Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วิศวกรไร้สัญชาติแต่เชื้อสายไทยจะมีสิทธิทำงานวิศวกรรมในประเทศไทยหรือไม่ ? .... งานเก่า เอามาอ่านใหม่


กรณีศึกษานายมงคล

: การพัฒนาสิทธิในการทำงานในประเทศไทยของวิศวกรรมบัณฑิตไร้สัญชาติแต่เชื้อสายไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ภาคที่ ๑

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐

---------

ข้อเท็จจริง

----------

นายมงคล เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ณ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด บิดาและมารดาของนายมงคลเป็นคนเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ซึ่งเข้าเมืองไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖

ขณะเกิด นายมงคลไม่มีเอกสารรับรองการเกิด แต่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ทางอำเภอ ได้ออกหนังสือรับรองสถานที่เกิดให้กับนายมงคลว่าเกิด ณ อำเภอ คลองใหญ่ จังหวัดตราด

ปัจจุบัน นายมงคลและครอบครัวมีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว ซึ่งทางราชการไทยได้จัดทำแบบพิมพ์ประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรและได้ออกบัตรตามกฎหมายทะเบียนราษฎรซึ่งมีชื่อว่า “ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา” ให้ถือไว้

อนึ่ง เนื่องจากคณะรัฐมนตรีในหลายสมัยตระหนักว่า กลุ่มผู้ถือบัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา เป็นคนสัญชาติไทย ซึ่งเสียสัญชาติไทยไปเพราะประเทศไทยเสียดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศสในขณะที่เป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา และเมื่อฝรั่งเศสให้เอกราชแก่กัมพูชา เกาะกงก็ได้ตกเป็นของกัมพูชา คนกลุ่มดังกล่าวจึงตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของกัมพูชา แต่เมื่อมีความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา คนเชื้อสายไทยกลุ่มนี้ก็อพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามาในประเทศไทย โดยตระหนักในความเป็นคนเชื้อสายไทย คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้แปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ซึ่งเกิดนอกประเทศไทย และให้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่บุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทย

นายมงคลได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยกับทางอำเภอไปตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทางอำเภอแจ้งให้เขาทราบเพื่อสอบถามเอกสารเพิ่มเติม แต่มาจนถึงปัจจุบันก็มิได้มีข่าวคราวใดอีก

นายมงคลสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์ ประสานมิตร (มศว.) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าใน ปีการศึกษา ๒๕๔๙

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า

  • (๑) จะต้องใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในการพิจารณา การขออนุญาตทำงานของนายมงคล หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?
  • (๒) จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณานิติสัมพันธ์ดังกล่าว ? เพราะเหตุใด ?
  • (๓) หากนายมงคลต้องการทำงานเป็นวิศวกรตามวุฒิการศึกษาที่สำเร็จมา เขาสามารถทำได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

----------

คำตอบ

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ แม้จะมีลักษณะระหว่างประเทศ ทั้งนี้ แม้จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ปัญหาสิทธิในการทำงานของนายมงคลในประเทศไทยย่อมเป็นปัญหานิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐเจ้าของดินแดนที่มีการทำงาน ที่จะอนุญาตให้บุคคลใดทำงานบนดินแดนของตนหรือไม่และอย่างไร

ปัญหาแรกที่จะต้องพิจารณา ก็คือ คนไร้สัญชาติซึ่งเกิดในประเทศไทยดังเช่นนายมงคลนี้ ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยหรือไม่

โดยมาตรา ๑๒ (๒) (๓) และ (๔) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร หรือคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย หรือคนต่างด้าวโดยผลของการถอนสัญชาติไทย อาจทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

ในประการแรก เป็นงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในประการที่สอง ได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วจากอธิบดีกรมการจัดหางานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมาย

ดังนั้น จะเห็นว่า เมื่อนายมงคลซึ่งมีสถานะเป็นทั้งคนต่างด้าวที่เกิดในไทย และยังถูกถือเป็น “คนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย” มีสิทธิที่จะร้องขออนุญาตทำงานตามกฎหมายดังกล่าว

ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ งานวิศวกรเป็นงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บุคคลในสถานการณ์เดียวกันกับมงคลทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ จะต้องทำอย่างไร

โดยพิจารณาประกาศตามมาตรา ๑๒ เรื่องงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรานี้ทำได้นั้น ไม่ปรากฏว่า งานวิศวกรเป็นงานที่อนุญาตให้นายมงคลทำได้ ดังนั้น เพื่อให้นายมงคลทำได้ จึงจะต้องร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศให้งานวิศวกรเป็นงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวในลักษณะเดียวกับมงคลทำได้

ในกรณีที่งานวิศวกรได้ถูกประกาศเป็นงานอนุญาตให้ทำได้ในมาตรา ๑๒ เท่านั้น นายมงคลจึงจะมีความสามารถที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานจากอธิบดีกรมการจัดหางานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อประกอบอาชีพวิศวกร

หากนายมงคลยังไม่ได้สัญชาติไทยและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตามพ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ ก็จะต้องมีความผิดอาญาตามมาตรา ๓๔ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ ซึ่งกำหนดให้คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งได้ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

------------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 629225เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท