำเป็น และทักษะพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ ได้แก่ อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ฯลฯ 
  • การทำงานของสมอง Executive Function หรือ EF ๔ ประการได้แก่ ๑) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) ๒) ความยืดหยุ่น (Flexibility) ๓) การควบคุมตนเอง (Self-Control) และ ๔) การมีวินัย (Discipline) (อ่านต่อที่นี่
  • คุณธรรมพื้นฐาน ๘ + ๑ ประการ ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ๘ ประการตามหลักสูตรแกนกลาง ได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ และสำหรับเด็กไทยควรจะรักษาไว้ซึ่งความกตัญญู อันเป็นจุดเด่นของคนไทย 
  • สมรรถนะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลาง ๕ ประการ ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และความสามารถด้านเทคโนโลยี 
  • ทั้งหมดนี้รวมอยู่ใน อุปนิสัย "พอเพียง" ทั้งหมด
  • วัยรุ่น (๑๕-๒๑ ปี) น่าจะมีเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง ฝึกวิชาชีพ แต่หลักสูตรวิชาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะไม่เพียงพอท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อีกเป้าหมายสำคัญในช่วงวัยนี้ คือการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน แต่ที่สำคัญที่สุดในวัยนี้ควรเริ่มฝึกการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแลงจากภายในอย่างจริงจัง องค์ประกอบของการเรียนรู้ที่ควรประเมินเพิ่มเติมขึ้นคือ 
  • ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม 
  • ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ในบริบทของสังคมไทย (ผมเขียนไว้ที่นี่โดยเฉพาะทักษะ "การให้" และ "การรับ" (ข้อนี้รวมลงตัวกันกับสมรรถนะหลักตามหลักสูตรแกนกลางแล้ว)
  • ควรประเมินว่าปฏิบัติได้จริงหรือไม่ (วัดเรื่อง ทำเป็น ทำได้ เก่งงาน หรือ Hard Skills)
  • การรู้จักตนเอง และ ความชัดเจนในชีวิต เช่น เป้าหมายชีวิต เป็นต้น 
  • วัยแรงงาน (๑๕-๕๙ปี) น่าจะมีเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อให้ปฏิบัติได้จริง เรียนรู้เพื่อชีวิต และการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตัวชี้วัดที่ควรประเมินเพิ่มเติม ได้แก่ 
  • ทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ การพึ่งตนเอง 
  • ความสำเร็จในหน้าที่การงาน
  • ปัญญาปฏิบัติ ในที่นี้หมายถึงปัญญาทางโลก เช่น องค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดี ประสบการณ์ เป็นต้น
  • ความเสียสละ แบ่งปัน การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม 
  • ปัญญาทางธรรม 
  • วัยสูงอายุ (๖๐ ปีขึ้นไป) ในวัยนี้ น่าจะเน้นที่สุด คือการสร้างเหตุแห่งปัญญาทางธรรม ต่อเนื่องจากที่ได้สั่งสมมาในวัยรุ่นและวัยแรงงาน เพื่อให้เข้าใจสรรพสิ่ง และรู้แจ้งความจริงสูงสุด ในขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลก โดยถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป และอีกเรื่องสำคัญน่าจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้อยู่เรียนรู้ต่อไปให้นานที่สุด ดังนั้นตัวชี้วัดที่ควรจะประเมิน ได้แก่ 
  • ปัญญาทางธรรม
  • การถ่ายทอดองค์ความรู้หรือประสบการณ์
  • การรักษาสุขภาพอย่างฉลาดและเท่าทันโรค 

๖) แต่ละตัวตัวชี้วัดควรมีรายละเอียดอย่างไร

รายละเอียด ได้ตอบไปแล้วในข้อที่ ๕) หลักการสำคัญในการสร้างตัวชี้วัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต น่าจะมีดังนี้


  • เน้นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลง หรือตัวชี้วัดเชิงพัฒนา เพื่อตรวจสอบพัฒนาการ หรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา 
  • ตัวชี้วัดใด ๆ ที่ใช้เกณฑ์เป็นตัวเลขในการประเมิน ทั้งการประเมินองค์ความรู้ ทักษะ หรือเจตคติ ต้องคำนึงว่า สิ่งที่กำลังวัดคือ "อุปนิสัยใฝ่เรียนรู้" หรือ "การเรียนรู้ด้วยตนเอง" ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ... ระวังไม่ให้นำเอาเกณฑ์ประเมินผลการศึกษาที่กำหนดจากภายนอกไปวัดผู้เรียนทุกคน เนื่องจาก ความต้องการรู้ ปัญหา การดำเนินชีวิต และเป้าหมายของชีวิต ของผู้คนแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน 
  • หากเครื่องมือหรือตัวชี้วัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตถูกต้องเหมาะสม ปลายทางของปัญญาภายนอกคือ องค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา ส่วนปลายทางของปัญญาภายในคือความสุขที่เกิดจากความรู้แจ้งในความจริงแท้ (บรรลุธรรม) เช่น 
  • สังคมใดไม่มีภูมิปัญญาเป็นของตนเองเลย แสดงว่า ไม่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต(ภายนอก) 
  • สังคมใดผู้คนแก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะแตกแยก ยิ่งอายุมากยิ่งเห็นแก่ตัว ยึดมั่นในอัตตาตัวตน แสดงว่า ไม่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต(ภายใน) 
  • สังคมใดมีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ มีปัญญาปฏิบัติ และภูมิปัญญาของตนเอง มีถ่ายทอดสู่ถัดไป แสดงว่า เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • สังคมใดผู้คนไม่ยึดมั่นในตัวตน ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละสิ่งของนอกกาย สันโดษ สามัคคี มีปัญญาทางธรรม แสดงว่าเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต(ภายใน)
  • ฯลฯ


๗) ความคิดเห็นอื่น ๆ 


  • งานวิจัยทางการศึกษาใด ๆ ก็ตาม ที่กำลังทำกันอยู่ หากผู้วิจัยคิดว่าจำเป็นต้องอ้างอิงถึงงานวิจัยที่มีผู้รู้ทำมาก่อนเท่านั้น มีโอกาสสูงมากที่งานวิจัยนั้น จะอยู่เพียงขั้น "ต่อยอด" หรือ "สังเคราะห์" เท่านั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะเป็น "นวัตกรรม" เนื่องเพราะงานวรรณกรรมที่ทบทวนมาเหล่านั้นโดยมากมักเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต(ภายนอก)ทางการศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง ทั้งสิ่งแวดล้อมและผู้เรียน และความมีความแตกต่างกันตามภูมิสังคม
  • ปัญญาภายนอกทางการศึกษา ไม่เหมือนปัญญาภายนอกทางวิทยาศาสตร์ แก้วอยู่ที่ไหน ประเทศใด ก็ยังมีโครงผลึกเหมือนเดิม ดังนั้นการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสากล แต่คนไม่ใช่ ... การศึกษาไทยที่ไปยกเอาระบบและกระบวนการพัฒนามาจากต่างประเทศย่อมไม่ได้ผล ... การศึกษาควรมาจาก "ปัญญาปฏิบัติ" ของคนไทยเอง 
  • ด้วยข้อจำกัดของการเลี้ยงชีพ และความก้าวหน้าในชีวิต ใครที่ไปเรียนอะไรมา ก็จะกลับมาถ่ายทอดในสิ่งนั้น ๆ และเข้าใจว่าสิ่งนั้น ๆ ว่าถูกต้องดีเลิศ ผลก็คือ การสืบทอดส่งต่อวิธีที่คิดว่าดีนั้นไปเป็นลูกโซ่ นานกาลเข้ากลายเป็นระบบใหญ่ที่ยากจะหมุนกลับ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่องการศึกษาที่ตีพิมพ์ต่างประเทศ ได้รับการยอมรับมากกว่าตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่ครูไทยไม่ได้อ่านงานวิจัยตีพิมพ์นั้นเลย ... ใครจะกล้าพอที่จะหยุดและหมุนกลับมาสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเราเอง 
  • ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ภายใน มีข้อจำกัด ๒ ประการ คือ ๑) ผู้เรียนต้องปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะรู้ และ ๒) ผู้เรียนที่เกิดปัญญาภายในก็จะรู้ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สามารถจะส่งต่อผลแห่งการเรียนรู้นั้นไปสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สมบูรณ์จึงไม่ใช่การส่งต่อหรือถ่ายทอด


ขออภัยที่แสดงความเห็นนอกเรื่องนะครับ ขอจบเท่านี้ครับ

ขอบคุณที่ให้โอกาสได้แลกเปลี่ยนครับ

หมายเลขบันทึก: 630373เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2017 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2017 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณความรู้ในเรื่อง"การเรียนรู้ตลอดชีวิต"ที่ตัวเองแค่เคยได้ยินบ่อยๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท